สุณัย ผาสุข: นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างเปิดเผยว่าต้องเจรจา

 

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้สัญญาณบวกจากกรณีรัฐบาลไทยและมาเลเซียมีความตกลงร่วมกันในการเปิดเจรจาสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน BRN ชี้เป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญ

 

ภายหลังข่าว สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ลงนามข้อตกลงร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม BRN เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปี โดยข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับ "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" หรือ "บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย เพื่อเตรียมแก้ปัญหาความขัดแย้ง

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ทวีตผ่าน @sunai แสดงความยินดีต่อกระบวนการดังกล่าวว่า “การลงนามประกาศเจตนารมณ์พูดคุยสันติภาพคือการยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทยต่อการคงอยู่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่ง BRN เป็นกองกำลังหลัก”

ความเห็นของเขาเป็นความเห็นแรกๆ ที่ออกมาวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงบวก พร้อมทั้งแสดงความหวังว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าต่อไป ประชาไทสัมภาษณ์เขาเพิ่มเติม โดยเขามีข้อเสนอแนะด้วยว่า นอกเหนือจากความน่ายินดีที่รัฐบาลนี้ก้าวหน้าพอที่จะยอมรับว่ามีกลุ่ม BRN อยู่จริง และยอมรับความสำคัญของการเจรจาแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือกระบวนการคืนความยุติธรรมให้คนในพื้นที่และขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยลงเสีย ไม่เช่นนั้น ก้าวต่อไปของขบวนการสันติภาพคงเกิดขึ้นได้ยาก

จากการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ดูเหมือนคุณเห็นว่านี่คือก้าวสำคัญของกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้

เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก ถือเป็นความสำคัญมากและเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยยอมรับอย่างเปิดเผยและเป็นทางการต่อการคงอยู่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่บีอาร์เอ็นเป็นแกนนำ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกระบวนการพูดคุยมาตลอดแต่ไม่มีใครยอมรับอย่างเปิดเผยมาก่อน

และอีกประการคือ เป็นการยอมรับอย่างเปิดเผยต่อกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือกระบวนการเจรจา ผมขอชมว่านี่เป็นความกล้าหาญทางการเมืองที่สำคัญมากของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แต่นี่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าสถานการณ์ภาคใต้จะดีขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ เพราะเป็นเพียงข้อตกลงว่าจะพูดคุยกัน
 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ร่วมลงนามในนามบีอาร์เอ็นไม่ใช่แกนนำ และฝ่ายขบวนการอาจจะยังไม่ได้นำเสนอข้อเสนอของตัวเอง

เป็นข้อสังเกตกันมาทุกครั้ง แต่ถ้าเรามาเกี่ยงกันว่าคนไหนตัวจริงก็ไม่มีทางได้พูดคุยกัน การพูดคุยกันนั้นหลักการก็คือว่าการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยมีลักษณะกระจายตัวค่อนข้างมาก ถ้าการพูดคุยกับกลุ่มหนึ่งทำได้ดี สามารถเชื่อใจกันไว้วางใจกันได้ ก็สามารถขยายผลไปยังการพูดคุยกับแกนนำกลุ่มอื่นๆ แล้วหวังว่าในที่สุดรัฐไทยก็จะสามารถประสานกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ยอมรับกระบวนการเจรจาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะยังเหลือกลุ่มที่รุนแรงที่เชื่อว่าการเจรจาขัดหลักการของกลุ่ม แต่ก็จะสามารถแยกคนสองกลุ่มออกจากกันได้

อย่างไรเสีย การสู้รบกันด้วยกำลังทหารก็บาดเจ็บล่มตายกันไป ก็ส่งผลกระทบอย่างมาก จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีคนเสียชีวิตห้าพันกว่าคน เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็นพลเรือน ถ้ามีช่องทางอื่นก็จะเป็นความหวัง

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะรู้สึกว่า เป็นก้าวสำคัญ แต่รู้สึกว่ายังทำได้ไม่พอ น่าจะทำได้มากกว่านี้ คือกระบวนการที่คุยกันเป็นการคุยแบบไทย เน้นความอาวุโสโดยเชื่อว่าคุยกับตัวหัวหน้าได้ ก็กล่อมลูกน้องได้ แต่สิ่งที่รัฐไทยไม่เคยยอมรับก็คือ สิ่งที่ทำให้เราเอาชนะใจคนไม่สำเร็จ ทำให้เป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและใช้ความรุนแรงก็คือ ความยุติธรรม เรามัวแต่หาแกนนำจริงปลอม แต่เงื่อนไขที่ทำให้เขาหาสมาชิกใหม่ได้ทุกวันเพราะเขายังรู้สึกว่าเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง รัฐยังปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เท่าเทียม รัฐไทยยังไม่ได้ให้ความยุติธรรม และไม่ได้ยุติวัฒนธรรมการทำผิดและไม่ได้รับการลงโทษของเจ้าหน้าที่

ดังนั้น ผลการเจรจาจะยังไม่เกิดตราบที่คนในพื้นที่ยังอยู่ในสภาพเงื่อนไขที่ปลูกฝังอุดมการณ์ความรุนแรง ทุกเมื่อเชื่อวัน ยังมีเงื่อนไขอย่างตากใบ กรณี 16 ศพหรือกรณีของมะรอโซ ซึ่งกรณี 16 ศพและมะรอโซควรเป็นบทเรียน เหมือนนาฬิกาปลุก ให้เข้าสู่การเจรจา และลดความอยุติธรรมในพื้นที่

สิ่งที่ต้องเร่งทำหลังจากนี้คือต้องคืนความยุติธรรมให้กับคนมลายูมุสลิม  ผมต้องข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ทุกคนยกการ์ดสูงมากแต่ก็เกิดน้ำท่วมเสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาทิตย์นี้เราเหนื่อยแน่

 

ก่อนหน้านี้ฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงการณ์เรียกร้องอย่างชัดเจนและรุนแรงต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เมื่อมีกระบวนการเจรจาเกิดขึ้น มีข้อเสนอต่อขบวนการอย่างไร

ฝั่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเองเมื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือให้เคารพหลักการระหว่างประเทศ หลักกฎหมายสงคราม ยุติการโจมตีทำร้ายพลเรือนโดยทันที นี่เป็นสิ่งที่เขาจะแสดงความบริสุทธ์ใจได้เป็นอย่างแรก ประกาศออกมาเลย จะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวก็ได้ว่าจะขอให้ยุติการโจมตีพลเรือนทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนาในพื้นที่โดยทันที เพื่อแสดงความจริงใจ มากกว่าแค่ลงนามกับรัฐ

การต่อสู้กับกำลังรบอาจจะดำเนินต่อไป แต่ไม่แตะต้องพลเรือน สถานพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น

 

ปรากฏการณ์ที่สื่อไทยตามข่าวไม่ทัน คุณมองว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ

สื่อไทยตามไม่ทัน ผมเข้าใจว่าสื่อไทยโดนกัน ก็สะท้อนวิธีคิดฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามาเป็นกระบวนการสำคัญ คือฝ่ายไทยมักจะมองว่าเวอร์ชั่นสำหรับคำอธิบายมันต้องเป็นเวอร์ชั่นที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้สังคมไทยไม่มีโอกาสเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้ อย่างกรณีบาเจาะ 16 ศพเป็นครั้งแรกที่สื่อไทยพยายามอธิบาย แต่พออธิบายไม่เท่าไหร่ก็ถูก ผบ.ทบ. ตวาดให้หยุด แล้วก็หยุดหมดเลย ถ้ามองสกู๊ปเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตกรณี 16 ศพ ที่บาเจาะ ก็น่าสนใจเชิงสถิติ ว่าเป็นคนที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงเท่าไหร่ ผ่านเหตุการณ์ตากใบเท่าไหร่ การละเมิดสิทธิครั้งใหญ่เป็นจุดพลิกผันให้คนติดอาวุธฆ่าฟัน ข้อมูลเหล่านี้น่าสนใจ แต่เมื่อ ผบ.ทบ. ตวาดสื่อก็หยุดหมด วัฒนธรรมตรงนี้ต้องเปลี่ยน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท