Skip to main content
sharethis
กัมพูชารณรงค์แรงงานกลับมาทำงานในประเทศ
 
5 ม.ค. 55 -ก.แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา ได้ประกาศแผนรณรงค์ให้แรงงานในประเทศหันมาสนใจทำงานในประเทศมากกว่าไปค้าแรงงานต่างแดน
 
หลังจากที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปค้าแรงงานในต่างแดน เช่น เกาหลี ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และต้องพบกับการเอาเปรียบแรงงานในหลายรูปแบบ ทั้งจากนายจ้างและนายหน้าหางานเอกชนเถื่อน สาเหตุเพราะค่าจ้างแรงงานในต่างแดนสูงกว่าในประเทศมาก หลายคนจึงต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศและเตรียมตัวสำหรับการไปทำงานในด่างแดนทั้งด้านภาษาและการทำหนังสือเดินทาง และนับวันปัญหาที่แรงงานชาวกัมพูชาในต่างแดนประสบมีแต่จะมากขึ้น
 
รัฐบาลจึงวางแผนรณรงค์ให้แรงงานเหล่านั้นเดินทางกลับมาทำงานในบ้านเกิดเมืองนอน และยุติการส่งเสริมการค้าแรงงานในต่างแดนอย่างสิ้นเชิง โดยในปีนี้รัฐบาลจะจัดหาระบบประกันสุขภาพให้แก่แรงงานที่สมัครใจเดินทางกลับมาทำงานในประเทศ และลงทะเบียนกับทางการอย่างเต็มที่
 
 
นักเศรษฐศาสตร์คาดวิกฤตแรงงานสหรัฐอาจยืดเยื้อนานถึงปี 2564
 
5 ม.ค. 55 - นางเฮดี เชียร์ฮอล์ซ นักเศรษศาสตร์แห่งสถาบันนโยบายเศรษฐกิจกล่าวว่า วิกฤตแรงงานสหรัฐอาจจะยืดเยื้อนานถึงอีกใน 9 ปีข้างหน้า หากอัตราการขยายตัวของการจ้างงานยังอยู่ในระดับปัจจุบัน
 
สถิติอัตราว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขปรับทบทวนในเดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ 153,000 ตำแหน่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี
 
“อัตราการขยายตัวของการจ้างงานในเดือนธันวาคมจะยังไม่สามารถอุดช่องว่างในตลาดแรงงานได้ไปจนถึงปี 2564" นางเชียร์ฮอล์ซกล่าว
 
นางเชียร์ฮอล์ซระบุว่า อันที่จริง เศรษฐกิจสหรัฐมีช่องว่างตำแหน่งงาน 9 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างลงนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2550 ผนวกกับตำแหน่งงานที่ควรจะเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของแรงงาน แต่ไม่มีการขยายตัวในช่วงดังกล่าว
 
วิกฤตแรงงานซึ่งคาดว่าจะยุติลงในปี 2564 ส่งผลให้อัตราว่างงานทำสถิติอยู่ในระดับสูงเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในเดือนธันวาคมทำสถิติอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันนับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2550 และนานกว่า 3 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี 2552
 
การว่างงานอย่างยาวนาน ซึ่งหมายถึงผู้ที่ตกงานติดต่อกันนานกว่า 27 สัปดาห์ ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยประชาชนเกือบ 3 ล้านคนเป็นผู้ว่างงานติดต่อกันยาวนาน และสิ่งที่แย่ไปกว่านั้นก็คือยิ่งว่างงานนานขึ้นก็ยิ่งหางานได้ยากขึ้น เนื่องจากนายจ้างเชื่อว่า ทักษะต่างๆอาจจะสูญเสียไปหากไม่ได้ใช้ติดต่อกันทุกๆวัน
 
แต่อย่างไรก็ดี นายเบอร์นาร์ด บูมอห์ล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอีโคโนมิค เอาท์ลุค กรุ๊ป และแขกรับเชิญประจำในรายการ Nightly Business Report ของสถานีโทรทัศน์พีบีเอสระบุว่า มาตรวัดเศรษฐกิจต่างๆบ่งชี้ว่าสหรัฐกำลังเดินมาถูกทางแล้ว นับตั้งแต่ตลาดที่อยู่อาศัยไปจนถึงความแข็งแกร่งของภาคธนาคารและสินเชื่อผู้บริโภค
 
นายบูมอห์ลคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้ผ่าทางตันปัญหางบประมาณค่าใช้จ่าย
 
“บริษัทที่มีเงินสดสำรองจำนวนมากยังคงรอนำเงินไปลงทุน" เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่า บริษัทต่างๆจะเริ่มจ้างพนักงานเพิ่มหลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับการปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและประเด็นอื่นๆด้านการคลังอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในรัฐสภา สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
สหภาพแรงงานอินเดียเตรียมหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ ก.พ. นี้
 
6 ม.ค. 55 - เว็บไซต์ http://pd.cpim.org รายงานว่าสหภาพแรงงานอินเดียนำโดยสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ (Central Public Sector Undertakings - CPSU) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกออกมาหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 20 - 21 ก.พ. 56 นี้ 
 
ทั้งนี้ตัวแทนของสหภาพแรงงานเอกชนจากเกือบทุกอุตสาหกรรมและสหภาพแรงงานภาครัฐ อาทิ CITU, AITUC, HMS INTUC, BMS, LPF และ  CITU รวมทั้งสหภาพแรงงานอิสระหลายแห่ง ได้มติร่วมกันในการจัดประชุมที่ New Delhi และ Chennai เมื่อเดือนกันยายนและธันวาคมเมือปีที่แล้ว (2012)
 
โดยในแถลงการณ์ "NEO-LIBERALISM WITH A VENGEANCE" นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสากิจของรัฐไปเป็นของบรรษัทและการจ้างงานแบบเหมาช่วงกำลังเป็นสิ่งอันตรายต่อคนงาน และได้เรียกร้องให้คนงานออกมาร่วมแสดงพลังในวันที่ 20 - 21 ก.พ. 56 นี้ 
 
ด้านคนงานท่าเรือใหญ่ 13 แห่งในอินเดียก็เตรียมเข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน โดยมีจุดมุ่งหมาย 'ต้านการแปรรูปและต้านการใช้แรงงานจ้างเหมาช่วง'
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา thehindubusinessline.com รายงานว่าคนงานใน 13 ท่าเรือหลักของอินเดียจะเข้าร่วมการนัดหยุดงานทั่วประเทศครั้งใหญ่ในวันที่ 20 - 21 ก.พ. 56 นี้ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการคัดค้านการแปรรูปท่าเรือหลักไปเป็นของเอกชน รวมทั้งการเรียกร้องสิทธิให้คนงานจ้างเหมาช่วงเป็นคนงานประจำ 
 
ทั้งนี้มติดังกล่าวออกมาภายหลังจากการที่ผู้นำสหภาพแรงงานท่าเรือหลายแห่ง ได้เข้าพบปะหารือกันที่เมือง Chennai เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา และจะมีการแจ้งล่วงหน้ารวมทั้งออกแถลงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ก.พ. 56 อีกครั้ง
 
 
แรงงานจากประเทศวิกฤตยูโรโซนไหลทะลักเข้าเยอรมนี
 
7 ก.ค. 56 - วิกฤตหนี้สินและการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่แสนเข้มงวดตลอดจนอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วในหลายประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลัก ส่งผลให้ประชาชนจากสเปน กรีซ โปรตุเกส และอิตาลี ไหลทะลักเข้าไปหางานทำในเยอรมนีเป็นจำนวนมากในปี 2012 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากหน่วยงานด้านแรงงานของรัฐบาลเบอร์ลิน
       
รายงานซึ่งอ้างข้อมูลจากสำนักการจ้างงานแห่งเยอรมนี (Bundesagentur für Arbeit - BA) ที่มีการเผยแพร่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า จำนวนแรงงานจากประเทศที่ประสบวิกฤต อย่างสเปน กรีซ โปรตุเกส และอิตาลีที่ได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทของเยอรมนีได้เพิ่มสูงขึ้น 7.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012หรือเพิ่มมากกว่าเมื่อปี 2011ราว 33,000 คน
       
ข้อมูลของทางการเยอรมนียังพบว่า การเพิ่มจำนวนขึ้นของแรงงานจาก 4 ชาติดังกล่าวที่ 7.6 เปอร์เซ็นต์นั้นดังกล่าว มีมากกว่า อัตราการสร้างงาน(rate of job creation)ในเยอรมนี ซึ่งยังคงเติบโตเพียงแค่ระดับ 1.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในปีที่ผ่านมา
       
ขณะเดียวกันเมื่อแยกพิจารณาตามเชื้อชาติจะพบว่า จำนวนชาวสเปนที่เข้ามาเสี่ยงโชคในตลาดแรงงานของเยอรมนีซึ่งเป็นชาติที่เศรษฐกิจใหญ่สุดของยูโรโซนในปี 2012 มีกว่า 49,400 คนหรือเพิ่มขึ้น 15.8 เปอร์เซ็นต์จากปี 2011 ส่วนแรงงานจากกรีซที่เข้ามาทำงานในเยอรมนีล่าสุดมีกว่า 123,300 คนหรือเพิ่มขึ้น 10.8 เปอร์เซ็นต์
       
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า พบปรากฏการณ์ไหลทะลักของผู้ว่างงานจากยุโรปตะวันออกเข้ามายังเยอรมนีเป็นจำนวนมากเช่นกันในปี 2012 โดยจำนวนของแรงงานจากสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย โปแลนด์ ฮังการี ลัตเวีย ลิธัวเนีย และเอสโทเนียได้เพิ่มขึ้นกว่า 88,000 คน หรือ 31 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2011
 
เกาหลีใต้ ส่อเค้าเจอวิกฤตขาดแคลนแรงงาน คนหนุ่มสาวลดลง ตัวเลขผู้สูงอายุพุ่ง
 
8 ก.ค. 56 - รัฐบาลเกาหลีใต้ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ว่า ประชากรวัยหนุ่มสาวในเกาหลีใต้อาจลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 47 ข้างหน้า อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ต่ำมาก
 
ข้อมูลประชากรจากกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ ระบุว่า ปี 2523 เป็นช่วงที่เกาหลีใต้มีเยาวชนอายุระหว่าง 9-24 ปีมากที่สุด คือ ราวๆ 14 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 36.8% ของพลเมืองทั้งประเทศ แต่นับแต่นั้นมาคนหนุ่มสาวแดนกิมจิก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 10.2 ล้านคนในปี 2555 หรือประมาณ 20.4% ของประชากรทั้งประเทศ
 
จากแนวโน้มในปัจจุบัน กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว คาดว่า คนหนุ่มสาวของเกาหลีใต้จะยังลดลงเรื่อยๆ จาก 9.6 ล้านคนในปี 2558 ไปเป็น 7.1 ล้านคนในปี 2573 และ 5.9 ล้านคนในปี 2593 จนกระทั่งเหลือเพียง 5 ล้านคนในปี 2603
 
นโยบายส่งเสริมการวางแผนครอบครัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกาหลีใต้ ซึ่งมีพลเมืองราว 50 ล้านคนต้องเจอปัญหาคนที่อยู่ในวัยชราพุ่งสูงขึ้น งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องแบกรับ
 
สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 เกาหลีใต้จะมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปถึง 39%
 
อัตราการเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรที่สตรีในเกาหลีใต้ให้กำเนิดตลอดชีวิต อยู่ที่ราวๆ 1.01 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 1.71 ที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้สำรวจไว้
 
อย่างไรก็ดี แม้เกาหลีใต้ จะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ที่บริษัทในประเทศได้ไปสร้างชื่อในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เช่น ซัมซุง อิเล็คทรอนิคส์ และฮุนได มอเตอร์ จนทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 29 ของโลก และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย โดยวัดจากตัวเลข GDP แต่กลับพบว่า ปัญหาการว่างงานกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว มีนักศึกษาหลายแสนคนออกมาประท้วงที่หางานทำไม่ได้ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านเพศ และความไม่เท่าเทียมในสังคมก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
 
เวียดนามวางแผนส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ 90,000 คนในปีนี้
 
9 ม.ค. 56 - สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานอ้างกระทรวงแรงงาน ทหารผ่านศึก และสวัสดิการสังคมของเวียดนาม ว่า เวียดนามวางแผนส่งแรงงาน 90,000 คนไปทำงานในต่างประเทศในปีนี้ โดยจะส่งแรงงานไปยังเกาหลีใต้ มาเลเซีย รัสเซีย และไต้หวัน เป็นหลัก
 
เวียดนามส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ 80,000 คน เมื่อปีที่แล้ว โดยร้อยละ 70 อยู่ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย เกาหลีใต้มีตลาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค จ้างแรงงานเวียดนามกว่า 10,000 คน แต่นับตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว เกาหลีใต้เข้มงวดเรื่องการว่าจ้างแรงงานเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากมีแรงงานที่อยู่เกินกำหนดโดยผิดกฎหมายจำนวนมาก กระทรวงแรงงานเวียดนาม จึงได้กำหนดให้แรงงานจำเป็นต้องวางเงินมัดจำก่อนออกนอกประเทศ รวมถึงตั้งข้อกำหนดอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ได้ 12,000-15,000 คน ในปีนี้
 
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานเวียดนาม ยังวางแผนส่งแรงงาน 5,000 คนไปยังลิเบียในปีนี้ด้วย หลังจากในปี 2554 เวียดนามได้เรียกตัวแรงงานกว่า 10,000 คนในลิเบียกลับประเทศ เนื่องจากเกิดวิกฤติทางการเมืองในลิเบีย ส่วนในตลาดใหม่ๆ เช่น ไซปรัส แองโกลา แอลจีเรีย และรัฐฮาวาย มีแรงงานเวียดนามอยู่เพียงร้อยละ 3.1
 
ข้อมูลของคณะกรรมการคุ้มครองแรงงานชาวเวียดนามในต่างประเทศ ระบุว่า นับจนถึงสิ้นปี 2555 มีชาวเวียดนามราว 4 ล้านคน เดินทางไปเรียน ทำงาน หรืออาศัยอยู่ใน 101 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ โดย 400,000 คน เป็นแรงงานชั่วคราว และมีชาวเวียดนามในต่างประเทศส่งเงินกลับไปยังบ้านเกิดของพวกเขาในปี 2555 ราว 10,000-11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ขณะที่ปีก่อนๆ เพิ่มโดยเฉลี่ยร้อยละ 10-15
 
 
เกาหลีใต้เผย 1 ใน 3 ของผู้ใช้แรงงานต่างชาติอยู่เกินกำหนดวีซ่า
 
13 ม.ค. 56 – กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้แรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ตามระเบียบอนุญาตการทำงานมักอยู่เกินกำหนดวีซ่า
 
สถิติเกาหลีใต้ ระบุว่า แรงงานต่างชาติ 15,804 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.3 ของจำนวน 42,379 คน ในระบบอี-9 สำหรับแรงงานที่ไม่ใช่สายอาชีพ กลับอยู่เกินกำหนดวีซ่ามาตั้งแต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว และไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศตามที่กำหนดไว้  ทั้งนี้เกาหลีใต้มีระบบวีซ่าสำหรับอนุญาตเข้าทำงานในประเทศเมื่อปี 2547 ซึ่งแรงงานจาก 15 ประเทศได้รับอนุญาตให้ทำงานในเกาหลีใต้เป็นระยะเวลา 3 ปีภายใต้ระบบวีซ่าอี-9  ซึ่งหลังจากกำหนดเวลา 3 ปีสิ้นสุดลง  ผู้ถือวีซ่าจะต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อต่อวีซ่าใหม่อีก 2 ปี  
 
กระทรวงยุติธรรมระบุว่า  จำนวนแรงงานต่างชาติที่วีซ่าอี-9 หมดอายุลงเพิ่ม 8,620 คน เป็น 53,252 คนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 67.9 ของตัวเลขการขยายตัวของชาวต่างชาติที่พำนักโดยผิดกฎหมายทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว  ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่เมื่อปีที่แล้วมาจากกัมพูชามากที่สุดถึง 2,117 คน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 19.3 ของจำนวนชาวต่างชาติหน้าใหม่ทั้งหมด 10,962 คน จาก 15 ประเทศ รองลงมาคือชาวเวียดนาม จำนวน 1,937 คน อินโดนีเซีย 1,047 คน ไทย 945 คนและพม่า 859 คน
 
คนขับรถนักเรียนที่นิวยอร์กนัดผละงานประท้วง
 
17 ม.ค. 56 - วันนี้การเดินทางไปโรงเรียนของเด็กๆ ในนครนิวยอร์กเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากคนขับรถโรงเรียนกว่า 8,000 คน ผละงานประท้วง
 
การผละงานประท้วงของบรรดาคนขับรถรับส่งนักเรียนในนครนิวยอร์กกว่า 8,800 คน ส่งผลให้ นักเรียนกว่า 150,000 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนเองอย่างยากลำบาก แม้ทางการนครนิวยอร์กจะเตรียมพร้อม ด้วยการเพิ่มบริการรถไฟใต้ดินฟรีสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง ที่พาบุตรหลานไปโรงเรียน นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังอนุญาตให้นักเรียนมาสายได้ การผละงานประท้วงของบรรดาคนขับรถรับส่งนักเรียนในนครนิวยอร์ก มีขึ้นเนื่องจากเกรงว่าจะตกงานหลังทางการนครนิวยอร์กเตรียมทำสัญญาว่าจ้างรถโรงเรียนฉบับใหม่ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นจำนวนมาก
 
รบ.บราซิลจ่ายเงินเดือนแรงงาน ค่าดูหนัง-ฟังเพลงอัดฉีด ศก.
 
17 ม.ค. 56 - บราซิลแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี(17) มีแผนแจกเงินแรงงานคนละ50เรียลต่อเดือน(ราว 754 บาท) สำหรับค่าใช้จ่ายทางวัฒนธรรม อาทิดูหนัง ฟังเพลง ซื้อหนังสือหรือเที่ยวชมพิพิธภันฑ์ ส่วนหนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
       
"ในชาติพัฒนาแล้วทุกประเทศ วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ" มาร์ธา ซูพลิซี รัฐมนตรีวัฒนธรรมบราซิล ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ
       
ระหว่างการสัมภาษณ์เธอยังย้อนให้เห็นว่าสมัยอดีตประธานาธิบดีผู้ได้รับความนิยมอย่าง ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ก็มีโครงการสนับสนุนครอบครัวรายได้น้อย โดยการให้เงิน ช่วยเหลือแก่ครอบครัวยากจนเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันหรือ "Bolsa Familia"
       
"ตอนนี้เรากำลังป้อนอาหารทางใจ แล้วทำไมคนจนถึงต้องถูกกีดกันจากการเข้าถึงวัฒนธรรมด้วยล่ะ" รัฐมนตรีหญิงรายนี้กล่าว
 
คาดปีนี้ทั่วโลกจะมีคนตกงาน 202 ล้านคน
 
22 ม.ค. 56 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดเผยว่า ปีที่แล้วมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน รวมเป็น 197 ล้านคน ส่วนปีนี้คาดว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 5 ล้านคน รวมเป็น 202 ล้านคน
 
ไอแอลโอ เผยว่า วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้ขณะนี้ทั่วโลกมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 28 ล้านคนจากปี 2550 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤติ ปีที่มีคนว่างงานมากเป็นประวัติการณ์คือปี 2552 เป็นปีที่วิกฤติรุนแรงที่สุด มีคนว่างงานมากถึง 199 ล้านคน แต่คาดว่าจะถูกลบสถิติในปีนี้ เพราะปีนี้น่าจะมีคนว่างงานไม่ต่ำกว่า 202 ล้านคน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านคนในปี 2557 และจะเพิ่มเป็น 210.6 ล้านคนในปี 2560
 
ไอแอลโอ ชี้ว่า การไม่ประสานนโยบายการเงินกับการคลังเป็นสาเหตุให้วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเมื่อความต้องการบริโภคซบเซา จะกระทบต่อการจ้างงาน สถานการณ์ยิ่งเลวลงเมื่อหลายประเทศดำเนินมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างและลดค่าจ้าง คนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบหนักที่สุด ปัจจุบันทั่วโลกมีคนอายุ 15-24 ปีว่างงานมากถึง 73.8 ล้านคน คาดว่าสัดส่วนคนหนุ่มสาวว่างงานจะเพิ่มจากร้อยละ 12.6 เมื่อปีก่อนเป็นร้อยละ 12.9 ภายในปี 2560
 
สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอกัมพูชามีมติเห็นชอบที่จะปรับเพิ่มค่าแรงของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ
 
22 ม.ค. 56 - สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอกัมพูชา (GMAC) มีมติเห็นชอบที่จะปรับเพิ่มค่าแรงของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ และรองเท้าของประเทศ หลังการประชุมวานนี้ (21) ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคม รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ประธาน GMAC และตัวแทนจากสหภาพแรงงานต่างๆ ในกัมพูชาเข้าร่วมหารือกัน
       
รายงานระบุว่า การประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะหารือปรับเพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงาน และสหภาพแรงงานทุกแห่งควรประชุมกันเพื่อตั้งข้อเสนอที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงาน เพื่อนำไปเจรจาต่อรองกับบรรดานายจ้าง โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะเป็นผู้ประสานงานในส่วนนี้
       
ตามข่าวแถลงระบุว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ. เพื่อตัดสินใจการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
       
การเจรจาการปรับเพิ่มค่าแรงมีขึ้นหลังสหภาพแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นบรรดาผู้ผลิตปรับเพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงานตั้งแต่ปี 2556
       
“ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานอยู่ที่ 61 ดอลลาร์ นับว่าเป็นอัตราค่าแรงที่ต่ำเมื่อเทียบกับราคาอาหาร และน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระทบสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน” นายเจีย มุนี ประธานสหภาพแรงงานเสรี ที่เป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชากล่าว
       
“เพื่อช่วยเหลือผ่อนคลายความยากลำบากของแรงงาน ผมประสงค์ที่จะร้องขอต่อประธาน GMAC ให้หารือ และปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำให้แก่แรงงานเป็น 120 ดอลลาร์ต่อเดือน” นายเจียมุนีกล่าว
       
อุตสากรรมสิ่งทอนับเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศที่ใหญ่ที่สุด มีโรงงานอยู่ในภาคส่วนนี้มากกว่า 3,000 แห่ง มีการจ้างงานประมาณ 335,400 ตำแหน่ง โดยร้อยละ 91 ของแรงงานเป็นเพศหญิง
       
รายงานของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาระบุว่า เสื้อผ้า และสินค้าที่เกี่ยวกับสิ่งทอที่ส่งออกไปยังต่างประเทศทำรายได้ให้แก่ประเทศ 4,600 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน ขยายตัวขึ้นร้อยละ 8 เทียบปีต่อปี โดยมีสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปเป็นตลาดผู้ซื้อหลัก รองลงมาคือ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน.
 
องค์การนักบิน พนักงานต้อนรับ และให้บริการบนเครื่องบินของยุโรป ประท้วงกฎระเบียบใหม่ของอียู
 
22 ม.ค. 56 - นักบินและพนักงานต้อนรับและให้บริการบนเครื่องบินของยุโรป จัดการชุมนุมขึ้นที่หลายสนามบิน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องคัดค้านกฎระเบียบการบินใหม่ของอียู ที่บังคับให้พวกเขาต้องบินเกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนด และมีทีท่าว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสาร
 
เยิร์ก ฮันด์แวร์ก นักบินที่ร่วมประท้วง ที่สนามบินแฟรงค์เฟิร์ทของเยอรมัน ซึ่งมีนักบินและพนักงานต้อนรับ และให้บริการบนเครื่องบิน ประมาณ 300 คน มาชุมนุม กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องหน้าที่เที่ยวบินใหม่ไม่ปลอดภัย และมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากพราะมีเนื้อหาให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสายการบินมาก่อนความปลอดภัย
 
กลุ่มผู้ประท้วงอ้างว่า นักบินอาจจะถูกข้อร้องให้บินเกินกว่า 12 ชั่วโมง แม้จะมีคำกล่าวอ้างของนักวิทยาศาสตร์ว่าความเหนื่อยล้าของนักบินจะเกิดขึ้นหลังการบินนาน 10 ชั่วโมง
 
คริสโต้ฟ แวร์เลอเย นักบินที่สนามบินกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยี่ยม กล่าวว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่านักบินซึ่งเหนื่อยอ่อนจะมีพฤติกรรมแบบเดียวกับนักบินที่เมา
 
ผู้โดยสารที่สนามบินชาร์ลเดอโกลล์ในกรุงปารีส ของฝรั่งเศส ได้รับแผ่นพับจากนักบินที่ชุมนุมที่เขียนว่า สิ่งนี้อันตรายดังนั้นจึงไม่ควรอนุญาต
 
สมาคมสายการบินยุโรปหรือ AEA โต้แย้งว่าข้อเสนอปัจจุบันของสำนักงานการบินและความปลอดภัยยุโรป หรือ EASA จะทำให้แน่ใจว่าอียู.เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีกฎการบินที่เข้มงวดที่สุดในโลก โดยอ้างว่ากฎใหม่เหล่านี้ยึดหลักการวิเคราะห์ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ 50 ชิ้น และการปรึกษาหารือกับองค์การเที่ยวบินและองค์กรพนักงานต้อนรับและให้บริการบนเครื่องบิน ตลอดจนสายการบินต่างๆ อย่างกว้างขวาง คาดว่ากฎระเบียบใหม่ของอียู.จะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้
 
ตำรวจกรีซบุกสลายการประท้วงพนง.รถไฟใต้ดินเอเธนส์
 
25 ม.ค. 56 - ตำรวจรายงานว่า บุกสลายกลุ่มผู้ประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดที่สถานีรถไฟใต้ดินของกรุงเอเธนส์ เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น.วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 09.00 น.ตามเวลาไทย โดยมีผู้ประท้วง 3 คน ถูกควบคุมตัวเป็นการชั่วคราว หลังกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบมาเป็นวันที่ 9
 
รัฐบาลใช้การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อขู่จับกุมผู้ชุมนุม หากยังไม่ยอมกลับไปทำงาน อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่าจู่โจมครั้งนี้จะทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ ทางการกรีซระบุว่า ผู้ประท้วงละเมิดคำสั่งศาลที่ประกาศให้การผละงานของพนักงานสถานีรถไฟใต้ดินเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกรีซ และเมื่อวานนี้ได้มีคำสั่งให้เข้าสลายการชุมนุมซึ่งส่งผลให้การจราจรในกรุงเอเธนส์กลายเป็นอัมพาตนานกว่า 1 สัปดาห์
 
ด้านสหภาพแรงงานออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้การขนส่งทั่วไปหยุดให้บริการในวันนี้ โดยในวันนี้ กลุ่มสหภาพพนักงานขับรถเมล์และพนักงานขับรถไฟได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยหลายร้อยคน บริเวณด้านนอกสถานีรถไฟใต้ดิน หลังจากตำรวจเข้าสลาย และปิดล้อมพื้นที่เพื่อป้องกันการเข้ามาสมทบของผู้ชุมนุม
 
รัฐบาลได้นำกฎหมายการเคลื่อนย้ายพลเรือนเข้ามาใช้จัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งนี่นับเป็นครั้งที่เก้าที่มีการนำมาตรการเช่นนี้มาใช้ นับตั้งแต่การล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการเมื่อปี 1974
 
พนักงานสถานีรถไฟใต้ดินคัดค้านแผนของรัฐบาลในการลดเงินเดือนของพวกเขา 25% เพื่อให้เท่ากับเงินเดือนในภาครัฐ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่ติดมากับโครงการเงินกู้อียู
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ, มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net