Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เกริ่นนำ
 
สมมติมีคำกล่าวว่า “ที่ไหน ก็มีความลักลั่นทางจริยศาสตร์ทั้งนั้น” นั่นเป็นความจริงหรือไม่สำหรับทศวรรษนี้ ?ตอบได้เลยว่า “จริง” และ ถ้ากล่าวต่อไปอีกว่า “ที่ใด มีความลักลั่นทางจริยศาสตร์ที่น่าสนใจ”? “ประเทศไทย” น่าจะเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศเหล่านั้น เพราะภาวะที่คร่อมกันอยู่ระหว่าง ความเป็นทุนนิยมแบบพ่อค้า กับ ความเป็นทุนนิยมระบบเจ้าบุญนายคุณ ทำให้เกิดหลายประเด็นที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ย่อมบ่งบอกร่องรอยของการตัดสินใจที่จะกระทำการบางอย่าง ซึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานทางจริยศาสตร์ เพราะเป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายชุดความคิดและการตัดสินใจของประชาชน  เฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 เมื่อสังคมไทยมิได้เป็นสังคมปิดอีกต่อไป และทุกอย่างในประเทศลู่เข้าสู่ปลายเปิดมากขึ้น ฐานทางจริยศาสตร์ในประเทศนี้จึงมีแนวโน้มแบบพหุลักษณะมากขึ้น ดังนั้น การปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ จริยศาสตร์สมัยใหม่ กับ จริยศาสตร์แบบหลังสมัยใหม่จึงเกิดขึ้น และอาจมากเป็นพิเศษในสังคมที่มีความย้อนแย้งทางตรรกวิทยาสูง
 
เนื้อหา
 
ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เราพบว่า มนุษย์มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสังคมเปิดกว้างอย่างเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบรรดานักคิดได้พยายามคิดค้นระเบียบวิธีทางจริยศาสตร์ เพื่อช่วยให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม เป็นไปได้ และเบียดเบียนกันน้อยที่สุด โดยการเคลื่อนไหวระดับแรกๆ ของนักคิดตะวันตก คือ หยุดการทำลายชีวิตในนามของศาสนา นั่นหมายถึง การไม่ให้การตีความตัวบททางศาสนาของผู้มีอำนาจทำลายชีวิตมนุษย์ด้วยการอ้างเหตุผลว่าเป็นความชอบธรรมจากสวรรค์ และไม่ว่าพฤติกรรมที่ใครก็ตามชวนเชื่อว่า “สมควรต้องตาย” จะน่าเชื่อว่าขัดกับประสงค์ของฟ้าสวรรค์มากเพียงไรก็ตาม การทำลายชีวิตมนุษย์หรือแม้กระทั่งการทารุณกรรมสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ควรยุติ ฉะนั้น ข้อความในประวัติศาสตร์ไทย เช่น “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” [1] จึงสะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินทางจริยศาสตร์ที่มีปัญหา เพราะสำหรับนักคิดตะวันตกแล้ว การเรียกร้องให้หยุดทำลายชีวิตในนามศาสนามีมาก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว 
 
มากไปกว่านั้น ในศตวรรษหลังๆ นักคิดตะวันตกยังพบปัญหาว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตชุดคำอธิบายที่ครอบคลุม” ซึ่งนั่นหมายความว่า “ทฤษฎีทางจริยศาสตร์” ตามความคิดแบบ อิมมานูแอล ค้านท์ (Immanuel Kant) อันเป็นแม่แบบของเกณฑ์การตัดสินทางจริยศาสตร์ในระบบยุติธรรมของรัฐต่างๆ ไม่อาจจะเป็นแม่แบบเดียวได้อีกต่อไป ซึ่ง ซิกมุนด์ บาวมัน (Zygmunt Bauman) ในฐานะนักคิดหลังสมัยใหม่จึงเสนอว่า “จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรายอมรับความหลากหลายแทนที่จะคงไว้ซึ่งความมีแบบแผน หรือจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราจะยอมรับความกำกวมบ้าง แทนที่จะคงไว้ซึ่งความแม่นตรงโปร่งใส” [2] เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้อย่างจริงที่สุด ปัญหา คือ ในสังคมปิด บางเรื่องที่ควรจะปล่อยให้กำกวมกลับถูกกระทำให้โปร่งใส และบางเรื่องที่ควรโปร่งใส เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบในสังคม กลับถูกกระทำให้กำกวม และลักษณะเช่นนี้เป็นความลักลั่นแบบหนึ่งในสังคมที่อวดอ้างความมีจริยศาสตร์แบบสมัยใหม่ 
 
เพราะโลกของนักคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) จะไม่ผูกขาดกับระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือ ความโปร่งใสทางระเบียบวิธี เหมือนนักคิดยุคโครงสร้างนิยม (Structuralism) ฉะนั้น ความไม่ต่อเนื่องทางตรรกะ หรือ ความไม่ปะติดปะต่อทางแนวคิด เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ด้วยซ้ำ เนื่องจาก ทุกๆการสื่อสาร “ผู้รับสาร” จำเป็นต้องตีความและชี้นำตัวเอง จะไม่มีการชี้นำจาก “สาร” หรือ “ผู้ส่งสาร” อีกต่อไป นั่นคือ เหตุผลหนึ่งที่วลีอมตะของซารตร์ (Sartre) ถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอ ที่ว่า “มนุษย์ราวกับถูกสาปให้มีเสรีภาพ” เพราะ มนุษย์จำเป็นต้องรับผิดชอบในทุกกระทำทางจริยศาสตร์เอง โดยที่ไม่สามารถอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ สถาบัน เพื่อความชอบธรรมหรือปลอบประโลมจิตใจได้อีก 
 
ขณะเดียวกัน เมื่อกลับมามองคู่ขนานกับสังคมไทย เราพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับการรับผิดชอบตนเอง นั่นหมายถึง ไม่เข้าใจเรื่องการตีความด้วยตนเอง ราวกับเป็นผลที่มาจากความเป็นทาสหรือไพร่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นทาสในยุคเก่า หรือ ทาสของสังคมนายทุนยุคใหม่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยอยากจะเห็น “ผู้ส่งสาร” ในลักษณะ “พระโพธิสัตว์” หรือ “คนดีในอุดมคติ” หรือ “คนที่มีภาพลักษณ์ดี” และไม่ว่า”สาร” จะเป็นอย่างไร จะมีอรรถประโยชน์หรือไม่  คนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเชื่อและปกป้อง “ผู้ส่งสาร” มากกว่าจะอภิปราย “สาร” ที่ถูกส่งออกมา ซึ่ง ความลักลั่นนี้สวนทางกับความคิดหลังสมัยใหม่ในศตวรรษใหม่ และจะมีผลอย่างไม่ต้องสงสัยกับการตัดสินทางจริยศาสตร์ เป็นต้น ในระบบศาลสถิตยุติธรรม? ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความลักลั่นเหลื่อมล้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดมาในประวัติศาสตร์ ปัญหาเรื่องชนชั้นปกครองหรือนายทุนมีอภิสิทธิ์กว่าตาสีตาสากลายเป็นเรื่องปกติไป
 
นักคิดหลังสมัยใหม่บางคน ให้ความเห็นอย่างสุดโต่งด้วยซ้ำว่า “ยุคนี้เป็นยุคหลังหน้าที่” (Post-deontic) เช่น ลีโปเวสกี้ (Lipovetsky) ถึงกับกล่าวว่า “ไม่มีกฎทางศีลธรรมอะไร ที่จะบังคับเราให้ทำหน้าที่อีกต่อไปแล้ว ขอแค่อย่าทำอะไรต่อมิอะไรให้มากเกินพอดีก็พอ เพราะ โลกได้เข้าสู่ความเป็นปัจเจกนิยมอย่างสมบูรณ์แล้ว” [3]

คำพูดของเขาได้สะท้อนให้เห็นถึงการสวนทางอย่างสิ้นเชิงในโลกที่ประชาชนยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อศีลธรรม เพราะ ความคิดแบบลีโปเวสกี้ยอมรับการทุจริตแต่ในระดับที่ไม่มากจนเกินพอดี แน่นอนที่สุด ความใหม่ในระดับนี้ยังเป็นที่น่าสงสัย และไม่ต้องรอนักคิดอนุรักษ์นิยมวิภาษแต่ประการใด เพราะแม้แต่ นักคิดหลังสมัยใหม่ด้วยกันอย่าง บาวมัน ก็มีความเห็นแย้งต่อสารของลีโปเวสกี้ ว่าไม่ชอบด้วยตรรกะ

ถึงกระนั้นก็ดี นักคิดหลายคนต่างยอมรับและรู้จักแยกแยะว่า ลีโปเวสกี้ กำลังสะท้อนความจริงอันโหดร้ายของโลกยุคหลังสมัยใหม่ หากแต่ ทุกคนยังต้องการ “สาร” ที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดมากไปกว่าการได้รับรู้ความจริงเพียงเท่านั้นว่า “แล้วถ้าเป็นแบบนี้ ฉันควรจะทำอย่างไรต่อไป?”

คิดในทางกลับกัน ถ้าลีโปเวสกี้ มีชีวิตอยู่ในสังคมปิดที่ไม่อนุญาตให้เขาพูดจาจาบจ้วงต่อศีลธรรมแบบนี้ เสรีภาพและสวัสดิภาพในชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร? ทั้งที่ ความผิดของเขาจะมีก็แต่เพียงที่ไม่ได้บอกคนอื่นว่า จะต้องทำอย่างไร ก็เท่านั้น?
 
เพราะในสังคมปิด เกือบทุกอย่างจะมีลักษณะตายตัว (Uniformity) นั่นหมายถึง ทุกอย่างมีหน้าที่ (Duty) และหน้าที่เหล่านั้นถูกกำหนดไว้ตายตัวจนไม่สามารถเลือกหรือประกอบสร้างขึ้นใหม่ได้อีก โลกทัศน์แบบนี้ คนทำผิดกฎหมายจึงเป็นคนชั่วในภาพลักษณ์ของสังคมอยู่วันยันค่ำ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าการกระทำผิดนั้นเพราะเหตุผลอะไร เพราะเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานอยู่แล้วว่า ทุกคนต้องไม่ละเมิดกฎที่เขียนไว้ดีแล้ว และในสังคมที่มีโลกทัศน์แบบนี้ การละเมิดกฎเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องรับฟัง หรือ ทำความเข้าใจ ใดๆทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นลักษณะของความมืดบอดทางสติปัญญา เนื่องจาก ยังไม่เคยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดยืนยันได้ว่า มีสังคมที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ

มากไปกว่านั้น ในสังคมที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มักมีการสังเวยชีวิตอย่างมากมาย เพียงเพราะต้องการปกป้องกฎที่มีลักษณะตายตัวดังกล่าว ทั้งที่ กฎนั้นไม่มีชีวิตและความรู้สึก เมื่อเทียบกับ ความเจ็บปวดจากการถูกพรากอิสรภาพของมนุษย์ นั่นจึงเป็นวังวนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังทางศีลธรรมของมนุษย์ เราจึงเข้าใจ ลีโปเวสกี้ ได้ไม่ยาก เพราะเราเองก็ไม่เคยเห็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่ตั้งไว้สวยหรูจะถูกปฏิบัติให้ได้ผลจริงๆ ในสังคมมนุษย์ แต่สิ่งที่ต้องก้าวไปให้ไกลกว่า ลีโปเวสกี้ คือ จะต้องทำอย่างไร ถ้าได้รู้ความจริงนี้แล้ว?
 
สำหรับประเทศไทย “การสะท้อนว่าเกิดอะไร” ? ยังเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นอยู่ แม้ว่า จะสิ้นหวังกันไปในระดับหนึ่งแล้ว กับ “เรื่องการแก้ปัญหา?” ไม่ว่าจะเนื่องด้วยเหตุผลเรื่อง ความเป็นรอยต่อของยุคสมัยก็ดี หรือ ความลักลั่นทางจริยศาสตร์ก็ดี เพราะสิ่งที่เกิดอย่างต่อเนื่องในประเทศนี้ เช่น ท่าทีเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แม้กระทั่ง กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของเพศทางเลือก ยังเป็นเรื่องที่ชัดเจน (Obvious) ว่า ผู้อำนาจหรือชนชั้นปกครองได้เลือกข้างแล้วว่าจะใช้วาทกรรมใดสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ซึ่งภาพลักษณ์ของความเป็นคนดี คนใจบุญใจกุศล แบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงกลางของตะวันตก เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเบ่งบานในยุคปัจจุบันของประเทศไทย ที่สำคัญ ใครก็ตามที่ต้องการครอบครองทรัพยากรไว้ทั้งหมด จำต้องผูกขาดความดีให้มีแบบเดียว และ ไม่อนุญาตให้การตัดสินทางจริยศาสตร์แบบอื่นเรียกว่า ความดี หรือ ความถูกต้อง

หลักฐานเกี่ยวกับการผูกขาดนี้ เห็นได้จากวาทกรรมบนเวทีของนักการเมืองประเทศไทยที่จับแพะชนแกะจริยศาสตร์เรื่องหน้าที่อยู่เสมอ (โดยไม่รู้ตัว)  ฉะนั้น การขับเคี่ยวทางการเมืองในประเทศไทยทศวรรษหลังๆ จึงเป็นการตัดสินใจทางจริยศาสตร์ว่า จะเลือกอยู่ข้างใดโดยปริยาย เช่น เชื่อว่าเลือกพรรคนี้จะไม่มีการโกงกินอย่างแน่นอน เนื่องจากยอมรับจากโกงกินไม่ได้ หรือ เลือกพรรคนี้แล้วตนเองจะได้รับประโยชน์มากกว่าเพราะทุกพรรคก็โกงกินอยู่แล้ว

ปัญหาทางจริยศาสตร์ลักษณะนี้ในประเทศไทย ยังพัฒนาไปต่ออีกว่า สมมติถ้าจะเลือกปีศาจตัวที่ร้ายน้อยที่สุด ใครเป็นปีศาจตัวนั้น? และอะไรเป็นเกณฑ์ทางจริยศาสตร์ที่จะชี้วัดว่า ปีศาจตัวหนึ่งจะชั่วร้ายมากหรือน้อยกว่าปีศาจอีกตัวหนึ่ง? ยังไม่นับว่า การศึกษาเรื่องนี้ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับความจริงหรือไม่ เพราะ ถ้าเรื่องหักมุมเป็นว่า “คนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดีอุดมคติ คือ ปีศาจตัวที่ชั่วร้ายมากที่สุด” จะเป็นอย่างไร?
 
สรุป
 
สมมติเราตั้งต้นว่า มีความลักลั่นทางจริยศาสตร์ในประเทศไทย และสมมติว่าเรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในระดับที่จะชวนให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่า น่าจะเป็นความจริง อะไรน่าจะเป็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการศึกษานี้? กล่าวคือ อย่างน้อยที่สุด เราน่าจะเข้าใจมากขึ้นว่าอะไร คือ ความหลากหลาย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ ความเหลื่อมล้ำ เพราะการที่ประเทศไทยมีฐานทางจริยศาสตร์หลากหลาย ย่อมไม่เหมือนกับ ประโยคที่บอกว่า ประเทศไทยมีฐานทางจริยศาสตร์เหลื่อมล้ำ เช่น เราจะไม่กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกันตัวนักโทษที่เป็นญาติผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมือง ในขณะที่ ไม่อนุญาตให้ประกันตัวนักโทษที่เป็นประชาชนธรรมดา เป็นความหลากหลายทางจริยศาสตร์ แต่นั่นเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่สะท้อนให้เห็นภาพของชนชั้น ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยที่ยอมรับการถูกกดขี่ทางสังคมด้วยการยอมจำนนตามโลกทัศน์แบบโบราณ ซึ่งใครก็ตามที่ฉลาดแกมโกงพอที่จะฉวยโอกาสการสร้างภาพเป็นคนดี ก็จะอาศัยช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้ประกอบสร้างความเป็น “คนดีในอุดมคติ” ขึ้นมา และ ถ้าเรื่องหักมุมเป็นว่า “คนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดีอุดมคติ คือ ปีศาจตัวที่ชั่วร้ายมากที่สุด” จะเป็นอย่างไร? หรือเป็นไปแล้ว? 
 
 
 
อ้างอิง
[1] พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย. http://thaipolitictionary.com/2012/04/10/ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป
[2] Zygmunt, Bauman. Postmodern Ethics , Oxford and Cambridge: Blackwell, 1993. P.5
[3] Gilles Lipovetsky.Le devoir du crepuscule,1992
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net