แนวร่วมนิสิตฯ ยื่นหนังสือคัดค้านการนำม. เกษตร ออกนอกระบบ

แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นายนิพิฐพนธ์ คำยศ ผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือให้กับหัวหน้าศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งจะนำเข้าเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 โดยมีเนื้อความว่า 

เนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ซึ่งมีเนื้อหาในการแปรสภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของรัฐไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ออกนอกระบบราชการ) และคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการส่งร่างดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่จะถึงนี้ ทางกลุ่มแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ซึ่งได้ทำการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาโดยตลอด มีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีปัญหาในทุกกระบวนการ โดยมีเหตุผลในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... มีดังต่อไปนี้

1. แม้ว่าในปัจจุบันมีการแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอยู่บ้างแล้ว แต่กลับไม่มีการสรุปบทเรียนเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ว่ามีผลกระทบ ข้อดี – ข้อเสีย อย่างไรต่อคุณภาพการศึกษาและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และยังคงเร่งรัดที่จะแปรสภาพมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป

2. กระบวนการ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าเป็นนิสิต คณาจารย์ พนักงานในมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป แต่กลับถูกจัดทำร่างขึ้นโดย กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ขาดความชอบธรรม เพราะตลอดกระบวนการร่างที่ผ่านมา ประชาคมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือประชาพิจารณ์ที่แท้จริง มีแต่บุคคลเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับทราบ และที่ผ่านมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยมักอ้างว่า ประชาคมมหาวิทยาลัยเห็นด้วยทุกคน ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาโดยตลอด

3. เนื้อหาภายในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ถูกร่างขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ เนื้อหาจึงมีปัญหา เช่น การให้อำนาจกับสภามหาวิทยาลัยมากเกินไป, ระบบการตรวจสอบการทุจริตที่กำหนดให้อธิการบดีเป็นประธานการตรวจสอบซึ่งหมายความว่าอธิการบดีเป็นผู้ตรวจสอบการบริหารงานของตน รวมทั้งข้อที่น่าสงสัยอีกเป็นจำนวนมาก

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น ไม่ใช่คำตอบของระบบการศึกษา ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาแต่อย่างใด กลับเป็นการซ้ำเติมปัญหา และสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ยิ่งห่างกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงมีขอเสนอต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้

1. ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถอนร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ออกจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทั้งส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกลับไปให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทบทวน และให้รัฐบาลทำหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ให้เป็นที่รับรู้ต่อนิสิตและประชาคมเกษตรศาสตร์อย่างเต็มที่และทั่วถึง

2. ให้รัฐบาลเป็นคนกลางในการจัดเวทีเพื่อถอดบทเรียนเรื่อง ม. นอกระบบ จากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ว่ามีผลกระทบ ข้อดี – ข้อเสีย อย่างไร พร้อมทั้งจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง และหาข้อสรุปเรื่องการแปรสภาพมหาวิทยาลัย

โดยข้อเรียกร้องนี้ กลุ่มเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจะฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา ประชาชน และจะตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการศึกษา ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา สิทธิในการเข้าศึกษาในการเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่แบ่งแยกความรวย – ความยากจน โดยการไม่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพียงเพื่อต้องการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้กับผู้เรียน จึงอยากขอร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วนที่สุด

ทั้งนี้ นายนิพิฐพนธ์ คำยศ ได้กล่าวว่า เหตุผลที่มายื่นหนังสือก็เพราะว่า การรับรู้เรื่องม.นอกระบบ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งอาจารย์ พนักงาน นิสิตแทบจะไม่มีข้อมูลเรื่อง ม.นอกระบบ เลย อีกทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่สนใจ ไม่จริงใจในการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น แต่บางเรื่องกลับประชาสัมพันธ์ รณรงค์อย่างมาก เช่นเรื่องทางด่วน อ้างนิสิต อ้างประชาชน อ้างลูกหลาน แต่ พอเป็นเรื่อง ม.นอกระบบ ผู้บริหารกลับ ไม่มองเราเป็น นิสิต ลูกหลานประชาชน เห็นชัดถึงความไม่จริงใจของผู้บริหาร ทำให้เกิดข้อกังขาต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย อีกทั้งการบวนการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ก็ไม่มีส่วนร่วมจากประชาคมอย่างแท้จริง อาทิ การทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ทั่วถึง บางวิทยาเขตก็ไม่ได้รับการทำประชาพิจารณ์ด้วย รวมถึงร่าง พ.ร.บ. ที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องของการให้อำนาจอธิการบดี, ผู้บริหาร, สภามหาวิทยาลัย ระบบการตรวจสอบทุจริตที่ให้อำนาจแก่อธิการบดีเป็นประธานการตรวจสอบ และใน พ.ร.บ. ไม่มีอะไรยืนยันว่านิสิตจะได้ประโยชน์อะไรจากการออกนอกระบบ เช่น ไม่มีการกำหนดเพดานค่าเทอมอย่างชัดเจน หรือเครื่องยืนยันคุณภาพทางการศึกษา มีแต่ผู้บริหารเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท