Skip to main content
sharethis


ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  บรรยายในการเสวนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเครื่องมือนำไปสู่การปรองดอง ภายใต้การสัมมนาเรื่องการปรองดองและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย  ซึ่งจัดโดยสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 31 ม.ค. โดยเริ่มกล่าวชี้แจงว่าไม่ได้รับมอบหมายให้มาแทนรัฐบาล โดยความเห็นที่มีมาจากข้อสังเกตส่วนตัว

เขากล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า แต่ละประเทศมีวิวัฒนาการหรืออัตราเร่งในการเข้าใจเรื่องนี้เหลื่อมล้ำกัน เช่น ในตะวันตก แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนามาก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าสังคมตะวันออกหรือประเทศใดประเทศหนึ่งจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เราต้องก้าวเดินไปบนวิถีความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายในประเทศโลกตะวันออก และโดยเฉพาะเจาะจง คือ ประเทศไทยของเรา

ธงทองระบุว่า ถ้าหากว่าเราพูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือประเด็นในเรื่องความรับผิดทางกฎหมายอาญา จากการที่อยู่ในประเทศไทยเกือบ 60 ปี มองว่าเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลายๆ เรื่อง แต่หลายๆ เรื่องก็ช้าเกินกว่าความคาดหมายที่อยากจะให้มีอยากจะเป็น

เขากล่าวต่อว่า ในภาพรวมเรื่องของการแสดงความคิดเห็นในเมืองไทย จากการที่เกิดในยุคที่มีรัฐบาลทหาร ผู้ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการทหารเป็นจอมพลต่อเนื่องกัน 3 คน เป็นเวลาหลาย 10 ปี มองว่าทุกวันนี้ เสรีภาพของการแสดงความเห็นในเมืองไทยดีขึ้น แต่จะให้เดินในอัตราเร่งที่เสมอกันกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอียู คงเป็นการยากที่จะคาดหวังให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้ามคืนหรือเดือนสองเดือน ต้องใช้เวลา

ธงทอง กล่าวว่า แต่สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ปัญหาเฉพาะของประเทศไทย ในช่วงเวลาประมาณ 5-6 ปี หรือ 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งนั้นสูงขึ้นมากทางการเมือง จนกระทั่งสุดท้ายแล้วเกิดสถานกาณ์ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในโลกนี้ว่าเรามีเสื้อเหลือง เสื้อแดง มีความเห็นแตกต่างกันค่อนข้างจะสุดขั้ว และหลายวาระโอกาสที่ผ่านมา ดูเหมือนมีปรากฏการณ์ที่จะเห็นได้ว่าการที่จะยอมรับความเห็นซึ่งกันและกัน อดทนฟังความคิดเห็นน้อยลงไปทุกที่ สิ่งเหล่านี้มันผสมรวมกันเข้า ทำให้สภาวการณ์ในประเด็นของการแสดงความคิดเห็น พันไปถึงเรื่องบทบัญญัติของมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ยิ่งมีความยุ่งยาก มีความซับซ้อนยุ่งเหยิง ทั้งที่ปัจจัยในทางบวกก็มี เรื่องของการที่สังคมรับข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างมากขึ้น การที่เราอยู่ร่วมในประชาคมโลก อยู่ในฐานะที่จะต้องไปมีบทบาทอยู่ในเวทีโลก ก็เป็นปัจจัยเชิงบวก แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยเชิงลบในประเทศก็ยังดำรงอยู่

ธงทองกล่าวว่า เมื่อพูดถึงมาตรา 112 มีคำถามในเชิงปรัชญากฎหมายว่า การที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทใครคนใดคนหนึ่งกับผู้มีตำแหน่งแห่งหนหรือตำแหน่งหน้าที่ ควรจะรับโทษหนักขึ้นหรือไม่อย่างไร คิดว่าเป็นข้ออภิปรายทางกฎหมายได้อย่างยาวมาก ซึ่งจะพบว่าถ้าตรวจสอบในกฎหมายอาญาของเรา เราได้คุ้มครองหรือเพิ่มความคุ้มครองพิเศษ โดยเฉพาะมาตรา 112 คุ้มครอง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือแม้เจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ก็ได้รับโทษหนักขึ้นเหมือนกัน แม้กระทั่งผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ก็มีบทบัญญัติพิเศษคุ้มครอง จะต้องรับโทษมากกว่ากรณีปกติ

ธงทองระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญ มีประวัติยาวนานในประวัติศาสตร์ แต่มองว่าในความเป็นสถาบันนั่นเองก็มีพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งกับที่  รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของเรามาเป็นเวลากว่า 60 ปี มองว่า บทบาท ความคาดหวัง บริบทของการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อต้นรัชกาลกับสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ แตกต่างสิ้นเชิง ความรู้สึก ความคาดหวัง ความสัมพันธ์ กับประชาชนในมิติต่างๆ ก็ไม่เหมือนกันกับเมื่อ 60 ปีที่แล้ว และสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็จะไม่ดำรงอยู่ เสถียรอยู่ตลอดไป ในวันข้างหน้าอีก 10 ปี 50 ปี ข้างหน้า คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปกติวิสัยของโลก คือมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สำคัญคือว่าการดำรงอยู่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยจะเป็นไปในทิศทางใด

ธงทองกล่าวว่า สำหรับบทบัญญัติ มาตรา 112 เถียงกันได้มาก ในเรื่องของการที่จะดำรงอยู่ หรือควรที่จะมีความผิดฐานนี้หรือไม่ โดยข้ออภิปรายอาจจะบอกว่า เราควรจะมีกฎหมายมาตรฐานเดียวสำหรับการที่จะลงโทษหรือกำหนดความผิดสำหรับผู้กระทำความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ ธงทอง ระบุว่า มีข้อสังเกตสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ หนึ่ง ระวางโทษของมาตรา 112 ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มอัตราโทษขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เป็นอัตราโทษที่รุนแรง เป็นระวางโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ  ย้อนกลับไปศึกษาดูกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2451 แล้วก็ใช้มานานกว่า 50 ปีแล้วก็ยกเลิกมาใช้กฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ขณะนั้นระวางโทษที่กำหนดสำหรับคนที่กระทำความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็มีระวางโทษที่ต่ำกว่ากฎหมายที่มีในปัจจุบันนี้ ในมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ระวางโทษสูงสุดนั้น จำคุกไม่เกิน 7 ปี ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่กำลังพูดถึงนี้ คือระวางโทษในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการปกครอง และกฎหมายที่ว่านี้มัน 100 กว่าปีมาแล้ว น่าสงสัยว่า ผ่านไปร้อยกว่าปี เหตุใดจึงกลายเป็น 3-15 ปีขึ้นมาได้

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ กระบวนการการบังคับใช้กฎหมาย คิดว่ามีรูรั่วอยู่มากในการบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ถ้าปฏิเสธความจริงไม่ได้ เราคงต้องลองถามดูว่า บ่อยครั้งที่มาตรา 112 นั้น ได้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ด้วยเจตนาที่ไม่สุจริตของผู้ยกประเด็นขึ้นกล่าวในสาธารณะ กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีเรื่องของการที่จะมีความชัดเจนว่าน้ำหนักเบาหรืออย่างไร แค่ไหน

"คำหลายคำที่ใช้ในภาษาไทยไม่ตรงกันกับความหมายในตัวกฎหมายแท้ เช่น พูดกันโดยทั่วไปเป็นภาษาปากว่า เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ความจริง มาตรา 112 ใช้คำว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งมีความหมายเฉพาะเจาะจง เคร่งครัดมากในกฎหมายอาญา แต่พอมาใช้ภาษาปาก ถ้อยคำของเราว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาจจะหมายความถึงทุกสิ่งเลยที่เราเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ความไม่เหมาะสมกับความผิดกฎหมายอาญามันเป็นคนละเรื่องกัน เวลานี้อาจจะรู้สึกว่าความเข้าใจของสังคมไทยเกี่ยวกับสาระที่แท้ของมาตรา 112 ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการกล่าวหากันอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นว่าใครเป็นผู้รับผิดตามมาตรา 112 นั้นดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง" ธงทองกล่าว

ธงทองกล่าวว่า ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คงไม่อาจกล่าวได้ว่าคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ แต่อาจจะสังเกตเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ตำรวจจับกุม การจับกุม การสั่งสำนวนของพนักงานอัยการก็ดี การพิจารณาของศาลยุติธรรมก็ดี ทุกคนทำหน้าที่เหมือนสายพานในโรงงานการผลิตเพื่อตัวเองจะได้พ้นจากความรับผิดจากการถูกวิจารณ์ว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะเป็นคำกล่าวหาที่มีน้ำหนักรุนแรงในสังคมไทยของเรา เพราะฉะนั้นตำรวจก็อาจหย่อนดุลยพินิจในหลายๆ ครั้ง เพื่อที่จะทำให้เรื่องนี้พ้นจากการความรับผิดชอบของตัวเอง พนักงานอัยการก็ยินดีที่จะรีบส่งฟ้องไปที่ศาล เพื่อตนเองจะได้ปลอดภัยจากคำครหา แล้วศาลซึ่งอยู่ปลายทางก็อาจจะมีหลายเรื่องที่ตัดสินใจที่จะตัดสินพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด เพื่อเรื่องจะได้พ้นจากความกังวลว่าจะอยู่ในฐานะที่จะถูกกล่าวหา  พลอยติดร่างแหไปกับจำเลย สิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งในฐานะคนไทยคนหนึ่งเกิดมาบนแผ่นดินไทย ปู่ย่าตายายเขากราบไหว้พระเจ้าแผ่นดินมาไม่รู้กี่ชั่วคน ในฐานะที่ผมคนเรียนกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ถ้าเราต้องเลือกระหว่างรูปแบบประมุขของรัฐที่มีอยู่ในโลกนี้ ประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ สำหรับเมืองไทย สำหรับคนไทยนั้น รูปแบบพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นรูปแบบที่คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังรักและเทิดทูน บูชา และอยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่กับคนไทยเหมือนกับที่อยู่มาชั่วนานปีแล้ว แต่การปฏิบัติในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 นั้น ผมกลับคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูด้วยความรอบคอบ ผู้ปฏิบัติอาจจะมีเจตนาที่ดีที่จะดูแลการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ที่ท่านเห็นว่าฝืนต่อมาตรา 112 ด้วยความคิด ด้วยความเชื่อว่าเป็นการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

"แต่ด้วยความเคารพ ผมคิดว่าเรื่องนี้กลับจะเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว และคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ว่านี้ โปรดย้อนกลับไปดู มาตรา 112 จำกัด ครัดเคร่งเฉพาะ พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ปัจจุบันนี้คำว่า ราชสำนัก ก็แทบจะพูดไม่ได้แล้ว ใครที่นามสกุล ณ อยุธยา พูดน่าฟังกว่าคนที่นามสกุลใหม่ๆ ยาวๆ" ธงทองกล่าว

เขากล่าวต่อว่า หากถามว่าแล้วรัฐบาลคิดอย่างไร ตนเองไม่ได้มาในฐานะรัฐบาล แต่คิดว่ารัฐบาลย่อมตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ได้เรียนมาแล้ว อย่างไรก็ดีปัญหาที่รัฐบาลที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ มีมากมายหลายประการด้วยกัน การให้ข้อมูลข่าวสาร การที่ทำให้เกิดเวทีสาธารณะ การที่มีการพูดกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง และมีการพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความมีเมตตาจิตต่อกัน ในช่วงเวลาปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วตั้งแต่เสด็จออกมาสมาคมเมื่อวันเฉลิมพระพระชนมพรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม จนกระทั่งพระราชดำรัชในวันขึ้นปีใหม่ หรือกระทั่งบัตร ส.ค.ส. สำหรับคนไทยทั้งหลาย ถ้าท่านย้อนกลับไปดู จะมีคำ 2-3 คำซ้ำๆ อยู่ในพระราชดำรัส คือ คำว่าเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่หรือเป็นพระราชดำรัสที่ชัดเจนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาที่จะเห็นความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เห็นคนเป็นเพื่อนมนุษย์เสมอกัน และทรงขมวดในพระราชดำรัสในวันที่ 5 ธันวาคม ว่า ความเมตตาและปรารถนาดีต่อกันนี้จะเป็นหนทางที่ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดความร่มเย็นขึ้นในบ้านเมือง

 

อนึ่ง ธงทอง จันทรางศุ เป็นผู้ที่ถูกเชิญเป็นพยานโจทก์ในคดีฐานความผิดตามมาตรา 112 กฎหมายอาญา หลายคดี โดยคดีล่าสุด คือ คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 10 ปี จากการตีพิมพ์บทความที่เข้าข่ายผิดตามมาตรา 112 จำนวน 2 บท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net