Skip to main content
sharethis

ในประเทศพม่ามีการจัดงานเทศกาลวรรณกรรมอิระวดีโดยมีอองซานซูจีเป็นผู้อุปถัมภ์ มีการเสวนาและเวิร์กช็อป อ่านบทกวี ฉายภาพยนตร์ รวมถึงการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น เป็นครั้งแรกสำหรับงานเทศกาลวรรณกรรมในพม่า แม้ว่านักเขียนยังคงกลัวว่าการเซนเซอร์ของรัฐบาลจะยังคงอยู่

เมื่อวันที่ 1-3 ก.พ. ที่ผ่านมา ประเทศพม่าได้มีการจัดงานเทศกาลวรรณกรรมอิระวดี ขึ้นที่โรงแรมอินยาเลค โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากมายทั้งนักเขียน, กวี, อดีตนักโทษการเมือง ทั้งจากในพม่าและจากต่างประเทศ โดยมีอองซานซูจีเป็นผู้อุปถัมภ์งานในครั้งนี้

งานเทศกาลวรรณกรรมในพม่าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ในงานมีการจัดเป็นทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพม่า มีทั้งการเวิร์กช็อปฝึกปฏิบัติเรื่องการเป็นช่างภาพข่าว การเสวนาเรื่องการเซนเซอร์และการใช้ความรุนแรง ไปจนถึงการอ่านบทกวีและการฉายภาพยนตร์

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่ามีเทศกาลวรรณกรรม ผู้ร่วมงานชาวพม่าหลายคนไม่รู้จักผู้มีชื่อเสียงที่มีรายชื่ออยู่ในงาน และมีนักเขียนบางคนที่ยังแสดงความกังวลเรื่องการเซนเซอร์งานของพวกเขา

มีผู้เข้าร่วมหลายคนลุกขึ้นเล่าเรื่องราวการตกเป็นนักโทษการเมืองภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารตลอด 50 ปีที่ผ่านมา บ้างก็ถามว่าจะทำอย่างไรให้วรรณกรรมส่งอิทธิพลต่อประเทศ ในงานยังมีการวางเต็นท์ขายหนังสือมือสองอยู่รอบๆ ลานจัดงานและมีกวีกับนักเขียนรวมกลุ่มกันอยู่ที่โต๊ะปิคนิคเสวนากันเรื่องศิลปะและวรรณกรรม

ในการเสวนามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวมถึงอองซานซูจีผู้อุปถัมภ์ของงานนี้เข้าร่วมเสวนาด้วย โดยซูจีกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากว่าหนังสือเป็นเครื่องคลายเหงาในเวลาที่เธอถูกสั่งกักขังในบ้านของตัวเองเกือบ 20 ปี ซูจียังได้กล่าวติดตลกอีกว่าแม้ว่าจะมีคนมองว่าเธอกล้าหาญเช่นใดก็ตาม เธอก็ไม่กล้าหาญมากพอจะทำแบบแฮรี่ พอตเตอร์

"การอ่านทำให้คุณเข้าใจว่าคนอื่นๆ คิดอย่างไรและพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง" ซูจีกล่าว "นอกจากนี้มันยังช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาในชีวิตคุณเองได้ด้วย"

เดอะ การ์เดียน กล่าวว่าสำหรับชาวพม่าแล้ว การจัดงานเทศกาลในครั้งนี้เป็นเหมือนเรื่องเหนือจริง (surreal) ที่เปิดหนทางให้พวกเขาได้พบวิถีชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดหลายสิบปีในประเทศของพวกเขา

ชเวกู เม ฮิน นักเขียนเรื่องการเมืองในพม่าซึ่งเคยติดคุกในช่วงต้น 1990s กล่าวว่าเทศกาลนี้เป็นงานที่ดีสำหรับพวกเขา พวกเขาได้พบกับนักเขียนจากต่างประเทศ ได้พูดแสดงความรู้สึกและแลกเปลี่ยนความรู้

แต่นักเขียนจากต่างประเทศก็มีหลายคนที่ชาวพม่าไม่รู้จักเนื่องจากประเทศพม่าถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก โดยที่วรรณกรรมคลาสสิกยิ่งใหญ่หลายเรื่องจะถูกเซนเซอร์ก่อนที่จะถูกนำเข้ามาในโรงเรียน

เจน เฮียน ผู้อำนวยการจัดงานเทศการและภรรยาเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่ากล่าวว่า ประเทศพม่าชื่นชอบวรรณกรรมมาก แต่พม่าก็ขาดการเข้าถึงวรรณกรรมมาก่อน

นอกจากนี้แล้วในงานนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ชาวต่างชาติมีโอกาสได้อ่านหรือได้ฟังวรรณกรรมและบทกวีของพม่าอีกด้วย


รางวัลวรรณกรรม ของเด็ก 17 ที่เขียนเรื่องสงคราม

ผู้ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นอันดับหนึ่งในเทศกาลนี้คือนักเรียนอายุ 17 ปี ชื่อ อองซินเปียวเทียน ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการค้าประเวณี, การติดสุรา อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และได้สะท้อนมุมมองสงครามชนกลุ่มน้อยในคะฉิ่น

อองซินกล่าวว่าเขาได้เห็นเรื่องราวความโหดร้ายต่างๆ จากข่าวรายวัน "ปกติแล้วเวลาพวกเราได้ยินเรื่องสงคราม พวกเรามักจะนึกถึงอิรักหรืออัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้มันใกล้ตัวพวกเรามาก มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วฉันก็ก็หันมาสนใจเรื่องนี้เพราะในสงครามจะมีสองฝ่ายสู้กันแต่บุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้องจะตาย"


ความหวังทางวรรณกรรมต่อคนหนุ่มสาว

เดอะ การ์เดียน กล่าวว่าในขณะที่พม่าค่อยๆ เปิดประเทศอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป โลกภายนอกก็ค่อยๆ รับรู้เรื่องราวของประเทศนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยล่าสุดมีการรวบรวมบทกวีร่วมสมัยของพม่าในชื่อ 'Bones Will Crow' ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ขณะที่ทางการม่าก็ปิดตัวกองเซนเซอร์ไปเมื่อปีที่แล้ว (2012) และยอมผ่อนผันการควบคุมเนื้อหาซึ่งเคยทำให้นักเขียนหลายคนถูกจับเข้าคุกมาแล้ว

แต่นักเขียนหลายคนก็ยังกลัวรัฐบาล และเกรงว่าเสรีภาพที่เพิ่งได้รับมาใหม่นี้จะถูกช่วงชิงเอาไปเมื่อใดก็ได้

ซาว ไว กวีพม่ากล่าวว่าเขาไม่กลัวที่จะเขียนสิ่งที่เขาอยากเขียน แต่บรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ยังคงกลัวไม่ยอมพิมพ์บทกวีของเขา โดยก่อนหน้านี้ในปี 2008 ซาว ไว เคยถูกรัฐบาลจับกุมกลังเขียนบทหวีวันวาเลนไทน์ที่ซ่อนรหัสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเอาไว้

"ประธานาธิบดีบอกเราว่าพวกเราควรจะมีสิทธิในการแสดงความเห็น แต่การนำมาปฏิบัติจริงยังคงอ่อนอยู่ พูดตามตรงเลยคือผมยังคงรู้สึกว่าเรื่องราวในอดีตยังคงหลอกหลอน" ซาว ไว กล่าว

ดังนั้นความหวังจึงไปตกอยู่กับเยาวชนหนุ่มสาวของพม่า ผู้ที่ได้รับผลจากการปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน

อองซิน กล่าวว่า เขาเป็นคนแกที่ชนะรางวัลวรรณกรรมเทศกาลอิระวดี และต้องการให้สิ่งนี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวรายอื่นๆ หันมาเขียนหนังสือ

"ลงมือเขียนเลย อย่าได้กลัว" อองซินกล่าว


เรียบเรียงจาก

Burma literary festival flourishes under patron Aung San Suu Kyi, The Guardian, 03-02-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net