จี้กรมเจรจาฯ รับฟังความเห็นแล้วปรับแก้ ก่อนนำร่าง FTA ไทย-อียู เข้าสภาฯ

เอฟทีเอวอทช์แถลงข่าวจวกภาครัฐไม่จริงใจ เผยร่างเจรจากระชั้นชิดก่อนรับฟังความคิดเห็น 23 ม.ค.นี้ ชี้ร่างมีปัญหาหลายจุด โดยเฉพาะบททรัพย์สินทางปัญญาทำยาแพง ทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย-ล้มนโยบายสาธารณะ

 
 
21 ม.ค.56 ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ โรงแรม ทีเค.พาเลซ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) แถลงข่าว เรียกร้องให้กรมเจรจาฯ เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อทบทวนและปรับปรุงร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ก่อนที่จะเสนอสู่รัฐสภา เนื่องจากที่ข้อตกลงมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง
 
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปเพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่ผ่าน ครม.เกือบ 2 เดือนแล้ว เพราะพบว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมกับเขียนอย่างกว้างๆ ขณะที่เนื้อหาที่ภาคธุรกิจต้องการกับเขียนอย่างรัดกุม ดังนั้น ผลจากการรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 23 ม.ค.นี้ ควรนำไปสู่การปรับปรุงร่างกรอบเจรจาก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณารัฐสภา
 
นิมิตร์ กล่าวว่า เนื้อหาของร่างกรอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ FTA ไทย-อียู มีความน่าเป็นกังวล ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อ 5.11.1 ระบุว่า "ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลกและ/หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี" ซึ่งก่อนหน้านี้กรมเจรจาฯยอมรับเองว่า ที่เขียนเช่นนี้ อนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ แม้จะพยายามเขียนข้ออื่นๆให้เหมือนเป็น safeguard แต่จากเอกสารที่ สำนักงาน อย.นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ก็ระบุชัดเจนว่าจะเกิดการผูกขาดข้อมูลทางยาจะขัดขวางการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของรัฐเพื่อสาธารณประโยชน์ (ซีแอล) มิให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
 
นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องของอียูมันมีผลในทางปฏิบัติ ทำให้เราไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาได้ เรื่องสิทธิบัตรยา มันทำลายระบบสาธารณสุข จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงโดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย และกระทบกับความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด ซึ่งมันเกินที่จะเยียวยาไปแล้ว  รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน คือความคุ้มครองสิทธิบัตรยาต้องไม่เกินไปว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า "TRIPS"
 
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เราเรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ตาม ม.190 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และล่าสุดเราก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิจารณากรอบการเจรจาฯ ในวันพุธที่ 23 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นเวลากระชั้นชิดมาก
 
ประเด็นใหญ่อีกประเด็นคือผลกระทบทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา การที่กรอบการเจรจา ข้อ 5.11.1 นั้น จะเป็นการเปิดช่องให้มีการยอมรับการมีมาตรฐานแบบยุโรปซึ่งเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาของยุโรป เรามองว่าต้องเขียนให้รัดกุมกว่านี้ คือระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก และต้องไม่ขยายไปถึงการคุ้มครองในเรื่องพันธุ์พืช ไม่ใช่เช่นนั้น เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 3-4 เท่าตัว และจะกระทบถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร
 
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ประเทศไทยควรได้รับประโยชน์จากผู้ที่เอาทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ กลับระบุให้เป็นเพียงความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ กล่าวว่า กรมเจรจาฯ เปิดรับฟังความเห็นแบบพิธีกรรมหรือเปล่า รับฟังแล้วนำไปสู่การทบทวนไหม จากกรอบการเจรจา ข้อ 5.11.1 จะพบว่ามันไม่ได้เขียนไปตามจากการที่รับฟังความคิดเห็น ข้อกังวลที่เสนอ การเขียนว่าให้การคุ้มครองสอดคล้องกับ TRIPS นั้นเป็นการฉ้อฉล เป็นเพียงมาตรการขั้นต่ำ คุณจะคุ้มครองให้สูงกว่านั้นได้
 
จิราพร กล่าวต่ออีกว่า หากดูตัวอย่างจากประเทศอินเดียจะพบว่าการยืนหยัดในเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้การเจรจา FTA เดินหน้าต่อไปไม่ได้ สุดท้าย EU ก็ต้องยอมเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับอินเดีย ประเทศอินเดียก็ทำได้ ประเทศไทยที่เพิ่งจะร่างกรอบก็ต้องทำได้เหมือนกัน และขณะนี้ยาก็แพงมากอยู่แล้ว หากคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกิน TRIPs ยาก็จะยิ่งแพง ทั้งที่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในที่สุดเราก็จะตกเป็นทาสของประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องยา
 
ส่วนเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ในข้อ 5.9.5 ซึ่งระบุว่า "เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาท และผลักดันให้มีกลไกหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการลงทุนเฉพาะเรื่อง" เนื้อหาในส่วนนี้ เรียกชื่อทางการว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและอกชน (Investor State Dispute Settlement - ISDS) ซึ่งก็มีข้อน่ากังวลคือ จากประสบการณ์ในอดีตจะพบว่า ประเทศในความตกลง NAFTA ที่ถูกนักลงทุนต่างชาติใช้กลไกดังกล่าวในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายสาธารณะมานักต่อนักแล้ว แต่ในร่างกรอบเจรจาฯ FTA ไทย-อียูกลับเปิดทางให้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท