Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้อง ศศ. 201 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการเสวนาอุษาคเนย์สาธารณะ “ความเป็นไทยตั้งแต่หัวจรดตีน” โดยช่วงหนึ่งมีการเสวนาหัวข้อ "ร่างกายใต้บงการ บนเรือนร่างในเครื่องแบบ" โดยเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และพุทธิภรณ์ ผ่องใส ตัวแทนกลุ่มสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย  และยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เมธาวุฒิ เสาร์แก้ว นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ทั้งนี้สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย เคยเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกกฎระเบียบการตัดทรงผมนักเรียน และต่อมาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการได้รับข้อเสนอไปปรับปรุงระเบียบการตัดทรงผมดังกล่าว โดยสั่งให้สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือเวียนเพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการทุกแห่ง ว่าในเรื่องของทรงผมนักเรียนนั้น ให้ยึดกฎกระทรวง ฉบับที่ 2  พ.ศ. 2518 ซึ่งระบุวาาให้นักเรียนชายไว้ทรงยาวแบบรองทรงได้ และให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ผมสั้นหรือยาวได้

โดยในการเสวนา เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ซึ่งเป็นสาราณียกรนิตยสารปาจารยสารด้วย กล่าวว่า เราต้องมีจุดยืนมีสถานที่ยืนในสังคม ไม่ควรให้ระเบียบใดระเบียบหนึ่ง เช่นคุณบอกว่าตัดเกรียนดี แล้วบังคับให้ทุกคนในประเทศให้เหมือนคุณ เอาความคิดเป็นใหญ่คนเดียวไม่ได้ แต่เราถูกสอนมาแบบนี้ คือหนึ่งสอนให้อยู่ในโอวาทหรือสอนให้คนโง่ ไม่ต้องตั้งคำถาม อีกแบบหนึ่งคือสอนให้ใช้ความคิด ใช้วิจารณญาณตนเอง แต่ตอนนี้ของเรายังไม่ต้องการให้คนฉลาด ยังสอนให้คนอยู่ในโอวาท ดังนั้นคนที่ตั้งคำถามก็โดยแรง โดนกระแสหนัก แต่ตอนนี้คนก็ตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าอำนาจอนุรักษ์นิยมของพวกเขาไม่สามารถที่จะมีมนตราขังพันธนาการอิสรภาพทางความคิดได้ต่อไป

นอกจากนี้ พุทธิภรณ์ ผ่องใส กลุ่มสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ระบุเพิ่มเติมว่า พวกเขาต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ ทบทวนเรื่องการกระบวนการเรียนการสอน โดยให้เน้นว่า ผู้เรียนต้องเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อให้เด็กไทยทุกคน มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาอย่างแท้จริง มากกว่าเน้นกฎระเบียบที่เข้มงวดทั้ง เรื่องทรงผม ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน และเครื่องแต่งกาย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระการเรียนรู้

ส่วนเรื่องทรงผมที่ทางสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ หยิบเรื่องนี้มาเป็นเรื่องแรกเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว นักเรียนเข้าถึงเยอะ และเข้าใจง่าย โดยผลตอบรับมีสองกระแสคือชอบ และไม่ชอบ แต่อย่างน้อยคนเริ่มแสดงความคิดเห็นแล้ว ซึ่งการมีสองขั้วก็เป็นเรื่องดี ดีกว่าไม่มีเลยและเรียบราบ โดยต่อจากนี้จะเรียกร้องเรื่องการศึกษาคือเรื่องชั่วโมงเรียน

ในประเด็นเรื่องการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ยุกติ มุกดาวิจิตร แสดงความเห็นว่า รู้สึกอึดอัดกับเครื่องแบบมานานแล้วตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ แต่ส่วนนักเรียนนักศึกษา จะต่อสู้เรื่องนี้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นของผมคืออย่างน้อยที่สุดในมหาวิทยาลัย ในระดับโรงเรียน สังคมคงจะช็อคถ้าเรียกร้องในระดับโรงเรียนให้เลิกชุดเครื่อแต่งกาย เพราะเป็นเรื่องปกติมากในยุโรป ในสหรัฐอเมริกาไม่มี ประเทศญี่ปุ่นยังมี ในประเทศเพื่อนบ้านยังมี แปลว่าพื้นฐานของสังคมเป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว คือก้าวไปในอีกลักษณะหนึ่ง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไม่ใช่เรื่องจะมาบังคับควบคุมกัน อย่างน้อยที่สุด ผมไม่เข้าใจว่านักศึกษามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในปัจจุบันยังยอมรับที่จะใส่ชุดนักศึกษาได้อยู่ ซึ่งผมไม่ได้เรียกร้องให้เขาลุกขึ้นมา แต่กลับเรียกร้องกับคนมีอำนาจหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าคุณไปบังคับให้เขาแต่งชุดนักศึกษาได้อย่างไร

ต่อคำถามจากผู้ดำเนินรายการว่าถ้าเป็นนักศึกษา อยากใส่เครื่องแบบนักศึกษาหรือไม่ พุทธิภรณ์ตอบว่า ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยไม่อยากใส่เครื่องแบบ ถ้าเป็นผู้หญิงต้องสวมกระโปรง และชอบใส่กางเกงมากกว่าเพราะต้องกลับบ้านเอง ต้องขึ้นรถเมล์ พูดถึงเรื่องนักศึกษาครั้งหนึ่งต้องใส่ชุดนักศึกษา คิดว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าโหยหายว่าวัยนี้ฉันได้ใส่ชุดนักศึกษา แต่อยากคิดกลับว่า ฉันได้เรียนรู้อะไรมากกว่าครั้งหนึ่งฉันได้ใส่ชุดนี้ ส่วน เนติวิทย์ ตอบว่า ตอนนี้เป็นนักเรียนอยู่ก็ไม่อยากใส่ เข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่อยากใส่ เพราะไม่มีอะไรให้พิสมัย ส่วนใครอยากจะใส่ก็เรื่องของคุณ

ด้านยุกติ กล่าวถึงลัทธิบูชาเครื่อแบบว่า ลัทธิบูชาเครื่องแบบเกิดขึ้นมาจากการที่เราทำให้เครื่องแบบมีอำนาจในตัวของมันเอง เราทำจนกระทั่งเครื่องแบบศักดิ์สิทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มีนักศึกษาคนหนึ่งไปทำงานราชการ เสร็จแล้วก็มาเล่าด้วยความตื่นเต้นตกใจว่า ได้ใส่เครื่องแบบแล้วเดินในห้องประชุม แล้วย่อตัว เหมือนมีสัมมาคารวะ ก็ถูกตำหนิว่าใส่เครื่องแบบไม่ควรจะย่อตัวหรือนอบน้อมถ่อมตัว ไม่มีประโยชน์ แต่จะต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องแบบ

คือมนุษย์หายไปเลย เครื่องแบบมันสวมเรา เราไม่ได้สวมเครื่องแบบ ถ้าคุณอยู่ในลัทธิบูชาเครื่องแบบ เครื่องแบบสวมคุณ คุณเป็นแค่ร่างทรงของเครื่องแบบ เครื่องแบบมาประทับทรงคุณ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นหลายคนจึงบอกว่าเครื่องแบบศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะฉะนั้นจึงมีคนที่คิดว่าเมื่อเข้ามาในมหาวิทยาลัยอยากใส่เครื่องแบบสักครั้งหนึ่งในชีวิต หรือบางคนจะบอกว่าเครื่องแบบมหาวิทยาลัยมันเท่ หรือแสดงถึงว่าคุณได้บรรลุ คล้ายๆ ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตในระดับหนึ่ง แปลว่า คุณอยากจะเข้ามาอยู่ในชนชั้นของคนที่มีเครื่องแบบ เป็นชนชั้นของคนที่ได้สวมเครื่องแบบ หลายคนอยากสวมเครื่องแบบมหาวิทยาลัย เขาไม่ได้ใส่เห็นไหม เธอดูสิ ผมไม่เอา ผมไม่ใช่คนบูชาเครื่องแบบ ไม่สอนให้ใครบูชาเครื่องแบบ และไม่ได้แปลว่ากลับไปบ้านต้องเอาเครื่องแบบไปเผา แต่ไม่ต้องบูชาเครื่องแบบ เป็นแค่เครื่องแต่งกาย ถ้าอยากจะบูชาใครก็บูชาไป อยากจะบูชาคนที่เป็น Idol เป็นอุดมคติของคุณก็ว่าไป จะบอกว่ามหาวิทยาลัยมีศักดิ์ศรีอย่างนั้นอย่างนี้ มีคุณค่า สั่งสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็บูชาไป ไม่เห็นต้องมาบูชาผ่านเครื่องแบบ เครื่องแบบเป็นแค่เครื่องแต่งตัวเท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net