ประชาสังคม กับบทบาททางการเมืองมาเลเซีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มาเลเซียเพื่อนบ้านอันใกล้ชิดทั้งในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และยังคงมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญคือ การเลือกตั้งในปี 2013 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งกำหนดการ ณ วันนี้ยังคงไม่มีความแน่นอน บ้างก็มีกระแสว่ารัฐบาล UMNO จะยุบสภาภายในกลางเดือนหน้า (กุมภาพันธ์) หรือกลางเดือนถัดไป หรืออาจจะลากยาวไปถึงให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นการชิงความได้เปรียบกันทั้งรัฐบาล UMNO และฝ่ายค้านที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮีม แมวเก้าชีวิตของการเมืองมาเลเซีย ที่รัฐบาลตามเก็บเท่าไหร่ ก็ยังคงรอดพ้นมาท้าทายรัฐบาลในสนามการเมืองได้กระทั่งปัจจุบัน

การเลือกตั้งในปีนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย เพราะดูเหมือนว่า รัฐบาล UMNO หรือแนวร่วมแห่งชาติที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานนั้นเริ่มมาถึงทางตัน และเกิดความอ่อนแอ ในขณะเดียวกันฝากฝ่ายค้านก็เกิดการผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นทั้งพรรคของอันวาร์ (Parti Keadilan Rakyat-PKR) พรรคนิยมอิสลามอย่างพรรค PAS และพรรคชาวจีนอีก 1 พรรคนั้นก็คือ DAP (Democratic Action Party)

โดยที่ความเข้มแข็งของพรรคฝ่ายค้านที่ทำให้รัฐบาลเริ่มอ่อนตัวลง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อท้าท้ายอำนาจ และเปลี่ยนแปลงมวลชนให้เริ่มตั้งคำถามกับทางรัฐบาลเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากจะย้อนมองดูพัฒนาการในการก่อตัวของประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล ในช่วงเวลาที่เด่นชัดมากที่สุดก็คือ ในเหตุการณ์ที่มาเลเซียได้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปลายปี 1998 กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ มูหัมมัด กับรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮีม และมหาธีร์ตัดสินใจขับอันวาร์ ออกจากพรรค พร้อมกับการตั้งข้อหาที่ถูกมองว่าไม่ธรรม ส่งผลทำให้อนาคตทางการเมืองของอันวาร์ ต้องยุติลงชั่วขณะ

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น อันวาร์เข้าสู่เส้นทางการเมืองรอบใหม่ โดยแสดงตนเป็นฝั่งตรงข้ามกับแนวร่วมแห่งชาติ ทั้งวิธีการนักกิจกรรมทางการเมือง กระทั่งได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้นำฝ่ายค้าน ในช่วงแรกอันวาร์ได้สร้างสายสัมพันธ์กับกิจกรรมสิทธิมนุษยชน พรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น และหลังจากนั้นเขาได้สร้างพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ชื่อว่าพรรคยุติธรรม ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยภรรยาของเขา ในขณะที่อันวาร์ถูกคุมขังอยู่ในคุก พรรคของอันวาร์ ได้รับการสนับสนุนของชนกลุ่มน้อย

จากนั้นได้นำไปสู่ความสำเร็จในการร่วมกันก่อตั้ง Pakatan Rakyat ซึ่ง Pakatan Rakyat ได้เป็นกลุ่มองค์กรทางการเมืองที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล

Pakatan Rakyat  ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2008 ก่อตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านสำคัญในมาเลเซียคือ พรรคยุติธรรมประชาชน พรรคกิจประชาธิปไตย พรรคอิสลามมาเลเซีย นโยบายของ Pakatan Rakyat จะส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของชาวมาเลเซียทั้งหมด ส่งเสริมประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเป็นของแท้ เน้นระบบการเลือกตั้งสะอาดและยุติธรรม แต่ละพรรคการเมืองในกลุ่มพันธมิตรประชาชนมีอุดมการณ์ของตัวเอง โดยแต่ละพรรคย่อมที่จะมีนโยบายที่ต่างกันออกไป เช่น พรรคยุติธรรมประชาชน ส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและรูปแบบการต่อต้านการทุจริต  พรรคอิสลามมีจุดประสงค์ที่จะจัดตั้งประเทศมาเลเซียเป็นประเทศบนพื้นฐานทางกฎหมายอิสลามและพรรคกิจประชาธิปไตย เน้นการเป็นรัฐฆราวาสของหลายเชื้อชาติ อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย รัฐที่ Pakatan Rakyat  มีอำนาจในการบริหารคือ รัฐกลันตัน เคดาห์  ปีนังและสลังงอ

ทางด้านการเรียกร้องทางการเมืองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนั่นก็คือ การเดินประชาธิปไตย หรือที่เรียกกันว่า Bersih เป็นการจัดตั้งพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งสะอาดและยุติธรรม (ภาษาอังกฤษ The Coalition for Clean and Fair Elections ภาษามาเลเซีย Gabungan Pilihanraya Bersih dan Adil) สำหรับการเดินประชาธิปไตย Bersih การรวมตัวกันของพันธมิตรทางการเมืองขององค์กรพัฒนาเอกชน และ 5 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม ซึ่งการชุมนุมใช้ชื่อว่า Bersih โดยความหมายแล้วมีความหมายว่า สะอาด อย่างไรก็ตาม Bersih ในบริบทนี้หมายถึง ความสะอาดและความยุติธรรมในการเลือกตั้ง โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2006 (อ่านเพิ่มเติม)   

ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้เกิดการประท้วงของประชาชนเชื้อชาติอินเดีย หรือที่เรียกกันว่า ฮินดราฟ (Hindu Rights Action Force-กองกำลังปฏิบัติการเรียกร้องสิทธิชาวอินเดีย) ได้มีการชุมนุมในช่วงเวลาปี 2007 โดยที่ข้อเรียกร้องจากการชุมนุมนั้นเหตุการณ์นั่นก็คือ การปกครองอย่างเป็นธรรมระหว่างเชื้อชาติ ข้อสังเกตการประท้วงครั้งนี้ได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย รวมถึงมหาตมะ คานธี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ ที่มีการเชื่อมโยงสู่ประเทศเดิมของบรรพบุรุษตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสำนึกในการเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แม้นว่าจะอาศัยอยู่นอกพื้นที่ประเทศของตนเองก็ตาม

การเชื่อมต่อกันระหว่างองค์กรเอกชน ภาคประชาสังคมในบริบทมาเลเซียโลกไซเบอร์องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) องค์กรนิยมอิสลาม องค์กรเยาวชน สหภาพการค้าและการเกิดขึ้นของสื่อทางเลือก (เช่นบล็อก โดยบล็อกต่างๆ ในมาเลเซียจะถือเป็นความนิยมอย่างมากสำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และในหน้าเพจบล็อกของตัวเองจะมีการทำลิงค์เพื่อที่จะเชื่อมต่อไปยังบล็อกเพื่อนบ้าน ทำให้ความคิดทางการเมืองในส่วนของการต่อต้านรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว) ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นมิติใหม่ในสนามการเมืองมาเลเซีย ที่อินเตอร์เน็ตได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนชาวมาเลเซีย ผลจากการเลือกตั้งในปี 2008 ซึ่งกล่าวขานว่าเป็น “สึนามิทางการเมือง” สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งในปี 2008 โดยเฉพาะการวิพากษ์รัฐบาลผ่านสื่อ แม้ว่าทางรัฐบาลสามารถที่จะควบคุมสื่อกระแสหลัก แต่รัฐบาล "แพ้สงครามทางอินเทอร์เน็ต" 

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท