Skip to main content
sharethis
 
Women in the news ประจำวันที่ 1 ม.ค. - 17 ม.ค. 56
 
ประมวลข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงรอบโลก เพื่อนำเสนอความท้าทาย ปัญหาและโอกาสเกี่ยวกับสิทธิสตรี สัปดาห์นี้ในอินเดีย ยังคงมีกรณีการข่มขืนที่ยังไม่ยุติหลังจากการประท้วงระลอกใหญ่ไปจนถึงซาอุดิอาระเบียที่แต่งตั้งสตรีในสภาที่ปรึกษาระดับชาติเป็นครั้งแรก สู่สหรัฐอเมริกาที่การผ่านกม. ปกป้องสิทธิสตรีถูกคัดค้านโดยส.ส.พรรครีพับลิกัน 
 
 

ที่มาภาพ: www.policymic.com

 
 
3 ม.ค. 56 - ส.ส. รีพับลิกันในสภาล่างปฏิเสธการเห็นชอบการใช้พ.ร.บ. ความรุนแรงต่อสตรี ค.ศ. 2012 (Violence against Women Act) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมการป้องกันความรุนแรงภายในครัวเรือนที่กระทำต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT) แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนและสตรีพื้นเมืองอเมริกันกว่า 30 ล้านคน ถึงแม้ว่าได้การสนับสนุนจากรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน และได้รับการรับรองจากเสียงในวุฒิสภา
 
ส.ส. รีพับลิกันในสภาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ดังกล่าวเนื่องจากเป็นการสนับสนุนกลุ่มแรงงานอพยพ กลุ่ม LGBT และสตรีพื้นเมืองมากเกินไป และได้ส่งพ.ร.บ. ที่ร่างขึ้นใหม่ซึ่งไม่ครอบคุลมสตรีในกลุ่มดังกล่าวสู่การพิจารณาในสภาคองเกรส 
 
นับว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 ที่พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบจากส.ส. ในสภา โดยทำเนียบขาวได้ระบุว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ปรับปรุงระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อสตรี และจัดหางบประมาณในโครงการต่างๆ ที่ยุติความรุนแรงในครัวเรือน การทำร้ายทางเพศ และการเยียวยาต่อผู้ถูกกระทำทางเพศ 
 
ทั้งนี้ การผ่านกฎหมายในสภาของสหรัฐ จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาล่าง ซึ่งปัจจุบันมีเสียงจากพรรครีพับลิกันมากกว่า และสภาสูง ซึ่งมีเก้าอี้จากพรรคเดโมแครตมากกว่า 
 
 
10 ม.ค. 56 - รัฐบาลซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีจากประชาคมนานาชาติ หลังจากดำเนินการประหารชีวิตแม่บ้านชาวศรีลังกาวัย 24 ปี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยนางสาวราซีนา นาฟีก ผู้อพยพจากประเทศศรีลังกามาทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านเมื่อปี 2548 ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมทารกวัย 4 เดือน ซึ่งเป็นลูกของนายจ้างในครอบครัวที่เธอทำงานให้ในกรุงริยาห์ด ซาอุดิอาระเบีย เธอถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตในปี 2550 ท่ามกลางการคัดค้านขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลที่ต่อต้านโทษประหารชีวิต เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์แนเชั่นแนล และฮิวแมนไรท์ วอทช์
 
สื่อทางการของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ตอบโต้การประณามดังกล่าวว่า ทางการซาอุฯ ปฏิเสธการแทรกแซงใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจการและอำนาจศาลจากภายนอกประเทศ ในขณะที่รัฐบาลศรีลังกาได้เรียกทูตประจำซาอุดิอาระเบียกลับประเทศเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตดังกล่าว 
 
การถูกตัดสินประหารชีวิตของนางสาวนาฟีก เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมองว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ และไม่มีหลักฐานชัดเจนในการเอาผิด เนื่องจากเธอไม่มีทนายความในระหว่างชั้นศาล และกล่าวว่า ตนเองถูกบังคับและทรมานให้สารภาพระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ โดยเธอถูกกล่าวหาจากนายจ้างว่าทำการรัดคอเด็กทารก แต่นาฟีกกล่าวว่าทารกสำลักนมเสียชีวิตในขณะป้อนนมจากขวด
 
มีรายงานว่า ปัจจุบัน มีคนทำงานรับใช้ในบ้านสตรีต่างชาติราว 45 คน ที่กำลังรอถูกลงโทษประหารชีวิตในซาอุเดียอาระเบีย ซึ่งมีความผิดจากการถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายและฆาตกรรม โดยรายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ที่เผยแพร่ในปี 2553 ระบุว่า คนทำงานรับใช้ในบ้านต่างชาติสตรีในซาอุดิอารเบียจำนวนมาก เผชิญกับการตกเป็นเหยื่อทางเพศ ถูกทำร้าย การบังคับให้ทำงานวันละ 14-15 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด และเมื่อถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมแล้ว มักขาดความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็น
 
ปัจจุบัน มีคนทำงานรับใช้ในบ้านที่เป็นสตรีต่างชาติในซาอุดิอาระเบียราว 1.5 ล้านคน ทั้งจากศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย 
 
 

ที่มาภาพ: Walter Callens on Flickr
 
11 ม.ค. 56 - กษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบียได้ทรงอนุญาตให้สตรีมีที่นั่งในสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ เป็นจำนวน 30 ที่นั่งจาก 150 ที่นั่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ระบบการเมืองของซาอุดิอาระเบียไม่มีการมีส่วนร่วมของสตรีมากนัก ทั้งนี้สภาดังกล่าว มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและตั้งคำถามต่อรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สตรีได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่ปรึกษาเท่านั้น 
 
คำสั่งดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่นักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี เรียกร้องให้รัฐบาลมีพื้นที่ให้เสียงของผู้หญิงในสังคมมากขึ้น และท้าทายต่อสถาบันทางศาสนาในหลักวาฮาบี ซึ่งถือว่าตีความกฎหมายชารีอะห์เข้มงวดมากที่สุดหลักหนึ่ง รวมถึงการแยกเพศในที่สาธารณะที่เข้มงวด มีรายงานว่าหญิงชายที่ไม่แต่งงาน อาจถูกจับกุมได้ หากพบว่าอยู่ในรถคันเดียวกันโดยไม่มีผู้อื่น หรือดื่มกาแฟด้วยกันในที่สาธารณะ นอกจากนี้ สตรีในซาอุดิอาระเบียยังไม่อนุญาตให้ขับรถยนต์ไปไหนมาไหนเองด้วย 
 
 
14 ม.ค. 56 - รัฐสภาสิงคโปร์ได้เลือกนางฮาลิมาห์ ยาคอบ เป็นโฆษกรัฐสภาคนที่ 9 ซึ่งถือเป็นโฆษกรัฐสภาคนแรกที่เป็นสตรีในสิงคโปร์ และเป็นโฆษกรัฐสภาคนที่สามที่มาจากเชื้อชาติคนกลุ่มน้อย (มาเลย์) ในสิงคโปร์ โดยนางยาคอบได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาพรรค PAP มาตั้งแต่ปี 2001 ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคม เยาวชน และกีฬา ก่อนหน้านี้เธอดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติด้วย  
 
 

ที่มาภาพ: www.indybar.org

 
 
14 ม.ค 56 - เกิดเหตุการณ์ข่มขืนสตรีคนหนึ่งวัย 29 ปีบนรถบัสในเมืองเกิร์ดาสปูร์ ในรัฐปันจาบ โดยชาย 7 คน รวมถึงพนักงานขับรถและพนักงานเก็บสตางค์บนรถรุมข่มขืนสตรีคนดังกล่าวหลังจากที่ไม่ยอมให้เธอลงป้ายที่ต้องการลง ล่าสุดมีรายงานว่า ตำรวจสามารถจับกุมชายกลุ่มดังกล่าวได้แล้ว 
 
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุการณ์ข่มขืนหมู่สตรีวัย 23 ปีบนรถบัส ในกรุงเดลี ซึ่งถูกข่มขืนด้วยแท่งเหล็กนานหลายชั่วโมงโดยชาย 5 คน ต่อมาเธอถูกโยนลงจากรถบัส รัฐบาลอินเดียตัดสินใจส่งเธอไปรักษาตัวที่ประเทศสิงคโปร์ แต่เนื่องจากทนบาดแผลไม่ไหว จึงเสียชีวิตลงหลังจากได้รับการรักษานานราว 2 สัปดาห์ ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนชาวอินเดียเพื่อให้รัฐบาลจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ และการจับตามองของสังคมนานาชาติ 
 
 
16 ม.ค. 56 - ประชาชนชาวอินเดียจำนวนหลายพันคนออกมาประท้วงหลังจากเกิดกรณีข่มขืนเด็กหญิงวัย 7 ปี ในห้องน้ำโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองวาสโก ดา กามา ในรัฐกัว ทางตะวันตกของอินเดีย โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ตำรวจเร่งหาผู้กระทำผิด และจับกุมครูใหญ่ของโรงเรียนซึ่งถูกมองว่ามีความผิดในข้อหาบกพร่องในหน้าที่ 
 
ทั้งนี้ สถิติอย่างเป็นทางการของการข่มขืนในอินเดียได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 2,487 คดีในปี 2514 เป็น 24,206 คดีในปี 2554 โดยผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า การข่มขืนที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะมีสถิติที่สูงกว่านี้มาก แต่ไม่ได้ถูกบันทึก เนื่องจากในสังคมยังมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องที่น่าละอาย จึงไม่นิยมไปแจ้งที่สถานีตำรวจหรือที่สาธารณะอื่นๆ 
 
 
17 ม.ค. 56 - มาเลเซีย ให้ความสำคัญกับสตรีในสังคม ล่าสุดออกกฎใหม่กำหนดให้อาคารทุกแห่งทั่วประเทศ จัดที่จอดรถสำหรับผู้หญิงที่ขับรถพาเพียงลำพัง โดย "ดาโต๊ะ รายา นอง ชิค" รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาพื้นที่เขตเมือง ของมาเลเซีย เผยว่า นับตั้งแต่นี้ไป ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าทุกแห่งทั่วประเทศ ต้องจัดพื้นที่ร้อยละ 7 ของพื้นที่จอดรถทั้งหมด ให้เป็นที่จอดรถสำหรับผู้หญิงที่ขับรถมาคนเดียว รวมทั้งควรจัดวางมาตรการรักษาความปลอดภัย และอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือยามเกิดภัยฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net