Skip to main content
sharethis

ศาลอาญานัดสืบพยานจำเลยนัดแรก  ในคดีที่นักเคลื่อนไหว 10 คนเป็นจำเลยจากการปีนรั้วรัฐสภาเมื่อปี 2550 เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ศาลอาญานัดสืบพยานจำเลยนัดแรก  ในคดีที่นักเคลื่อนไหว 10 คนเป็นจำเลยจากการปีนรั้วรัฐสภาเมื่อปี 2550 เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 9.00 น. ณ ห้อง 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายจอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยที่ 1 และนายไพโรจน์ พลเพชร จำเลยที่ 8 จะขึ้นเบิกความ เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงพร้อมชี้แจงเจตนา 
 
ทั้งนี้ นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึง 14 มีนาคม 2556 ทุกวัน  เว้นวันจันทร์ เป็นกำหนดการสืบพยานจำเลย ซึ่งคดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 10 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิด้านต่างๆ เช่น นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ  นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ฯลฯ
 
เหตุคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2550 ประชาชนประมาณหนึ่งพันคนชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ (คมช.)  ยุติการเร่งพิจารณากฎหมายหลายสิบฉบับต่อวัน ขณะนั้นเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งใหม่ราวสองสัปดาห์ กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีความชอบธรรม และไม่สมควรเร่งผลักดันกฎหมายใดๆ อีกทั้งเนื้อหาของกฎหมายที่ถูกเร่งพิจารณาก็กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ สนช. ยังคงเดินหน้าการพิจารณากฎหมายต่อโดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม  และปิดประตูรัฐสภา  การเจรจาสื่อสารเพื่อเสนอข้อเรียกร้องและสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงถูกปิดกั้นลงโดยสิ้นเชิง  ประชาชนไม่มีช่องทางอื่นใดจะดำเนินการได้จึงปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งชุมนุมที่บริเวณหน้าห้องประชุมเพื่อรอให้ สนช.มารับฟังข้อเรียกร้อง
 
ประเด็นท้าทายสำหรับการสืบพยานจำเลยในคดีนี้คือทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมรับฟังถึงหลักการและคุณค่าที่จำเลยทั้งสิบยึดถือปฏิบัติ  อันเป็นเหตุผลที่มาของการปีนเข้าไปในรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาและกฎหมายอาญา  ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นหัวใจสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
 
ร่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้าน ได้แก่ ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายป่าชุมชน ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ
 
คดีดังกล่าวศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 เป็นคดีดำหมายเลข อ.4383/2553 โดยโจทก์ฟ้องว่าผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362,364 (ฐานบุกรุก) มาตรา 365 (บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net