วาด รวี:ประเด็นสำคัญของคำพิพากษาคดีสมยศอยู่ตรงนี้

ประเด็นสำคัญของคำพิพากษาอยู่ตรงนี้

.............
เห็นว่าบทความคมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบุคคล แต่เขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนำเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงแล้วสามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาของบทความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
.............

จากคำแถลงปิดคดีของฝ่ายจำเลย พบว่า ประเด็นสำคัญข้างบนมาจากคำให้การของ ธงทอง จันทรางศุ ตรงส่วนนี้

......................
พยานส่วนใหญ่ของโจทก์ให้ความเห็นว่าผู้เขียนบทความทั้งสองบทความมีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ เฉพาะศาสตราจารย์พิเศษธงทองดูเอกสารหมาย จ.๒๔ แล้วเบิกความว่า ไม่ได้ให้ความเห็นว่าเข้าค่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่ได้ให้ความเห็นว่าข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้า ๔๖ ตรงคำว่า “โคตรตระกูล” นี้นั้นหมายถึงราชวงศ์จักรี และไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.๒๕ 
.......................

และส่วนนี้

.......................
เมื่อเปรียบเทียบความเห็นของพยานโจทก์เฉพาะปากนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ กับ นางสาวชรินรัตน์ อิงพงษ์พันธ์ ในการให้ความเห็นบทความ ตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ยังไปคนละทิศทาง ไม่อาจสรุปได้ว่าความเห็นของฝ่ายใดถูกหรือของฝ่ายใดผิด เช่นเดียวกับความเห็นพยานโจทก์ปากศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ พยานโจทก์ที่เบิกความตอบอัยการโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๒ บรรทัดที่ ๔-๑๓ และในหน้าที่ ๓ บรรทัดที่ ๗-๑๐ นับจากบนลงล่าง ความว่า “พยานดูเอกสารหมาย จ.๒๔ แล้วเบิกความว่า ..........................................คำว่า “โคตรตระกูล” ที่ระบุไว้ทั้งสองแห่งผู้เขียนสื่อความหมายให้ผู้อ่านนึกถึงราชวงศ์จักรี ตรงที่หมายถึงราชวงศ์จักรีนั้นอยู่ตรงคำว่า “พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ” เป็นประวัติศาสตร์ในช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์...................โจทก์ให้พยานดูเอกสารหมาย จ.๒๕ เป็นบทความโดยผู้เขียนนามปากกาเดียวกับ จ.๒๔ พยานดูแล้วเบิกความว่าเรื่อง ๖ ตุลา ๒๕๕๓ นี้ ผู้เขียนสมมุติตัวละครเดินเรื่องชื่อ “หลวงนฤบาล” อ่านแล้วข้าฯไม่แน่ใจไม่สามารถให้ความเห็นเด็ดขาดได้ว่าหมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่” 
......................

ศาลอาศัยปากคำของ ธงทอง ที่ตีความคำว่า “โคตรตระกูล” ว่าหมายถึง "ราชวงศ์จักรี" และอาศัยจุดนี้ในการเชื่อมโยงให้ความหมายว่า “หลวงนฤบาล” คือพระเจ้าอยู่หัว

ประการที่หนึ่ง ธงทองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ประวัติศาสตร์

ธงทองนี่เชี่ยวชาญด้าน “นิติศาสตร์” นะครับ ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์” ไปดูประวัติเสีย ไม่มีผลงานอะไรที่เป็นเกียรติคุณด้านประวัติศาสตร์เลย ถ้าจะเบิกความพยานแล้วอ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ตามเรื่องในบทความส่วนที่กล่าวว่า :
..........................................คำว่า “โคตรตระกูล” ที่ระบุไว้ทั้งสองแห่งผู้เขียนสื่อความหมายให้ผู้อ่านนึกถึงราชวงศ์จักรี ตรงที่หมายถึงราชวงศ์จักรีนั้นอยู่ตรงคำว่า “พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ” เป็นประวัติศาสตร์ในช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์

นี่ต้องเบิกความ “นักประวัติศาสตร์” นะครับ (โว้ย) 

ไม่ใช่นักนิติศาสตร์

และต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในสมัยนั้นด้วย ซึ่งในประเทศนี้ ก็มีหลายคนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับที่สุดในเรื่องประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีก็คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประการที่สอง การตีความของธงทองผิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

คำว่า “พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ซัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ” ที่อ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับต้นรัตนโกสินทร์นี่ 
ถามว่าใครบ้างที่อยู่ในข่ายตามทำนองตีความที่อ้างมา ?

มีเป็นร้อยนะครับเป็นร้อย 

นี่คือบางส่วนจากพงศาวดารกรุงธนบุรี (ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)  ในช่วงเวลาดังกล่าว:

ณ วัน ๗ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๒ โมง เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมเรียบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละลองฯ ผู้ใหญ่น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังดุสิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึ่งมีพระราชบริหารดำรัสปฤกษาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัจละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น

จากข้อความในพงศาวดารข้างต้น ที่ว่า

“เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมเรียบ” ในตอนต้นนั้นคือ รัชกาลที่ ๑ 

ส่วนที่ว่า “เอาพระเจ้าแผ่นดินและพวก..” นั้นหมายถึง พระเจ้าตาก

นอกจากรัชกาลที่ ๑ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ก็ยังมีคนอีกจำนวนมาก เช่น (ตามพงศาวดารที่ยกมา) 

๑. ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย
๒. หมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุข
๓. ทแกล้วทหารทั้งปวง

คนสามกลุ่มนี้มีใครบ้าง ไปดูพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ตอนตั้งเจ้านายและข้าราชการ

๑ ประดิษฐานพระราชวงศ์ (ดูพงศาวดารกรุงรัตโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรณ์, ศรีปัญญา หน้า ๔๙)

คำว่า ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็หมายถึงพวกราชวงศ์ทั้งหลายที่ตั้งกันในตอนนั้น เป็นเจ้าฟ้า ๑๙ คน เช่น สมเด็จพระพี่นาง, สมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวร), สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย และยังมีหลานอีกมากมาย

๒ หมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุข (เล่มเดียวกันหน้า ๕๓)

กลุ่มนี้ก็คือพวกขุนนางวังหลวงทั้งหลาย ซึ่งมีหลายสิบและอาจจะเกือบร้อย

เช่น 

ตรัสเอาพระอักขรสุนทร...ชื่อสน ข้าหลวงเดิม มีความชอบโดยเสด็จพระราชดำเนินไปงานพระราชสงคราม เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ที่สมุหนายก

ตรัสเอาหลวงสรวิชิต ชื่อหน มีความชอบนำเอาข้อราชการในกรุงธนบุรีออกไปกราบทูลถึงด่านพระจารึก..

ตรัสเอานายบุญนาค บ้านแม่ลา ซึ่งเป็นต้นคิดปราบจลาจลในกรุงธนบุรี มีความชอบ เป็นเจ้าพระยาไชวิชิตผู้รักษากรุงเก่า...

ตรัสเอานายแสง ซึ่งมีความชอบได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลับให้ทรงพระราชดำริรักษาพระองค์ เป็นพระยาทิพโกษา...

ตรัสเอาหม่อมบุนนาค บุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่า มิได้คิดเข้ามาทำราชการหายศบรรดาศักดิ์ พึ่งแต่พระเดชพระคุณให้ใช้สอยอยู่ลับ ๆ (คำว่า “อยู่ลับๆ” ปรากฏในฉบับตัวเขียนเดิม แต่ฉบับตัวพิมพ์กับฉบับกรมพระยาดำรงฯ ถูกตัดออก) 

เป็นต้น

๓ ทแกล้วทหารทั้งปวง (เล่มเดียวกัน หน้า ๖๐)

ครั้นเสร็จตั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยแล้วทรงพระดำริว่า เมื่อครั้งกรุงเก่า เมื่อปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมนั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมหุพระกลาโหม มีความชอบมาก จึงแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก.....

ข้าราชการทหารบางส่วนก็ปนกันกับข้าราชการวังหลวง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีคนร่วมโค่นพระเจ้าตากอย่างหลากหลายเต็มไปหมด (ไม่งั้นก็คงทำไม่สำเร็จ)

พูดง่าย ๆ ก็คือ บุคคลที่เข้าข่าย “พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ซัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ” หรือจะเรียกว่า ทรยศพระเจ้าตาก ตามทำนองของเรื่องในการตีความของศาลนั้น มีทั้งเจ้าทั้งขุนนางขุนทหารเป็นร้อย ๆ คนที่สามารถอยู่ในนิยาม ไม่จำเป็นต้องเป็น “ราชวงศ์จักรี” เท่านั้นตามการตีความของธงทอง และที่สำคัญต่อให้เป็นบุคคลที่ (ถือว่า) อยู่ในราชวงศ์จักรี อย่างเช่น กรมพระราชวังบวร (วังหน้า หรือน้องชายของ ร.๑) จะเรียกได้ว่าเป็นการสืบสาวมาถึง พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ ๙ ได้หรือ ?

ถ้าเป็นอย่างนั้น ใครที่มีบรรพบุรุษที่มีเชื้อเจ้าโดนด่าพ่อล่อแม่ไปถึงบรรพบุรุษ ก็ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หมด ? 

ตระกูลที่เคยมีคนดองกับเจ้า เช่น ณ อยุธยา, ณ พัทลุง, ณ นคร และตระกูลเก่าอีกหลายตระกูลที่มีสาแหรกโยงกับเจ้านี่ ก็อยู่ในข่ายคุ้มครองของกฎหมายอาญามาตรา 112 หมด? (เพราะบรรพบุรุษเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว)

จะเห็นได้ว่าเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นการตีความของธงทอง จันทรางศุ และนำไปสู่การข้อสรุปว่า หลวงนฤบาล คือ พระเจ้าอยู่หัว แม้พิจารณาในฐานะของข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์โดด ๆ ก็มีปัญหามากมายเต็มไปหมด และมีทางตีความมากมายเต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องตีความแบบธงทองก็ได้

อ้างอิงจาก: เปิดคำพิพากษาย่อ: จำคุก 10 ปี ‘สมยศ’ ในฐานะบก.ผิด ม.112 - ต่างชาติชี้สร้างบรรทัดฐานเซ็นเซอร์ตัวเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท