สถาบันการเงินกับชุมชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายใต้กระแสทุนนิยมจัดจ้าน ดูเผินๆ สถาบันการเงินของอเมริกันจะห่างเหินกับชุมชนท้องถิ่น (local community) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ และบริษัทการเงินต่างๆ หามีลักษณะเป็นดังกล่าวแต่อย่างใดไม่

ในอเมริกาเองมีสถาบันการเงินของท้องถิ่นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ด้านธุรกรรมสำหรับคนท้องถิ่นเอง เข้าทำนองคนในท้องถิ่นนั้นๆ รู้ปัญหาของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ดีกว่าคนท้องถิ่นอื่น ดังปรากฏว่าก่อนหน้านี้มีการรวมกลุ่มกันของคนเอเชีย ในลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา จัดตั้งแบงก์ขึ้นมาตามกฎหมายของรัฐ โดยเน้นการทำธุรกรรมให้กับประชาชนในเนวาดา โดยเฉพาะเมืองลาสเวกัส

การเปิดโอกาสให้แบงก์ท้องถิ่นเกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้การประชาชนหรือนักลงทุนมีทางเลือกในการใช้บริการการเงินผ่านธนาคารมากขึ้น สินเชื่อหรือธุรกรรมที่ต้องดำเนินการผ่านแบงก์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงธนาคารขนาดใหญ่อย่างเช่น Bank of America หรือ Wells Fargo อีกต่อไป เพราะยังมีธนาคารท้องถิ่นให้ประชาชนได้เลือกในเชิงการแข่งขัน

เรียกว่า แบงก์ใหญ่ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันกับแบงก์ท้องถิ่นเช่นเดียวกัน อาศัยที่แบงก์ท้องถิ่นมีขนาดเล็ก จึงมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการค่อนข้างสูง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นให้เงื่อนไขผ่อนปรนในการทำธุรกรรม (แต่ต้องเป็นไปตามกติกาหรือกฎหมายของรัฐซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายของรัฐบาลกลาง เช่น เรื่องทุนสำรอง เป็นต้น) ทำให้แบงก์ขนาดย่อมเหล่านี้ สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ และทำให้ธุรกรรมการเงินไม่ได้ถูกกินรวบโดยแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ

ขณะที่แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่เหล่านี้เอง เมื่อมาดำเนินกิจการในรัฐต่างๆ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขหรือกติกาของแต่รัฐนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น , ความผิดพลาดครั้งที่ผ่านมาที่ก่อให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ สาเหตุจึงไม่ได้มาจากกฎกติกาของแบงก์ในแต่ละรัฐ แต่มาจากความหละหลวมเชิงการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะที่ผ่านสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ส่วนแบงก์ขนาดย่อมนั้นได้รับผลกระทบน้อย สามารถเลี่ยงออกไปจากปัญหาระดับชาตินี้ได้ เช่น ในรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินมากที่สุดเมื่อคราวที่ผ่านมา แบงก์ขนาดย่อม อย่าง Nevada State Bank กลับประคองตัวเองให้รอดพ้นภัยได้เป็นอย่างดี

ผมเคยเป็นลูกค้าของแบงก์นี้ ปรากฏว่าเขาบริการลูกค้าดีมาก มีการติดตาม (ในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ) ดีมาก แม้ว่าช่วงต่อมาผมจะไม่ได้เป็นลูกค้าของแบงก์นี้แล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสวงหาและรักษาลูกค้า ในแง่ของการบริการลูกค้าของแบงก์ประเภทนี้ จึงดีกว่าแบงก์ขนาดใหญ่ระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถึงแม้จะมีการมองว่า การทำธุรกิจหลายอย่างในอเมริกาเป็นไปในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นความจริงเสียทั้งหมด การปกป้องธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันยังมีอยู่ ไล่ตั้งแต่ส่วนกลางตลอดถึงส่วนท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อตั้ง “ธนาคารจำเพาะ” หรือ “ธนาคารเฉพาะกิจ” แต่อย่างใด

ความแตกต่างที่ว่านี้ เห็นได้ชัดหากเทียบกับเมืองไทยที่มีการ (ออกกฎหมาย/พระราชบัญญัติ) จัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจกันหลายแห่ง โดยรัฐ เจ้าของระบบอุปถัมภ์ใหญ่ทางการเงินเป็นผู้ให้การสนับสนุน ธนาคารเหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน การทำงานจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ข้า ราชการ) เช่นเดียวกัน คือ ทำอย่างเสียไม่ได้ ค่อนข้างเฉื่อยเนือยและไร้ประสิทธิภาพ

อย่างเช่น ระบบการทำงานของ ธ.ก.ส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และอีกหลายธนาคาร รวมทั้งธนาคารเฉพาะที่เพิ่งเกิดใหม่โดยมีเจตนาเพื่อสนองตอบความอยากในเชิงการเมือง และระบบเส้นสายอุปถัมภ์ แม้กระทั่งบางธนาคารยังเกิดจาก “การเมือง”ที่มุ่งผลประโยชน์ที่ได้จาก “ความเชื่อความศรัทธา” แต่กลับสนองความต้องการของคนเพียงไม่กี่กลุ่มในองค์กรเท่านั้น

ที่สำคัญกว่านั้น การเกิดขึ้นของธนาคารเฉพาะแห่งใหม่นี้ แม้จะตอบโจทย์เรื่องสินเชื่อสำหรับชาวบ้านโดยทั่วไปก็จริง แต่การณ์ส่วนหนึ่งเป็นการมุ่งวางเส้นสายภายในองค์กร โดยที่ตัวผู้บริหารธนาคาร (เช่น กรรมการธนาคาร) เหล่านี้ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเงินการธนาคารแต่อย่างใดเลย หากได้มาด้วยระบบพวกมากลากไปเท่านั้นเอง

การยกข้ออ้างเรื่อง “ความเท่าเทียมกันในการอนุญาตจัดตั้งธนาคาร” ที่กำลังดำเนินการเรียกร้องกันอยู่ เช่น การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา จึงน่าคิดว่า สถานการณ์ทางการเงินการธนาคารของไทยจะออกมาในรูปแบบใดในอนาคต

ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดตั้งธนาคารพิเศษ (เฉพาะ) เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนในเรื่องเครื่องมือทางการเงินเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันในระบบธนาคารไทยแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำ ยังดำเนินการกันเสมือนคนละระบบ ธนาคารพาณิชย์ไปอีกทาง ธนาคารเฉพาะโดยการอปุถัมภ์ของรัฐไปอีกทาง ไม่ได้สะท้อนอะไรที่ถือได้ว่าเป็นไปตามกลไกทางการเงินเชิงอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงเลย และเป็นการตำน้ำพริกการเมืองละลายแม่น้ำการเมืองเสียก็มาก

อีกแง่หนึ่งที่เห็น คือดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศเองก็มุ่งแสวงหาหนทางที่เรียกว่า “อาศัยรัฐเป็นที่พึ่งทุกอย่าง” นโยบายประชานิยมก่อให้เกิดความใหญ่โตอลังการของรัฐบาลขึ้น เอะอะอะไรก็ต้องพึ่งรัฐบาล (ไม่พึ่งตนเอง) ทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ในภาคการเงินการธนาคารก็เช่นเดียวกัน

เท่าที่ได้สดับมา หลายคน รวมทั้งตัวผมมีความเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) รู้ แต่แกล้งหลับตาเพียงข้างเดียว หรือทำหูทวนลม !

แต่ก็จะเห็นได้ว่า การทำงานของแบงก์ชาติ (ไทย) ต้องยุ่งยากมากเพียงใด เพราะนอกจากต้องดูแลธนาคารพาณิชย์ทั่วไปแล้ว ยังต้องดูแล “ธนาคารเฉพาะ” เหล่านี้อีกด้วย ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เป็นเรื่องง่ายดายแต่อย่างใดเลย แถมดูแลได้ยากกว่าแบงก์พาณิชย์เสียด้วยซ้ำ เพราะมีการเมือง (ที่โยงถึงรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งคนในกองทัพ) เข้ามากำหนดหรือกุมนโยบายอีกด้วย

แค่นี้แบงก์ชาติก็ปวดขมับมากพอแล้ว !

แล้วระบบการเงินที่ผ่านแบงก์เฉพาะเหล่านี้ก็มีขนาดใหญ่มากเสียด้วย ความสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงมีสูง และปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งมีสถาบันการเงินประเภทนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งแยก “มาตรฐานในการกำกับควบคุม” ที่แบงก์ชาติจำต้องปฏิบัติตามหน้าที่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในแง่ของการกำกับควบคุมนโยบายด้านเงินที่ควรเป็นมาตรฐานแล้ว จึงถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก

แต่ก็มีแต่แบงก์ชาติไทยเท่านั้นที่ทำได้ !!!

ทำไปทำมา การเกิดของธนาคารเฉพาะเหล่านี้จึงไม่ได้สนองตอบต่อลูกค้าเฉพาะหรือลูกค้าที่เป็นประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไปที่สมควรได้รับการสนับสนุน หากแต่มุ่งสนองตอบต่อนโยบาย (ประชานิยม) ของรัฐ สนองความต้องการของหน่วยงาน และความต้องการของคนบางกลุ่มที่ต้องการควบคุมสถาบันการเงินประเภทนี้เพื่อประโยชน์กลุ่มและพวกพ้อง

รวมทั้งที่สำคัญ คือ เพื่อตำแหน่งที่สามารถอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขของพรรคพวก (ใครพรรคพวกมัน) ในธนาคารเฉพาะแห่งนั้นๆ

ธนาคารเฉพาะบางแห่งในเมืองไทยเกิดจากการรัฐประหารก็มี กลุ่มรัฐประหารแต่งตั้งกรรมการธนาคารเสร็จสรรพก็มี

ในวาทกรรมทางการเมือง “ทหารกับรัฐบาล” มีคำกล่าวซึ่งรู้จักกัน ได้แก่ “รัฐซ้อนรัฐ” แต่ในทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ จำเพาะในเมืองไทยก็มีวาทกรรมใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง ก็คือ “แบงก์(ของ)ชาติซ้อนแบงก์ชาติ”

เพราะแท้ที่จริง ในทางปฏิบัติ แบงก์ของรัฐเหล่านี้ แทบจะแยกเป็นเอกเทศออกไปจากการควบคุมกำกับของแบงก์ชาติเสียด้วยซ้ำ

เป็น “อภิสิทธิ์แบงก์” ดีๆ นี่เอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท