Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รู้หรือไม่ ทำไมกะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักได้หลายเพศ คนข้ามเพศ จึงต้องการกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต?

 

ผู้เขียนได้ลองเรียบเรียงเพื่อให้อ่านง่ายๆ ทำความเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับผู้คนทั่วไป โดยยกตัวอย่างมาจากจำนวนมากมายหลายข้อดังนี้

-เพราะเมื่อเราต้องจ่ายภาษีให้รัฐฯ 

ในขณะคู่สมรสชาย-หญิง เมื่อแต่งงานจดทะเบียนแล้ว กฎหมายถือเป็น เหตุให้ลด หย่อนภาษีได้ เพราะถือว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต้องดูแลคนอีกหนึ่งคน 

แต่คู่หลากหลายทางเพศ แม้จะอยู่ด้วยกันมานานเป็นสิบ ยี่สิบปี เสียภาษีให้รัฐมาโดยตลอด และมีภาระต้องเลี้ยงดูกัน แต่ก็ไม่สามารถขอ ลดหย่อนภาษีได้ 

-เพราะเมื่อเราได้สร้างทรัพย์สินร่วมกัน 

ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น ตามกฎหมายให้ถือว่าคู่สมรสเป็นทายาท โดยธรรมลำดับแรก หากฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิรับมรดกก่อน ทายาทลำดับอื่น 

แต่คู่หลากหลายทางเพศ จะไม่มีสิทธิใดๆ เลย แม้จะเป็นทรัพย์สิน ที่ร่วมสร้าง ด้วยกันมา แต่ในชื่อของผู้ที่เสียชีวิต ทรัพย์สินต้องเป็นของญาติ ของผู้ตายทั้งหมด คู่ชีวิตจะไม่ได้ส่วนแบ่งเลย

-เพราะเมื่อเราต้องกู้เงินซื้อบ้านและ อยากทำประกันชีวิต

ในการทำสัญญาประกันชีวิต ค้ำประกัน กู้เงินร่วมกัน ฯลฯ แม้กฎหมายไม่ได้เขียน ไว้โดยตรงว่า การทำสัญญาเหล่านี้ต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย แต่ทางปฏิบัติ บริษัทประกันชีวิต ก็จะสามารถยอมรับทำการประกันให้ได้ ทั้งนี้อาจจะดูรายชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกันได้   

แต่คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะกฎหมาย เกี่ยวกับการรับทำประกัน จะไม่ยอมให้ทำประกันโดย ยกทรัพย์สินให้คนอื่น ที่ไม่ใช่ญาติ ส่วนธนาคารก็เชื่อถือการค้ำประกันการกู้เงิน หรือการกู้เงิน ร่วมกันของคนที่เป็นญาติกันมากกว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ตามกฎหมาย คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศจึงไม่สามารถทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ เพราะคู่สัญญา อีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ

-เพราะเมื่อเราป่วยต้องการรับสวัสดิการการรักษาพยาบาล

ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับราชการ คู่สมรสก็จะ มีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วย รวมถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ก็สามารถเบิกให้คู่สมรสของตัวเองได้ 

แต่คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือสิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมให้คู่ของตนได้เลย และนั่นก็รวมไปถึง สวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัยหรือค่าเช่าบ้านของครอบครัวของลูกจ้าง เงินทุนเพื่อการศึกษา สิทธิการลาติดตามคู่สมรส สิทธิการติดตามคู่สมรส ไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ สิทธิเหล่านี้คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถเข้าถึงได้

-เพราะเมื่ออีกฝ่ายป่วย ได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง

ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น หากฝ่ายหนึ่งป่วยหนักไม่ได้สติ แพทย์ย่อมต้องขอความเห็นจากญาติสนิท เพื่อตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล  ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยา หรือการหยุดรักษา

แต่คู่หลากหลายทางเพศไม่อาจมีสิทธิตัดสินใจแทนได้ แพทย์ต้องฟังความเห็นจากญาติคนอื่นซึ่งอาจสนิทน้อยกว่า รวมถึงในกรณีเร่งด่วนที่บางครั้งการตัดสินใจอย่างรวดเร็วอาจมีผลกับความเป็นความตาย แพทย์ก็ไม่อาจฟังความเห็นจากคู่ชีวิตที่ไม่มีทะเบียนหลักฐาน

-เพราะเมื่ออีกคนตายและต้องจัดการศพ

ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น อีกฝ่ายจะมีสิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณะบัตร เป็นต้น

แต่คู่หลากหลายทางเพศ ซึ่งมีฐานะเป็นแค่ “เพื่อน” จะไม่มีสิทธินี้ ต้องให้ญาติที่อาจสนิทน้อยกว่าเป็นผู้จัดการแทน

-เพราะเราไม่สามารถแจ้งความแทนกันได้

ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น กรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บ จนไม่สามารถมาแจ้งความเองได้ จะสามารถให้คู่สมรสแจ้งความแทนได้ 

แต่คู่หลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี กับคนที่มาทำร้ายคู่ของตนได้ หากคนตายไม่มีญาติสนิทอื่นก็จะไม่มีใคร มีอำนาจแจ้ง ความแทนเลย กรณีนี้ยังรวมถึงการแจ้งความว่าคนหายไปครบ 48 ชั่วโมงด้วย

และยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง ฯลฯ ที่ทำให้ กะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักได้หลายเพศ คนข้ามเพศ จึงต้องการกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต?

แต่ความยุติธรรม-เท่าเทียมอยู่ที่ไหน?? สิทธิพิเศษอยู่ที่ใคร??

 

 

อ้างอิงจากบทความ สิทธิตามกฎหมายที่คู่รักเกย์ เลสเบี้ยนเข้าไม่ถึง

http://ilaw.or.th/node/1841 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net