ปฏิรูปการศึกษา ต้องกล้ากระจายอำนาจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สังคมไทยมีความหลากหลายทางสภาพภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ภูเขาสูง ที่ราบลุ่มแม่น้ำ พี้นที่แอ่งกระทะจนถึงทะเล และมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่ม ซึ่งมีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความเชื่อของชุมชนที่แตกต่างหลากหลาย แต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชนดำรงอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมระหว่างกันมาอย่างยาวนาน

วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่บนฐานวิถีวัฒนธรรม สอนลูกสอนหลานผ่านการเรียนรู้จากครอบครัว ลูกชายเรียนรู้จากพ่อ ลูกสาวเรียนรู้จากแม่ มีประเพณีการบวชเรียนที่วัด และการร่วมกิจกรรมในชุมชนทุกๆกิจกรรมของชีวิต  มีวัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านประเพณีพิธีกรรมทั้ง 12เดือนในรอบปี มีผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้รู้ เป็นพ่อครู แม่ครูถ่ายทอดความรู้ โดยเป็นฐานความรู้ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต การหาอยู่หากินในสภาพแวดล้อมที่ชุมชนตั้งรกรากอยู่มาอย่างยาวนาน

ความเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนครั้งสำคัญนั้น เกิดขึ้นเมื่อการศึกษาสมัยใหม่เริ่มเข้าสู่ชุมชน มีการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ความรู้จากส่วนกลางเข้ามาแทนที่ความรู้ท้องถิ่น ตำราการเรียนการสอนทั้งหมดมาจากส่วนกลาง มุ่งเน้นใช้การศึกษาสร้างความเป็นเอกภาพของชาติความมั่นคงทางการปกครอง และเพื่อการผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการเป็นสำคัญ ต่อมา เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๐๔ การศึกษาเริ่มมีการปรับเป้าหมาย เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมโดยลำดับ โดยนำเอาการศึกษาจากประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกมาเป็นแม่แบบ และขยายโรงเรียนไปทั่วทุกหมู่บ้าน

ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าการศึกษามีเป้าหมายเพื่อผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รับใช้ภาคเมืองและอุตสาหกรรมเป็นหลัก เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาจะถูกหล่อหลอมให้มีวิถีชีวิตที่ทันสมัยแบบในเมือง ขณะที่ผู้ปกครองต่างมุ่งหวังส่งเสียลูกหลานให้เรียนสูงๆ เพื่อที่จะได้รับการจ้างงานในหน่วยราชการ บริษัทธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรม

ผลที่เกิดขึ้น คือ เด็กละทิ้งถิ่นฐาน เรียนหนังสือแล้วไม่อยากกลับบ้าน อยากอยู่ในเมือง ต้องการแสวงหางานทำในเมือง ไม่อยากทำนา ทำไร่ ทำสวน หรืออาชีพของพ่อแม่ เกิดความด้อยอายที่จะต้องพูดภาษาถิ่น อายที่จะแต่งตัวแบบพื้นบ้าน ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง ในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง

เด็ก เยาวชนส่วนใหญ่จึงทำตัวให้ดูดีและทันสมัยโดยต้องตามกระแสการโฆษณาของสื่อ ตามให้ทันเทคโนโลยีทุกรุ่น ตามให้ทันแฟชั่นในแต่ละยุค และสนุกกับการอยู่ในกระแสบริโภคนิยมอย่างบ้าคลั่ง

 กระบวนการศึกษาสมัยใหม่จึงเป็นกระบวนการถอนรากถอนโคนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเดิมของชุมชน ด้วยวาทกรรมที่ว่าล้าสมัยไม่ทันยุค การอยู่แบบดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่วัดโดย GDP

แน่นอนเมื่อไม่มีลูกหลานเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเดิม พ่อแม่ ชุมชนต้องต้องละทิ้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่ได้สืบทอดต่อกันมาหลายรุ่นคน การขายที่นา ขายวัวควาย ขายสวนไม้ผล เก็บตำราสมุนไพรทิ้งไว้บนหิ้ง เก็บกี่ทอผ้าทิ้งไว้หลังบ้าน “มรดกความรู้ ภูมิปัญญาถูกทิ้งโดยการศึกษาสมัยใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย”

ด้วยการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เรียนแต่ในห้อง ท่องจำหนังสือแบบนกแก้วนกขุนทอง เพียงเพื่อนำไปสอบแข่งขันเลี่อนขั้นสูงขึ้น นอกจากไม่เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงที่สามารถนำมาปฏิบัติ นำมาใช้ในชีวิตได้แล้ว ยังสร้างความเห็นแก่ตัว ที่จะต้องเป็นผู้ชนะในลู่แข่งขันทางการศึกษา จึงเกิดภาวะที่เรียนหนังสือจนไม่รู้จักมนุษย์ ไม่รู้จักโลก ขนาดเรียนหนักจากห้องเรียนแล้วก็ยังต้องไปกวดวิชาเพิ่มเติมอีก  เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการศึกษากันทั่วบ้านทั่วเมือง

ความเห็นแก่ตัว ต้องเป็นผู้ชนะที่แพ้ไม่ได้ การไหลตามกระแสสังคมแบบยอมจำนน ล้วนเป็นสะท้อนถึงระบบการศึกษาที่ไม่ก่อให้เกิดความงอกงามของชีวิต ไม่เพิ่มพูนคุณค่าความเป็นมนุษย์ การศึกษากำลังทำให้เด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของสังคมจมดิ่งลงไปสู่เส้นทางอบายและนรกภูมิ

แม้ว่ารัฐได้มีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษา ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากมายในรอบกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า การปฏิรูปการศึกษาสามารถปฏิรูปได้เฉพาะในด้านการปรับโครงสร้างบุคคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก แต่ไม่สามารถปฏิรูปไปถึงฐานคิดและกระบวนการเรียนรู้ดังที่มุ่งหวังได้ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองในช่วงปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไปไม่ถึงไหน

รัฐเองทำได้เพียงจ่ายงบประมาณตามแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากระบบการศึกษาผ่านกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นการทำงานแบบแยกส่วนที่นอกจากไม่ได้ผลแล้วยังต้องสูญเสียงบประมาณมากมหาศาล

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ทางกลุ่มองค์กรต่างๆ อันหลากหลายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  ที่ดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือกและรวมตัวกันในนามสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันหลายครั้ง โดยมีความเห็นเบื้องต้นว่า การปฏิรูปการศึกษาโดยภาครัฐฝ่ายเดียวนั้นไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ทุกคนคาดหวังไว้ จึงมีความจำเป็นที่กลุ่ม องค์กร ที่จัดการศึกษาทางเลือก และทุกภาคส่วนในสังคม ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงในอนาคต

ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาทางด้านการศึกษา พบว่า วิกฤติการศึกษาในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเชื่อมโยงเข้ากับโลกาภิวัฒน์ ขณะที่ระบบการศึกษาของไทยลอกเลียนแบบมาจากประเทศตะวันตกซึ่งมีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งปรับตัวไม่ทันต่อสภาวการณ์ใหม่ก่อลุกลามเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย นับตั้งแต่ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำมีเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันจำนวนเพิ่มมากขึ้น เด็กและเยาวชนที่ผ่านการศึกษาในระบบขาดทักษะชีวิต ขาดคุณธรรม และขาดจิตอาสา มีชีวิตที่อยู่บนความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรง การเสพสิ่งเสพติด การมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร และเป็นนักบริโภคตัวยง หลงไปกับสื่อที่กระตุ้นการบริโภค ไหลไปตามกระแสแฟชั่นตลอดเวลา  ภาพรวมของผลผลิตของระบบการศึกษาเช่นนี้จึงเป็นสภาวะที่สังคมไม่พึงประสงค์

ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กจบการศึกษามาแล้ว ตลาดงานก็หดตัวแคบลง ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างก็รับบุคลากรน้อยลง ผู้สำเร็จการศึกษาจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะตกงานพร้อมๆ กับการต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการกู้เรียนตามนโยบายของรัฐ เด็กและเยาวชนเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับความเครียดและความทุกข์มากขึ้น จะกลับสู่ท้องถิ่นบ้านเกิดก็อยู่ไม่ได้ อยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะการเรียนในระบบที่ผ่านมาเป็นการตัดความสัมพันธ์เด็กออกจากครอบครัวและชุมชนตนเอง ขาดการเชื่อมโยงต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็กและเยาวชนที่ผ่านระบบการศึกษาจึงไม่เห็นคุณค่าการใช้แรงงาน ช่วยการช่วยงานของพ่อแม่ไม่ได้ และไม่สามารถสร้างสรรค์งานเพื่อการพึ่งตนเองได้ จากสภาวะที่เด็กและเยาวชนของสังคมรุ่นปัจจุบันถูกทำให้ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ จะยิ่งส่งผลกระทบให้กลายเป็นปัญหาของสังคมที่ใหญ่ขึ้นและจะส่งผลต่อคุณภาพการพัฒนาสังคมไทยโดยรวมในอนาคต

วิกฤติการศึกษาที่กำลังขยายตัวอยู่นั้น กล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญเกิดมาจาก

การมีหลักคิดการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่ผิดพลาด คือ ตั้งอยู่บนฐานคิดพิชิตธรรมชาติ อยู่เหนือและเอาชนะธรรมชาติ แปรธรรมชาติเป็นทุน เป็นกำไร ฐานคิดการบริโภคแบบไม่ยับยั้งชั่งใจ ฐานคิดแบบอัตตาธิปไตย และไม่ตั้งบนฐานคิดการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ

กระบวนการจัดการเรียนรู้ เรียนแต่ในห้อง ท่องจำ ขาดการคิด วิเคราะห์ เน้นการสอบแข่งขันผ่านชั้นที่ทำให้เด็กที่อยู่ชนบทห่างไกล  ครอบครัวยากจน  เป็นพวกแพ้ถูกคัดออก กลุ่มที่ประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนดี  พร้อมทั้งสามารถส่งไปกวดวิชาเพิ่มเติมอีก แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นคือโรงเรียนในกรุงเทพฯ  ในเมืองใหญ่ มีความพร้อมได้รับการสนับสนุนเต็มที่  ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนในชุมชนที่ห่างไกล  ขาดแคลนทั้งอาคาร สถานที่อุปกรณ์การเรียน ทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มถึง ๑๔,๓๙๗  โรง กลายเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งที่รัฐธรรมนูญและ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันและมีคุณภาพ

การบริหารจัดการศึกษารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง บริหารสั่งการจากตรงกลาง ใช้หลักสูตรแบบเดียวกันทั่วประเทศ และมีการกำหนดมาตรฐานจากส่วนกลางแบบเดียว เป็นความรู้ที่ไม่สามารถตอบสนองความหลากหลายของคนแต่ละคน กลุ่ม ชุมชนที่มีความหลากหลายได้ ส่งผลทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ  ผู้ที่สามารถแข่งขันประสบผลสำเร็จมีจำนวนน้อยลงทุกที

ดังนั้นทางสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจึงขอเรียกร้องให้เกิดกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้กับพ่อแม่ สถาบันศาสนา องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมต่างๆตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างชัดเจน สนับสนุนให้มีการปรับใช้หลักสูตรและการกำหนดมาตรฐานและการประเมินให้เหมาะสมกับสภาพจริงของแต่ละพื้นที่ ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์  รวมทั้งการการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่การเป็นโรงเรียนชุมชนโดยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายแทนการยุบและควบรวม

และเสนอให้รัฐบาลกำหนดให้การศึกษาเป็นวาระของชาติที่ระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการศึกษามามองทางออกร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อให้การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาคน พัฒนาประเทศในการเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ในอนาคตได้อย่างแท้จริง    

 

 

                                                                               

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท