เสวนา: ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน

Thailand Mirror เก็บความจากงานฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม เมื่อ ไอดา อรุณวงศ์ สนพ.อ่าน และ ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์ พูดถึงชีวิตวรรณกรรมของ คำสิงห์ ศรีนอก เจ้าของนามปากกา ลาว คำหอม เจ้าของวรรณกรรมเรื่อง ฟ้าบ่กั้น ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล

งานฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม เมื่อวันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555 เริ่มต้นด้วยการเสวนาหัวข้อ "ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน" โดย อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้เขียนคำวิจารณ์หนังสือฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม และไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อ่าน ผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้นเล่มล่าสุด

 

ไอดา อรุณวงศ์  เริ่มต้นการเสวนาด้วยการแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานวันครบรอบวันเกิดลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก โดยจะพูดในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้น และในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน

"สำนักพิมพ์อ่านโชคดีที่ได้รับมอบต้นฉบับด้วยความเต็มใจจาก ลุงคำสิงห์ ตอนที่ได้มาก็ตื่นเต้น ก็ตื้นตันเหมือนกัน ที่อยู่ดีๆ สำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่ได้รับเกียรตินี้ โดยลุงคำสิงห์บอกว่าอยากให้ อยู่ในมือของสำนักพิมพ์อ่าน และบอกเพิ่มเติมว่าให้นำบทวิจารณ์ของ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เคยตีพิมพ์ ในวารสารอ่านมาตีพิมพ์รวมไปด้วย มันมีความสำคัญในแง่ที่ว่าไม่เคยเห็นนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนที่เป็นรุ่นใหญ่ ที่มีฝีมือขนาดนี้ ที่บอกว่ายินดีที่จะให้ผลงานตัวเองได้รับการตีพิมพ์ควบคู่ไปกับคำวิจารณ์ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นสปิริต ที่หาได้ยาก และก็ได้เขียนไว้ในคำนำว่าย่อมมีแต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไม่เพียงไม่ปิดกั้น แต่ยังให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนต่อคำวิจารณ์เช่นนี้

เพราะฉะนั้นการไว้วางใจให้สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้นในรูปแบบที่นำคำวิจารณ์ มารวมไว้ด้วย ไม่ได้สะท้อนความยิ่งใหญ่ของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งนี้ เท่ากับสะท้อนความยิ่งใหญ่ในใจของผู้ใหญ่ ที่ใหญ่จริง ในท่ามกลางสังคมนี้ที่ถูกปลูกฝังให้เข้าใจผิดตลอดมาว่าการปกปักความยิ่งใหญ่คือการไม่ยอมให้ถูก วิจารณ์ และบังคับให้ประจบสอพลอ หรือไม่แล้วก็ให้อยู่ในความเงียบงัน ให้สำเหนียกในความต่างและห่างไกล เช่นนั้น เฉกเช่นมีแผ่นฟ้ากางกั้น เฉกเช่นนั้นตลอดมา นั่นก็คือที่เล่าไว้ในคำนำสำนักพิมพ์"

ไอดา อรุณวงศ์ ได้เล่าเกร็ดเพิ่มเติมจากการที่ได้เดินทางมาไร่ธารเกษมเพื่อมอบหนังสือฟ้าบ่กั้นให้กับ ลาว คำหอม หลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว รู้สึกประทับใจที่ได้ฟังหลายอย่างที่ลุงคำสิงห์ เล่าด้วยภาษาและความทรงจำที่แจ่มชัด และทำให้ปะติดปะต่อเรื่องราวที่ลุงคำสิงห์เล่าว่าสะท้อนอะไรบ้างผ่านมุมมองของตัวเอง

 "หลักๆ ที่ฟังลุงคำสิงห์เล่าจะรู้สึกเหมือนได้เห็นภาพคู่ขนานของสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนุ่มอินถา ในเรื่องไพร่ฟ้า นั่นคือภาพของคนหนุ่มผู้ที่กำลังมีความรักอันแรงกล้า ที่สด มีพลัง และก็น่าจะได้มีการพัฒนาต่อ เป็นความรักที่มั่นคงต่อเนื่องอย่างยาวนาน อย่างที่เขาได้วาดฝันไว้ แต่กลับถูกอำนาจล้นฟ้าอันไร้สาระอย่างหาที่สุด มิได้ มาทำให้พลังสร้างสรรค์แห่งความรักนั้นถูกกดทับให้จมหาย ลุงคำสิงห์ในวัยหนุ่มที่ยังอยู่ขอบ ๆ ของโลก วรรณกรรม ก็มีอาการเหมือนหนุ่มน้อยที่เพิ่งจะเริ่มจีบสาว คือกลัวๆ กล้าๆ กระมิดกระเมี้ยนเขินอาย  แต่ก็อยาก จะยืนยันให้สาวได้เห็นถึงความรักนั้น"

"วันหนึ่งเมื่อลุงคำสิงห์กับเพื่อน คือคุณดำเนินการเด่นไปหาคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จากที่ได้อ่าน เรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก จบแล้ว ก็ไปถามว่าควรจะอ่านเล่มไหนต่อไป ลุงคำสิงห์ บรรยายฉากของการไปหา ครั้งนั้นให้ฟังว่า ผมก็คิดว่าช่างกล้า เรานี้ยืนตัวลีบ คือเป็นภาพที่ชวนเอ็นดูมาก ลองนึกว่าทุกวันนี้เราเห็นแต่ลุงคำสิงห์ ที่เป็น ลาว คำหอม นักเขียนที่เป็นตำนานของยุคนี้ แต่ในตอนนั้นลุงคำสิงห์ คือเด็กหนุ่มที่เดินตัวลีบเข้าไปหานักเขียน ที่เป็นตำนานของยุคนั้นอย่างคุณกุหลาบ ลุงคำสิงห์เล่าว่าคุณกุหลาบก็มีเมตตามาก หันไปบอกภรรยาคือคุณชนิด สายประดิษฐ์ ว่า นิดช่วยจัดหนังสือให้เราชุดหนึ่งให้มิตรของเราด้วย ลุงคำสิงห์ จำรายละเอียดของวันประวัติศาสตร์ วันนั้นได้ ถึงขั้นที่บอกว่าเขานัดให้ไปรับหนังสือตอนสิบโมง ในเวลานั้นคุณชนิด หรือนามปากกาจูเลียต กำลังแปลนิยายเรื่องเหยื่ออธรรม ขณะที่คุณดำเนินการเด่นเพื่อนของลุงคำสิงห์ก็เป็นฝรั่งที่ฝึกภาษาไทย และต่อมา ก็แปลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ"

"จากที่ลุงคำสิงห์เล่า เห็นภาพลุงคำสิงห์กับคุณดำเนินการเด่น ในช่วงนั้นเหมือนกับเป็นคนหนุ่ม ที่กำลังหัวหกก้นขวิดอยู่ด้วยกัน ลุงคำสิงห์เล่าว่าตอนนั้นกำลังเขียนเรื่องสั้นชื่อคนพันธุ์ โดยใช้พิมพ์ดีดของ คุณดำเนินการเด่น แล้วคุณดำเนินการเด่น ก็ถือวิสาสะเอาเรื่องที่ค้างอยู่ในพิมพ์ดีดนั้นไปให้ป้าชนิด แล้วป้าชนิด ก็เอาไปให้คุณกุหลาบ ซึ่งตอนนั้นกำลังทำนิตยสารปิยมิตรอยู่ สิ่งที่ลุงคำสิงห์รับรู้ต่อมาก็คือคุณดำเนินการเด่น ส่งโทรเลขไปตามตัวลุงคำสิงห์ ซึ่งตอนนั้นกำลังตระเวนอยู่ที่ขอนแก่นบอกว่าอาทิตย์หน้าให้มากรุงเทพฯ หากอยากเห็นเรื่องของตัวเองได้ตีพิมพ์ และนี่ก็คือที่มาของเรื่องสั้นเรื่องแรกของลุงคำสิงห์คือ คนพันธุ์ ที่ได้รับ การตีพิมพ์ในนิตยสารปิยมิตรเมื่อปี 2501 หนังสือปิยมิตรออกทุกวันพุธ และในปีนั้นลุงคำสิงห์ก็มีกำลังใจ ขยันเขียน ทุกเดือนอย่างตั้งใจ ซึ่งถ้าดูจากประวัติการตีพิมพ์ก็จะเห็นว่าปี 2501 ปีเดียว ลาว คำหอม สามารถมีเรื่องสั้นที่ชั้นเลิศ สมบูรณ์แบบออกมาได้ถึง 8 เรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง ไพร่ฟ้า ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ"

"ลุงคำสิงห์แทรกเพิ่มก็คือ คุณชนิดแปลเรื่องเหยื่ออธรรมเสร็จแล้ว ก็เร่งแปลเรื่องกำแพงเงินต่อ  เพื่อจะลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ และจะรีบตามไปอยู่กับคุณกุหลาบที่เมืองจีน คุณชนิดหรือที่ลุงคำสิงห์เรียกว่า ป้าชนิด ก็ได้มอบหมายให้ลุงคำสิงห์เป็นคนไปตามเก็บผลงาน ในขณะที่คุณชนิดแอบนำเอางานของลุงคำสิงห์ ไปตีรวม เป็นเล่ม โดยร่วมมือกับคุณดำเนินการเด่น และคุณชุมพล สุรินทราบูรณ์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาปี 2 เป็นคนทำปก และก็ร่วมกันรวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นได้ปรากฏโฉมขึ้นมาครั้งแรกในปี 2501 ในนามสำนักพิมพ์เกวียนทอง ของลุงคำสิงห์และคุณดำเนินการเด่น"

"กลับมาที่จุดพลิกผันก็คือ ลุงคำสิงห์เล่าว่า ช่วงนั้นเร่ร่อนอยู่ขอนแก่น ชอบไปนอนศาลาวัด แอบไปฟังชาวบ้านคุยกัน เขาเล่านิทาน ตรงนี้ลุงคำสิงห์เล่าเพิ่มเติมว่า อาจจะเพราะเคยทำงานเป็นผู้ช่วย นักมานุษยวิทยา ก็เลยมีความสนใจแบบนี้ และบอกอีกว่าติดใจรสชาติของนิทาน ผมกลัวว่าละครวิทยุ ละครทีวี จะทำให้นิทานมันหายไป ตอนนั้นมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งมีศูนย์วิจัยอยู่ที่บางชัน เพิ่งจะปิดศูนย์และย้ายไปที่ อินโดนีเซีย ซึ่งจากที่เคยอ่านประวัติลุงคำสิงห์เคยเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับนักวิชาการที่ศูนย์วิจัยของคอร์แนลมาก่อน ลุงคำสิงห์บอกว่าตอนที่ทำอยู่ที่คอร์แนล เห็นว่าคอร์แนลมีเครื่องอัดเสียง ผมซึ่งอยากไปฟังนิทานก็อยากมีเครื่อง อัดเสียงก็กลับไปถามที่ศูนย์ ศูนย์ก็บอกว่ายกให้สยามสมาคมไปแล้วพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ผมก็ไปคุยกับสยามสมาคม สยามสมาคมบอกว่าจะจัดอุปกรณ์ให้และจะเป็นสปอนเซอร์ให้ไปเก็บนิทาน ผมเสนอว่าจะไปเก็บที่อีสาน เพราะคอร์แนลเก็บแต่เฉพาะภาคกลาง สยามสมาคมก็ตกลงและให้เงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท แต่ให้แบ่ง copy ให้กับสมาคมด้วย"

ไอดา อรุณวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่าความรักในเรื่องเล่า และการนำเรื่องเล่ามาเล่าใหม่ น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของ
การเขียนของลุงคำสิงห์ การตระเวนไปนอนฟังชาวบ้ายคุยกันเป็นวัตถุดิบชั้นดี คือปากคำของผู้ที่มีชีวิตอยู่จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่ค่อยจะได้มีปากเสียงอย่างเช่นภาคอีสาน

"สำหรับจุดพลิกผันเริ่มมาจากมีกรรมการคนหนึ่งของสยามสมาคมทักท้วงว่าลุงคำสิงห์ มีคุณสมบัติ เหมาะสมกับงานนี้จริงหรือ ลุงคำสิงห์ทำยังไง ตอนนั้นรวมหนังสือฟ้าบ่กั้นออกมาพอดี ลุงคำสิงห์เล่าว่า ผมยกหนังสือ ไปให้ดูด้วยความกร่างว่าฉันก็มีหนังสือของฉันเองนะ" ฝรั่งฟังแล้วก็ว่าดีบอกว่าปีหน้าจะเพิ่มเงินเดือนให้  ทีนี้พอลุงคำสิงห์ กลับไปที่สมาคมอีกครั้งเพื่อเอาเครื่องเสียงเจอแต่เก้าอี้ว่าง กลับมาอีกทีเขาบอกว่าเกิดเรื่องใหญ่แล้ว กรรมการสมาคมเอาหนังสือฟ้าบ่กั้นไปให้สันติบาล พอลุงคำสิงห์กลับไปที่สมาคม ทุกคนหลบหนี กลัว คอมมิวนิสต์ มาแล้ว พอกลับไปที่ขอนแก่นคนก็แตกตื่น บอกว่าตำรวจมาตามหาลุงคำสิงห์"

"เรื่องก็กลายเป็นเรื่องตลกแบบขันขื่นว่า อะไรหรือในฟ้าบ่กั้นที่ทำให้ทุกคนกลัวจนเสียสติขนาดนั้น เรื่องเล่าที่มาจากประสบการณ์ในการเล่านิทานและปากคำของชาวบ้านธรรมดานี้ จะว่าเป็นเรื่องผีเรื่องสยองขวัญ ก็ไม่ใช่  แค่มันเป็นเพราะเรื่องของสามัญชนคนยากในภาคอีสาน เรื่องของชาวนา หรือเรื่องของขมุหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไปหลงรักหญิงสาวและสูญเสียความรักนั้นไปเพราะหม่อมราชวงศ์คนหนึ่งอย่างนั้นหรือ ดิฉันฟังลุงคำสิงห์เล่าแล้ว ก็นึกถึงอาการประสาทอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ไม่ว่าใครจะเขียนอะไรหรือพูดอะไรในบริบทหนึ่งก็จะถูก อาการโรคจิตหวาดระแวงที่กำลังเป็นกันทั้งสังคมอันเป็นผล มาจากการโหมประโคมความรักที่อ้างว่ายิ่งใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วดูจะใจเสาะและขาดความมั่นคงทางจิตใจถึงขนาด หวาดระแวงไปทั่วว่าใครไม่รักจะประหาร เสียให้สิ้น และก็เอาอาการประสาทเสียนั้นมาตีความงานเขียนให้กลายเป็นอัปลักษณ์ ทั้งที่ถ้ามันจะอัปลักษณ์ มันก็อัปลักษณ์เพราะมันเป็นภาพสะท้อนอย่างซื่อ ๆ ของความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ ที่คนสติดีที่ไหนก็พอจะมองเห็น ได้ตำตาอยู่แล้ว กรณีฟ้าบ่กั้นก็วุ่นวายแบบนั้น คนที่สติยังดีอยู่ ก็มีแต่ต้องงงว่ามันเกิดอะไรขึ้น"

"ลุงคำสิงห์เล่าถึง คุณรสสุคนธ์ อันนี้เป็นนามปากกาซึ่งเป็นเพื่อนคุณกุหลาบ ที่เคยมาช่วย ปรู๊ฟหนังสือฟ้าบ่กั้นให้ตอนที่คุณชนิด ต้องการจะตีพิมพ์ แล้วคุณรสสุคนธ์ก็บอกว่าชอบมาก ยกย่องว่าเทียบชั้นหลู่ซิ่น และอยากจะเขียนคำนำให้ แต่พอเกิดเรื่องที่สยามสมาคมข่าวก็แพร่ไปว่าคำสิงห์ เป็นคอมมิวนิสต์ พอคุณรสสุคนธ์ รู้เรื่องก็ไม่สบายใจ ก็ไปหาคุณมาลัย ชูพินิจ ที่อยู่บ้านตรงข้าม บอกว่าเด็กถูกรังแก คุณมาลัยที่ลุงคำสิงห์เล่าว่า ตอนนั้นถูกลากไปเป็น ส.ส.สภานิติบัญญัติ ขอเอามาอ่าน พออ่านแล้วก็บอกว่า "เฮ้ย ถ้าเป็นผม ผมอัดหนักกว่านี้ อีกนะ คำสิงห์ถอยเข้ามุมไปหน่อย ตอนผมเขียนชั่วฟ้าดินสลาย ผมเต็มที่เลย" หรืออะไรทำนองนี้ ดิฉันไม่แน่ใจว่า คำว่า "อัดหนัก" ของคุณมาลัยหมายถึงอะไร แต่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของลีลา ความเข้มข้นทางอารมณ์ หรือปมความขัดแย้งของตัวละครที่คุณมาลัยนึกว่าถ้าเป็นเขาอาจจะผลักไปมากกว่านี้ แต่คงไม่ใช่เรื่องอัดเจ้าอัดฟ้า ที่ไหน เพราะคุณมาลัยซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ก็คงอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างคนที่สติดี เขาอ่านกันทั่วไปว่ามันเป็นงาน สร้างสรรค์ชิ้นหนึ่ง ถ้าจะมีความคิดเห็นต่างไปบ้างก็เป็นเทคนิควิธีการของการสร้าง งานเท่านั้น แต่สัจธรรมก็มีอยู่ว่า คนที่มีอำนาจบาตรใหญ่มักจะเป็นคนที่ขวัญอ่อนและเสียสติได้ง่ายกว่า และก็พาให้สังคมเข้าสู่บรรยากาศของ ความกลัวถึงขั้นเสียสติไปด้วย หนังสือเล่มนี้จึงถูกตีตราพอ ๆ กับที่คนเขียนก็ถูกไล่ล่า เพื่อจะปิดปาก"

"เกร็ดขำขื่นอันหนึ่งที่ลุงคำสิงห์เล่าก็คือว่าสันติบาลสมัยนั้นมีการศึกษาจบอักษรศาสตร์ เมื่อเจ้านาย สั่งให้จัดการกับการอ่านหนังสือเล่มนี้แต่พอเขาได้อ่านแล้วเขาชอบ ก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ก็ไปหาผู้รู้ให้มาช่วย เลยไปหา เจ้าคุณอนุมานราชธน ลุงคำสิงห์เล่าว่าถ้าจะมีใครเป็นเหมือนศาลฎีกาในวงวรรณกรรมก็เจ้าคุณนี่แหละ ตำรวจ สันติบาลขีดเส้นใต้ตรงบทสนทนาช่วงหนึ่งในเรื่องไพร่ฟ้าแล้วขอให้พระยาอนุมานวินิจฉัยว่า ตรงนี้ชักจูงให้เกลียดเจ้า หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจว่าบทสนทนาที่ถูกขีดเส้นใต้นั้นคือตรงไหนแน่ ดิฉันอยากจะอ่านบทสนทนาช่วงหนึ่งของเรื่องสั้น เรื่องนั้นให้ทุกท่านที่ยังมีสติดีในที่นี้ได้ลองวินิจฉัย แต่ดิฉันคิดว่าหลายคนคงได้อ่านแล้ว แต่ขออ่านให้ชัดๆ แบบไม่ต้อง กระมิดกระเมี้ยนให้สมศักดิ์ศรีสักนิด เรื่องสั้นเรื่องไพร่ฟ้าเป็นบทสนทนาระหว่างตัวเอกที่เล่าเรื่องกับขมุที่ชื่ออินถา ตัวเอกซึ่งใช้คำแทนตัวแทนว่าข้าพเจ้า บอกว่า"

                        "ท่านเป็นเจ้าเราจะเรียนท่านอย่างคนสามัญไม่ได้" ข้าพเจ้าพยายามตอบช้า ๆ
                        "เจ้าจะใด" เสียงแหบแห้งชวนให้สมเพช
                        ข้าพเจ้านิ่งคิดอึดอัดใจ ความจริงนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้ามีความรู้พอจะตอบคำถามได้ไม่ยากนัก แต่ก็อดจะรู้สึกอึดอัดใจไม่ได้ เพราะตระหนักสิ่งที่อินถาได้ถามนั้นมันอยู่ห่างจากความคิดของเขามากเหลือเกิน ข้าพเจ้าอยู่กับอินถามานานและทราบว่าเขาซาบซึ้งและศรัทธาต่อเจ้าอย่างสุดหัวใจ แต่เจ้าที่เขารู้จักนั้นเป็นเจ้าป่า เจ้าเขา ผีสางนางไม้ แต่ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพูดกับเขาด้วยเรื่องเจ้าที่เป็นคนเขาจะเข้าใจหรือ แม้เช่นนั้นข้าพเจ้าก็ พยายามอธิบายอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเขาก็อธิบายว่า
                        "เขาเป็นเชื้อเจ้า เป็นญาติห่างๆ กับเจ้าชีวิตของเรา คือเจ้าแผ่นดินของอินถา" เขาเงียบด้วยความ ครุ่นคิด แต่แล้วกลับโคลงศีรษะไปมาในความมืด
                        "นาย ผมบ่ฮู้ แผ่นดินตี้ไหน"
                        "ทั่วทั้งหมดแหละอินถา"
                        "นี่แม่นก่ นั่นแม่ก่" เขาชี้ไปข้างหน้าและเทือกเขาข้าง ๆ
                        "ใช่ เราสมมติว่าเป็นของท่าน แต่ความจริงก็ไม่ใช่ทีเดียว แต่เพราะท่านเป็นคนมีบุญญาบารมีมาก เราจึงเทิดทูนให้ท่านเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้คนธรรมดาสามัญอย่างฉัน อย่างอินถา ก็เหมือนเป็นสมบัติ ของท่าน เรียกว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน"
                        "ฟ้านี้กะนาย" อินถาเงยหน้าขึ้นมองความเวิ้งว้างเหนือศีรษะ
                        "ใช่ อินถา ฟ้านี้แหละ แต่ความจริงท่านขึ้นไปอยู่จริงๆ ไม่ได้หรอก แต่เพราะท่านเป็นคนมีบุญ เราจึงสมมติให้ท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน"
                        หม่องที่นั่งกลางเขาซักถามด้วยเสียงหวาดหวั่น
                        "เปล่าหรอก หม่อมท่านนั้นเป็นเพียงญาติ คือพี่น้องลูกหลานห่าง ๆ แต่เราก็นับว่าเป็นเจ้าด้วย องค์หนึ่ง"
                        และอินถาก็บอกว่า "เอ นายนี่ อู้สะปะ เจ้าตี้ไหน คนแต๊ๆ ผมเห็นกินข้าวหยับๆ ตึงวัน"

"คือจะเป็นย่อหน้านี้หรือเปล่าที่สันติบาลชี้ ดิฉันก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ พระยาอนุมานผู้มีเมตตา ก็ตัดสินใจตอบว่าขอไม่ยุ่งด้วยแล้วกัน ขอไม่วินิจฉัย แต่มันก็มีเกร็ดเล่าต่อมาอีกว่า ตอนนั้นลุงคำสิงห์เป็นเพื่อน ที่สนิทสนมกับลูกศิษย์ 2 คน ของพระยาอนุมาน ที่เคยช่วยกันทำงานวิจัยที่ศูนย์บางชันมาด้วยกัน พระยาอนุมาน ซึ่งเป็นกรรมการของสยามสมาคมด้วยก็คงเป็นห่วงลูกศิษย์เพราะเห็นว่าสนิทกัน เห็นมารับไปดูหนัง ไปไหนต่อไหน พระยาอนุมานก็เรียกสองสาวไปหา ตอนนั้นที่จุฬา ก็กำลังร้อนมากเพราะว่าจิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่งโดนโยนบก เจ้าคุณจึงเตือนลูกศิษย์ว่า นายคำสิงห์ที่เธอเดินตามไปกันนั่นน่ะ เขาเป็นแดงนะ แต่ฉันเป็นครูบาอาจารย์ เธออย่าเอาไปพูดนะ แต่สองคนนั้นก็ตาเขียวตาแดงมาหาลุงคำสิงห์ถามว่า เป็นแดงเหรอ ลุงคำสิงห์จบท้ายเกร็ดเล่า สั้น ๆ นี้ให้ดิฉันฟังว่า และแล้วโลกก็กำลังจะแตกอีกครั้งหนึ่ง"

"ดิฉันไม่อยากไปละลาบละล้วงถามว่าในช่วงเวลาในมรสุมนั้น ลึกๆ ในหัวใจแล้วลุงคำสิงห์รู้สึก อย่างไร แต่จากเรื่องราวต่อจากนั้นที่ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟังก็สรุปเป็นภาพเดียวกันได้ว่าในตอนนั้นไม่ว่าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะไปหาใคร คนก็หวาดกลัว หลบเลี่ยง เขาก็ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ลุงคำสิงห์เคยยอมรับอย่างกล้าหาญกับดิฉันว่า ผมเป็นคนอ่อนแอเกินไป พอถูกขู่อะไรผมก็หยุด การที่ฉันอยากจะคิดว่าการถูกโบยตี ป้ายสี รังเกียจเดียดฉันท์ ไล่ล่า ด้วยข้อหาไร้สติต่าง ๆ นานา จากการงานที่ลงแรงด้วยความรักอันบริสุทธิ์นั้น มันมีหรือที่จะไม่ทำให้ไฟแห่งการ สร้างสรรค์ของศิลปินต้องอ่อนแรงล้า ประเทศนี้จะสามารถเป็นเนื้อดินชั้นดีสำหรับงานสร้างสรรค์ได้อย่างไร หากว่ามี ฟ้ามากางกั้นต่อความรักในงานสร้างสรรค์นั้น ในบทความของ อ.ชูศักดิ์ ที่ได้นำมาตีพิมพ์ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ อ.ชูศักดิ์ ยกข้อความจากบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของลุงคำสิงห์มาทิ้งท้ายไว้ว่า ลุงคำสิงห์บอกว่าผมไม่ใช่นักวรรณกรรม บริสุทธิ์ที่จรรโลงโลกหรือสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อเพิ่มพูนมรดกทางวรรณกรรม แต่ผมรู้สึกว่าผมกำลังทำงาน ทางสังคมชนิดหนึ่ง แต่ตอนนี้ที่ตัวเองไม่รู้สึกอาลัย หมดความไยดี เหมือนรักผู้หญิงคนหนึ่ง เขียนจดหมายถึงกันบ่อยๆ  แต่ตอนนี้ไม่รักกันแล้ว มันไม่อยากเขียนจดหมายถึงเขา"

"อันที่จริงเมื่อคิดอีกแง่หนึ่งถึงการดำรงอยู่ของภาวะแบบนี้คืออาการวิปริตทางสังคมแบบนี้ไม่ใช่หรือ ที่อีกทางหนึ่งก็คือเงื่อนไขอันกดดันที่อาจส่งเสริมให้เกิดวรรณกรรมชั้นดีขึ้นได้ แล้วมันก็ได้ทำให้ฟ้าบ่กั้นกลายเป็น ตำนานทรงพลังที่คอยหลอกหลอนสังคมไทยไปแล้ว แน่นอนว่าในช่วงเวลาหลายปีหลังจากนั้นที่แม้ว่าจะได้รับการ ตีพิมพ์ซ้ำมาหลายครั้ง แต่มันก็ถูกลดทอนให้เป็นตำนานของวรรณกรรมสร้างสรรค์ในความหมายที่กว้างและ คลุมเครือ ที่ไม่มีใครกล้าไปสะกิดถึงคำสาปที่อยู่ในนั้น แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่มีการจัดพิมพ์ครั้งไหนที่จะช่วยยืนยัน ความจริงของคำสาปอันเป็นตำนานนี้ได้เท่าครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าสำนักพิมพ์อ่านทำได้ดีกว่าสำนักพิมพ์อื่น แต่เป็น เพราะว่าผู้อ่านเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ฟ้าไม่อาจกั้นความจริงได้อีกต่อไปแล้ว การนำมา พิมพ์ใหม่ในที่นี้โดยสำนักพิมพ์อ่านใน พ.ศ.นี้ เป็นการยืนยันพื้นที่ของมัน ว่ามันเป็นตำนานที่มีโครงมาจากเรื่องจริง จากความจริงของสังคมไทยและต้องการให้เราพิมพ์ในรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Critical Edition ในครั้งนี้ คือรวมเอา บทวิจารณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เข้ามาไว้ด้วย ก็คือการยืนยันฐานะของมันที่เป็นมากกว่านิยายที่ไร้ พิษสงสำหรับการอ่านนอกเวลา แต่มันคือการได้บอกว่ามันได้หยั่งรากลึกและมีสถานะที่เอื้อต่อการผลักดันขอบฟ้า ของการวิจารณ์ในสังคมไทย ขอบฟ้าที่ไม่ควรมีใครมีสิทธิ์มาปิดกั้น"

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เริ่มบทเสวนาต่อจากไอดา อรุณวงศ์ ในมุมมองของผู้อ่านฟ้าบ่กั้นมาตั้งแต่เด็ก กับความรู้สึก ที่เปลี่ยนไปทุกครั้งที่ได้อ่าน และมองว่าฟ้าบ่กั้นทำหน้าที่อ่านคนที่กำลังอ่านมันอยู่

"รวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นโดยประสบการณ์ของการอ่านหนังสือเล่มนี้ของผมมันเริ่มมาตั้งแต่สมัยเด็ก มัธยมต้น อายุประมาณ 13 ปี พี่ชายเป็นคนซื้อ เป็นฉบับก่อนที่จะมีสำนักพิมพ์อ่านก็ถือว่าเป็นฉบับที่คลาสสิคมาก ขนาดนักเลงหนังสือด้วยกันคือที่ ส.ศิวรักษ์ สนับสนุนให้ตีพิมพ์และมี อ.เทพศิริ เป็นผู้วาดภาพประกอบ ขนาดก็แตกต่างจากพ็อกเก็ต บุ๊ค ช่วงนั้น และพิมพ์ด้วยกระดาษดีมาก ผมก็อ่านคู่กับปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะขณะนั้นอายุแค่ 13 ปี บางทีผมก็อ่านหนังสือ แต่บางทีหนังสือมันก็อ่านผม แต่ก็จำได้แม่นว่าเรื่องเขียดขาคำ จะติดในความรู้สึกของตัวเองเพราะไม่รู้จักโลกแบบนั้น นั่นเป็นประสบการณ์ การอ่าน"

"หลังจากนั้นก็ได้อ่านอีกหลายครั้ง เคยเอาเรื่องสั้นบางเรื่องของพี่คำสิงห์ไปตีพิมพ์ในวารสาร ของโรงเรียน วารสารใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง ก็แล้วแต่ โดยไม่ได้ขออนุญาตลุงคำสิงห์ หลัง 6 ตุลา มาได้อ่านอีกครั้ง ก็มีการมารวมพิมพ์ใหม่ประมาณปี 2524-2525 ผมได้เขียนบทวิจารณ์ไว้ชิ้นหนึ่งประมาณปี 2530 ความเงียบ ในฟ้าบ่กั้น และก็มาอ่านใหม่อีกเมื่อไม่นานมานี้เขียนลงในวารสารอ่าน เล่าประสบการณ์ส่วนตัว เพราะเป็นประเด็น ที่อยากจะชวนให้ขบคิดเกี่ยวกับเรื่องการอ่านวรรณกรรม บางครั้งวรรณกรรมเป็นฝ่ายอ่านเรา เราไม่ได้เป็นฝ่ายอ่าน อย่างเดียว หนังสืออย่างฟ้าบ่กั้นคนอ่านเยอะมาก บางครั้งคิดว่าคนอ่านถูกหนังสือเล่มนี้อ่านอย่างไรบ้าง"

"คำนำที่ค่อนข้างจะเจียมตนของลุงคำสิงห์ที่พูดในหนังสือฟ้าบ่กั้นที่เป็นภาษาสวีเดน ที่ว่า "ถ้าจะมีความพยายามจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้ก็จะมีฐานะที่เป็นได้เพียงวรรณกรรม แห่งฤดูกาลความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทย"

ชูศักดิ์ กล่าวว่าประทับใจคำนิยามหนังสือของลาว คำหอม ที่บอกว่าเป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาล และได้นำไปขบคิดในหลายแง่มุม รวมทั้งมุมมองของตนเองที่ว่าคำนำของลาว คำหอม เป็นคำนำที่เจียมตน และยังบอกว่าวรรณกรรมฟ้าบ่กั้นไม่น่าจะมีอายุยาวนาน และไม่ใช่วรรณกรรมอมตะ

"ถ้าเรียกให้เข้ากับคำนิยามที่ลุงคำสิงห์ก็น่าจะเรียกว่าวรรณกรรมสามฤดู วรรณกรรมทุกฤดู ก็เหมือนเป็นวรรณกรรมที่สูงส่งมีค่าอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย แต่ลุงคำสิงห์กลับมองฟ้าบ่กั้นในฐานะที่เป็นวรรณกรรม แห่งฤดูกาล ก็คือมีหน้าที่เฉพาะในช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง สังคมหนึ่ง การที่จะทำหน้าที่เป็นตัวบอกของสังคมนั้น โดยหวังว่าเมื่อสังคมนั้น สภาพนั้น หมดสิ้นไป วรรณกรรมนี้ก็จะต้องหมดความหมาย หมดสถานะไป เป็นการเจียมตัว ที่ไม่น่าเชื่อว่านักเขียนคนหนึ่งจะพูดไม่เพียงเฉพาะว่างานของตัวเองมีความหมายแค่เฉพาะกิจ แต่นึกให้ดี ตัววรรณกรรมนั้นมีหน้าที่ที่จะทำลายตัวมันเอง เพราะวรรณกรรมนั้นต้องการจะพูดถึงสังคมนั้นโดยหวังว่าสังคมนั้น จะหมดไป คือพูดถึงความยากไร้ของชาวบ้านโดยหวังว่าตัวหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ความยากไร้นั้นหมดสิ้นไป ซึ่งก็เท่ากับว่าหนังสือเล่มนี้ก็ต้องหมดสถานะไปด้วย ถ้าเราเทียบกับนักเขียนบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะเจียมตน ขนาดนี้ มันจะมีลักษณะอหังการของกวีประเภทไหลหลั่งกวีไว้ชั่วฟ้าดินสมัย คือหวังว่าเขียนงานชิ้นหนึ่ง มันจะอยู่ไปชั่วฟ้าดินสลาย คือหวังว่าเมื่องานของตัวเองตายไปก็หวังว่าชื่อบทกวีก็จะเป็นหลักฐานหรือประจานตนเอง หรือเชิดชูตนเองต่อไป แต่ลุงคำสิงห์มาอีกสำนักหนึ่ง มาจากสำนักที่เจียมตัวมากถึงขนาดหวังว่าวรรณกรรมของ ตัวเองมันจะทำลายชื่อเสียงของตนเองในแง่ที่ว่า ขอให้สังคมเปลี่ยนไปและก็ให้หนังสือมันหมดไปจากสังคมนั้น ไปด้วย ซึ่งมันเหลือเชื่อว่าจะมีคนที่จะถ่อมตัวได้ขนาดนี้ ผมยังทำไม่ได้เลย แล้วกวีเราทุกวันนี้มันตรงข้ามกับ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง"

"ผมอยากจะคิดต่อไปว่าความเป็นอมตะของวรรณกรรม มันอยู่ที่มันเป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาล เวลาเราพูดถึงงานอมตะ งานชิ้นเอก มันพูดถึงความจริงชุดหนึ่งที่สามารถจะเป็นสัจธรรมที่จะอยู่ไปกับมนุษยชาติ ทุกยุคทุกสมัย สำหรับผมวรรณกรรมอมตะคือวรรณกรรมที่จะสามารถอ่านได้ทุกยุคทุกสมัย คนในแต่ละยุคสมัย มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่สามารถมองเห็นคุณค่าและเข้าถึงความสำคัญบางอย่างของวรรณกรรมชิ้นนั้นได้ มันไม่ได้ ประกาศสัจธรรมที่พ้นยุคพ้นสมัยแต่ตัวมันเองต่างหากที่สามารถจะบอกหรือทำให้คนแต่ละยุคสมัยที่ไม่เหมือนกันเข้าใจได้ สามารถอ่านและเอาไปเทียบกับยุคสมัยของเขาเองได้ว่ามันกำลังพูดกับตัวเขา นี่แหละคือวรรณกรรม แห่งฤดูกาล อ่านแล้วกระตุ้น ลากโยง ให้เราเปรียบเทียบกับยุคสมัย ทำให้เข้าใจสังคมในแต่ละยุคที่ต่างกันเพราะ หนังสือเล่มนี้ ที่ช่วยให้มองสังคมแต่ละยุคสมัยด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป"

"ความหมายของหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกต่อไปว่ามันบอกอะไรหลาย ๆ อย่าง อ่านตอน 14 ตุลา 16 ทำให้รู้สึกเข้าใจคนยากคนจนในภาคอีสาน และรู้สึกว่าตัวเองเป็นอภิสิทธิ์ชน ทำให้รู้สึกเห็นใจ คนในยุคสมัยนั้นก็น่า จะอ่านด้วยความรู้สึกแบบนั้น รู้สึกว่ามันเป็นคำร้องทุกข์ของคนยากจนในภาคอีสาน แต่พอผมกลับมาอ่านอีกครั้ง ก่อนเหตุการณ์พฤษภา 35 หนังสือฟ้าบ่กั้นบอกผมต่างไปจากเดิม มันไม่ได้บอกแค่ทำให้ผมรู้สึกเห็นใจ แต่ทำให้เกิด ความคิดความรู้สึก วัฒนธรรมของตัวละครในเรื่อง ซึ่งกำลังต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจที่มาจากส่วนกลาง และทำให้คิดว่า นี่แหละคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้มีลักษณะพิเศษในสายตาผมคือมันไม่ได้มีไว้ให้เราอ่านอย่างเดียว แต่มันกำลังอ่านสังคม และกำลังอ่านคนที่อ่านมันด้วย

ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา คนอ่านฟ้าบ่กั้นเขาอ่านอะไร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าคนที่อ่านหนังสือนี้ถูกหนังสือ อ่านอย่างไร คำนำเชิงวิจารณ์ของ วิทยากร เชียงกูล ปี 2517 บอกว่า งานของลาว คำหอม มีลักษณะเด่นร่วมกัน อย่างหนึ่งคือ สะท้อนภาพชาวบ้านที่ยากไร้ ขมขื่น งมงาย อย่างตรงไปตรงมา และมีอารมณ์ขัน ภาพพจน์ของ  ลาว คำหอม ที่มองชาวชนบทนั้นไม่ใช่แบบชาวเมืองมองชาวชนบท หากแต่เป็นภาพพจน์แบบเห็นอกเห็นใจ เย้ยหยัน ตนเอง"

"นักวิชาการท่านหนึ่งพูดว่า ลาว คำหอม นำเสนอภาพชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยระบบความเชื่อ แบบชาวบ้าน มีความเชื่อถือ ศรัทธา ในผี เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บาป บุญ นรก สวรรค์ ชาตินี้ ชาติหน้า ชาวชนบท จึงยอมจำนนต่อปัญหาชีวิต ไม่ท้าทาย ไม่ทบทวน ตนเอง เพราะมีคำตอบอยู่แล้วในทุกเหตุการณ์"

"นักมานุษยวิทยา และเป็นนักวรรณคดี ค่ายเทวาลัย พูดในทำนองเดียวกันว่าหนังสือเล่มนี้สื่อสภาพ ชนบทให้คนเมืองวิพากษ์วิจารณ์สะท้อนกลับไปให้คนในชนบทได้เห็นความเป็นตัวของตัวเองว่าทำไมเราถึงเป็น อย่างนี้ ทำไมถึงช่วยตัวเองไม่ได้"

"ที่ผมเขียนไว้ในบทวิจารณ์ของผมคือ ปฏิกิริยาในการอ่านแบบนี้มาได้ยังไง ทำไมหนังสือเล่มหนึ่ง ทำให้คนอ่านแล้วมองภาพอย่างนี้ออกมา เรามักจะเชื่อว่าวรรณคดี หนังสือ หรือวรรณกรรม เราอ่านหนังสือก็เพื่อ เปิดขอบฟ้า เปิดโลกทัศน์ ให้กว้างขึ้น เราอ่านเรื่องนู้นเรื่องนี้ทำให้เรารู้จักโลกมากขึ้น บ่อยครั้งที่การอ่านหนังสือ ไม่ได้มีหน้าที่มาเปิดขอบฟ้าหรือเปิดใจให้กว้างขึ้น เราอ่านหนังสือเพื่อยืนยันความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วมากกว่า และเราก็มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ต่างไปจากความเชื่อที่เรามีอยู่ การอ่านทำให้เรามองเห็นโลกได้กว้างขึ้น แต่บ่อยครั้ง เป็นการอ่านเพื่อจะยืนยันความเชื่อเดิมเรามากกว่า ซึ่งวิธีอ่านแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น มันเป็น วิธีการอ่านที่เลือกจะอ่านหรือเลือกที่จะเข้าใจในบางเรื่องที่เราเชื่ออยู่แล้ว และคิดว่าการที่อ่านฟ้าบ่กั้น ในฐานะที่ วาดภาพว่าคนอีสานเป็นคนโง่ จน เจ็บ มันไม่ใช่เพราะตัวหนังสือมันบอกอย่างนั้น แต่เป็นเพราะผู้อ่านต่างหาก ที่เชื่อว่าคนอีสานเป็นเช่นนั้น  คนจำนวนมากยังอยู่ที่เดิมกับการอ่านหนังสือเล่มนี้"

"ผมกลับมาอ่านอีกครั้งปี 2550 คิดต่างไปจากเดิม ถ้าละวางความเชื่อที่ได้จากการอ่านหนังสือ เล่มนี้ว่า คนอีสานโง่ จน เจ็บ ที่ถูกกล่อมหู กล่อมประสาทอยู่ทุกวัน ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ใหม่ด้วยสายตาแบบชาวบ้าน ที่พยายามมองผ่านสายตาตัวละครชาวบ้านในเรื่อง เราจะเห็นมุมที่น่าสนใจมากและเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่ชวนให้ ขบคิดว่าวิธีอ่านที่เราอ่านมา เผลอ ๆ มันเกิดจากอคติของเรามากกว่า และหนังสือเล่มนี้จะเป็นตัวที่มาช่วยตรวจสอบ ตรวจทานอคติของเราเองว่าคนชาวบ้านอย่างนี้มาจากอะไร ซึ่งผมคิดว่าตัวหนังสือได้ทำหน้าที่อ่านเรา เราไม่ได้อ่าน หนังสืออย่างเดียว ถ้าเราถามตัวเองทุกครั้งว่า เอ๊ะ! ทำไมเราได้ข้อสรุปแบบนี้ ทำไมคนอย่างวิทยากร เชียงกูล นักวิชาการจำนวนมาก ถึงได้ข้อสรุปว่าหนังสือเล่มนี้มันพูดถึงคนอีสานที่โง่งมงาย น่าหัวร่อ ถึงแม้จะมีลักษณะ ประชดประชัน ล้อตัวเอง ถ้าไปอ่านใหม่เราจะเห็นมุมที่ตรงกันข้าม ถ้าเราตั้งสติและพยายามอ่านหนังสือ และโดยที่ ให้หนังสือมันอ่าน และระแวดระวังว่าหนังสือกำลังอ่านเราอยู่ด้วย ถ้าทำตัวโง่หน่อยหนังสือมันก็จะบอกมาเองว่า ความโง่คุณอยู่ตรงไหน ปกติเราจะเห็นมุมที่แปลกใหม่ไม่เยอะมาก ท้ายที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้มันเป็นวรรณกรรม แห่งฤดูกาลในความหมายที่อยากให้ใหม่และสามารถอ่านได้ใหม่เรื่อย ๆ และหวังไว้อีกว่า10-20 ปี ผ่านไป คนรุ่นหลัง มาอ่านใหม่ก็จะอ่านหนังสือเล่มนี้ในความหมายที่ต่างออกไปอีก และก็อ่านมันให้ไปสอดคล้องกับสังคมและยุคสมัย ของเขา ซึ่งผมคิดว่าถึงเวลานั้นประเด็นเรื่อง เจ้า ฟ้า ก็คงจะหมดไปแล้ว

 

มุมมองของผู้เสวนาทั้งสองข้างต้นได้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่แห่งคุณค่างานวรรณกรรม ผ่านงานเขียนที่มีความ อ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยหวังให้ผลงานของตนเป็นเพียงวรรณกรรมแห่งฤดูกาล ฤดูกาลแห่งความยากไร้และคับแค้น มีหน้าที่เป็นเพียงตัวบอกสังคมนั้น ๆ เฉพาะช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง และเมื่อสังคมนั้น สภาพนั้น หมดสิ้นไป วรรณกรรมนั้น ก็จะต้องหมดความหมาย หมดสถานะไปด้วยเช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท