Skip to main content
sharethis

 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาของอังกฤษได้สร้างช่องทางใหม่ๆ เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนทั่วไป โดยประกาศว่าจะมีคลิปวิดีโอคำตัดสินของศาลฎีกาลงใน Youtube

วิดีโอสรุปโดยหัวหน้าผู้พิพากษา ซึ่งมีความยาว 5 นาที และจะโพสต์ลงในเว็บยูทูบ ในเวลาไม่นานหลังการอ่านคำพิพากษา ความเคลื่อนไหวนี้เดินตามความสำเร็จของการสตรีมมิ่งเว็บถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักข่าวสกายนิวส์

นอกจากนี้ยังมีบทสรุปของคดี จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายอย่างสั้นๆ ถึงภูมิหลังของการอุทธรณ์ คำตัดสินของศาล และเหตุผลของคำตัดสินนั้น ทั้งหมดนี้จะออนไลน์สำหรับนักศึกษากฎหมาย นักวิชาชีพ และใครก็ตามที่สนใจผลของการอุทธรณ์ จะเข้าดูได้ตามสะดวก ทั้งนี้ บทสรุปย่อเขียนโดยผู้พิพากษาเอง

ลอร์ดนูเบอเกอร์ ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ความต้องการดูถ่ายทอดสดกระบวนการพิจารณาคดีผ่านเว็บมีมากกว่าที่เราคาดไว้ โดยมีผู้ชม 20,000 รายในแต่ละเดือน

 


https://www.youtube.com/user/UKSupremeCourt

 


https://twitter.com/UKSupremeCourt

 

อดัม แวกเนอร์ ทนายความและบรรณาธิการ ukhumanrightsblog.com เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในเว็บเดอะการ์เดียน บอกว่า ในเดือนมกราคม มีวิดีโอที่ออนไลน์แล้ว 10 ชิ้น และจะมีการอัปโหลดเพิ่มขึ้นเมื่อมีคำตัดสินออกมา  เว็บศาลฎีกาสะอาดตาและสวยงาม มีการเผยแพร่บทสรุปสำหรับสื่อในเวลาเดียวกับที่มีการตัดสิน อีกทั้งยังเป็นศาลฎีกาแรกที่มีทวิตเตอร์ @uksupremecourt ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดตามกว่า 32,500 ราย


“การสรุปคำตัดสินเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากสามารถเข้าถึงบันทึกการพิจารณาคดีแบบเต็มบนยูทูบ แบบเดียวกับที่ ศาลรัฐบาลกลางบราซิลมีบนยูทูบ” แวกเนอร์ระบุ

เบน วิลสัน หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารของสำนักงานศาลฎีกา บอกว่าศาลสนใจการอัปโหลดการพิจารณาแบบเต็ม แต่ยังติดปัญหาเรื่องความยาวในการพิจารณาคดี มีแนวโน้มจะใช้เวลาเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อการอุทธรณ์ การตัดต่อ แปลงไฟล์ บีบอัดไฟล์ อัปโหลดฟุตเทจจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด และยูทูบก็ไม่รองรับความยาวขนาดนั้น

“เมื่อเทียบกับศาลฎีกาแล้ว การที่สาธารณะจะเข้าถึงศาลอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร แบบออนไลน์ค่อนข้างน่าผิดหวัง แทบไม่มีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมจากศาลสูงสุดตกทอดไปยังศาลที่ต่ำกว่า และนี่เป็นปัญหาใหญ่ในการเข้าถึงความยุติธรรม ในโลกของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับการที่เอกสารศาล คำตัดสิน การพิจารณา ไม่สามารถเข้าถึงได้แบบออนไลน์” แวกเนอร์ สรุปถึงเพดานในการเข้าถึงข้อมูลในศาลระดับอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมในยุคนี้

เรื่องของศาลอังกฤษสร้างความตื่นเต้นให้ผู้สนใจด้านกฎหมายและเฝ้าติดตามกระบวนการพิจารณาคดีต่างๆ ในเมืองไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับศาลไทย สถานการณ์ดูเหมือนจะยังห่างไกลจากอังกฤษ 

สำหรับศาลไทย คำพิพากษาศาลฎีกาจะมีการเปิดเผยทุกปี เรียกว่าเป็นการรวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจประจำปี โดยคัดสรรเฉพาะคดีที่มีข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัย และจะช่วยสร้างบรรทัดฐานในคดีอื่นๆ คำพิพากษานอกเหนือจากนั้น เราไม่อาจเข้าถึงได้เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เฉพาะคู่ความที่สามารถร้องขอได้ รวมถึงคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีสำคัญๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจนั้น ศาลชั้นต้นจะเปิดให้สาธารณชนเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ เข้าฟังการพิพากษาคดีได้ ในช่วงหลังราวกลางปี 2555 ศาลชั้นต้นของไทยยังริเริ่มในการสรุป “คำพิพากษาย่อ” ในคดีสำคัญที่สื่อให้ความสนใจติดตาม ซึ่งโดยมากจะเป็นคดีเกี่ยวกับการเมือง ความมั่นคง และสถาบันกษัตริย์ อาจเป็นเพราะมีความกังวลว่าจะสรุปความผิดเพี้ยน ตกหล่น ซึ่งเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่แตกแยกและมีคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกองคาพยพ รวมถึงศาลเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน แต่แน่นอนว่า คำพิพากษาฉบับย่อก็อาจไม่ครอบคลุมประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจ

สำหรับความคืบหน้าทิศทางการทำงานของศาลไทย ในปี 2556 นั้น นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เมษายนนี้จะเปิดทำการศาลใหม่ 2 แห่ง คือศาลจังหวัดหัวหินที่แยกจากศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศาลจังหวัดเวียงสระที่แยกจากศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นศาลชั้นต้นเพื่อบริการประชาชน

อีกทั้งจะมีการพิจารณางบประมาณสร้างศาลแขวงเพิ่มในเขต 4 มุมเมืองกรุงเทพมหานคร โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและยังมีโครงการเปิดทำการศาลนอก เวลาราชการ คือ วันเสาร์-อาทิตย์และภาคค่ำ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่ความและประชาชน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาคดีที่เข้าโครงการแล้วเสร็จมีจำนวน 72,903 คดี

ส่วนทิศทางการทำงาน โดยเฉพาะการประสานงานกับนักข่าวศาลยุติธรรมในยุคโซเชียลมีเดียนั้น  เขาระบุว่า สื่อมวลชนใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข่าวสารมากขึ้นอย่างยิ่ง ซึ่งกระทำได้อย่างรวดเร็ว แต่หากไม่รอบคอบและถูกต้องครบถ้วน ก็อาจทำให้สาธารณชนผู้รับสารเข้าใจข้อกฎหมายและคำพิพากษาตัดสินคลาดเคลื่อนจากความจริง ทางศาลจึงจะตั้งข้อกำหนดรัดกุมในการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเข้ารับฟังคำพิพากษาและจะจัดทำบทคัดย่อคำพิพากษา โดยมีเลขาธิการศาลอาญาพิจารณาบทคัดย่อด้วยตัวเอง สำหรับแจกจ่ายให้สื่อมวลชนหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ

เรื่องระเบียบข้อปฏิบัติภายในศาลนั้นอยู่ในอำนาจของเลขาธิการศาลอาญา ซึ่งระดับความเข้มงวดก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เช่น ปัจจุบันนี้ต้องมีการให้ชื่อสกุล เบอร์ติดต่อ และสำนักข่าวทุกครั้งเมื่อเข้าไปในศาล ส่วนบุคคลทั่วไปก็ต้องมีการจดเลขที่บัตรประชาชนไว้ ในขณะที่ในอดีตไม่มีข้อกำหนดทำนองนี้  หรือกระทั่งการเข้าฟังการพิจารณาคดีบางคดี ก็มีการให้ผู้เข้าฟังจดชื่อและหมายเลขบัตรประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ด้วย

ที่สำคัญ ความเข้มงวดดังกล่าวก็ยังขึ้นอยู่กับองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ด้วย เช่น กรณีของการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.53  จะพบว่าหากเป็นที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์คดีจากทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยสามารถจดข้อความได้ขณะฟังการไต่สวน แต่หากเป็นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลจะ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้จด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเหตุผลหลักอาจเป็นเรื่อง “ความผิดพลาด” ที่อาจเกิดขึ้น

ว่ากันสำหรับแนวคิดในเรื่องนี้ ในทางหนึ่ง นักกฎหมายหรือทนายความเห็นว่าการจดและเผยแพร่ข้อมูลระหว่างการพิจารณาคดี อาจมีผลต่อรูปคดีและพยานปากต่อๆ ไป แต่อีกด้านหนึ่ง นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมายด้านสิทธิเห็นว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เป็นการตรวจสอบการทำงานของศาลไปด้วยในตัว ซึ่งโดยโครงสร้างนั้นเป็นหน่วยงานที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบยากอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเป็น "จารีต" ที่ต้องถกเถียงอีกนานในสังคมไทย ว่าข้อดีข้อเสียของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในกระบวนการยุติธรรมควรมีอย่างไร เข้าถึงได้เพียงไหน และในรูปแบบใดบ้าง แต่เชื่อว่าเรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากในยุคที่อะไรๆ ก็ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว และการมีส่วนร่วมของคนธรรมดาพุ่งขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

 

ติดตามการถ่ายทอดสดของศาลฏีกาได้ที่ www.proav.com  ช่องยูทูป https://www.youtube.com/user/UKSupremeCourt
เว็บไซต์ศาลฏีกาอังกฤษ  http://www.supremecourt.gov.uk/news/court-on-camera.html


ที่มาบางส่วน :
http://www.guardian.co.uk/law/2013/jan/21/supreme-court-youtube-open-justice

http://www.moneychannel.co.th/0Live_0/programpage.php?listid=5

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net