นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ 'ดีเอ็นเอสี่เกลียว' ก้าวใหม่ในการค้นคว้าวิธีรักษามะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ค้นพบดีเอ็นเอแบบสี่เกลียวซึ่งมักจะมีในเซลล์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเซลล์มะเร็ง และสามารถหาวิธีหยุดยั้งการแบ่งเซลล์ของมันได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์เนื้องอกต่อไป

20 ม.ค. 2013 สำนักข่าว The Independent รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ค้นพบดีเอ็นเอ 4 เกลียว ในเซลล์ของมนุษย์ และการยับยังการแบ่งตัวซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่อาจนำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษามะเร็งได้

ดีเอ็นเอ คือ สารพันธุกรรมที่มีชื่อเต็มว่า 'กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก' รูปดีเอ็นเอเกลี่ยวคู่ (double helix) กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยเจมส์ ดี วัตสัน และ ฟรานซิส คริก ในปี 1953

แต่ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบดีเอ็นเอของมนุษย์ที่จัดเรียงตัวรูปแบบใหม่ โดยมีเกลียวทั้งสี่เกลียวผูกไว้ด้วยกัน โดยที่ดีเอ็นเอสี่เกลียวนี้มักจะมีอยู่ในเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญในการใช้วัดว่าเซลล์นั้นๆ กลายเป็นเซลล์มะเร็งไปแล้วหรือไม่

ชังการ์ บาลาสุบรมาเนียน ศาตราจารย์ผู้เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารเนเจอร์เจเนติกส์กล่าวว่า ดีเอ็นเอสี่เกลียวมีโครงสร้างที่แตกต่างจากแบบสองเกลียวอย่างเห็นได้ชัด พวกเขายังรู้เรื่องเกียวกับมันน้อยมาก แต่ก็เชื่อว่าดีเอ็นเอสี่เกลียวนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

"ดีเอ็นเอที่มีโครงสร้างแบบสี่เกลียวจะเป็นกุญแจสำคัญในการหาหนทางยับยั้งการเพิ่มของเซลล์มะเร็งเฉพาะส่วน การที่ค้นพบมันในในเซลล์ของมนุษย์ถือเป็นหมุดหมายที่ดี" ชังการ์กล่าว

ชังการ์กล่าวอีกว่า พวกเขาได้ทดลองดักจับดีเอ็นเอสี่เกลียวนี้ด้วยโมเลกุลและพบว่ามันทำให้เกิดการหยุดการแบ่งเซลล์ได้ และผลการค้นคว้าทำให้เห็นอีกว่าดีเอ็นเอสี่เกลียวมักจะอยู่ในยีนส์ของเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็วเช่นเซลล์มะเร็ง

"พวกเราค้นพบว่าเมื่อมีการดักจับดีเอ็นเอสี่เกลียวด้วยโมเลกุลสังเคราะห์ พวกเราสามารถแยกตัวและหยุดการทำงานของพวกมันได้ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญต่อวิธีการที่พวกเราสามารถทำให้เกิดการหยุดการแบ่งเซลล์ได้" ชังการ์กล่าว

แม้ว่าดีเอ็นเออาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในรูปแบบต่างจากปกติเมื่ออยู่ภายใต้สภาพจำลองในห้องแล็บ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ดีเอ็นเอสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบสี่เกลียวได้ในเซลล์ของมนุษย์ที่ยังมีชีวิต

ดร.จูลี ชาร์ป เจ้าหน้าที่ข้อมูลระดับสูงของศูนย์วิจัยโรคมะเร็งในอังกฤษผู้ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่าผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นในครั้งนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของเรื่องราวเกียวกับ DNA นับตั้งแต่การค้นพบรูปร่างเมื่อ 60 ปีก่อน และนอกจากการต่อยอดเพื่อค้นคว้าเรื่องมะเร็งแล้ว ในลำดับต่อไปจะมีการค้นคว้าเพื่อนำมาใช้กำจัดเซลล์เนื้องอกด้วย

โมเลกุลใหญ่ๆ ของดีเอ็นเอประกอบด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ โดยรหัสของมันเกิดจากการเรียงตัวของหน่วยเคมีที่เรียกว่า 'เบส' สี่ชนิดคือ อะดีนีน (ตัวย่อ A) ไซโทซีน (C) กวานีน (G) และไทมีน (T) ก่อให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานของโครโมโซม ทีมวืจัยของชังการ์พบว่าเมื่อพวกมันมีเบสกวานีน (G) อยู่เป็นจำนวนมากพวกมันจะแตกตัวจากเกลียวคู่กลายเป็นสี่เกลียวที่มีการยึดตัวอย่างแน่นหนาระหว่างโมเลกุลดีเอ็นเอ

เรียบเรียงจาก

Fresh twist to the DNA story signals major cancer breakthrough, The Independent, 20-01-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท