Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายปีมาแล้ว ผมเสนอการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยว่า ระบบการเมือง(ความสัมพันธ์ทางอำนาจ)ไม่สามารถปรับตัวเอง ให้รองรับการขยายตัวของคนกลุ่มใหม่ซึ่งผมเรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่างได้ คนเหล่านี้มีจำนวนมหึมาและจำเป็นต้องมีพื้นที่ต่อรองทางการเมืองในระบบ เพราะชีวิตของเขา โลกทรรศน์ของเขา และผลประโยชน์ของเขาเปลี่ยนไปแล้ว

ตราบเท่าที่ชนชั้นนำในระบบการเมืองไม่ยอมปรับตัว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็จะดำเนินต่อไป และในหลายปีที่ผ่านมา ผมยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าชนชั้นนำสำนึกถึงความจำเป็นในแง่นี้ หรือพร้อมจะหาหนทางต่อรองกับคนกลุ่มใหม่ เพื่อปรับระบบการเมือง

แต่ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าโอกาสดังกล่าวเริ่มปรากฏให้ทุกฝ่ายมองเห็นได้ชัดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปรับระบบการเมือง จนทุกฝ่ายพอยอมรับได้ และหันมาต่อสู้กันในระบบ (ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ที่รัฐสภาอย่างเดียว) โดยไม่เกิดความรุนแรง เริ่มจะมีลู่ทางมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากอุปสรรคอีกหลายอย่างที่จะทำให้เส้นทางสู่ความเป็นระเบียบนั้น อาจมีลักษณะกระโดกกระเดกบ้าง แต่ผมคิดว่าดีกว่าที่ผ่านมา

ฉะนั้น ผมจึงขอพูดถึงนิมิตหมายดีๆ ที่ปรากฏให้เห็นในช่วงนี้

ผมทายไม่ถูกหรอกว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ แต่รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเดิมเสียแล้ว อย่างน้อยการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็ชี้ให้ชนชั้นนำเดิมเห็นประจักษ์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้บางคนในหมู่ชนชั้นนำเดิม ซึ่งยังอาจมองไม่เห็น (เช่นผู้อยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวกลุ่มพิทักษ์สยาม) ก็ไม่อาจใช้การรัฐประหารได้ เพราะกองทัพไม่ยอมเคลื่อนเข้ามาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันสั้นข้างหน้า

ปราศจากเครื่องมือในการยับยั้งหรือชะลอการปรับระบบการเมือง ชนชั้นนำเดิมต้องหันมาใช้เครื่องมืออื่น ซึ่งดูเป็นการเคารพต่อ"ระเบียบสังคม"ทางการเมืองมากกว่า เครื่องมือสำคัญคือที่ได้ออกแบบฝังเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก่องค์กรอิสระซึ่งไม่ได้อิสระจริง กระบวนการทางตุลาการนานาชนิดซึ่งไม่มีใครสามารถตรวจสอบยับยั้งได้ นอกจากกลุ่มชนชั้นนำเดิม รวมทั้งวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาอีกครึ่งหนึ่งด้วย

นี่คือเหตุผลที่ต้องขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องให้"คำแนะนำ"ที่ไม่เกี่ยวกับคดี

แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า  ความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้ แม้มีมวลชนเข้ามาร่วมด้วย แต่ไม่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ต่างฝ่ายต่างใช้สื่อของตนเองในการโต้เถียงกัน ด้วยเหตุผลบ้าง ด้วยอารมณ์บ้าง แม้กระนั้นก็ไม่ประทุกลายเป็นการยกพวกตีกัน หรือจลาจลกลางเมือง

เช่นเดียวกับการรัฐประหาร การชุมนุมใหญ่เพื่อสร้างเงื่อนไขเชิงบังคับกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยลงแก่ขบวนการมวลชน ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมใหญ่จนปะทะกันจึงมีน้อยลงไปมาก ความจริงผมคิดด้วยว่า ประเด็นใหญ่ที่จะดึงผู้คนมาร่วมชุมนุมใหญ่นั้น หมดความขลังไปเป็นส่วนใหญ่ เช่นประเด็นการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยดึงคนมาได้มากมายนับตั้ง 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ไม่ขลังดังเดิมเสียแล้ว ผู้ที่ยังต้องการใช้ประเด็นนี้ ต้องกลับไปคิดว่าจะเสนอการละเมิดในลักษณะใด จึงจะปลุกคนขึ้น ประเด็นอื่นเช่นบุรณภาพเหนือพื้นที่ชายแดน จะปลุกขึ้นหรือไม่ ต้องรอคำตัดสินของศาลโลก แต่ผมออกจะสงสัยว่าไม่ขึ้นอีกนั่นแหละ เพราะที่จริงแล้ว มีพื้นที่ชายแดนของไทยซึ่งยังมีสถานะคลุมเครืออีกทั่วทุกด้าน และกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดการความคลุมเครือนั้นไปในทางใด – สันติภาพ หรือสงคราม – ต่างหาก

แท้ที่จริงแล้ว ผมสงสัยว่าชนชั้นนำการเมืองทุกฝ่ายกำลังตกใจกับ"การเมืองมวลชน" ชนชั้นนำไทยเคยใช้"การเมืองมวลชน"มานานแล้วก่อน 14 ตุลา แต่ใช้เพียงรูปแบบเช่นการประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ, เรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส, และล้มการเลือกตั้ง "สกปรก" 14 ตุลาเป็นการใช้"การเมืองมวลชน"กว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยความหวังแบบเก่าว่า เมื่อล้มกลุ่มอำนาจที่ครองอำนาจอยู่ขณะนั้นได้แล้ว มวลชนก็จะกลับบ้านนอนตามเดิม การณ์ไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เพราะ 14 ตุลาเป็น "การเมืองมวลชน"ที่แท้จริง มากกว่ารูปแบบ ปีกหนึ่งของมวลชนคือนิสิตนักศึกษาไม่ยอมกลับบ้านนอน ซ้ำยังอยู่ห่างจากการกำกับของชนชั้นนำอีกด้วย และด้วยเหตุนั้นจึงต้องสร้าง"การเมืองมวลชน"จากอีกปีกหนึ่งมาล้างผลาญปีกนิสิตนักศึกษา

ซึ่งเท่ากับเพิ่มพลังให้แก่พรรคฝ่ายค้านของระบบที่แท้จริงคือ พ.ค.ท. กลายเป็นบทเรียน (ซึ่งชนชั้นนำได้เรียนหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ว่า การทำลายพลังของ"การเมืองมวลชน"ด้วยวิธีรุนแรงแบบนั้น จะยิ่งทำให้ศัตรูของระบบเข้มแข็งขึ้น เอาเข้าจริงแล้ว "การเมืองมวลชน"ที่แท้จริง เป็นอันตรายต่อชนชั้นนำทางการเมืองมาก เพราะพลังทำลายล้างระบบของ"การเมืองมวลชน"รุนแรงมาก และกำกับไม่ได้ โดยเฉพาะกำกับไม่ได้โดยฝ่ายอำนาจ ระบบการเมืองตามประเพณีของสังคมทั้งหลายในโลกนี้พังทลายลงด้วย"การเมืองมวลชน"ทั้งนั้น

อย่าว่าอะไรเลย ดูที่สถาบันกษัตริย์ของทุกประเทศทั่วโลกก็ได้ ผู้ "ล้มเจ้า" ตัวจริงในโลกนี้มีสองพวกเท่านั้น คือ"การเมืองมวลชน"และเผด็จการทหาร เพราะ"การเมืองมวลชน"ก็ตาม กองทัพก็ตาม ย่อมเกิดเจตน์จำนงอิสระของตนเองขึ้นจนได้ และเจตน์จำนงอิสระนี้ไม่จำเป็นว่าจะสอดคล้องกับเจตน์จำนงของระบบการเมืองที่มีอยู่เสมอไป

ว่าถึงสถานการณ์ของ"การเมืองมวลชน"ในประเทศไทย ผมคิดว่าทั้งกลุ่มเหลืองและแดง ค่อยๆ พัฒนาเจตน์จำนงอิสระของตนเองขึ้น จนผู้อยู่เบื้องหลังกำกับควบคุมยากขึ้นทุกที การทำงานของเหลืองไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับ"แนวหน้า"กลุ่มจารีตนิยมฝ่ายอื่น เช่นกองทัพ หรือพรรค ปชป. รวมไปถึงองค์กรอิสระเช่น กกต.และ ปปช.ด้วย

วีรบุรุษของฝ่ายแดงคือคุณทักษิณรู้สึกถึงความหนักของเสื้อแดงมากขึ้นทุกที แม้แต่จะเอาชีวิตเลือดเนื้อของฝ่ายแดงไปแลกกับการพ้นคดีของตนเองก็ทำไม่ได้ เพราะมวลชนฝ่ายแดงจำนวนมากไม่ยอม และถึงกับออกมาประณามวีรบุรุษอย่างรุนแรง คุณทักษิณต้องรีบออกมาขอโทษ ซัดทอดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียไข้หวัดไปโน่น นับวัน"การเมืองมวลชน"ก็เป็นภาระที่หนักขึ้นทุกที คุณทักษิณจึงได้แต่ขอบคุณ"เรือ"เสื้อแดงที่มาส่งถึงฝั่งแล้ว ขอแยกย้ายกันต่างคนต่างไปเสียที

แม้อ่อนกำลังลง แต่"การเมืองมวลชน"ก็ยังอยู่นะครับ ยังไม่สลายสิ้นซากเสียทีเดียว เพราะตราบเท่าที่ระบบการเมืองไม่ถูกปรับให้รับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม "การเมืองมวลชน"ก็ยังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองจนได้ แต่ผมคิดว่า"การเมืองมวลชน"เป็นอิสระมากขึ้น และสุขุมคัมภีรภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหว เพราะต่างฝ่ายยังต้องสะสมพลังมากกว่านี้อีกมาก เพื่อจะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองอย่างได้ผล ผมรู้สึกว่า แม้แต่แกนนำที่พูดเก่งๆ อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุลหรือคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อก็กุม"การเมืองมวลชน"ได้น้อยลง "การเมืองมวลชน"อาจกำลังเดินไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์กว่าก็ได้ นอกจากนี้ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างรู้แล้วว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

ในสภาวะที่ความขัดแย้งพัฒนาถึงจุดงันทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการปรองดอง เสียงของคนอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้ยินมาก่อน ก็จะมีคนฟังบ้าง การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างมวลชนของสองฝ่าย อาจเกิดขึ้นได้โดยโคตรเหง้าเหล่ากอไม่ถูกสื่อของทั้งสองฝ่ายพล่าผลาญเกียรติคุณลง

อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงความปรองดอง สื่อและผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่สนใจ"มวลชน" และไปคิดว่า หากผู้นำคู่ขัดแย้งสามารถจับเข่าคุยกันได้ ทุกอย่างก็จะจบ แต่นั่นเป็นการจบแบบเกี้ยเซี้ย ซึ่งความขัดแย้งในเมืองไทยได้เดินเลยจุดที่ผู้นำเกี้ยเซี้ยกันได้ แล้วทุกอย่างจะจบลงเสียแล้ว อย่าลืมว่าความขัดแย้งกันครั้งนี้ออกมาในรูป"การเมืองมวลชน"นับตั้งแต่แรก

ในสถานการณ์ดังที่กล่าวนี้ น่าสังเกตด้วยว่า ความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งเชิงนโยบาย (เช่น รับจำนำข้าว, ค่าแรง 300 บาท หรือรถคันแรก) มีการนำปรัชญาแนวคิดของทั้งตะวันตกและตะวันออกมาใช้เพื่อโต้แย้งกันในเรื่องอุดมการณ์ ผมรู้สึกว่าการโต้เถียงกันด้วยคำบริภาษหยาบคาย หรือข้อโต้แย้งแบบเดิมๆ กำลังลดน้อยถอยลง (อาจยังเหลืออยู่ใน ASTV กับพรรค ปชป.) ข่าวเรื่องบุคคลชาวเสื้อเหลืองที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพราะถูกกล่าวหาว่าเจตนาทำร้ายเจ้าพนักงานด้วยการขับรถชนและทับ ได้รับความเห็นใจและให้การปฏิบัติฉันมิตรจากชาวเสื้อแดงในเรือนจำ นับเป็นข่าวดี และสะท้อนบรรยากาศที่คลี่คลายไปในทางดีในช่วงนี้

แต่อย่าเพิ่งมองเห็นฟ้าทองผ่องอำไพ หนทางยังไม่ราบรื่นอย่างนิมิตหมายที่ดีซึ่งมองเห็นได้ในปัจจุบัน

ขบวนการของมวลชนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้"การเมืองมวลชน"นำไปสู่การปรับระบบการเมือง แต่อาจลงเอยที่การเกี้ยเซี้ยของกลุ่มต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้นก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่จะเกิดความสงบขึ้นได้

นับวันสื่อที่มุ่งจะทำหน้าที่ของตนโดยสุจริตมีน้อยลง คนทำสื่อก็เป็นมนุษย์ ย่อมเลือกข้างได้ แต่เลือกข้างแล้วก็ยังต้องทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรงต่อไป คนกวาดถนนเลือกข้างแล้ว แต่แอบเจาะโพรงในถนนเพื่อให้ข้างปรปักษ์ตกลงไปขาหัก ก็ไม่น่าจะเรียกตนเองว่าคนกวาดถนนได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น

มีความรู้อีกมากที่สังคมควรรู้ แต่เป็นความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นจากการศึกษาวิจัย นักวิชาการออกมารณรงค์ร่วมกับมวลชนก็ได้ แต่ยังมีหน้าที่เฉพาะของตนต้องทำต่อไป อย่างซื่อตรงต่อหน้าที่ด้วย

ผมคิดว่าสื่อและความรู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เราขัดแย้งกันต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง แต่เราขาดทั้งสองอย่างในเวลานี้

สังคมขาดเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้พรรคการเมืองเพื่อความขัดแย้งไม่ได้เลย เพราะพรรคการเมืองนำความขัดแย้งไปสู่การแย่งอำนาจ แทนที่จะนำไปสู่การต่อรองของฝ่ายต่างๆ ยังไม่มีนิมิตหมายอะไรที่แสดงว่าพรรคการเมืองจะเปลี่ยนตัวเอง

ผู้ทำความล้มเหลวแก่สังคมไทยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อาจไม่ใช่เสื้อสี แต่คือส่วนอื่นๆ ที่กุมเงื่อนไขของ "การเมืองมวลชน" ให้ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสร้างความไร้ระเบียบขึ้นต่อรองกัน



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net