‘ยกฟ้อง’ คดีเพิกถอน ‘ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง’ ชาวบ้านเตรียมอุทธรณ์ต่อ

ชาวบ้านพลาดหวัง แต่ยังเดินหน้าต่อ จี้ ‘ผังเมือง’ ยันพื้นที่เพื่อการเกษตร ทนายแนะ ‘จับตา’ การแก้ปัญหาตาม EIA สะท้อนความจริงจากพื้นที่ ด้าน 'สุนี ไชยรส' เผยมติ คปก.ดัน ‘กม.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ หวังแก้ความขัดแย้ง

 
 
วันนี้ (31 ม.ค.56) เวลา 10.00 น.ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 1454/2553 คดีมายเลขแดงที่ 126/2556 ที่เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
 
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21 ก.ย.53 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาจำนวน 61 คน นำโดย นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำเลยที่ 1 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) จำเลยที่ 2 และบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด จำเลยที่ 3 ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ของบริษัทดังกล่าว
 
ศาลปกครองพิจารณาว่า กระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ของ กกพ.เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ตั้งไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2553 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. ... ยังไม่ประกาศบังคับใช้ การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวของและบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ จึงไม่ใช่โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบ (EHIA) เพิ่มเติม ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ
 
ศาลปกครอง ระบุด้วยว่า การพิจารณาให้ใบอนุญาตนั้นนอกจากต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 61 คนที่จะอนุรักษ์ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ แล้วยังต้องคำนึงถึงสิทธิของบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการมีเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงไม่สามารถจำกัดสิทธิไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าได้
ส่วนเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีการระบุปัญหาไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการต้องถือปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบ โดยชุมชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งทุกจุดได้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องการเลี้ยงไก่ก็มีการระบุให้ชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริง และเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งก็มีการระบุให้สร้างบ่อเก็บน้ำสำรอง และถ้าน้ำไม่เพียงพอรัฐก็มีอำนาจสั่งให้บริษัทผู้ประกอบกิจการหยุดสูบน้ำได้ทันทีและชุมชนมีสิทธิตรวจสอบได้อยู่แล้ว
 
อีกทั้ง ตามอำนาจคณะกรรมการผังเมือง ถ้าคณะกรรมการผังเมืองเห็นว่าขัดต่อนโยบายผังเมืองรวมในสาระสำคัญก็สามารถกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการหรือสั่งให้ระงับการประกอบกิจการได้ ตามมาตรา 27 วรรคสอง 

นอกจากนั้น การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งในประเทศไทยมีการก่อสร้างมาแล้วหลายแห่ง เช่น โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ไม่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

 
ทั้งนี้ ศาลวินิจฉัยว่า มติของ คชก.ที่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และคำสั่งของ กกพ.ที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ นั้นชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการพิพากษาคดี กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมกว่า 40 คนที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดีได้มีการพูดคุยกันถึงผลที่ออกมา และได้ตกลงที่จะยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อไปภายใน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะมีการกลับไปจัดเตรียมข้อมูลในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อสู้คดี
 
 
 
ชาวบ้านพลาดหวัง แต่ยังเดินหน้าต่อ จี้ ‘ผังเมือง’ ยันพื้นที่เพื่อการเกษตร
 
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมกล่าวว่า ผลคดีนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านคาดการณ์อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความหวังเพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งเหมาะสมต่อการทำการเกษตรและมีการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีแล้วว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวทแยงขาว) สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไปของชาวบ้านในเรื่องผังเมือง ที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการผังเมืองแล้ว ซึ่งก็จะมีการเดินหน้าในขั้นตอนต่อไป เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับผังเมืองรวมสระบุรีที่ได้ประกาศบังคับใช้ อีกทั้งจะต้องติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนสีผังเมืองไปเป็นสีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย
 
นายตี๋ ยังแสดงความคิดเห็นต่อการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญด้วยว่า การกำหนดให้โครงการขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีผลกระทบรุนแรง ไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาด 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไปนั้นไม่เป็นจริง เพราะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในปัจจุบันไม่มีโรงไหนมีกำลังผลิตถึงเกณฑ์ดังกล่าว และในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นวิชาการ
 
นอกจากนี้ การมีกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนา ฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้านั้นก็ขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าไม่ยอมรับว่าได้สร้างผลกระทบให้เกิดกับชุมชน อีกทั้งกองทุนดังกล่าวยังกลายเป็นเครื่องมือปิดปากชาวบ้านไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการ  
 
 
ทนายแนะ ‘จับตา’ การแก้ปัญหาตาม EIA สะท้อนความจริงจากพื้นที่
 
นายสุรชัย ตรงงาม ประธานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า ทางทนายความของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยินดีที่จะสนับสนุนชาวบ้านในการดำเนินการทางคดีให้ถึงที่สุด พร้อมระบุ คำตัดสินในคดีนี้สะท้อนอย่างชัดเจนถึงปัญหาการประกาศผังเมืองที่ล่าช้า เนื่องจากได้ระบุชัดเจนว่าตราบใดที่กฎหมายยังไม่มีการบังคับใช้ ก็จะเกิดโครงการที่ขัดต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามหลักวิชาการและประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นคำถามว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขต่อไปได้อย่างไร
 
นายสุรชัย แนะนำกลุ่มชาวบ้านด้วยว่า ตามคำพิพากษาของศาลมีการกล่าวถึงมาตรการป้องกันที่ระบุไว้แล้วในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งเรื่องอาชีพเกษตรกรในการเลี้ยงไก่ มลภาวะทางน้ำ และปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ชุมชนควรต้องมีการติดตามการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ข้อแรกเพื่อความปลอดภัยของชุมชน และจะมีผลในการอุทธรณ์เพื่อให้ศาลเห็นว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลหรือไม่อย่างไรในความเป็นจริง โดยสะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน
 
 
‘สุนี’ ชี้สร้างโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ยังมีข้อถกเถียง  
 
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งมาร่วมฟังการพิพากษาคดีกล่าวแสดงความเห็นว่า การพิพากษาวันนี้ศาลไม่ได้พูดถึงสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญก่อนการดำเนินโครงการมากนัก แต่เป็นห่วงในเรื่องการให้นำหนักระหว่างสิทธิของชุมชนกับสิทธิของผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการ และผลประโยชน์สาธารณะในการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยอ้างถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP
 
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแผน PDP นั้นยังมีข้อถกเถียงเรื่องการคำนวณเกินจริงซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า และคนจำนวนมากในเรื่องค่า FT ที่ต้องจ่ายไปพร้อมกับค่าไฟฟ้า อีกทั้งแผนดังกล่าวถูกจัดทำโดยรัฐซึ่งประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม
 
นอกจากนี้ศาลไม่ได้พูดถึงข้อโต้แย้งของประชาชนอย่างชัดเจน ทั้งที่ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
 
รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวต่อมาว่า จากคดีดังกล่าวได้เห็นความล้าหลังของกฎหมายในหลายเรื่อง รวมทั้งช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งถูกผลักให้เป็นภาระของประชาชนในการฟ้องร้องดำเนินคดี ดังกรณีการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดซึ่งมีความล่าช้าเปิดช่องทำให้มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่เกษตรกรรม
 
 
เผยมติ คปก.ดัน ‘กม.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’
 
นางสุนี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ คปก.ได้มีการประชุมและมีมติเมื่อวานนี้เพื่อเร่งรัดให้รัฐบาลออกกฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งจะมาช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสร้างมาตรฐานในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการดำเนินโครงการต่างๆ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่รับรองกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีร่างกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่ออยู่ในการพิจารณาของสภาฯ ด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดทำ EIA ทั้งในเรื่องการมีส่วนร่วม และการกำหนดให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ออกเงินว่าจ้างทำ และการผลักดันกฎหมายสิทธิชุมชน ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงสิทธิชุมชนกันอย่างลอยๆ แต่จะทำอย่างไรให้มีนิยามและกระบวนการที่ชัดเจน
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท