เหตุแบนภาพยนตร์ 'วิศวรูปภัม' ในรัฐทมิฬ กับความขัดแย้งเรื่องเสรีภาพในวงการบันเทิงอินเดีย

ผู้กำกับโอดครวญเมื่อภาพยนตร์เรื่อง 'วิศวรูปภัม' ถูกสั่งห้ามฉายในรัฐทมิฬหลังมีองค์กรมุสลิมประท้วงเพราะในเนื้อหามีตัวละครผู้ก่อการร้ายอัลเคด้า ขณะที่นักวิจารณ์ทั้งหลายมองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนเรื่องของพรรคการเมืองกลัวคะแนนเสียงตกต่ำ ทำให้ข้ออ้างเรื่อง 'การสร้างความขุ่นเคือง' ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือได้ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของศาสนา

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เว็บไซต์อัลจาซีร่าได้นำเสนอกรณีภาพยนตร์เรื่อง "วิศวรูปภัม" (Vishwaroopam) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอกชั่น-ทริลเลอร์ ของทมิฬ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกประท้วงและถูกสั่งห้ามฉายในรัฐตนเองด้วยเหตุผลเรื่องเนื้อหา จนทำให้ผู้กำกับเรียกร้องให้ยกเลิกแบนภาพยนตร์เรื่องนี้

วิศวรูปภัม เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย กามาล ฮาซัน กล่าวถึงแผนการของกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้าจากอัฟกานิสถานพยายามวางแผนก่อการร้ายในนิวยอร์ก ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พระเอกนางเอกของเรื่องต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เงินทุนสร้างพันล้านรูปีอินเดีย (ราวห้าร้อยล้านบาท) และเดิมทีมีแผนออกฉายทั่วประเทศอินเดียในภาษาทมิฬ, ภาษาเตลูกู และภาษาฮินดี ในวันที่ 25 ม.ค.

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกองค์กรมุสลิมออกมาประท้วงทำให้รัฐบาลของรัฐทมิฬนาฑูสั่งห้ามฉายโดยอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ "ทำร้ายจิตใจ" ชาวมุสลิมและมี "ผู้ก่อการร้าย" ในเรื่องเป็นชาวมุสลิม เอ็ม.เอช. จาวาฮิรูลาห์ จากองค์กรมุสลิมและผู้ดำรงตำแหน่งสนช.ในรัฐทมิฬกล่าวว่า "การฉายภาพยนตร์เรื่องนี้จะกระทบต่อความสงบสุขในสังคม"

 

กามาล ฮาซัน

กามาล ฮาซัน ผู้กำกับและนักแสดงนำของเรื่องโอดครวญว่าความทะเยอทะยานทางศิลปะของเขาถูกกีดกันและถูกทำลายไปแล้ว ตัวเขาร้องอุทธรณ์ต่อศาลขอให้ยกเลิกการแบน และหวังว่าผลการตัดสินของศาลในวันที่ 6 ก.พ. จะออกมาตรงตามที่เขาคาด

เจ. ชยาลาฤทธา มุขมนตรีแห่งรัฐทมิฬนาฑู ให้เหตุผลกรณีที่รัฐสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้กำลังตำรวจของรัฐออกไปวางกำลังตามโรงภาพยนตร์ 500 แห่งเพื่อคุ้มกันขณะฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยอ้างว่าความรับผิดชอบเรื่องกฏระเบียบต้องมาก่อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายกล่าววิจารณ์ว่า หน้าที่การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและกฏระเบียบเป็นของรัฐบาล แต่การสั่งห้ามฉายภาพยนตร์โดยสิ้นเชิงไม่ใช่คำตอบ

มุขมนตรีแห่งทมิฬนาฑูกล่าวอีกว่าเธอไม่ได้มีความแค้นเคืองใดๆ ต่อผู้กำกับกามาล ฮาซัน และอยากให้เขาจัดการปัญหากับกลุ่มมุสลิมที่รู้สึกแย่กับภาพยนตร์ของเขาด้วยตนเอง

เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าศาสนา?

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเรื่องการแบนภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องศาสนา

ซามานธ์ สุบรามาเนียน นักเขียนและนักวิจารณ์กล่าวว่า "ตัวร้ายหลักๆ ในเรื่องนี้คือรัฐ ซึ่งเอนเอียงถอยหลังลงคลองตามกลุ่มที่รู้สึกขุ่นเคือง และสั่งห้ามตามที่กลุ่มนั้นต้องการด้วยเหตุผลเพราะต้องการปกป้องฐานคะแนนเสียงของตัวเอง"

ทางด้าน คณะกรรมการกลางตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดีย ซึ่งเป็นหน่วยงานท้ายสุดที่คอยกรองภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนปล่อยออกสู่โรงภาพยนตร์เปิดเผยว่าเรื่อง "วิศวรูปภัม" เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมทุกคน

ลีลา แซมซัน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่าการที่รัฐทมิฬนาฑูสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเป็นการขับไล่ศิลปินผู้เป็นตัวแทนที่มีชื่อเสียงของทมิฬนาฑู

ขณะเดียวกันภาพยนตร์ฉบับภาษาฮินดีในชื่อ "วิศวรูป" ก็ได้ออกฉายในอินเดียเหนือ แต่ก็มีชาวมุสลิมบางคนบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการหยามน้ำใจชาวมุสลิม นักวิชาการมุสลิมหลายคนเช่น เมาลานา คาลิด ราชีด มาเฮลี จากรัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดียก็เรียกร้องให้มีการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้

ราฮูล โบส นักแสดงผู้รับบทเป็นโอมาร์ "ผู้ก่อการร้าย" ในภาพยนตร์กล่าวต่อผู้ชมทางโทรทัศน์ว่าตัวละครที่เขาแสดงไม่ได้มีส่วนคล้ายคลึงกับ มูลาห์ โอมาร์ ผู้นำตอลีบานในอัฟกานิสถาน

นักวิจารณ์หลายคนมองว่าการสั่งห้ามในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสอันไม่น่าพึงประสงค์ในเรื่องการกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ และกล่าวหาพรรคการเมืองพยายามประจบสอพลอกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ชีวิตของกามาล ฮาซัน ผู้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยมีศาสนาเป็นข้ออ้าง

กามาล ฮาซัน ปัจจุบันอายุ 58 ปี เป็นนักแสดงที่ได้รับรางวัลมากมาย เขาเคยได้รับรางวัลระดับชาติของอินเดียด้านการแสดงและการสร้างภาพยนตร์มาแล้วมากกว่า 4 ครั้ง ฮาซันมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์มากกว่า 200 เรื่อง ในหลายภาษาของประเทศอินเดีย อีกทั้งยังเป้นผู้กำกับ นักร้อง นักแต่งเพลง และกวี

ฮาซัน เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ที่ออกมากล่าวต่อต้านความรุนแรงที่มาจากแรงจูงใจทางความเชื่อศาสนา ก่อนหน้านี้เขาเคยทำภาพยนตร์ชื่อ "เฮ ราม" ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มชาวฮินดูเคร่งศาสนา และภาพยนตร์เรื่อง "อันเป ศิวาม" ที่สื่อว่าความเมตตากรุณาเป็นสิ่งจำเป็น

หลังจากเหตุการณ์บุกทำลายมัสยิดบาบุรีในปี 1992 ฮาซันก็ช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทน "พี่น้องมุสลิม"  อย่างไรก็ตามฮาซันสนับสนุนผู้นำที่เป็นฆราวาสนิยมอย่าง เอช.เอช. โมฮัมเม็ด อับดุล อาลี เจ้าชายแห่งอารคอตในเมืองเจนไน ผู้ก่อตั้ง 'ฮาร์โมนี อินเดีย' ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องสันติภาพและความกลมเกลียวระหว่างกลุ่มความเชื่อหลายกลุ่ม

กามาลเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายพระวิษณุ แต่ตัวเขาเองประกาศตัวว่าเป็นผู้ไม่มีศาสนา เป็นศิลปินเอียงซ้ายที่ปฏิเสธการแบ่งชนชั้นวรรณะและศาสนา เน้นวิธีการทางเหตุผลและวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจโลก

ฮาซันกล่าวปกป้องภาพยนตร์เรื่องวิศวรูปภัมไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เขาต้องการวิจารณ์การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการกระทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเท่านั้น

อ้างเรื่อง 'การสร้างความขุ่นเคือง' เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ฮาซันไม่ใช่คนแรกที่มีเรื่องบาดหมางกับผู้นำทางการเมืองและทางศาสนาในยุคปัจจุบัน รูเชีย โจฉิ นักเขียนและนักวิจารณ์จากเดอะ เทเลกราฟ และอินเดียทูเดย์ กล่าวว่า "เริ่มมีผู้นำในระดับต่างๆ ไม่ว่าระดับเล็ก กลาง ใหญ่ นำข้ออ้างการสร้างความขุ่นเคือง ไม่ว่าจะเป็นทางศาสนาหรือทางการชาติพันธุ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนอำนาจของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุซูเปอร์สตาร์บอลลิวูด ชารุค ข่าน เขียนบทความลงในนิตยสาร Outlook แล้วถูกตีความว่าเขามีความยากลำบากในการพยายามใช้ชีวิตเป็นชาวมุสลิมในอินเดีย จนกระทั่ง รมต.ปากีสถานถึงขั้นเขิญข่านไปใช้ชีวิตในปากีสถานหากเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งข่านได้ออกมาปฏิเสธว่าจริงๆแล้วบทความของเขาต้องการสื่อให้เห็นถึงการที่ตนไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจากฝ่ายใด และยืนยันในแนวคิดแบบฆราวาสนิยม ซึ่งทำให้เกิดเสียงฮือฮาแสดงความไม่พอใจตามมา

 

ซูเปอร์สตาร์บอลลิวูด ชารุค ข่าน

"ทุกคนถูกกระตุ้นให้รู้สึกขุ่นเคืองใจได้ง่ายเกินไป และต้องหัดทำใจให้สงบกันบ้าง" สุบรามาเนียนกล่าว

ผู้กำกับ คาราน โจฮาร์ ขาใหญ่ของวงการบอลลิวูดออกมาปกป้องข่าน บอกว่าความเห็นของข่านถูกบิดเบือนออกนอกบริบทโดยผู้ที่ต้องการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง

กรณีของซัลมาล รัชดี

นอกจากวงการภาพยนตร์แล้ว ในวงการวรรณกรรมก็มีเรื่องราวการสั่งห้ามและความกลัวการสร้างความขุ่นเคืองอยู่ เช่นเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา นักเขียนซัลมาน รัชดี ก็ถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมงานเทศกาลหนังสือ 'โกลกาตา บุ๊คแฟร์' หลังจากที่มีภาพยนตร์เรื่อง "ทารกเที่ยงคืน" (Midnight Children) ที่สร้างจากนิยายของเขาออกฉายเมื่อปีที่แล้ว โดยที่รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกถูกกล่าวหาว่าพวกเขาสั่งห้ามรัชดีเพราะเกรงว่ารัชดีจะกล่าวสิ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมขุ่นเคือง

 

"สิ่งที่น่าเศร้าคือ พรรคการเมืองทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นพรรคเหมาอิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (CPM) ไปจนถึงพรรคการเมืองท้องถิ่นและพรรคฝ่ายขวา แทบทุกพรรคต่างก็ใช้สิ่งนี้ (การอ้างเรื่องการสร้างความขุ่นเคือง) เป็นเครื่องมือ หรือไม่ก็กลัวว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้มันเป็นเครื่องมือ" โจฉิกล่าว

โจฉิหวังว่าวัฒนธรรม 'ถอยหลังลงคลอง' ที่มาจากการสร้างความขัดแย้งโดยกลุ่มทางการเมืองหรือทางศาสนาเช่นนี้จะหมดไปเมื่อประชาชนมองเห็นความเสื่อมทรามและการหลอกใช้ศาสนาหรือประเพณีเป็นเครื่องมือโดยพรรคการเมือง

จนกว่าจะถึงวันนั้น กามาล ฮาซัน และศิลปินรายอื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเขา ก็ต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นกันต่อไป

เรียบเรียงจาก

Artists condemn Indian state for banning film, Sudha G Tilak, Aljazeera, 01-02-2013
ฐานข้อมูลภาพยนตร์ 'วิศวรูปภัม'

ข้อมูลเพิ่มเติม

http://en.wikipedia.org/wiki/Vishwaroopam

http://en.wikipedia.org/wiki/Kamal_Haasan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท