สาระ+ภาพ โรฮิงญา มนุษย์ที่ไม่ถูกนับรวม

คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

ตามข้อมูลประวัติศาสตร์ โรฮิงญาคือเชื้อสายผสมที่สืบทอดมาจากแขกมัวร์ อาหรับ พ่อค้าเปอร์เซียน เตอร์ก ปาทาน เบงกาลี กับคนพื้นเมืองอาระกัน และตั้งรกรากอยู่ในรัฐอาระกันตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมกุลในช่วงศตวรรษที่ 9-15

ปี ค.ศ. 1948 พม่าประกาศเอกราชและก้าวสู่รัฐชาติสมัยใหม่ ขณะที่บังกลาเทศที่รู้จักกันในปัจจุบันประกาศเอกราช แยกตัวจากอินเดีย เป็นปากีสถานตะวันออก เมื่อปี 1947 ก่อนจะแยกตัวเป็นบังกลาเทศในเวลาต่อมา

โรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐชาติสมัยใหม่ เมื่อมีการขีดเส้นเขตแดน พวกเขาไม่ถูกนับรวมเป็นประชากรของประเทศใดเลย ไม่ว่าจะเป็นพม่าหรือบังกลาเทศ ไม่ได้รับสิทธิในฐานะพลเมือง และพยายามแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าโดยการล่องเรือมายังมาเลเซียและไทย และเข้ามาสู่กระบวนการค้ามนุษย์

 

จำนวนประชากรโรฮิงญา

ประชากรโรฮิงญา ตัวเลขอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติคาดว่ามีประมาณ 1,424,000 ++

อย่างไรก็ตาม การเก็บจำนวนประชากรโรฮิงญานั้น ไม่อาจระบุจำนวนที่แน่นอนได้ เป็นเพียงตัวเลขประมาณการดังนี้

พม่า (รัฐอาระกัน) 800,000 คน

บังกลาเทศ 300,000 คน

ปากีสถาน 200,000 คน

 ไทย 100,000 คน

 มาเลเซีย 24,000 คน

ซาอุดิอาระเบีย 500,000-600,000 คน

อินเดีย 4,000 คน

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

นอกเหนือจากการล่องเรือและเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ในปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมีปัญหากระทบกระทั่งและนำไปสู่การปะทะกันกับคนชาติพันธุ์อาระกันซึ่งนับถือศาสนาพุทธในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ประเทศพม่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน และบ้านเรือนนับพันหลังถูกเพลิงไหม้

ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ความรุนแรงจากการปะทะ ประกอบกับการที่รัฐบาลพม่ามีควบคุมการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชุมชนชาวโรฮิงยาที่ต้องอพยพหลังเกิดความรุนแรง ทำให้มีชาวโรฮิงยาราว 104,000 ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องอาหาร ที่พัก และการดูแลสุขภาพ มีผู้อพยพภายในประเทศ (Internally displaced persons - IDP) 75,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงยา และอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 40 แห่งในเมืองซิต ตเหว่ และเจาก์ตาว

สำหรับสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวในประเทศไทยนั้น ชาวโรฮิงญาล่องเรือเข้ามาในเขตประเทศไทยหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุด มีการกักตัวชาวโรฮิงญาในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา กว่า 800 คน โดย UNHCR เรียกร้องไทยอย่าส่งตัวกลับไปยังพม่า แต่ขอให้ส่งไปยังประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียเป็นต้น

วันที่ 15 ม.ค. กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และนิสิตนักศึกษา เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาสารคามร่วมกันลงนามเรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา

โดยข้อเรียกร้องมี 3 ข้อ คือ

ประการแรก ขอเรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของไทยและสากล เข้ามีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยเร่งด่วน โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยุตินโยบายและปฏิบัติการที่เป็นการผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่า

เพราะชาวโรฮิงญาแตกต่างจากผู้อพยพหรือแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาเป็นคนไร้รัฐ การผลักดันพวกเขาออกนอกประเทศกลับไปยังพม่าจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และหากพวกเขาหลบหนีออกมาอีกครั้งก็จะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียชีวิตระหว่างหลบหนีหรือไม่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์อีก

สำหรับนโยบายในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา รัฐไทยต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญาเป็นกรณีเฉพาะ

ประการที่สอง ขอเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเข้ามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า โดยกดดันใหรัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่น ยุติการปราบปรามเข่นฆ่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่อชาวโรฮิงญาโดยทันที และให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งที่ยังอยู่ในประเทศพม่าและที่หลบหนีออกมา รวมทั้งที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเร่งด่วน

หากประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเพิกเฉยต่อชาวโรฮิงญาก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนเป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยไม่ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาคมอาเซียนเอง

ประการที่สาม ขอให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง รวมทั้งทำการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยเร่งด่วน สำหรับกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่ภาคใต้ใน ขณะนี้ ขอให้สังคมไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกเขาโดยเร่งด่วน โดยไม่มีอคติทางศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ถือว่าชาวโรฮิงญา คือเพื่อนร่วมโลกของเรา

ภายหลังจากมีการเผยแพร่และรณรงค์ผ่านเฟซบุ๊ก มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 25,000 คนภายใน 1 วัน

 

อ้างอิง

ฮิวแมนไรท์ วอทซ์เผยภาพชุมชนโรฮิงญาถูกเผาวอด หลังเหตุขัดแย้งรอบล่าสุดในพม่า

http://prachatai.com/journal/2012/11/43432

ออง ซาน ซูจีปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าข้างทั้งชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่

http://prachatai.com/journal/2012/11/43480

ดีเอสไอเผยนายกฯเตรียมดึงยูเอ็นช่วยโรฮิงญา

http://www.dailynews.co.th/crime/178693

UNHCR เรียกร้องอย่าส่งโรฮิงญากลับ ปท.ต้นทาง

http://news.voicetv.co.th/thailand/60615.html

ASEAN Weekly: วิกฤตในรัฐอาระกัน สู่ประเด็นระหว่างประเทศ

http://prachatai.com/journal/2012/09/42570

ศูนย์มนุษยชนเพื่อพี่น้องโรฮิงญา

https://www.facebook.com/RHCThailand?fref=ts

สารคดี "โรฮิงญาที่ฉันรู้จัก"

https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=39SNpboZXAQ

 

แหล่งอ้างอิงประชากรโรฮิงญา

http://en.wikipedia.org/wiki/Rohingya_people

http://articles.timesofindia.indiatimes.com/2013-01-14/kolkata/36330829_1_rohingyas-naf-river-myanmar-state

http://www.csss-isla.com/arch-July-1-15-2012.htm

http://www.saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20120723130781

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท