กฎหมายสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของประเทศอังกฤษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

[1] ความนำ
การคมนาคมในพื้นที่ชุมชนเมืองย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะนอกจากการคมนาคมจะเป็นส่วนช่วยให้มนุษย์ติดต่อสื่อสาร ไปมาหาสู่กันได้แล้ว ยังช่วยให้มนุษย์สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองโดยอาศัยการคมนาคม เช่น การคมนาคมขนส่งสินค้าจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง การเลี้ยงชีพด้วยการขับรถแท็กซี่และการอาศัยยานพาหนะเดินทางไปประกอบอาชีพต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การคมนาคมในพื้นที่ชุมชนเมืองย่อมต้องอาศัยยวดยานพาหนะประเภทต่างๆ บนท้องถนน เพื่อให้เกิดความสะดวกหรือตอบสนองความต้องการในการเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมืองของประชาชนแต่ละบุคคล คนใดมีกำลังทรัพย์มากหรือมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีก็อาจมีทางเลือกอันทำให้สามารถใช้ยวดยานพาหนะที่สะดวกสบาย ปลอดภัย รวมไปถึงมีกำลังทรัพย์ที่จะมาบำรุงรักษายานพาหนะนั้นๆได้ ในขณะที่ชนชั้นกลางระดับล่างหรือชนชั้นล่างที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำหรือมีรายได้น้อย ก็ย่อมต้องอาศัยยานพาหนะที่สะดวกสบายน้อยกว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะประเภทอื่นๆ และอาจพบกับความเสี่ยงจากการใช้งานยานพาหนะเหล่านั้น ทั้งที่เป็นพาหนะที่จัดไว้โดยบริการสาธารณะของภาครัฐ เช่น รถโดยสารประจำทางที่จัดไว้บริการสาธารณะโดยรัฐหรือเอกชนที่มารับสัมปทานจากรัฐหรือจักรยานที่สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง เป็นต้น

อนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือคมนาคมในพื้นที่ชุมชนเมืองประเภทใดก็แล้วแต่ รัฐ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่น ควรมีหน้าที่ที่สำคัญในการจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่อาศัยในชุมชนเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ให้ครอบคลุมหรือรองรับการใช้งานทุกยานพาหนะ เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิในการเดินทาง (freedom of movement)[1] สำหรับประชาชน รวมไปถึงสิทธิของประชาชนในการที่จะเลือกใช้พาหนะประเภทต่างๆที่ตนพึ่งพอใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสิทธิในการเดินทางและสิทธิในการเลือกใช้พาหนะประเภทต่างๆในการสัญจรในชุมชนเมือง รัฐ หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น จำต้องจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อตอบสนองต่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านคมนาคมในชุมชนเมืองและสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมภายในชุมชนเมืองหรือการเดินทางด้วยวิธีการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

การเดินทางด้วยจักรยานในประเทศอังกฤษถือเป็นทางเลือกของการเดินทางของผู้คนในชุมชนเมืองอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ต้องการเดินทางใกล้ๆ ซึ่งนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการเดินทางด้วยจักรยานประเภทต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ผนวกเข้ากับวิถึชีวิตของผู้คนในชุมชนเมืองไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กหรือชุมชนเมืองขนาดใหญ่ รวมไปถึงองค์ความรู้หรือศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับจักรยานได้เปลี่ยนผ่านมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น ผู้ที่เดินทางโดยอาศัยจักรยานในประเทศอังกฤษมักต้องเจอกับประสบการณ์เกี่ยวกับการปั่นจักรยานเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ (diverse cycling experience)[2] โดยอาจเกี่ยวพันหรือสัมพันธ์กับเรื่องราวต่างๆ หลายๆ เรื่องบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ข้างทาง ระบบจราจรในชุมชนเมือง สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนถึงโรงพยายาลเมื่อได้รับอาการบาดเจ็บจากการขี่จักรยาน

รูปที่ 1 วัฒนธรรมการขี่จักรยานในเมืองอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

[2] ประโยชน์โดยรวมของวัฒนธรรมการขี่จักรยาน
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรยานกับการเดินเท้าถือเป็นการสัญจรหลักของผู้คนในสังคมอังกฤษ โดยถือว่ายุคดังกล่าวเป็นยุคที่มีการใช้จักรยานอย่างแพร่หลายในพื้นที่ชุมชนเมือง จนกระทั้งภายหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยปัจจัยหลักด้านสภาพสังคม เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างด้านคมนาคม[3] ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานหรือวัฒนธรรมจักรยาน ทำให้จักรยานมีการใช้งานน้อยลงในบริเวณชุมชนเมืองและปริมลฑล

อย่างไรก็ดี การใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในสังคมอังกฤษก็ยังคงมีอยู่ตราบจนปัจจุบัน ด้วยว่าการขี่จักรยานในชีวิตประจำวันอาจให้ประโยชน์หลายประการสำหรับผู้ขับขี่หรือผู้ถีบจักรยาน ที่ไม่นับรวมในเรื่องการสัญจร ได้แก่[4] รัฐหรือท้องถิ่นสามารถเพิ่มการใช้พื้นที่ผังเมืองด้านคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (efficient use of space) โดยการใช้งานจักรยานสามารถทำให้ท้องถนนมีที่ว่างในการใช้ประโยชน์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ เช่นรถยนต์ การใช้งานจักรยานย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (good for the environment) เพราะจักรยานขับเคลื่อนไปโดยกำลังของกล้ามเนื้อมนุษย์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม การขับขี่รถยนต์ย่อมมีไอเสียจากการเผาไหม้ของน้ำมันจนทำให้เกิดไอเสียที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดังเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2) นอกจากนี้ การขี่จักรยังส่งผลดีต่อสุขภาพ (good for the body) เพราะการถีบจักรยานเท่ากับเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ทำงาน

อย่างไรก็ดี การขี่จักรยานอาจต้องระวังถึงความเสี่ยงบางประการที่อาจเกิดขึ้นก่อนขี่จักรยาน ระหว่างขี่จักรยานและภายหลักจากการขี่จักรยานเพื่อการเดินทางหรือการนันทนาการ ตัวอย่างเช่น  การขี่จักรยานอาจไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศ (weather) ในสภาพที่มีฝนตกหนักหรือมีหิมะตกอย่างหนัก จักรยานอาจถูกขโมยได้เช่นเดียวกับยานพาหนะอื่นๆ (cycle theft) และผู้ขี่จักรยานบางคนอาจได้รับการต่อต้านจากผู้ที่มีพื้นวัฒนธรรม ทัศนะคติและความเชื่อในแง่ลบต่อการขี่จักรยานหรือการขี่จักรยานไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับชุมชนบางชุมชน (culture, attitudes and credibility) เป็นต้น[5]

 

รูปที่ 2 จุดจอดจักรยานสาธารณะที่ท้องถิ่นของประเทศอังกฤษจัดไว้ให้สำหรับผู้ขี่จักรยานในชุมชนเมือง

[3] คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองของประเทศอังกฤษ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้กำหนดนโยบายด้านผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน ซึ่งในเนื้อหาของคำแถลงนโยบายด้านผังเมืองของประเทศอังกฤษหลายฉบับได้กล่าวถึงเรื่องของการส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยานในชุมชนเมืองไว้ ตัวอย่างเช่น คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองฉบับที่ 7 (Planning Policy Statement 7: Sustainable Development in Rural Areas) ที่กล่าวสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดสาธารณูปโภครองรับการขี่จักรยานของประชาชน เพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชน[6] และคำแถลงนโยบายด้านผังเมืองฉบับที่ 6 (Planning Policy Statement 6: Planning for Town Centres) ที่กล่าวสนับสนุนให้ท้องถิ่นดำเนินการลดปริมาณการใช้งานรถยนต์ส่วนตัวในพื้นที่ชุมชนเมือง ด้วยการสนับสนุนการเดินบนทางเท้า การขี่จักรยานและการเดินทางโดยบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งอื่นๆ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวในชุมชนเมือง[7] เป็นต้น

แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษได้จัดให้มีคำแถลงนโยบายด้านผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน อย่างไรก็ดี คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองไม่มีสภาพบังคับให้บุคคลทั่วไปกระทำตามเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองเป็นเพียงแค่การกำหนดแนวทางให้ส่วนงานด้านผังเมืองของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ของอังกฤษปฏิบัติตามเท่านั้น นอกจากนี้ แม้คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองจะกำหนดภาพรวมอย่างกว้างๆ ในเรื่องของการส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน แต่ก็ไม่ได้กำหนดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน รวมไปถึงการจัดระเบียบอื่นๆ อันเนื่องมากจากวัฒนธรรมการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง

[4] หลักของการจัดผังเมืองและออกแบบที่เป็นมิตรต่อการขี่จักรยาน
อนึ่ง ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ผังเมืองและกลไกของภาครัฐเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของอังกฤษ จำต้องอาศัยผังเมืองและการออกแบบสาธารูปโภคที่ดีหรือเหมาะสม เพื่อรองรับกับการใช้งานจักรยานในชุมชนเมืองของแต่ละท้องถิ่นด้วย  ด้วยเหตุนี้ ประเทศอังกฤษจึงได้พัฒนาหลักของการจัดผังเมืองและออกแบบที่เป็นมิตรต่อการขี่จักรยาน (principles of cycle-friendly planning and design)[8] กล่าวคือ หลักการดังกล่าวสนับสนุนให้มีการออกแบบหรือกำหนดผังเมืองที่เอื้อต่อการขี่จักรยาน โดยรัฐต้องคำนึงถึงการใช้งานของยานพาหนะประเภทต่างๆ (mixed purpose) ให้ประชาชนมีทางเลือกต่างๆ ที่จะเดินทางหรือคมนาคมขนส่งผ่านสาธารณูปโภคด้านถนนหนทางต่างๆ รวมไปถึงการสร้างหรือจัดให้มีทางจักรยานประเภทต่างๆ สำหรับประชาชนให้ประชาชนมีทางเลือกในการขี่จักรยานร่วมกับทางเลือกในการใช้ยวดยานพาหนะอื่นๆ

นอกจากนี้ การออกแบบสาธารณูปโภคสำหรับสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองนั้น รัฐควรต้องออกแบบให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในระยะยาวโดยคำนึงถึงหลักการออกแบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภคที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน (convenience) การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานโดยง่าย (accessibility)  ความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง (safety)  ความสบายในการใช้งานจักรยานของผู้ขับขี่ในชุมชนเมือง (comfort) และความดึงดูใจให้บุคคลทุกเพศทุกวัยหันมาใช้งานจักรยานเพื่อทดแทนยานพาหนะอื่นหรือเพื่อการประกอบกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ (attractiveness) สำหรับเหตุที่จะต้องมีหลักการต่างๆเหล่านี้ก็เพื่อให้จักรยานกลายเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง[9] ทำให้สามารถเลือกใช้จักรยานได้ตามความต้องการของตนเองในการเดินทาง รวมไปถึงเป็นการวางบรรทัดฐานให้รัฐต้องจัดบริการสาธารณะด้านคมนาคมให้ตอบสนองต่อความสาธารณชนที่ต้องการใช้จักรยานด้วย

 

รูปที่ 3 ลักษณะของฝาท่อระบายน้ำที่เป็นมิตรต่อการขี่จักรยานในชุมชนเมือง
และทางลาดบริเวณทางเท้าที่สะดวกต่อผู้ใช้จักรยาน

[5] กฎหมายสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของประเทศอังกฤษ
การขี่จักรยานในชุมชนเมือง ก็เหมือนกับการใช้ยวดยานพาหนะอื่นๆ ที่ต้องเคารพกฎจราจรและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ยวดยานบนท้องถนน ผู้ขับขี่จักรยานทุกคนบนท้องถนนหรือทางที่ท้องถิ่นได้จัดไว้เฉพาะสำหรับจักรยานต้องมีความรับผิดชอบและเคารพกฎหมาย[10] อนึ่ง การปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ขี่จักรยานในชุมชนเมืองนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ขับขี่เองทั้งในด้านความปลอดภัยและความสะดวกต่อการสัญจรแล้ว การปฏิบัติตามกฎหมายยังส่งผลดีต่อผู้ที่เดินเท้าหรือผู้ที่ใช้ยานพาหนะอื่นๆ บนท้องถนนอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหามาตรการทางกฎหมายจักรยาน (cycling law) ที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานให้ผู้ขับขี่จักรยานสามารถใช้จักรยานเป็นยานพาหนะได้อย่างปลอดภัยและสนับสนุนการจัดการบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งของท้องถิ่น ให้มีความเป็นระเบียบและสอดคล้องกับระบบจราจรที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดให้มีขึ้น แม้ว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศคอมมอนลอว์หรือประเทศที่อาศัยระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐหรือท้องถิ่นอาจใช้อำนาจตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร (statutory powers) เพื่อกำหนดความรับผิด (liability)[11] ในกรณีต่างๆของของผู้ขี่จักรยานที่ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎจราจรหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง[12]

[5.1] กฎหมายจราจรที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน
รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดให้จักรยานเป็นพาหนะชนิดหนึ่งที่ประชาชนสามารถใช้งานบนท้องถนนหรือทางจักรยานที่รัฐจัดไว้ให้เฉพาะได้ รัฐบาลอังกฤษได้ตรากฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ กฎหมาย Highways Act 1980[13] ที่วางหลักเกณฑ์ไว้ให้รัฐ ท้องถิ่นหรือหน่วยงานด้านจราจรของท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดให้มีทางจักรยาน (cycle track) สำหรับประชาชนในท้องถิ่นไว้เพื่อรองรับการจราจรหรือการสัญจรโดยจักรยาน นอกจากนี้ ท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องจัดงบประมาณสาธารณะเฉพาะ (public expense) สำหรับการบำรุงรักษาและก่อสร้างทางจักรยานสำหรับเส้นทางในพื้นที่ชุมชนเมือง นอกจากนี้ รัฐยังมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางจักรยานให้เหมาะสมกับการใช้งาน (duty to maintain) ซึ่งหากผู้ขับขี่จักรยานเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการความจงใจหรือประมาทเล่นเล่อของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิกเฉยต่อการบำรุงรักษาทางจักรยาน ย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากภาครัฐได้[14]

กฎหมายดังกล่าวยังได้ห้ามผู้ขี่จักรยานไม่ให้ขี่จักรยานบนทางเท้าหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งผู้ขี่จักรยานไม่มีสิทธิที่จะขี่จักรยานบนทางเท้านั้นเอง (no right to cycle on footpaths) เหตุที่กฎหมายได้บัญญัติไว้มีรายละเอียดดังนี้ ก็เพราะประสงค์ที่จะจัดระเบียบทางจราจรเพื่อไม่ให้ผู้สัญจรบนทางเท้าได้รับความเดือดร้อนหรืออันตรายจากยานพาหนะอื่นๆ ในขณะเดียวกัน รัฐได้จัดทางจักรยานไว้เฉพาะสำหรับผู้ขี่จักรยานแล้ว ผู้ขี่จักรยานจึงไม่ควรมารบกวนการใช้ทางของคนเดินเท้าบนบาทวิถีหรือทางเท้าอื่นๆ อีก ซึ่งหากฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ในทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ ก็จะมาจอดหรือกระทำการอื่นๆ กีดขวางการจราจรบนทางจักรยานไม่ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานที่ดี กล่าวคือ รัฐได้สร้างบทบัญญัติอื่นๆให้สอดคล้องกับวิถีหรือวัฒนธรรมการใช้จักรยานที่ดีในสังคมและสอดคล้องกับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายจราจรโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น ประมวล Highway Code ที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่สำหรับผู้ขับขี่จักรยานสำหรับผู้ขับขี่จักรยานทั้งในเวลากลางวันและในเวลากลางคืน เช่น ผู้ขี่จักรยานควรใส่เสื้อสะท้อนแสงในเวลากลางคืน (light-coloured or fluorescent clothing) และผู้ขับขี่จักรยานต้องติดตั้งไฟสีขาวด้านหน้ารถและไฟสีแดงด้านท้ายรถจักรยาน (white front and red rear lights lit) หรืออาจเลือกที่จะติดเป็นแผ่นสะท้อนแสงสีแดงในด้านท้ายจักรยานแทนก็ได้ (red rear reflector) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่[15] เป็นต้น

อนึ่ง แม้ประเทศอังกฤษจะมีหลายมาตรการที่สนับสนุนในเรื่องของความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่จักรยาน แต่ประเทศอังกฤษเองก็ยังไม่ได้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับวัฒนธรรมการขี่จักรยานไว้หลายประการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องสวมหมวกนิรภัยในขณะที่ขับขี่จักรยาน รวมไฟถึงการที่รัฐไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานอื่นๆ เพื่อสอดรับกับการใช้หมวกนิรภัยของผู้ขับขี่จักรยาน[16]

 

รูปที่ 4 ทางจักรยานแบบปันส่วน (Share Bikeway) ในพื้นที่ชุมชนเมือง

[5.2] กฎหมายกำหนดมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์ของจักรยานถีบเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับสุขภาพและชีวิตของผู้ขับขี่จักรยาน
จักรยานถีบ (pedal bicycle) เป็นจักรยานที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ชุมชนเมืองของประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากจักรยานถีบจะหาซื้อได้ง่ายตามร้านจักรยานหรือร้านอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ แล้ว จักรยานถีบยังสามารถบำรุงรักษาได้ง่ายกว่าจักรยานไฟฟ้า (electric bicycle) ที่มีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลอังกฤษจึงจำเป็นที่จะต้องหามาตรการให้สอดรับกับการใช้งานจักรยานถีบในพื้นที่ชุมชนเมือง ให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่ซื้อจักรยานมาจากร้านค้าหรือได้รับจักรยานมาจากผู้ผลิต

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้บัญญัติกฎหมาย Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010 ขึ้น[17] เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจักรยานต้องมีความระมัดระวังต่อผู้ซื้อจักรยาน โดยทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจักรยานต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (safe product) อันเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดการค้าจักรยานอันเป็นหลักประกันประการหนึ่งต่อประชาชนที่ต้องการใช้งานจักรยานว่าประชาชนจะได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ซื้อมาจากร้านค้า

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดให้ผู้ผลิตจักรยานต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่จักรยานมาจากโรงงาน ทำให้ผู้ซื้อจักรยานในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสามารถใช้งานจักรยานได้เลยนับตั้งแต่ซื้อจักรยานมาจากผู้ขาย ได้แก่ เบรกมือหรืออุปกรณ์ห้ามล้อจักรยาน (hand-operated brakes) กระดิ่งจักรยาน (bell) แผ่นสะท้อนแสงบริเวณล้อจักรยาน (reflectors on both sides of each wheel) แผ่นสะท้อนแสงหรือดวงไฟหน้ารถจักรยานสีขาว (white wide-angle front reflector, or a front lamp) แผ่นสะท้อนแสงสีแดงท้ายรถจักรยาน (red wide-angle rear reflector) และแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองบริเวณด้านหน้าและด้านหลังเท้าถีบ (yellow reflectors front and rear on each pedal)

[5.3] กฎหมายผังเมืองที่สนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง
กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งสาธารณะมีหน้าที่ให้การจัดทำบริการสาธารณะในการคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการใช้งานจักรยานของประชาชนในท้องถิ่น โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ประชาชนสามารถใช้จักรยานเป็นยานพาหนะบนทางจักรยานหรือเลนจักรยาน (cycling track) อันเป็นการสถาปนาสิทธิในการสัญจรโดยจักรยานถีบในช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ (a right of way on pedal cycles) อนึ่ง ทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไป อาจเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ใช้พื้นที่สัญจรร่วมกับทางเท้าหรือบาทวิถีปกติของประชาชนหรืออาจเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่แยกออกมาต่างหากจากทางเท้าหรือบาทวิถีปกติของประชาชน

พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 ยังได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยอื่นๆ สำหรับผู้ขับขี่จักรยาน ตัวอย่างเช่น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต้องมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย และระหว่างมีการซ่อมบำรุงทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนนั้น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจำต้องหาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับอันตรายระหว่างมีการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดในเรื่องของค่าสินไหมทดแทน (Compensation) สำหรับบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการจงใจหรือประมาทเล่นเล่อของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานของท้องถิ่น ที่เป็นเหตุให้ผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับความเสียหายจากการสัญจร โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐที่จงใจหรือประมาทเล่นเล่อดังกล่าว ก็เพื่อมุ่งในการเยียวยา (recovery) ความเสียหายของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพยสิน ได้รับการเยียวยาให้กลับเป็นปกติ[18]

 

รูปที่ 5 แผนที่เชื่อมโยงเส้นทางสาธารณะต่างๆ รวมไปถึงเส้นทางจักรยาน รวมไปถึงการแสดงจุดจอดจักรยานบนแผนที่

[5.4] กฎหมายภาษีเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน
ประเทศอังกฤษได้กำหนดมาตรการทางภาษีโดยรัฐบาลได้ตรากฎหมาย Income Tax (Earnings and Pensions) Act 2003[19] ขึ้น กฎหมายดังกล่าวได้วางมาตรการในการยกเว้นภาษี (tax exemption for bicycles) โดยได้วางหลักเกณฑ์หากนายจ้างหรือผู้ประกอบการรายใดได้จัดหาจักรยานหรืออุปกรณ์ส่งเสริมความปลอดภัยในการขี่จักรยานมาไว้ให้ลูกจ้างสามารถยืมหรือเช่าจะได้รับยกเว้นภาษีจากเงินรายได้ หากนายจ้างได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงือนไขที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ตัวอย่างเช่น นายจ้างได้จัดหาจักรยานหรืออุปกรณ์สนับสนุนการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยสำหรับพนักงานทั่วไป โดยอาจจัดให้มีข้อเสนอเป็นลักษณะของทางเลือกที่นายจ้างจัดหาไว้ให้ลูกจ้าง (แต่ไม่จำเป็นที่นายจ้างทุกรายต้องทำแบบนี้ กฎหมายเพียงกำหนดเงือนไขในการขอลดหย่อนภาษีของนายจ้างเท่านั้น) เป็นต้น

อนึ่ง มาตรการนี้ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จูงใจให้นายจ้างสนับสนุนการขับขี่จักรยานของลูกจ้าง ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน (cycle to work scheme) รวมไปถึงใช้จักรยานเพื่อติดต่อธุรกิจของนายจ้าง

[6] สรุป
จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แม้วัฒนธรรมการขี่จักรยานจากการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ผ่านกิจกรรมรณรงค์ของภาคเอกชนและกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้วัฒนธรรมการขี่จักรยานปรากฎชัดมากขึ้นและได้รับความสะดวกในการเข้าถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่สอดรับการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ดี การขี่จักรยานจะกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่ดีในชุมชนเมืองได้ก็ต้องปลูกฝังความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการประสานระหว่างองค์ความรู้หรือมาตรการต่างๆ ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองและในประเทศให้ตระหนักและเข้าใจถึงบริบทการใช้จักรยาน รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดรับกับการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดบทบัญญัติกฎหมายเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานจึงถือเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการสร้างระเบียบแบบแผนให้ประชาชนที่เป็นผู้ขับขี่จักรยานในประเทศ ได้ตระหนักถึงระเบียบและปฏิบัติตามระเบียบเพื่อให้การใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นไปอย่างมีระเบียบ ปลอดภัยและอาจได้ประโยชน์อื่นๆ จากการขี่จักรยานหรือสนับสนุนให้มีการขี่จักรยานด้วย เช่น สุขภาพร่างกายแข็งแรงและการลดหน่อยภาษีของผู้สนับสนุน เป็นต้น



[1] International Transport Forum. (2012). Cycling Safety: Key Messages International Transport Forum Working Group on Cycling Safety. Copenhagen: Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD), p1.

[2] Cycling Cultures Project. (2010). Cycling Cultures in Hackney. London: Cycling Cultures Project, p 4.

[3] Horton, D., (2011). Don’t ride, won’t ride?. Cycle Culture Transport. Retrieved February 14, 2013, from http://www.uel-smg.org.uk/buildingcyclingcultures/Building%20Cycling%20Culture%20-%20Dave%20Horton.pdf

[4] Cambridge Cycling Campaign. (2008). A Vision for 2020 from Cambridge Cycling Campaign. Cambridge: Cambridge Cycling Campaign, p 2.

[5] Cycling England. (2009). Norwich City Council Cycling Action Plan. Norwich: Cycling England, p 5.

[6] Office of the Deputy Prime Minister. (2004). Planning Policy Statement 7: Sustainable Development in Rural Areas. London: Her Majesty's Stationery Office, p 7.

[7] Office of the Deputy Prime Minister. (2005). Planning Policy Statement 6: Planning for Town Centres. London: Her Majesty's Stationery Office, p 17.

[8] Cycling Embassy of Great Britain. (2013). Response to All Party Parliamentary Cycling Group Inquiry, 'Get Britain Cycling'. Cambridge: Cycling Embassy of Great Britain, p 15.

[9] Chartered Institute of Logistics and Transport. (2013). All Party Parliamentary Cycling Group Inquiry: ‘Get Britain Cycling’. - How We Can Get Britain Cycling. Corby: Chartered Institute of Logistics and Transport, p. 2.

[10] National Cycling Charity. (2010). Cyclists’ behaviour and the law. Surrey: National Cycling Charity, p 1.

[11] อย่างไรก็ดี ทั้งกลไกของระบบจารีตประเพณีที่อาศัยคำพิพากษาก่อนๆ มาเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณีความประมาทเลินเล่อ (negligence) และกลไกของระบบสารบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร (statutory law) ในประเทศอังกฤษ ก็ย่อมปกป้องและคุ้มครองวัฒนธรรมการขี่จักรยาน

[12] National Cycling Charity. (2006). CTC Advice Sheet June 2006. Version 3.0 Law and liability for cycling activities and events. Surrey: National Cycling Charity, p 3.

[13] UK Legislation. (2013). Highways Act 1980. Retrieved February 14, 2013, from http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1980/66/contents

[14] โปรดดูคดี Thomas v Warwickshire County Council [2011] EWHC 772 (QB)

[15] Government Digital Service. (2013). The Highway Code - Guide Rules for cyclists (59 to 82). Retrieved February 14, 2013, from https://www.gov.uk/rules-for-cyclists-59-to-82/overview-59-to-71

[16] โปรดดูข่าวเพิ่มเติมใน BBC News. (2013). Bradley Wiggins calls for bike helmet law. Retrieved February 14, 2013, from http://www.bbc.co.uk/news/uk-19098578

[17] กฎหมายฉบับนี้ได้ตราขึ้นให้สอดรับกับกฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไปหรือ General Product Safety Regulations 2005 ที่ได้รับอนุวัตรการมาจากข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไป หรือ General Product Safety Directive 2001/95/EC โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Department for Business, Innovation & Skills. (2010). Explanatory Memorandum to the Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010.  London: Department for Business, Innovation & Skills, p 1.

[18] ปีดิเทพ อยู่ยืนยง. (2556). กฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่สนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง. Retrieved February 14, 2013, from http://prachatai.com/journal/2013/01/44929

[19] HM Revenue & Customs. (2003). EIM21664 - Particular benefits: exemption for bicycles Section 244 ITEPA 2003. Retrieved February 14, 2013, from http://www.hmrc.gov.uk/manuals/eimanual/eim21664.htm

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท