Skip to main content
sharethis


(22 ก.พ.56) ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต และมีการแสดงความคิดเห็นต่อการร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ...  ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วิรัตน์ กัลยาสิริ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายนี้ เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ยังมีอคติ เมื่อต้องติดต่อกับราชการหรือเอกชน คนกลุ่มนี้ยังถูกเลือกปฏิบัติ ถูกปฏิเสธ ความเชื่อของสังคมเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนที่เราเคยประนามเด็กที่ถนัดซ้าย และบังคับให้เขาใช้มือขวา แต่ปัจจุบันการถนัดซ้ายหรือขวาเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนการรักในเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็เป็นเรื่องตามธรรมชาติ

นพ.แท้จริง ศิริพาณิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่กฎหมายบอกผมว่าผมจะอยู่กับใครสักคน มีความผูกพัน ดูแลกัน คนนั้นต้องเป็นคนละเพศกับผม เป็นเพศเดียวกันไม่ได้นั้นไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ในรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า 'บุคคล' ก็คือมนุษย์หนึ่งคน ไม่มีแบ่งแยกเพศ  สิทธิก็จะต้องเท่าเทียมกัน ต้องทำสิ่งต่างๆ ตามความต้องการของตนเองได้เสมอเหมือนกัน ตราบใดที่เป็นไปตามกฎกติกาของสังคม แต่กฎเหล่านั้นต้องเอื้อให้ทุกคนอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุก ไม่ใช่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ

“ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคอีกต่อไปแล้ว วิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบอะไรใหม่ๆ โลกเราไม่ได้มีแต่เพศหญิงชายที่แบ่งแยกเหมือนขาวกับดำ แต่มีหลายสี นี่คือธรรมชาติ และคนที่แตกต่างหลากหลายบางกลุ่มกำลังถูกกีดกันทางกฎหมาย ทำให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้ไม่ปกติสุข พวกเขาเสียสิทธิอันชอบธรรมในฐานะบุคคลคนหนึ่ง กฎหมายเหล่านี้คือการคืนสิทธินั้นให้เขา” นพ.แท้จริง กล่าว

ผู้ร่วมรับฟังแสดงความเห็นว่าอยากฟังรายละเอียดมาตราใน พ.ร.บ.ชัดเจนกว่านี้ และแสดงความกังวลว่าไม่อยากให้กฎหมายแยกความรักเพศเดียวกันออกจากความรักต่างเพศโดยการกำหนดให้ พ.ร.บ.นี้มีไว้จดทะเบียนคู่เพศเดียวกันเท่านั้น เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการแบ่งแยกตีตราบุคคลที่รักเพศเดียวกัน และเสนอว่าให้ออกกฎหมายที่ไม่มีการจำกัดเพศ แทนที่จะออกกฎหมายที่ยังจำกัดความเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากให้มีการออกกฎระเบียบที่เป็นการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติต่อการจดทะเบียนของคู่เพศเดียวกัน เช่น การตรวจสอบคู่เพศเดียวกันที่จะจดทะเบียน ในขณะที่คู่ต่างเพศไม่ต้องผ่านการตรวจสอบใดๆ ก่อนจดทะเบียน 

เมื่อมีผู้แย้งจากกลุ่มผู้ฟังว่าอาจมีการนำกฎหมายนี้ไปใช้ในการหาผลประโยชน์ นพ.แท้จริงตอบว่า การหาผลประโยชน์จากกฎหมายมีในทุกที่ ไม่เว้นคู่ชายหญิง ไม่ใช่เหตุผลที่จะระแวงและกีดกันการเข้าถึงสิทธิของคนบางกลุ่ม เป็นหน้าที่ของผู้ใช้กฎหมายที่จะควบคุมดูแลการกระทำมิชอบของคนทุกกลุ่ม 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตนี้ร่างขึ้นจากการทำงานของคณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4 ภูมิภาค

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศหวังว่าความพยายามในการให้การคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้สังคมเปิดใจยอมรับครอบครัวของคู่ชีวิตเพศเดียวกันและคู่ของคนข้ามเพศมากขึ้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้ติดตามเนื้อหาในพระราชบัญญัติอย่างใกล้ชิด โดยหวังว่าจะตอบโจทย์ความเดือดร้อนจากสถานการณ์จริงของคู่ชีวิตได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันได้แก่ การคุ้มครองสิทธิในฐานะคู่ชีวิตในการตัดสินใจแทนในการรักษาพยาบาล การดำเนินการแทนในกระบวนการยุติธรรม การจัดการทรัพย์สินในครอบครัว การทำนิติกรรมสัญญา การรับสวัสดิการหรือสิทธิอันพึงได้ในฐานะคู่ การรับสิทธิในการพำนักอาศัยในประเทศในฐานะคู่สมรส รวมไปถึงสวัสดิการและอำนาจในการดูแลบุตร 

เวทีเสวนาวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นี้จะจัดขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งถัดไปคือ 1 มีนาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ครั้งสุดท้ายจะจัดที่รัฐสภา กรุงเทพฯ โดยจะประกาศวันเวลาในภายหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net