Skip to main content
sharethis

กสทช.เจรจากับหน่วยงานลาวและมาเลเซีย ในการกำหนดระยะและระดับสัญญาณของเทคโนโลยี 2G และ 3G ในพื้นที่เชื่อมต่อ โดยสัญญาณบริการมือถือของแต่ละประเทศจะข้ามชายแดนมาเป็นระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตร และมีระดับสัญญาณที่อ่อนจนเครื่องมือถือของผู้ใช้บริการไม่สามารถจับสัญญาณได้

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือในบริเวณพื้นที่ชายแดน ที่บ่อยครั้งผู้ใช้บริการโทรออกหรือรับสายอยู่ในดินแดนฝั่งไทย แต่ถูกคิดค่าบริการในอัตราสูงแบบบริการข้ามแดนอัตโนมัติหรือโรมมิ่งต่างแดนว่า เหตุดังกล่าวเกิดเนื่องจากสัญญาณของผู้ให้บริการภายในประเทศนั้นอ่อนกว่า เครื่องที่พกติดตัวมาจึงเปลี่ยนโดยอัตโนมัติไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการจากอีกประเทศที่สัญญาณแรงกว่า ซึ่งปัญหาดังกล่าวน่าจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยในส่วนของพื้นที่ชายแดนด้านที่ติดกับประเทศลาว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย-ลาว  หรือ JTC (Joint Technical Committee on Coordination and Assignment of Frequencies ได้มีการเจรจาและบรรลุข้อตกลงที่จะกำหนดสัญญาณ หรือ Signal Level ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่เชื่อมต่อชายแดน ว่าจะมีค่าสูงสุดไม่เกิน -90 dBm สำหรับส่วนของเทคโนโลยี 2G และไม่เกิน -100 dBm สำหรับเทคโนโลยี 3G รวมทั้งมีการกำหนดระยะการส่งสัญญาณด้วยว่า ในเขตพื้นที่พิเศษ หรือ Special Zone ที่เป็นเขตประชากรหนาแน่น ระยะการส่งสัญญาณข้ามชายแดนจะจำกัดไว้ที่ 1 กิโลเมตร ขณะที่เขตพื้นที่ทั่วไป หรือ  General Zone จำกัดระยะที่สัญญาณจะข้ามแดนมาไว้ที่ 2 กิโลเมตร

“ค่าระดับสัญญาณสูงสุดตามที่กำหนด ทั้งของเทคโนโลยี 2G และ3G นั้นเป็นระดับที่จะทำให้เครื่องลูกข่าย หรือเครื่องมือถือของผู้ใช้บริการทั่วๆ ไปไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ดังนั้นปัญหาแบบที่เคยเกิดจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะภายใต้กติกาที่ตกลงร่วมกันนี้หมายความว่า ระดับสัญญาณของผู้ให้บริการมือถือของประเทศลาวที่ส่งข้ามมาในดินแดนไทยจะค่อนข้างอ่อน จนเครื่องของผู้ใช้บริการไม่เปลี่ยนไปหาโดยอัตโนมัติ เว้นแต่ว่าสัญญาณของเครือข่ายผู้ให้บริการไทยอ่อนกว่า ซึ่งถ้าหากยังเกิดกรณีเครื่องเปลี่ยนไปจับสัญญาณต่างแดนอัตโนมัติก็จะสะท้อนปัญหาเรื่องคุณภาพของโครงข่ายผู้ให้บริการไทย แสดงว่าบริเวณนั้นๆ อาจต้องมีการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพิ่มเติม”  นพ.ประวิทย์ กล่าว

ส่วนในกรณีประเทศมาเลเซียนั้น  นพ.ประวิทย์ เปิดเผยว่า มีข้อตกลงเดิมอยู่แล้วว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้งสองประเทศต้องปรับลดพื้นที่ให้บริการ (Service Area Coverage) ของสถานีวิทยุกิจการเคลื่อนที่ระบบเซลลูล่าให้อยู่ภายในเขตแดนของประเทศตนเท่านั้น โดยไม่ให้มีสัญญาณข้ามเขตแดน หรือมีให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงน่าจะมีความเสี่ยงลดลงอย่างมากเช่นกัน และแม้ว่าทางหน่วยงานโทรคมนาคมของมาเลเซียนั้นมีความพยายามเสนอให้ประเทศไทยพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ท่าทีของไทยก็ยังคงยืนยันที่จะจำกัดพื้นที่เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม นพ.ประวิทย์ แนะนำผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือว่า เมื่ออยู่บริเวณพื้นที่ชายแดน ควรต้องหมั่นสังเกตว่าเครื่องกำลังจับสัญญาณของเครือข่ายที่เราเปิดใช้บริการหรือไม่  ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net