Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 หลายคนที่ไม่ใช่คนใต้มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ด้วยความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงมีการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่ปราบปรามให้สิ้นซากไปเสีย หลายคนมองด้วยความสะใจที่มีการเสียชีวิตถึง 16 ศพจากการบุกเข้าโจมตีหน่วยทหาร วิทยุชุมชนบางสถานีออกข่าวอย่างเมามัน บางสถานีมีข้าราชการการเมืองแดงจัดในระดับสูงของพรรครัฐบาลออกมาให้ความเห็นอย่างสุดโต่งในทำนองประณามหยามเหยียดผู้ที่เสียชีวิต คอลัมนิสต์เหลืองจัดบางคนออกมาเรียกร้องให้ใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการเสียให้สิ้นซาก (ซึ่งใครๆก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้) ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงความเห็นที่รุนแรงและกราดเกรี้ยวในสื่อสังคม (Social Network) ของทั้งเหลืองและแดง
 
แต่ในทางกลับกันในพิธีฝังศพผู้เสียชีวิตบางคนมีชาวบ้านไปร่วมพิธีอย่างมากมายเยี่ยงวีรบุรุษและคนในครอบครัวของผู้ตายต่างภาคภูมิใจในการตายที่เขาเหล่านั้นถือว่าเป็นการตายที่มีเกียรติผู้คนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายต่างออกมาสดุดีว่าผู้ตายนั้นได้ทำหน้าที่สมศักดิ์ศรีแล้ว โดยไม่เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างก็อธิบายถึงความคับแค้นใจที่ผู้ตายว่ามีแรงจูงใจจากเหตุการณ์กรณีตากใบที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงเกิดคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในผืนแผ่นดินแห่งนี้ ทำไมผู้คนที่อยู่ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกันจึงมองปัญหาได้ต่างกันมากมายชนิดที่เป็นคนละขั้วกันเลยทีเดียว
 
ผมค่อนข้างแปลกใจและเห็นว่าเป็น"ตลกร้าย"ที่คนหรือสื่อที่เป็นทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างออกมาประณามหยามหมิ่นผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีปัญหาของเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงที่มีการชุมนุมประท้วงจนเสียชีวิตจำนวนมากนั้นมีสาเหตุร่วมเดียวกันกับปัญหาของผู้ตายซึ่งถือกันว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งก็คือการไม่พอใจต่อการปฏิบัติของรัฐต่อพวกเขาทั้งสิ้น เสื้อเหลืองไม่พอใจการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของทักษิณและพวก เสื้อแดงไม่พอใจต่อการรัฐประหารเตะรัฐบาลที่เขาชื่นชอบออกไปและเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ได้อำนาจกลับมากลับถูกอำนาจตุลาการเตะออกจากตำแหน่งแล้วรวมหัวกันไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
 
ส่วนปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้นแน่นอนว่าสาเหตุของปัญหานั้นซับซ้อนและสั่งสมมาอย่างยาวนานกว่าแต่ก็อยู่บนประเด็นพื้นฐานของความไม่พอใจกับการปฏิบัติของรัฐไทยต่อพวกเขา และย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางคนบางกลุ่มที่อยากแยกรัฐออกไปถึงแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ประเด็นสำคัญที่เกิดปัญหาความไม่สงบนั้นมีมากกว่าปัจจัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการค้าของเถื่อน ยาเสพติด หรือประเด็นของผลประโยชน์๋ที่ได้รับจากงบประมาณที่มากมายมหาศาลที่ทุ่มลงไปในพื้นที่ฯลฯ แต่ประเด็นของการโจมตีค่ายทหารของเด็กหนุ่มที่มีการศึกษาดีเหล่านั้นเราต้องวิเคราะห์ไปให้ลึกกว่านั้นว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น เพราะผมเองนั้นไม่เคยเห็นด้วยหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาหรือในการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่ต่อต้านรัฐ
 
ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุถ้าเข้าใจเหตุของปัญหาก็ย่อมแก้ปัญหาได้ แต่การแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐในปัจจุบันนี้นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดแล้วยังพยายามเพิ่มปัญหาลงไปเหมือนเติมน้ำมันลงไปในกองไฟ อย่าลืมว่าผู้ตายทุกคนมีญาติ มีเพื่อน มีพี่ มีน้อง มีครอบครัว อาจจะไม่ถึงกับตายสิบเกิดแสน แต่จำนวนของผู้ที่ไม่พอใจต่อการปฎิบัติของรัฐยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น
 
เหตุการณ์ความไม่สงบที่ี่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่าจะเป็นการทะลายคุกบาสติลของฝรั่งเศส, การปฎิวัติรัสเชีย ,การปฎิวัติจีน, การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕, การเผากองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือกองสลากเมื่อ ๑๔ ตุลา ๑๖, การยึดทำเนียบหรือสนามบินของเสื้อเหลือง หรือแม้กระทั่งการเผาศาลากลางภายหลังการสังหารหมู่ในเหตุการณ์พฤษภา๕๓ ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการไม่พอใจที่รัฐกระทำต่อเขาทั้งสิ้น(ไม่รวมการเผาเซ็นทรัลเวิลด์เพราะยังไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือใคร)
 
เมื่อวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดต่อเสื้อเหลือง เสื้อแดงหรือผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้นั้นล้วนมาจากพื้นฐานของปัญหาการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ทำเนียบรัฐบาลหรือส่วนกลางนั่นเอง หากให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งเหมือนในนานาอารยประเทศทั้งหลายแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ย่อมน้อยลงอย่างแน่นอน
 
ปัญหาของกบฎโมโรในเกาะมินดาเนา ฟิลิปปินส์ ที่ยืดเยื้อยาวนานก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้มีการจัดการตนเองได้ในระดับหนึ่ง จีนที่ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าปกครองในระบอบสังคมนิยมแต่ก็ยังให้แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองได้จนประเทศจีนมีความเป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และบางพื้นที่ถึงกับยินยอมให้ใช้ “หนึ่งประเทศ ๒ ระบบ”ได้ด้วยซ้ำไป เช่น ฮ่องกงหรือมาเก๊า เป็นต้น
 
หากเราให้แต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้แล้ว เสื้อแดงก็ไม่ต้องขบวนมาถูกเข่นฆ่าที่กรุงเทพ เสื้อเหลืองก็ไม่ต้องยึดทำเนียบรัฐบาล ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ก็ไม่ต้องไปโจมตีค่ายทหารจนต้องเสียชีวิต
 
ฟังเสียงคนในพื้นที่บ้างครับว่าเขาต้องการที่จะจัดการกับชีวิตเขาเองอย่างไร หมดสมัยที่รัฐส่วนกลางจะทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีไปเสียทุกเรื่อง อุ้มเขาไว้จนโตแล้วก็ยังไม่ปล่อยให้เดินเสียที ใหม่ๆอาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่อีกสักพักก็จะเดินได้เอง ถ้าขืนยังอุ้มไว้อย่างนี้นอกจากผู้ถูกอุ้มจะเดินไม่ได้แล้วคนอุ้มเองนั่นแหละแขนจะหักเพราะตัวอย่างมีให้เห็นมามากมายแล้ว ไกล้ตัวที่สุดก็คือติมอร์ตะวันออกนั่นเอง
 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net