Skip to main content
sharethis

ทอม แชทฟิลด์ คอลัมนิสต์ BBC Future กล่าวถึงระบบ Graph Search ของเฟซบุ๊กที่เพิ่งมีการเปิดทดลองใช้ ทำให้สามารถค้นหาอย่างเจาะจงได้ แต่ก็ชวนตั้งคำถามว่ามันจะยิ่งทำให้ช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใช้และการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นหรือไม่ และมันอาจกลายเป็น 'เกม' สำหรับธุรกิจใหญ่ในการใช้ความสัมพันธ์เป็นทรัพยากร

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2012 ทอม แชทฟิลด์ คอลัมนิสต์ของ BBC Future ได้เผยแพร่บทความแสดงทัศนะส่วนตัวต่อเรื่องการประกาศใช้ระบบ Graph Search ซึ่งกำลังเป็นระบบที่เปิดทดลองให้ใช้แบบเบต้าอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผลต่อผู้ทำธุรกิจผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

โดยระบบ Graph Search เป็นระบบค้นหาข้อมูลต่างๆ เช่นเพื่อน รูปถ่าย หรือสถานที่ ที่มีในเครือข่ายเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กโดยจะสามารถกำหนดรายละเอียดต่างๆ ได้ เช่น การค้นหา "เพื่อนที่อยู่ในนิวยอร์คและชื่นชอบวิดีโอเกมส์" หรือ "คนที่ชื่นชอบสตาร์วอร์และยังโสดอยู่" เป็นต้น จากเพจเผยแพร่ข้อมูลของเฟซบุ๊กยืนยันว่าระบบความเป็นส่วนตัวยังคงนำมาใช้ได้กับการเสิร์ชหรือถูกเสิร์ชเจออยู่

เมื่อเริ่มมีการพูดถึง Graph Search ก็มีคนสงสัยสองเรื่องใหญ่ๆ ว่า มันจะทำเงินได้มากหรือไม่ และมันจะสามารถเอาชนะเสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลได้หรือไม่ โดยที่หลังประกาศระบบใหม่นี้อัตราตลาดหุ้นของเฟซบุ๊กปรับลดลงร้อยละ 3

ในแง่ของการถูกนำไปเปรียบเทียบกับกูเกิลนั้น ทอม แชทฟิลด์กล่าวในบทความว่าระบบ Graph Search จะถือเป็นครั้งแรกที่มีระบบค้นหาในเชิงสังคม โดยที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กได้อธิบายไว้ในงานประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิ้ลเป็นเรื่องของการเน้นค้นหาลิงก์ แต่ Graph Search เป็นเรื่องของการค้นหาคำตอบที่อยากได้โดยตรง แทนการให้ลิงก์ที่นำไปหาคำตอบ

ระบบค้นหานี้จะทำให้สามารถค้นหาผู้คนหรือสถานที่ได้อย่างเจาะจงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ (liked) สถานที่ที่พวกเขาไป สิ่งที่พวกเขาทำ ความสนใจของพวกเขา รวมถึงการให้คะแนนประสบการณ์ต่างๆ

โดยขณะที่ระบบยังเป็นแบบเปิดทดลองใช้อยู่ แต่ก็มีนักโฆษณา ผู้จ้างวาน และแบรนด์สินค้าต่างๆ ไปแสวงหาโอกาสกันแล้ว และแน่นอนว่าการที่รูปภาพเป็นส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของระบบ Graph Search ทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่สำหรับธุรกิจต่างๆ มากพอๆ กับปัจเจกบุคคลทั้วไป รวมถึงคนที่ต้องการหาคู่ด้วย


ข้อมูลที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของบุคคล

ทอม กล่าวในบทความว่า ระบบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของอนาคตอินเทอร์เน็ต จากการที่ก่อนหน้านี้ผู้คนมักจะใช้อินเทอร์เน็ตอยู่หลัง 'ม่าน' ของผู้ใช้นิรนาม การค้นหาและการค้นพบต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่ถูกผลักดันโดยมาตรวัดเทรนด์โลกและการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้หลายล้านคน แต่ระบบ Graph Search จะทำให้ข้อมูลกลายเป็นสนามแข่งขันสำหรับการค้นพบทางสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

"เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์คือการที่บริษัทอย่างกูเกิลประเมินต่ำเกินไป ในแง่ความปรารถนาที่ต้องการทำให้ประสบการณ์เช่นนี้ (การถูกค้นพบ) เป็นเรื่องของบุคคล" ทอมกล่าว "การใช้เครื่องมือค้นหาในการค้นพบผลลัพธ์ที่ตรงเป้าเป็นเรื่องดีมากก็จริงอยู่ แต่ผู้คนก็มีความกระหายข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการจัดอันดับ แต่เกี่ยวกับว่าข้อมูลนั้นมาจากใคร"


"ผู้ใช้ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน"

อย่างไรก็ตาม เอลิเซ แอคเคอร์แมน ได้เขียนบทวิเคราะห์ลงใน Forbes บอกว่า "จำนวน 'ไลค์' ของบางคนมีค่ามากกว่าคนอื่น" ผู้ใช้ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน ยิ่งความเป็นบุคคลนิรนามถูกแทนที่ด้วยโลกความจริงที่รุกล้ำเข้ามาด้วย ชื่อเสียง จำนวนเพื่อน สเตตัส และผู้ติดตามแล้ว ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันฝังรากลงไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเวลามีเซเลบฯ หรือดาราแสดงการสนับสนุนสินค้าผ่านทางทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ติดตามนับล้าน แต่จากนี้ไปสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนน้อยกำลังถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทอมกล่าวว่าเวลาพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันบนโลกอินเทอร์เน็ต มันไม่ได้หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันในสถานะทางสังคมเท่านั้น แต่ในโลกของเรามีคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วต่างกัน ถูกจำกัดเสรีภาพไม่เท่ากัน มีระดับบริการต่างกัน และสิทธิในโลกออนไลน์ต่างกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม แต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงและการกระจายข้อมูล ซึ่งเฟซบุ๊กก็คอยส่งเสริมลักษณะไม่แน่ไม่นอนเช่นนี้ และก็คอยช่วยเราเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าอย่างไร


เกมชื่อเสียง

ผู้เขียนบทความใน BBC กล่าวอีกว่า ระบบเช่นนี้ทำให้ถูก 'นำมาเล่นเป็นเกม' ได้เช่น การให้เงินสนับสนุนให้คนเขียนวิจารณ์ร้านอาหารดีๆ หรือกับคนที่มีเพื่อนและผู้ติดตามจำนวนมากก็อาจได้รับเงินให้บอกว่าตนเคยไปเยือนร้านอาหารมาแล้ว แม้ว่าจริงๆ แล้วจะไม่เคยไปเลยก็ตาม

"ในแง่นี้โซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้เป็นพลังขับเคลื่อนมากเท่ากับเป็น 'แว่นขยาย' ที่ส่องให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ มันได้เน้นให้เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเช่น การไปมาหาสู่กัน, ความเป็นคนมีชื่อเสียง, การผูกขาด, ความน่าตื่นเต้น และน่าดึงดูด" ทอมกล่าว

แต่ก็ยังวัดไม่ได้ว่าระบบ Graph Search ของเฟซบุ๊กจะประสบความสำเร็จ หรือเป็นเรื่องของชื่อเสียงกับการให้เปล่าแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามมันเป็นสัญญาณว่าวัฒนธรรมในโลกอินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโยงกับชีวิตจริงและสถานที่จริงมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็กับสิ่งที่สามารถวัดได้และ 'กดคลิก' ได้

ทอมกล่าวว่า ขณะที่เฟซบุ๊กคิดว่าจะช่วยให้เราค้นหาสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการให้อย่างเจาะจงมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงการทำให้เราคล้ายเป็น 'คนงานพาร์ทไทม์' ในแง่ของนักประชาสัมพันธ์, ผู้ประกาศข่าว, นักวิจารณ์ และผู้สนับสนุนส่งเสริมตัวเอง


หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นการส่งเสริมบุคลิกต่อต้านสังคม (Sociopath)

ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. 2011 ผู้ก่อตั้งเว็บ Pinboard (ที่ออกตัวว่าเป็นเว็บบุ๊คมาร์คสำหรับผู้มีบุคลิกเก็บตัว) มาเชจ์ เซโกลวสกี กล่าววิจารณ์เรื่องการเชื่อมโยงทางสังคมในอินเทอร์เน็ตหรือ 'โซเชียลกราฟ' ว่า เป็นแนวคิดที่ทำให้มีการเก็บข้อมูลจากคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยและใช้มันเพื่อชักใยคนอื่นให้ตนเองได้ประโยชน์ "ซึ่งพวกเราเรียกคนแบบนี้ว่าเป็นพวกต่อต้านสังคม (Sociopath)" มาเชจ์กล่าว

"แม้คำกล่าวของมาเชจ์ จะเป็นเหมือนคำเตือนมากกว่าคำทำนาย แต่เราก็ควรรับฟังอย่างจริงจัง ในยุคสมัยที่คนบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่เท่าเที่ยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์และการสนับสนุนกลายเป็นสินค้าที่นำมาขายได้ รางวัลสำหรับการจมดิ่งลงไปในบุคลิกต่อต้านสังคมภายในตัวเราเองไม่เคยเป็นเรื่องน่าเย้ายวนเท่านี้มาก่อน" ทอมกล่าว

"แต่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เกมบางเกมก็ไม่มีคุณค่าพอจะเอามาเล่นกันเลย" ทอมกล่าว

 


เรียบเรียงจาก

Facebook: Why some “likes” are worth more than others, Tom Chatfield, BBC, 18-01-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net