ASEAN Weekly: ศึกที่รัฐคะฉิ่น ชี้อนาคตกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

 

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดย สุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ พูดคุยถึงอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์พม่า ที่รัฐบาลพม่ายังคงปราบกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการทำสงครามปราบปราม กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น KIA ในพื้นที่รัฐคะฉิ่น ที่ดำเนินมาตั้งแต่กลางปี 2554 และในช่วงปลายปีที่ผ่านมากองทัพพม่าได้โหมโจมตีทางอากาศ และปืนใหญ่ใส่พื้นที่รอบๆ เมืองไลซา ฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพคะฉิ่น KIA โดยขณะนี้เกิดผู้อพยพภายในรัฐคะฉิ่น และชายแดนจีนนับแสนคน

ดุลยภาคกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่น ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางปี 2554 ก็คือ ประการแรก รัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุว่ารัฐพม่าต้องมีกองทัพเดียว กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลือจะต้องมามาเป็นส่วนหนึ่งกองทัพพม่า โดยหน่วยเหนือของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องถูกบังคับบัญชาโดยทหารพม่า และให้ทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 2008 จึงเป็นสลักระเบิดทำให้กองกำลังคะฉิ่นหันมาเคลื่อนไหว เนื่องจากว่าคะฉิ่นไม่อยากยอม เพราะถ้าคะฉิ่นยอมเท่ากับจะสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์และแรงบันดาลใจในการต่อสู้ ที่ต่อรองกับพม่านับตั้งแต่พม่าได้เอกราชนั้น ถ้าฝ่ายคะฉิ่นขาดกองทัพไปก็จะเสียแต้มต่อในทางการเมือง

ประการที่สอง อาจเป็นไปได้ที่ขุนทหารชายแดนของพม่า อยากจะยั้งประโยชน์ในชายแดนรัฐคะฉิ่น เพื่อคงอิทธิพลในการเมืองพม่า ทั้งนี้การเมืองพม่าหลังมีการเลือกตั้ง ด้านหนึ่งในรัฐสภามี ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เป็นแกนนำ อีกด้านหนึ่งคือกองทัพพม่า ทั้งนี้การที่กองทัพพม่าที่อยู่ชายแดนทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนเกิดวาบไฟ ก็ทำให้กองทัพยังมีบทบาทในการเมืองโดยเฉพาะการเมืองชายแดน นอกจากนี้ทหารที่อยู่ชายแดนอาจจะยังคิดแก้แค้น เพราะสูญเสียกำลังพลเนื่องจากถูกฝ่ายกองทัพคะฉิ่นตอบโต้ ดังนั้นเมื่อรบติดพันอยู่ พอประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สั่งให้หยุดรบก็ยังไม่หยุด เพราะอยากจะแก้แค้น

ประการที่สาม พื้นที่รัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำอิระวดีนั้น จีนมีแผนสร้างเขื่อนมิตซนที่ต้นแม่น้ำอิระวดี และอีกหลายเขื่อนในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นการดีสำหรับจีนหากรัฐบาลพม่าสามารถเคลียร์สถานการณ์ให้นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนได้สะดวก

ทั้งนี้ฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) คือเมืองไลซา ที่ตั้งยังอยู่บนจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐคะฉิ่น คือเมืองไลซา ซึ่งคร่อมอยู่บนถนนสายเลโด (Ledo road) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวมุ่งไปทางเหนือของไลซาคือเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น และไปยังรัฐอัสสัม ของอินเดียได้ และมุ่งไปทางใต้คือเมืองบะหม่อ ซึ่งเชื่อมเส้นทางการค้ากับมัณฑะเลย์ และไปยังมณฑลยูนนานของจีน

ส่วนกรณีที่ สภาสหพันธรัฐชนชาติแห่งสหภาพพม่า หรือ UNFC เสนอตัวจะเจรจากับรัฐบาลพม่าในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ต่อสถานการณ์ในรัฐคะฉิ่นนั้น ดุลยภาคกล่าวว่า UNFC เป็นการรวมตัวของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อต่อรองกับกองทัพพม่า และต่อรองให้ชนกลุ่มน้อยมีอำนาจในการปกครองมากขึ้น แต่ฝ่ายพม่าก็ไม่ยอมเพราะกลัวการล่มสลายของสหภาพพม่า ทั้งนี้ UNFC เพื่อรวมตัวกันไม่กี่ปี เพื่อตอบโต้นโยบายกองทัพเดียวของพม่า อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ สไตล์การต่อสู้ของสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มารวมกันเป็น UNFC ยังมีความหลากหลาย และไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรทางการเมือง 

ตอนท้าย ดุลยภาคเสนอว่าเราถวิลหาประชาคมในฝัน ด้วยการมีประชาคมอาเซียนขึ้นมา แต่การกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติเพื่อก่อรูปเป็นประเทศสำหรับหลายๆ รัฐในอุษาคเนย์ยังไม่จบ โดยเฉพาะพม่า การสร้างรัฐของพม่าคือการใช้รัฐเป็นแกนกลาง และคนในประเทศที่เป็นหลากชนเผ่าและบางครั้งเป็นคนพม่าเองถูกทำให้เป็นศัตรูของรัฐ และขณะเดียวกันก็เขย่ามโนทัศน์โดยที่บอกว่า รัฐที่ให้ที่พักพิงกับชนกลุ่มที่ต่อต้าน ก็ถือว่าเป็นศัตรูด้วย ดังนั้นอคติที่แอบแฝง ทั้งที่คนพม่าที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วน และความหวาดระแวงรัฐพม่ามีต่อรัฐพม่ายังมีอยู่ ขณะที่ยังถวิลถึงประชาคมในฝันของอาเซียน สัจจะนิยมในการสร้างรัฐสร้างชาติของพม่ายังไม่จบ และผลที่ตามมาคือความรุนแรงของรัฐ ซึ่งมีหลายระดับของความรุนแรง ซึ่งหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสงครามเย็นก็เกิดกรณีนี้ เช่น กรณีสงครามกลางเมืองสมัยเขมรแดง หรือที่ระบอบซูฮาร์โตที่ทำกับชาวติมอร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท