Skip to main content
sharethis
ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2015  กระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะไม่อนุญาตให้มีการขยายวิทยาลัยขึ้นเพิ่มอีก และไม่อนุญาตให้บรรดาวิทยาลัยใดๆ เพิ่มหลักสูตรการเรียนใหม่โดยเด็ดขาด เพื่อจะได้กวดขันปรับปรุงคุณภาพของวิทยาลัยทั้งของภาครัฐและเอกชน หลังจากเห็นว่าการศึกษาลาวยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้น้นย้ำให้กระทรวงศึกษาเร่งปรับปรุงคุณภาพมหาวิทยาลัยของรัฐ 5 แห่ง ตามแผนปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติระยะที่ 2 เพื่อยกคุณภาพให้เทียบเท่าภูมิภาคและสากลทีละก้าว
 
ท่าน ดร. กองสี แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวหนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติระยะที่ 2 (2011-2015) โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาขั้นสูง และแผนปฏรุปการอาชีวศึกษาว่า ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงปี 2015 กระทรวงศึกษาจะไม่อนุญาตให้มีการขยายวิทยาลัยเพิ่ม และไม่อนุญาตให้บรรดามหาวิทยาลัย และวิทยาลัยใดๆ ในทั่วประเทศเพิ่มหลักสูตรการศึกษาขึ้นใหม่ เนื่องจากว่ากระทรวงศึกษาจะได้ตรวจตราควบคุมคุณภาพของบรรดามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเหล่านี้ ตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาวางเป้าหมายไว้ว่า บรรดาวิทยาลัยโรงเรียนเทคนิกวิชาชีพ หรือวิชาชีพแบบผสมของรัฐและเอกชนในระยะปฏิรูป ไม่อนุญาตให้เปิดการสอนหลักสูตรใหม่ทั้งภาคปกติและระบบต่อเนื่องถึงปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งจะอนุญาตให้เปิดการสอนตั้งแต่ระดับชั้นสูงลงมาเท่านั้น สถาบันใดหากได้รับอนุญาตให้เปิดการสอนระดับปริญญาตรีหรือระดับสูงกว่านั้นที่มีนักศึกษากำลังเรียนอยู่ ก็จะอนุญาตให้ทำการเรียนการสอนไปจนสำเร็จหลักสูตรการศึกษา 
 
ในระยะเวลาที่ให้สถาบันระดับวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนระงับการเปิดสอนหลักสูตรใหม่นั้นก็จะมอบหมายให้กรมวิชาการและศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงและองค์การ และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนตรวจตราและประเมินความพร้อมด้านต่างๆ ของแต่ละสถาบัน โดยอิงตามข้อตกลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ฉบับเลขที่ 941/สสก.สปค. ลงวันที่ 8 เมษายน 2011 ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้มาตรฐานอาชีวศึกษา ถ้าสถาบันใดไม่ได้มาตรฐานตามการประกันคุณภาพที่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬากำหนดไว้ ให้เร่งปรับปรุงแก้ไขในระยะการปรับปรุงนี้ ถ้าสถาบันใดมิได้มีการปรับปรุงแก้ไข ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หรือมิได้พัฒนาสถาบันของตนให้เป็นไปตามมาตรฐานประกันคุรภาพการศึกษาแห่งชาติ ก็จะไม่พิจารณาให้ทำการเรียนการสอนอีกต่อไป หรือยกเลิกใบอนุญาตทันที แม้ว่าจะเปิดการเรียนในระดับใดก็ตาม
 
ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐให้เร่งปรับปรุงและพัฒนา มหาวิทยาลัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยจำปาสัก มหาวิทยาลัยสุพานุวง มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดีขึ้น อนุญาตให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก พร้อมทั้งหลักสูตรเฉพาะทางเชี่ยวชาญขั้น I และเชี่ยวชาญขั้น II ในบางสาขาวิชาตามเงื่อนไข และความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งสามารถรองรับการเข้าเรียนระบบต่อเนื่องของพนักงานรัฐ เอกชน นักศึกษาที่เรียนจบจากวิทยาลัยของรัฐและเอกชนจากภายในและต่างประเทศ เข้าเรียนต่อในสาขาที่จบหลักสูตรมาก่อนแล้ว
 
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก www.vientianemai.net
 
 
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
 
ปัจจุบันประเทศลาวได้ขยายสถาบันการศึกษาขั้นสูงเพิ่มเติมเพื่อรองรับการศึกษาของประชาชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญและแรงงานมีการศึกษาในภาคการผลิตและบริการมากขึ้น แต่มาตรฐานการศึกษายังอยู่ในระดับต่ำ พบว่ามีการใช้เส้นสายและสินบนในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ทำให้บุคลากรที่จบมาไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอจะปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
 
มหาวิทยาลัยของรัฐในลาว มีทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยจำปาสัก มหาวิทยาลัยสุพานุวง มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข รองรับประชากรนักเรียนได้ไม่เพียงพอ ทำให้อัตราการแข่งขันเข้าเรียนต่อสูง และเปิดช่องให้มีสถาบันการศึกษาเอกชน โดยนายทุนไทย ญี่ปุ่น จีนและเวียดนาม เข้ามาเปิดการเรียนการสอนจำนวนมาก และไม่สามารถกวดขันมาตรฐานการศึกษาได้ดีพอ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net