Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แสดงการต่อต้านการพัฒนาหุ่นยนต์เป็นอาวุธสงคราม หวั่นการใช้อาวุธควบคุมอัตโนมัติอย่างไม่คำนึงถึงกฏหมายระหว่างประเทศ คาดหวังให้มีอนุสัญญากำกับแบบอนุสัญญาเรื่องทุ่นระเบิด

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาสำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษรายงานว่า กลุ่มนักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้ออกมากล่าวต่อต้านการใช้หุ่นยนต์ในการสงครามและวางแผนจัดโครงการรณรงค์ 'หยุดหุ่นยนต์สังหาร' (Stop the Killer Robots) ที่สภาสามัญชนของอังกฤษ ซึ่งจะมีกลุ่มที่เคยรณรงค์ต่อต้านทุ่นระเบิดและระเบิดลูกปรายเข้าร่วมด้วย โดยหวังว่าจะมีการสร้างสนธิสัญญาระดับโลกในการระงับใช้อาวุธควบคุมอัตโนมัติแบบเดียวกับที่เคยมีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดและระเบิดลูกปรายมาก่อนหน้านี้

ดร. โนเอล ชาร์กีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์เชื่อว่าหลังจากที่มีการใช้เครื่องบินไร้คนบังคับหรือโดรนแล้ว สิ่งที่จะถูกพัฒนาถัดมาคือหุ่นยนต์สงครามและอาวุธที่บังคับโดยอัตโนมัติ โดยมีการพัฒนาอาวุธเหล่านี้ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกควบคุม และเมินเฉยต่อเรื่องศีลธรรมและกฏหมายระหว่างประเทศ

"สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่นิยายวิทยาศาสตร์ พวกมันกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา" ชาร์กีย์กล่าว "ในตอนนี้ฝ่ายวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังพัฒนา เครื่องบินไร้คนบังคับ X47B ซึ่งมีความสามารถบินวกกลับด้วยความไวเหนือเสียงทำให้เกิดแรงจีฟอร์ซ (G-force) ในระดับที่มนุษย์ไม่อาจทนทานได้ เครื่องบินชนิดนี้จะทำให้เกิดสงครามที่มีอาวุธควบคุมอัตโนมัติเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ในโลก"

ชาร์กีย์ยืนยันว่าเขาไม่ใช่คนที่ต่อต้านสงคราม แต่ก็กังวลว่าวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาก้าวไปไกลกว่าที่คาด ทำให้อนุสัญญาเจนีวาและกฏหมายสงครามระหว่างประเทศมีความสำคัญ การที่พวกเขาตั้งโครงการต่อต้านล่วงหน้าเนื่องจากว่าไม่ได้มีการถามความเห็นของประชาชนในเรื่องศีลธรรมก่อนหน้านี้

ชารกีย์บอกอีกว่ามีคนจำนวนมากตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้ ทั้งสหรัฐฯ, จีน, อิสราเอล, รัสเซีย และบริษัทพัฒนายุทโธปกรณ์ BAE Systems เป็นสิ่งที่ทำเงินมหาศาล แต่ก็ไม่มีหลักความโปร่งใส ไม่มีกระบวนการทางกฏหมาย กฏหมายอนุญาตเรื่องสิทธิในการขอยอมแพ้ สิทธิของเชลย และมนุษย์จะถูกพิพากษาจากการสร้างความเสียหายต่อสิ่งที่นอกเหนือเป้าหมาย (collateral damage) แต่มีคำถามว่าถ้าหากหุ่นยนต์ทำผิดพลาดใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

มีแนวคิดที่ว่าการใช้หุ่นยนต์จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตของทหารจริง ซึ่งชาร์กีย์โต้แย้งว่ามันไม่ได้ช่วยลดความเสียหายและความรู้สึกโกรธแค้นของฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ในปัจจุบันหุ่นยนต์ยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างเด็กถือขนมกับผู้ใหญ่ถืออาวุธปืนได้ "พวกเราพยายามอย่างมากในการทำให้มันแยกแยะระหว่างรถกับคน ซึ่งได้แสดงให้เห็นการไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้มาแล้วในการใช้โดรน ผู้ปฏิบัติการสร้างความผิดพลาดอย่างมาก และขาดการควบคุมจัดการอย่างเหมาสม" ชาร์กีย์กล่าว

ตามอนุสัญญาเจนีวามาตราที่ 36 ระบุว่า อาวุธใหม่ทุกชนิดจะต้องถูกนำมาพิจารณาไม่ว่ามันจะสามารถจำแนกและแยกแยะระหว่างพลรบกับพลเรือนได้หรือไม่ก็ตาม แต่ชาร์กีย์ชี้ให้เห็นปัญหาว่าหุ่นยนต์บังคับอัตโนมัติจะยังไม่ถูกนับเป็นอาวุธหากยังไม่มีการติดตั้งปืนไว้ที่ตัวมัน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2012 กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ก็เคยนำเสนอรายงาน 50 หน้า ชื่อ 'Losing Humanity: the Case Against Killer Robots' ซึ่งพูดถึงความกังวลเรื่องการใช้อาวุธบังคับอัตโนมัติ สตีฟ กูส ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุธสงครามของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าควรมีการใช้มนุษย์คอยควบคุมหุ่นยนต์ที่ใช้ในการสงครามเพื่อลดการสูญเสียของพลเรือน

โจดี วิลเลี่ยม นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากโครงการนานาชาติเรื่องการห้ามใช้ทุ่นระเบิด เป็นอีกคนหนึ่งที่จะเข้าร่วมการรณรงค์ที่สภาสามัญชน ซึ่งวิลเลี่ยมมั่นใจว่าจะมีการสั่งห้ามการใช้อาวุธหุ่นยนต์ก่อนที่มันจะถูกนำมาใช้จริง

"จะมีหุ่นยนต์สังหารเกิดขึ้นในอนาคตหากพวกเราไม่ทำอะไรเพื่อสั่งห้ามมันในตอนนี้" โจดี วิลเลี่ยมกล่าว "มีผู้ได้รางวัลอีก 6 คนจากกลุ่มสตรีโนเบลที่สนับสนุนให้มีสนธิสัญญานานาชาติเพื่อห้ามการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติติดอาวุธ"


เรียบเรียงจาก

Killer robots must be stopped, say campaigners, The Guardian, 23-02-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net