Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
การเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ที่ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมผู้ต้องขังคดีการเมือง ได้สร้างผลสะเทือนที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงขนาดใหญ่ครั้งแรกที่ไม่ได้นำโดยแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ประสานงานโดยคณะแนวร่วมที่ประกอบด้วย “แกนนอน” จากกลุ่มย่อยหลายกลุ่มที่เป็นอิสระจาก นปช.
 
แกนนอนกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษสามประการคือ หลากหลาย กระจายศูนย์ และเป็นเสรีนิยมที่ก้าวหน้า

กลุ่ม “แกนนอน” เหล่านี้ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายมากกว่าแกนนำ นปช. มีทั้งนักศึกษา ปัญญาชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนที่ก้าวหน้า อดีตคนเดือนตุลาฯ ประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไปจนถึงแกนนอนจากหัวเมืองต่างจังหวัดอีกจำนวนหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระต่อกัน และที่สำคัญคือ เป็นอิสระจาก นปช.และพรรคเพื่อไทย แต่ละกลุ่มมีแนวทางและเป้าหมายเฉพาะตัว เช่น บางกลุ่มเน้นนักโทษการเมือง บางกลุ่มเน้นสิทธิเสรีภาพพลเมือง บางกลุ่มเน้นบทบาทสหภาพแรงงาน บางกลุ่มเน้นลัทธิสวัสดิการนิยม เป็นต้น แต่ทุกกลุ่มก็มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์เดียวกันคือ ต่อต้านระบอบจารีตนิยม ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง

การเกิดขึ้นและพัฒนาของกลุ่มแกนนอนเหล่านี้มีลักษณะ “กระจายศูนย์” คือเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มย่อยกระจัดกระจาย บางกลุ่มมีบทบาทต่อต้านรัฐประหารทันทีหลัง 19 กันยายน 2549 บางกลุ่มเกิดจากการรวมตัวเพื่อต่อต้านพวกอันธพาลเสื้อเหลืองที่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 บางกลุ่มเกิดจากการรณรงค์ให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมล้วน ๆ แก่มวลชนผู้ต้องขังคดีการเมือง แล้วภายหลังยกระดับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิจารณ์และท้าท้ายอำนาจตุลาการโดยตรง กลุ่ม “แกนนอน” เหล่านี้เริ่มต้นจากประเด็นอันหลากหลายที่มีสาเหตุร่วมกันคือ การกดขี่ของพวกจารีตนิยม ยกระดับจากการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจาย มาเป็นการร่วมมือเฉพาะกิจในประเด็นสำคัญ เวทีของพวกเขาจะเป็นห้องประชุมสัมนา การแถลงข่าว การปราศรัยย่อยนอกสถานที่ในวันสำคัญ และการจัด “เวทีคู่ขนาน” กับเวทีใหญ่เมื่อนปช.มีการชุมนุมใหญ่ทุกครั้ง
 
การที่พวกเขารวมตัวกันเป็น “แนวร่วม 29 มกราฯ” ในครั้งนี้จึงเป็นการตกผลึกของการเคลื่อนไหวร่วมกันมาอย่างยากลำบากและยาวนานหลายปี ยกระดับจากความร่วมมือเฉพาะกิจแต่ละครั้งขึ้นเป็นองค์กรแนวร่วมที่มีลักษณะของ “สภาประชาชน” รวมศูนย์ปรึกษาหารือ ระดมความคิดและการเคลื่อนไหวร่วมกัน แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งลักษณะพื้นฐานเดิมที่เป็นการกระจายศูนย์กลุ่มแกนนอนในการเคลื่อนไหวประเด็นเฉพาะของแต่ละกลุ่ม
 
ลักษณะสำคัญที่สุดของกลุ่ม “แกนนอน” เหล่านี้ก็คือ ลักษณะเสรีนิยมที่ก้าวหน้า โดยมีชุดความคิดชี้นำทั้งหมดสีบทอดโดยตรงมาจากกลุ่มนักวิชาการ ประกอบด้วยความคิดชี้นำหลักสามชุดคือ ประเมินสถาบันกษัตริย์ (รวมต่อต้านป.อาญา ม.112) วิพากษ์อำนาจตุลาการ และเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ โดยปัจจุบันได้ตกผลึกเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าคือ ผลักดันการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมด (รวมนักโทษคดี ป.อาญา ม.112)
 
ในช่วงปี 2552-53 ที่มีการเคลื่อนไหวมวลชนเสื้อแดงขนาดใหญ่ต่อเนื่องหลายระลอก แกนนอนกลุ่มนี้ก็เคลื่อนไหวจัดตั้ง “เวทีคู่ขนาน” ไปกับเวทีนปช. โดยมีลักษณะเด่นคือ การปราศรัยที่เน้นสร้างความเข้าใจทางการเมืองระดับสูงให้กับมวลชน และเนื่องจากไม่มีเพดานกั้นทางการเมืองดังเช่น นปช. พวกเขาจึงสามารถเผยแพร่แนวคิดวิเคราะห์ที่เจาะทะลุเปลือกมายาหลอกลวงของระบอบจารีตนิยมอย่างได้ผล สามารถสร้างฐานมวลชนขนาดย่อมของตนเองได้ และก็ได้กลายเป็นการชุมนุมเวทีเล็ก คู่ขนานกับการชุมนุมเวทีใหญ่ของนปช.ทุกครั้งนับแต่นั้นมา
 
การชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา แม้จำนวนคนจะไม่ล้นหลามเหมือนการชุมนุมของ นปช. แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาสามารถระดมมวลชนจำนวนมากถึงหลายพันคนทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เข้ามาเคลื่อนไหวด้วยยุทธศาสตร์ คำขวัญ และข้อเรียกร้องที่เป็นของตนเอง และเป็นครั้งแรกที่ความคิดชี้นำจากกลุ่มนักวิชาการได้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแท้จริงอีกด้วย
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มแกนนอนเหล่านี้พัฒนาเติบโตขึ้นได้ก็คือ “ช่องว่าง” อันเกิดจากแกนนำ นปช.เอง
 
ความเป็นจริงก็คือ แกนนำนปช.ที่เคยนำทางความคิดในหมู่มวลชนได้มาตั้งแต่ช่วงปี 2551 นั้น นับแต่หลังการชุมนุมใหญ่มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ก็ได้ค่อย ๆ สูญเสียการนำทางความคิดนั้นไป เกิดช่องว่างทางความคิดและความรับรู้ระหว่างมวลชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่กับแกนนำนปช. และช่องว่างดังกล่าวยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและแกนนำนปช.เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลและในสภา
 
ความคิดและความรับรู้ของมวลชนเหล่านี้ได้ยกระดับไปถึงขั้นทะลุเปลือกมายาของการเมืองไทยไปสู่แก่นแกนของอำนาจรัฐที่แท้จริง เข้าใจถึง “ประเด็นหลัก” ในปัญหาประชาธิปไตยของไทยว่า อยู่ที่ “สถาบันกษัตริย์ อำนาจตุลาการและรัฐธรรมนูญ” แต่แกนนำนปช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางคนที่พยายามวางตัวเป็น “ผู้นำทางทฤษฎี” กลับมีข้อจำกัดทางความคิด มีความรับรู้และประสบการณ์ที่พ้นสมัย ไม่สามารถเสนอคำตอบและทางออกแก่มวลชนอย่างเป็นรูปธรรมได้ กลุ่มแกนนอนข้างต้นนี้แหละที่เข้ามา “เติมเต็ม” ช่องว่างดังกล่าวด้วยความคิดชี้นำที่เป็นระบบและเป็นรูปธรรมจากคณะนักวิชาการ
 
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า แกนนำ นปช.บางคนกลับมีความคิดจิตใจคับแคบ มองกลุ่มแกนนอน “แนวร่วม 29 มกราฯ” เป็นคู่แข่งทางการเมือง ด่าทอพวกเขาอยู่เนือง ๆ ว่า “แย่งชิงมวลชน แย่งชิงการนำ ตกปลาในบ่อเพื่อน ฯลฯ” แม้ภายหลังการชุมนุมวันที่ 29 มกราคม แกนนำบางคนทำรายการทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือไปขึ้นเวทีปราศรัย ก็ยังใช้วาจาเสียดสีแดกดัน  กระทั่งกล่าวหาว่า มีท่าทีไม่เหมาะสมต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยของพวกตน
 
ท่าทีของนักประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องใจกว้าง เผื่อแผ่ และส่งเสริมสนับสนุนกันอย่างเต็มกำลัง โดยยึดเอาภารกิจประชาธิปไตยโดยรวมเป็นที่ตั้ง เมื่อเห็นกลุ่มแกนนอนอื่น ๆ เติบใหญ่ขึ้น ก็ควรจะเรียนรู้จากพวกเขา เห็นพวกเขาเป็นมิตรที่มาเติมเต็มความคิดและความรับรู้ของมวลชน ผลักดันภารกิจประชาธิปไตยที่ยึดถือร่วมกันให้คืบหน้า อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างและเสียงวิจารณ์ที่ดำรงอยู่
 
การใช้สื่อหรือเวทีสาธารณะเสียดสีโจมตีแกนนำ-แกนนอนกลุ่มอื่น ๆ นั้น มีแต่จะทำให้แกนนำนปช.คนนั้น “เสื่อม” ในสายตามวลชน เพราะมวลชนเห็นคนเสื้อแดงทุกคนเป็นดั่งพี่น้อง เห็นแกนนำและแกนนอนทุกคนเป็นดั่งญาติสนิท พวกเขาเกลียดชังเผด็จการจารีตนิยมอย่างที่สุด ถัดจากนั้นคือ พวกเขาเกลียดการทะเลาะเบาะแว้งกันเองอย่างเปิดเผยในหมู่แกนนำและแกนนอน
 
คนที่ทึกทักผูกขาดความเป็นเจ้าของมวลชน เห็นมวลชนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว สั่งซ้ายหันขวาหันได้ เห็นกลุ่มอื่นเป็นคู่แข่งที่ต้องกีดกัน ขับไล่ไสส่ง คนเช่นนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตย เป็นแค่นักเคลื่อนไหวที่อ้างประชาธิปไตยไปสร้างอาณาจักรส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเท่านั้น
 
 
 
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net