Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

รายงานข่าวชิ้นหนึ่งเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในโลกโซเชียลมีเดีย หลังจากออกอากาศไปได้ไม่นานก็มีการแชร์ลิงก์และดูซ้ำกันมากมายในหมู่คนที่สนใจเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มคนที่ดูแล้วระทึกเป็นพิเศษคือกลุ่มนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องความไม่เป็นธรรมโดยหยิบประเด็นต่อเนื่องมาจากเรื่องการปะทะที่ค่ายทหารที่บาเจาะอันเป็นผลให้มีคนตาย 16 ศพเมื่อ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา

คลิกเพื่อชมรายงานที่ http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2013-02-24/19/

 

งานของไทยพีบีเอสชิ้นนี้มีหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของการทำงานของสื่อสารมวลชนที่เป็นสื่อสาธารณะ และบอกเล่าถึงเกมการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

1.ในรายงาน ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสหยิบประเด็นนักศึกษากับขบวนการที่ต่อต้านรัฐไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมานำเสนอเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการนักศึกษา ขบวนการต่อต้านรัฐในภาคใต้ ทำให้เข้าใจว่ากิจกรรมหลายๆ ที่ที่พยายามจะเจาะลึกเบื้องหลังการหันหลังให้รัฐของคนอย่างมะรอโซ จันทราวดีล้วนเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดแนวรุกทางการเมืองให้กับขบวนการ รายงานหยิบเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอโดยเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่าในกลุ่มคนที่ไปโจมตีค่ายทหารและเสียชีวิตลงสิบหกรายนั้น หนึ่งในนั้นเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รายงานของไทยพีบีเอสชี้ต่อไปโดยอาศัยข้อมูลไม่แจ้งที่มาว่า ขบวนการมีคนของตนอยู่ในองค์กรของนักศึกษา มีรูปแบบการจัดตั้งที่ชัดเจน และให้ข้อมูลอย่างแหลมคมว่าคนของขบวนการสามารถเกาะกุมการเคลื่อนไหวกิจกรรมของ นศ.ในองค์กรนักศึกษาคือ สนนท. ได้ ยิ่งกว่านั้นยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการทำงานขององค์กร นศ.ในส่วนกลางอีกด้วย

จากรายงานนี้ทำให้เราตีความได้ว่า คนของขบวนการที่รายงานนำเสนอเหล่านี้น่าจะอยู่ในระดับหัวขบวนและอยู่ในตำแหน่งสำคัญของ สนนท.เพราะสามารถจะกำหนดงานกิจกรรมของ นศ.ได้

อันที่จริงนักศึกษากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้และมีตัวอย่างให้เห็นทั่วโลกรวมทั้งในไทยเอง แต่การหยิบโยงกรณีนักศึกษาหนึ่งคนเข้ากับกลุ่มนักศึกษาทั้งกลุ่มดูจะเป็นการตีความข้อมูลที่ค่อนข้างจะเกินพอดีไปมาก ที่น่าแปลกใจมากกว่าก็คือการอ้างข้อมูลที่ไม่มีที่มาที่ไปแต่อย่างใดในการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงขององค์กรนักศึกษากับขบวนการ  ประการนี้อย่างเดียวก็ทำให้รายงานชิ้นนี้ขาดดีกรีความเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือมากพอแล้ว อย่างไรก็ตามในหมู่ผู้ที่คุ้นชินกับการวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะพบว่า ข้อมูลที่รายงานข่าวของไทยพีบีเอสนำมาออกนั้นมีความคล้ายคลึงกับข้อมูลการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ใน กอ.รมน.เป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่รู้กันว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสงสัยกับคนในขบวนการ นศ.จำนวนมาก หลายคนเคยถูกซักถามสอบปากคำและแม้แต่เจอไม้หนักมาแล้ว

2 ข้อเท็จจริงประการถัดมาที่รายงานข่าวของไทยพีบีเอสนำมาประกอบการนำเสนอให้ภาพว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อพลิกเรื่องราวของกลุ่มคนที่เสียชีวิตที่ค่ายทหารบาเจาะและโดยเฉพาะกรณีของมะรอโซ จันทราวดีทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ ก็คือการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องหลังความตายของมะรอโซและพวก โดยเฉพาะการจัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจุดประเด็นถกในสังคมภายใต้หัวข้อ “มะรอโซ จันทรวดี (และพรรคพวก) กบฏรัฐสยามหรือวีรบุรุษนักรบปาตานี” ซึ่งรายงานไทยพีบีเอสระบุว่าเป็นการ “เบี่ยงเบน” นอกจากนั้นรายงานชิ้นถัดมาของไทยพีบีเอสยังระบุว่า การนำเสนอรายงานของ “สื่อสังคม” กระทบความรู้สึกของคนในพื้นที่ รายงานชิ้นหลังนี้นำเสนอความเห็นของอดีตโฆษกกอ.รมน.พอ.ปริญญา ฉายดิลกที่เตือนการทำงานของสื่อโซเชียลมีเดียจากในพื้นที่สามจังหวัดว่าเร้าอารมณ์ – แปลไทยเป็นไทยคือกำลังปลุกคนในพื้นที่ให้เห็นผิดเป็นถูก

อันที่จริงการนำเสนอเรื่องมะรอโซกับพวกในฐานะวีรบุรุษของคนในพื้นที่นี้ ไม่ได้ออกมาแค่สองเวทีดังกล่าว แม้แต่ในเวทีการเสวนา “ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี” ในวันถัดมาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อ 23 ก.พ.ก็มีการพูดคุยที่ตั้งคำถามในแนวทางอันเดียวกัน ผู้ร่วมหารือบางส่วนพยายามเจาะปัญหาที่ว่า

มะรอโซและพวกเป็นกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมจึงได้ลงเอยด้วยการ “เป็นโจร” สิ่งหนึ่งที่พูดกันมากหลังความตายของมะรอโซ ผ่านการบอกเล่าของครอบครัวและผ่านหลักฐานจำนวนหนึ่งที่นำเสนอโดยตัวของมันเองคือความเชื่อมโยงเรื่องของคนที่เห็นต่างจากรัฐและจับอาวุธต่อสู้เข้ากับเรื่องของความคับแค้น คือความเชื่อมโยงกับกรณีตากใบ จากการตรวจสอบของสื่อบางส่วนในพื้นที่พบว่า ในบรรดาผู้คนที่เสียชีวิตสิบหกศพนั้น มีถึงครึ่งหนึ่งที่เคยถูกจับกุมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อปี 2547 หลายคนแม้จะรอดชีวิตมาได้จากการขนส่งแบบพิเศษรวมทั้งจากการถูกดำเนินคดี แต่ก็ถูกตามล้างตามเช็ดจนอยู่ไม่เป็นสุข ในความเห็นของผู้คนในครอบครัวคนที่ตายจากการปะทะที่ค่ายทหารที่บาเจาะที่บ่งบอกผ่านบทสัมภาษณ์ก็คือ พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการรังควานของอำนาจรัฐผ่านเจ้าหน้าที่ที่เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่อยู่ในขบวนการ วิธีการก็คือการไปกดดันที่เรียกกันว่าการไปเยี่ยมเยียน ประกอบด้วยการไปหา ซักถาม ตรวจสอบข้อมูล และตรวจค้นแบบไม่หยุดหย่อนจนแทบทำอะไรไม่ได้ สร้างความหวาดกลัวจนหลายคนไม่อาจอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในพื้นที่ได้

นอกจากนั้นคนในครอบครัวยังเชื่ออีกว่า คนอย่างมะรอโซแบกรับภาระการเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ มากมายทั้งๆ ที่บางคดีพวกเขาเชื่อว่าคนของตัวเองไม่เกี่ยวข้อง หมายจับจำนวนมากก็อาจไม่มีหลักฐานมากมายและกลายเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดอาการ “จนตรอก” ในเรื่องนี้สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งเข้าร่วมการเสวนาในวันเสาร์ที่ 23 ก.พ.ที่ มอ.ปัตตานีก็กล่าวถึงเช่นกันโดยตั้งข้อสังเกตุให้วงเสวนาให้ผู้เกี่ยวข้องมองปัญหาการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ พร้อมเสนอให้ตรวจสอบ ว่าใช้หลักฐานที่แน่นหนาพอหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ของการต่อสู้คดีความมั่นคง

ในพื้นที่มายาวนานเขาพบว่า การออกหมายจับและการสั่งฟ้องจำนวนมากอาศัยหลักฐานที่มาจากการซัดทอดรวมทั้งหลักฐานอื่นๆที่ถึงที่สุดแล้วไม่มีน้ำหนัก สิทธิพงษ์ชี้ว่าผลของการออกหมายจับจำนวนมากที่อาจไม่มีน้ำหนักนี้ทำให้คนที่ถูก “หมายหัว” อย่างเช่นมะรอโซหมดหนทางในอันที่จะสู้คดีเพราะเมื่อรวมกันเข้าแล้วอาจต้องใช้เกินเวลาทั้งชีวิตในคุก หรือหากไม่ต้องการเช่นนั้นก็ต้องจำใจยอมรับในความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อแล้วขอมอบตัวเข้าสู่หนทางของการใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติความมั่นคง ที่เจ้าหน้าที่

กำลังผลักดันอย่างแข็งขัน คือการนิรโทษกรรมคนที่ “กลับใจ” ซึ่งสำหรับคนที่ฆ่าได้หยามไม่ได้ หนทางเช่นนี้อาจไม่ต่างไปจากการยอมรับความตาย วงเสวนาอย่างเช่นที่มอ.ปัตตานีพบว่าหลายคนในพื้นที่ที่มีประเด็นร่วมกับมะรอโซโดยเฉพาะกรณีตากใบพยายามหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ “สาง” ความผิดพลาดในอดีต มีบางรายเสนอให้หยิบคดีตากใบขึ้นมาหาทางปัดฝุ่นใหม่ ในขณะที่คนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมวงการเสวนาร่วมอภิปรายกันอย่างคึกคัก บ้างมีข้อเสนอที่ค่อนข้างไปไกลกว่า เช่นให้มีการลงประชามติว่าคนในพื้นที่ต้องการหนทางในการแก้ปัญหาอย่างไร

ต้องยอมรับว่าคนหนุ่มสาวและ นศ. จำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจจากความตายของมะรอโซและพวกอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากหลายต่อหลายคนในกลุ่มนี้มีประสบการณ์ร่วมกับคนอย่างมะรอโซ เพราะการถูกตั้งข้อสงสัย ถูก “เชิญตัว” ไปสอบปากคำและเป็นเป้าของการลงไม้ลงมือจนกระทั่งถูกติดตาม ข่มขู่ด้วยวิธีนานัปการ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะพยายามนำเสนอปัญหาของความไม่เป็นธรรม การนำเสนอของเหล่านี้แน่นอนว่า ท่วงทำนองอาจดุเดือดเลือดพล่านและแรงจนถึงขั้นนำระบุว่ามะรอโซและพวกคือวีรบุรุษของชาวบ้านจนทำให้คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยยากเปิดใจแม้แต่จะรับฟัง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ การนำเสนอปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้โดยกลุ่มคนที่ปกติเกรงกลัวเจ้าหน้าที่อย่างมากถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก่อน ในด้านหนึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญของการถกเถียงปัญหาในพื้นที่ซึ่งเดิมทีเต็มไปด้วยความเงียบ หลายคนในพื้นที่เองก็อยากเห็นการถกเถียงเช่นนี้โดยเฉพาะให้ไปไกลถึงขั้นร่วมกันพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การพูดคุยจริงจังที่ทำท่าว่ากำลังจะเกิดแม้ว่าอาจฟังดูแรงแต่ถ้าให้เวลาอาจถือได้ว่ายังมีโอกาสที่จะเป็นการถกเถียงที่ใช้สติได้ ทว่าการถกเถียงพูดคุยเหล่านี้กำลังถูกบีบให้เงียบลงด้วยกระบวนการที่นำไปสู่การติดยี่ห้อ (อีกครั้ง) ว่าคนที่นำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูดคือคนของขบวนการ ไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดเสียงเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในพื้นที่หลายคนหลังการนำเสนอรายงานของไทยพีบีเอสชิ้นนี้จึงดังออกมาว่า “อย่าผลักเรา”

เป็นที่รู้กันว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องการให้มีการเจรจากับฝ่ายตรงข้าม ทางเลือกที่พวกเขาเสนอคือการปราบและกดดันให้สมาชิกมอบตัวยอมรับผิดและขอนิรโทษกรรมผ่านการใช้มาตรา 21 ส่วนการคลี่คลายปัญหาที่เป็นเงื่อนไขความรุนแรงโดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรมหลายกรณีที่มาจาก จนท.รัฐกลับไม่ได้รับการส่งเสริมให้คืบหน้ายกเว้นความพยายามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ใช้เงินนำในการเข้าไปเยียวยาจิตใจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองได้แต่ตอกย้ำประเด็นว่า คนที่เข้าร่วมขบวนการตกเป็นเหยื่อของการชักจูงถูกผลักให้เป็นเบี้ยของการเดินเกมของขบวนการเพื่อให้ภาพประกอบว่ารัฐไทยอ่อนหัดในด้านการปกครองและสร้างเงื่อนไขไม่เป็นธรรมซ้ำซากเพื่อดึงคนที่เป็นเหยื่อให้เข้าสู่เกมการต่อสู้และเข้าสู่ขบวนการ

การใส่ยี่ห้อคนของขบวนการให้กับคนบางกลุ่มที่กำลังเริ่มเปิดปากและทำให้พวกเขาเงียบเสียงลงจึงเท่ากับว่า แทนที่จะเปิดเวทีสามัคคีคนหลายฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงให้พูดคุยถึงปัญหาอย่างเปิดใจ ถือว่าเป็นการเปิดแผลเก่าออกล้างทำความสะอาดใหม่ แต่สังคมเลือกที่จะปิดมันต่อไปพร้อมกับปล่อยให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงแก้ปัญหาด้วยวิธีการของตนเองซึ่งหลายเสียงบ่นมาเนิ่นนานแล้วว่าไมได้ผล

รายงานข่าวชิ้นนี้ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจึงกลายเป็นทัพหน้าของการเดินเกมของฝ่ายความมั่นคง มันทำหน้าที่ส่งเสียงเตือนแทนเจ้าหน้าที่ไปยังกลุ่มนศ.และคนหนุ่มสาวที่กำลังพลุ่งพล่านด้วยแรงบันดาลใจจากมะรอโซให้เงียบเสียง เป็นเสียงเตือนให้คนที่พยายามจะมองหาความเป็นเหยื่อของมะรอโซและพวกให้เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาอย่างยั่งยืนต้องเว้นระยะห่างจากการกระทำดังกล่าว พร้อมกับปล่อยให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆของตัวเองต่อไป  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net