Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกริ่นนำ

เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ ต้องชี้แจงก่อนว่า ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนได้หรือเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพียงแต่ เหตุการณ์ความขัดแย้งของโรงเรียนชื่อดังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ความขัดแย้งกำลังดำเนินไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าสังเกตว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นต้น การประท้วงของบุคลากรการศึกษา หรือของบรรดาศิษย์เก่า พุ่งเป้าไปที่ “ตัวบุคคล” ที่สำคัญเรียกร้องไปที่ “มูลนิธิฯ” ทั้งที่ ทุกคนทราบกันดีว่า บุคคลที่กำลังประท้วงและมูลนิธิที่กำลังเรียกร้องเป็น “ภราดาของศาสนจักร” (หรือที่ภาษาอย่างไม่เป็นทางการเรียกว่า บราเดอร์) [1]

“แป๊ะเจี๊ยะ” หรือ เงินบริจาคให้เปล่า? เป็นคำพูดติดปากของบรรดาผู้ปกครองที่ประสงค์จะส่งบุตรหลานให้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายเรื่องยาว เมื่อแป๊ะเจี๊ยะถูกเสนอให้นักบวชผู้ปฏิญาณตนว่าจะถือความยากจนอะไรจะเกิดขึ้น? สินน้ำใจที่เคยเกื้อกูลกันตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อแบบเกี๊ยะเซี๊ยะ [2] บัดนี้ เริ่มก่อให้เกิดปัญหากับลูกหลาน เมื่อ “เงิน” เข้ามาเป็นตัวตั้งของทุกการดำเนินการในคณะนักบวชที่พยายามดิ้นรนเพื่อพัฒนาตนเองในบรรยากาศของโลกที่ใช้ “เงิน” เป็นองค์ประธานเช่นกัน และผลแห่งการกระทำไม่ว่าดีหรือชั่วซึ่งช่วยกันก่อกรรมมาก็ปรากฏ

 

เนื้อหา

คณะนักบวช (Religious order) เป็นกลุ่มของบุคคลที่รวมตัวกันด้วยจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งภายใต้การรับรองของศาสนจักร ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง คือ กลุ่มเหล่านี้ถูกรับรองโดยกฎหมายของศาสนจักร (Canon Law) และในกรณีที่นักบวชเหล่านั้นสร้างโรงเรียนและดำเนินการบริหาร แสดงว่า จุดประสงค์หนึ่งที่ศาสนจักรรับรู้คือ “งานการศึกษา” และส่วนใหญ่ บรรดาโรงเรียนคริสต์ชื่อดังในประเทศไทย ล้วนแต่ดำเนินการบริหารด้วยน้ำมือของนักบวชในแต่ละคณะทั้งสิ้น เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี บริหารงานโดย นักบวชชายคณะเซนต์คาเบรียล [3] โรงเรียนมาแตร์ เดอี บริหารงานโดย นักบวชหญิงคณะอุร์สุลิน [4] ซึ่งโดยปกติ ผู้เข้ารับการศึกษาที่เป็นศาสนิกชนศาสนาอื่นอาจไม่ทราบความแตกต่างส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ของศาสนจักรว่าด้วยคณะนักบวชได้กำหนดกรอบของความเป็นนักบวชข้อหนึ่งความว่า “พระคัมภีร์ให้นักบวชถือความยากจนตามแบบฉบับของพระคริสต์ ซึ่งต้องปฏิบัติทั้งความยากจนฝ่ายกายและจิตใจ ต้องรู้จักประมาณตน ไม่ผูกใจยึดติดกับสมบัติฝ่ายโลก มีขีดจำกัดเสมอในการจัดการทรัพย์สิน” [5] นั่นหมายความว่า เงินแป๊ะเจี๊ยะซึ่งมีวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) เพื่อเกี๊ยะเซี๊ยะลูกหลานให้ได้เข้าเรียน เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎเกณฑ์นี้ และการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องนี้ของผู้ปกครองหรืออธิการเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

มากไปกว่านั้น เมื่อชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพค้าขายปรารถนาให้บุตรหลานได้ร่ำเรียนสูงๆ ไม่ทราบถึงข้อจำกัดของนักบวช เป็นไปได้ว่า ชาวบ้านเหล่านั้นมีความรู้ความเข้าใจที่น้อยเกินไปเกี่ยวกับสถานะนักบวชหรือฆราวาสของศาสนจักร เพราะ นักบวชเหล่านั้นยุ่งเกี่ยวโดยตรงกับทรัพย์สิน นั่นขัดกับมโนทัศน์ในนักบวชในพุทธศาสนาที่กระเดียดไปทางเป็นผู้ขอทานแบบให้เปล่า (แต่นักบวชเถรวาทไทยในศตวรรษที่ 21 เริ่มเลียนแบบ) แน่นอนที่สุด ต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่อยู่ที่ “สถาบันนักบวชนั้นๆปล่อยให้บุคลากรแบบนี้ผลิตออกมาได้อย่างไร?”

“สถาบัน” (Institute, Order) เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการอบรม สั่งสอน ใครก็ตามที่เป็นสมาชิกในสถาบัน นั่นทำให้เกิดคำถามว่า “ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีการรื้อสร้างบางส่วนของสถาบัน?” เพื่อพิจารณาว่าอะไรเป็นปัญหาซึ่งมีผลทำลายอัตลักษณ์และเจตนารมณ์ของสถาบันเอง แม้ว่า การจัดการเรื่องตัวบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นแน่นอน แต่จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะปัญหาจะเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป ถ้าเราไม่ทราบว่าใครสนับสนุนปัญหานี้อยู่เบื้องหลัง และเพื่ออะไร? ที่สำคัญสิ่งที่อภิปรายกันอยู่นี้ ดูเหมือนจะเลยจาก “ความเป็นนักบวช” ไปทุกที ดูเหมือนว่า จะเป็นปัญหาในองค์กรแบบบริษัทที่มีทรัพย์สินและมีผู้ที่ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น?

เรื่องย่อมซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อมีผู้ร่วมได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กับสถาบันนั้นต่างเคลื่อนไหว พูดอย่างชาวบ้านว่า ใครจะยอมให้ตนเองขาดทุน เพราะในเมื่ออุตส่าห์ลงทุนเพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจนถึงขนาดนี้ ไม่ใช่เวลาแค่วันสองวัน เนื่องจากต้องใช้ศิลปะแห่งการชวนเชื่อ โฆษณา และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และนั่นอาจจะกินเวลาหลายปี กว่าที่พวกของตนจะขึ้นในตำแหน่งผู้บริหาร ฉะนั้น เมื่อขัดผลประโยชน์กัน การแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง “หญ้าแพรกก็แหลกลาญไปตามระเบียบ” นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในสังคมไทย คือ ผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ กลับเป็นคนยาก คนจน คนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ประชาชนชั้นรากหญ้า แม้กระทั่ง ครูผู้น้อย

จะดีกว่าหรือไม่? ถ้าจะยอมรับความเป็นจริงของสถาบัน ซึ่งเป็นความเป็นจริงที่จับต้องได้ (Material) ไม่ใช่ความจริงเชิงอุดมการณ์หรือเป้าหมาย (Vision) เช่น กรณีของอัสสัมชัญ จะดีกว่าหรือไม่? ถ้าหันมาพิจารณาเสียทีว่า ทำไมเราเรียกร้องเอากับองค์กร (คณะนักบวช) แบบนี้ หรือว่า เราคาดหวังให้เขาเป็นนักบวชที่ดี ยากจน? เป็นความคาดหวังที่อุดมคติหรือไม่? เช่นเดียวกับ แป๊ะเจี๊ยะในโรงเรียนภายใต้อุปถัมภ์ของรัฐ เราคาดหวังให้ผู้บริหารเป็นข้าราชการที่ดี ซื่อสัตย์สุจริตใช่หรือไม่? แต่น่าเสียดายที่ มีหลักฐานแสดงให้เห็นแล้วว่า ความคาดหวังดังกล่าวเป็นเรื่องลมๆแล้งๆ เนื่องจากยืนอยู่บนความคิดที่เอาแต่ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อความเสียประโยชน์ส่งผลกระทบกับตัวเองแล้วค่อยออกมาเรียกร้อง ซึ่งความเป็นธรรมดังกล่าวมันเลือนหายไปตั้งแต่ทุกคนเพิกเฉยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตลกร้ายในโลกของทุนอันบิดเบี้ยว มนุษย์ซึ่งเป็นกลไกการผลิตไม่ต่างจากฟันเฟืองที่ไร้ชีวิต การกดขี่ของสถาบันซึ่งถูกอนุญาตให้กระทำในนามของความดีงามจากสวรรค์ นั่นเป็นสิ่งที่ถูกปล่อยให้เกิดและกระทำกันเป็นค่านิยมมาเป็นสิบๆปี และหลายคนอาจเคยส่งเสริมให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่พอมาถึงวันนี้ เมื่อขัดกับประโยชน์ของตนเองในระยะเผาขน แต่ไม่ทันแล้ว ความเสื่อมโทรมได้กัดกินเข้าไปในสถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชน จึงสรุปได้อย่างเดียวว่า เหตุการณ์นี้ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งเกินกว่าที่การประท้วงเพียงครั้งสองครั้งจะลบเลือนได้ ต้องยอมรับความจริงว่าเรื่องแบบนี้จะอยู่ต่อไปในมุมมืดของสถาบัน แน่นอนมันจะวิวัฒนาการให้ซับซ้อนขึ้น

“ตัวบุคคล” ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตของสถาบันจึงน่าเห็นใจ เพราะตำแหน่งแห่งที่ คุณวุฒิ อำนาจบารมี และพรรคพวก ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นภายใต้การอนุญาตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของสถาบัน ประเด็นคือ การที่สถาบันไม่คัดค้านก็เท่ากับอนุญาต และการที่สถาบันไม่จัดการเรื่องภายในให้เรียบร้อยจนสุดท้ายลุกลามบานปลายออกมา ก็เป็นเรื่องที่สถาบันจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาด้วยความเงียบแบบลอยตัวเหนือปัญหาเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดผลดี ซ้ำร้าย สถาบันยังแสดงให้เห็นถึงความไร้น้ำใจที่จะปกป้องบุคลากรของสถาบัน ในฐานะพี่น้องร่วมคณะนักบวชอีกต่างหาก เห็นได้ชัดว่า ความคิดปกป้องสถาบันด้วยวิธีแบบนี้ผิดพลาดมหันต์

 

สรุป

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือ การแก้ที่ปลายเหตุ เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน นั่นไม่มีใครคัดค้านได้ แต่ทว่า ปัญหารากฐานที่มาจาก “กระบวนการอบรมในสถาบัน”และ “ความเป็นสถาบัน” จะยังคงอยู่และไม่ถูกแก้ปัญหาเสมอไป โดยที่ไม่ต้องอภิปรายถึงความเป็นนักบวชกันอีกแล้ว เพราะป่วยการ แต่ควรลงมืออธิบายกันเฉพาะปัญหาสถาบัน ก็น่าจะเพียงพอแล้วว่าอะไรคือปัญหา และเพื่อแสดงความจริงใจว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการขัดผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว ควรหรือไม่ที่จะเรียกร้องให้ถามว่า “ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีการรื้อสร้างบางส่วนของสถาบัน?” อันจะนำความ เปลี่ยนแปลง (อภิวัฒน์) มาสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกประเทศไทย เพื่อเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคณะนักบวชแบบจับต้องได้สืบไป เพราะถ้าคณะนักบวชอ้างว่าจะปกครองโรงเรียนด้วยหลักธรรม ก็ควรที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ประพฤติธรรมตามที่อ้างไม่ใช่หรือ? ไม่ใช่อ้างว่าจะปกครองโรงเรียนด้วยหลักธรรมแต่รวยเอารวยเอาในสายตาชาวบ้านร้านตลาด

 

ข้อเพิ่มเติม

[1] ชื่อทางการภาษาไทยเรียก เจษฎาจารย์ ใช้เรียกชายที่เป็นนักบวช แต่ไม่ขอบวชเป็นบาทหลวง

[2] หมายถึง จัดการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคมเพื่อรักษาอภิสิทธ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย (พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย)

[3] คณะภราดาเซนต์คาเบรียล (The Montfort Brothers of St. Gabriel) ก่อตั้งในปี 1711

[4] คณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมัน (Order Sister of st. Ursula) ก่อตั้งสหภาพในปี 1984

[5] มาตรา 600 : ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพ 2 ประชากรของพระเจ้า ภาค 3 สถาบันชีวิตที่ถวายแล้ว และคณะชีวิตแพร่ธรรม ตอน 1 สถาบันชีวิตที่ถวายแล้ว ลักษณะ 1 กฎเกณฑ์สำหรับสถาบันชีวิตที่ถวายแล้วทุกสถาบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net