Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพเผาสามแม่มดที่บาเดน,เยอรมัน (1585) โดย Johann Jakob Wick

เกริ่นนำ

“วิธีการเข้าถึงความจริงมีมากกว่าหนึ่งแบบ” เป็นชุดความเข้าใจที่เพิ่งจะได้รับการยอมรับมากขึ้นไม่นานมานี้ (ประมาณศตวรรษที่ 20) เนื่องจากเกิดปัญหาในศตวรรษที่ 18-19 ว่า “การผูกขาดความจริง” (แม้แต่ความจริงทางวิทยาศาสตร์) จะไม่ช่วยให้มนุษย์ทุกคน (For all) เข้าถึงความจริงได้ ดูเหมือนว่า วิธีการเข้าถึงความจริงที่หลากหลายเท่านั้น ที่จะช่วยให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เฉพาะแต่มนุษย์บางคน (For some) เป็นต้น ชนชั้นสูง (Elite) นักปรัชญา (Philosopher) นักบวช (Clergy, Monk) เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต จึงกล่าวได้ว่า นักคิดร่วมสมัยกับเรา พยายามสถาปนาความคิดแบบพหุนิยม (Pluralism) ขึ้น เพื่อให้เกิด พหุนิยมเชิงญาณวิทยา (epistemological pluralism) ซึ่งจะนำไปสู่ ขันติธรรมเขิงญาณวิทยา (Epistemological Toleration) อีกทอดหนึ่ง แต่ปัญหา คือ ประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะมี “วิธีการเข้าถึงความจริงแบบเดียว”?  นั่นพอจะเปรียบได้กับยุคมืดของยุโรป


เนื้อหา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า ญาณวิทยาของไทยนับแต่โบราณกาลมา ก็คือ ความจริงนั้นมีอยู่ ไม่ใช่ถูกสร้างขึ้น  และมนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ โดยได้รับการบอกเล่าจากคนที่ได้เข้าถึงความจริงนั้นแล้ว” [1] เมื่อเป็นแบบนี้ ใครก็ตามที่รับเอาญาณวิทยาแบบนี้มาใช้ก็จะ “ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของผู้นั้น” ซึ่งอาจจะเล่าสืบทอดต่อเนื่องกันมานานหลายร้อยปี (ผลิตซ้ำ) ฉะนั้น ไม่แปลกที่สังคมไทยถือคติเรื่องครูบาอาจารย์เข้มข้นมาก และอาจเข้มข้นถึงขนาดว่า คุณห้ามสงสัยใดๆ และจงก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามที่สั่งไปเถิด แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ทั้งๆ ที่นักคิดชาวไทยรับเอาแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ (Post-modern Trend) มาประยุกต์ใช้แล้ว แต่การ “ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของผู้นั้น” ซึ่งเป็นญาณวิทยาแบบไทยๆ ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นย้อนแย้งกับแนวคิดหลังสมัยใหม่

ก่อนที่โลกตะวันตกจะพัฒนาแนวคิดมาถึงจุดที่ยอมรับกันในระดับหนึ่งว่า “ความจริงเป็นชุดความรู้ที่ประกอบสร้างและผลิตซ้ำเพื่อเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง” ก็เคยมีเหมือนกันในประวัติศาสตร์ที่จะเกิดปรากฎการณ์คล้ายๆกับปรากฏการณ์ญาณวิทยาแบบไทยๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ชัดเจนที่สุด คือ “ยุคมืด” (Dark ages) เพราะขณะนั้นได้เกิดปัญหาในการเข้าถึงความจริงซึ่งผูกขาดโดยศาสนจักร(และรัฐ) แต่ที่แตกต่างกันกับประเทศไทย คือ “คำบอกเล่าไม่ได้มีชุดเดียว” และ คำบอกเล่าชุดอื่นก็ไม่ได้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงหากไม่ถูกตีความว่ากระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพในการปกครอง 

หลายคนรู้จัก โธมัส อากวีนัส (Thomas Aquinas) [2] ในฐานะนักปราชญ์ศาสนจักรผู้เป็นตัวแทนของยุคอัสมาจารย์ (Scholastic) แห่งศตวรรษที่ 13 และสิ่งที่ โธมัส เสนอเกี่ยวกับการเข้าถึงความจริง เป็น “การปฏิวัติการเข้าถึงความจริงของคริสต์ศาสนา” จากเดิมที่ผูกขาดวิธีการเข้าถึงความจริงตามคำอธิบายที่ได้รับอิทธิพลจาก ปลาโต (Platonism) ซึ่งมี เอากูสตีนูส  (Augustinus) [3] สังฆราชและนักปราชญ์ศาสนจักรจากยุคปิตาจารย์ (Patristicus) เป็นผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการยอมรับคำอธิบายที่ได้รับอิทธิพลจาก อาริสโตเติ้ล (Aristotelianism) ของ โธมัส แทน [4] ต่อมาเมื่อวงการวิชาการยุคกลางสถาปนาสำนักคิด (School) ขึ้น เป็นผลให้ศาสนจักรพบกับความวุ่นวายของการปฏิวัติทางวิชาการมาโดยตลอด เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่าง สำนักคิดแบบโธมัส (Thomism) ที่นำโดยนักบวชคณะดอมีนิกัน กับ สำนักคิดแบบเอากูสตินูส (Augustinianism) ที่นำโดยนักบวชคณะเอากูสตีเนียน  [5] นี่คือตัวอย่างปัญหาของ “คำบอกเล่าไม่ได้มีชุดเดียว” ซึ่งศาสนจักรได้เผชิญมาแล้วในลักษณะความขัดแย้งภายใน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลทางเสถียรภาพกับรัฐ

เพราะพัฒนาการทางวิชาการเหล่านี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าศาสนจักร (Church) แยกออกมาจากรัฐ (State) ซึ่ง “การบังคับให้เชื่อคำบอกเล่าชุดเดียว” ที่ถูกกระทำการในนามพระเจ้านี้แหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมพลังงานศักย์เพื่อเตรียมปลดปล่อยความคิดอย่างที่ศาสนจักรและรัฐไม่อาจหยุดยั้งได้ในอีกหลายร้อยปี (จนถึงทุกวันนี้) ไม่ว่าจะเป็น เรื่องวิทยาศาสตร์ หรือ เรื่องโปรแตสเตนท์ ผลของการบังคับหนึ่ง เช่น ตำราล่าแม่มด (Malleus Maleficarum) จากสำนักคิดแบบโธมัส [6] โดยนักบวชดอมีนิกัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ชุดคำอธิบายเกี่ยวกับการเข้าถึงความจริงไม่ได้มีใครละเลยแต่ชุดคำอธิบายใดจะถูกเลือกเพื่อรับใช้อำนาจเพื่อจุดประสงค์ของการครองอำนาจได้ดีที่สุด? ในที่นี้ ความเป็นเหตุเป็นผลของวิธีเขียนแบบโธมัสได้รับอิทธิพลมาจากอาริสโตเติ้ล มีส่วนช่วยส่งเสริมความชอบธรรมในการฆ่าของศาสนจักรและรัฐ มากกว่า งานเขียนเชิงพรรณนาของเอากูสตินูส เช่น นครของพระเจ้า (City of God) หรือแม้กระทั่งสำนักคิดร่วมสมัยกับ โธมัส อย่างสำนักคิดของฟรานซิสแห่งเมืองอัสซีซี (Franciscan school) เสียอีก

ฉะนั้น ถ้ากล่าวในแง่ของ “การบังคับให้เชื่อคำบอกเล่าชุดเดียว” มันคือมุมจากภายนอกที่มอง “โครงสร้างของคริสต์ศาสนา” ซึ่ง “จริง” (Reality) เป็นต้น มุมมองของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่น่าจะยืนอยู่บนความเข้าใจว่า ศาสนาเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมชุดหนึ่ง (Social Relation) แต่ต่อให้คิดแบบนี้ เราผู้ฟังคงไม่แปลว่า “มีคำบอกเล่าชุดเดียวในการเข้าถึงความจริง” แต่น่าจะแปลว่า “มีคำบอกเล่าชุดหนึ่งที่ถูกเลือก หรือ คำบอกเล่าที่ถูกสร้างขึ้นจากคำบอกเล่าชุดเดิมอาศัยรัฐเป็นผู้สถาปนา” ประเด็นในเรื่องนี้ คือ “รัฐ” (State) และ “พระเจ้าที่รัฐสร้าง” (God by the Church)               ฉะนั้น อาจไม่จำเป็นต้องอภิปรายว่า “ความจริงที่พระเจ้าเผยคืออะไร?” เพราะเป็นเรื่องทางอภิปรัชญาหรือเทววิทยา แต่น่าจะอยู่ที่ “ความจริงที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐอ้างว่าพระเจ้าได้เผยคืออะไร?” จึงไม่จำเป็นต้องสนใจเลยก็ได้ว่า “โลกตะวันตกมีคติที่ต้องเข้าถึง Nature และ God ไปพร้อมๆ กัน” [7] หรือไม่? เพราะรัฐจะเป็นผู้กำหนดและสถาปนาขึ้นมาเองว่าจะมีคติที่ต้องเข้าถึง Nature และ God ไปพร้อมๆกันหรือไม่ในทางสาธารณะเพื่ออะไรก็ตามที่รัฐจะได้ประโยชน์ และถ้าอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับรัฐ มันจะต้องถูกทำลายหรือยกเลิกไป ไม่เฉพาะแต่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ยังรวมถึงคำอธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าที่ไม่เข้าหูรัฐด้วย และนั่นเราอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นชุดคำบอกเล่า(คติ)ของศาสนาใดตราบเท่าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและสถาปนา ทุกอย่างรัฐจะเป็นผู้ควบคุมไม่ใช่สารัตถะของคำบอกเล่า

ถ้าจะกล่าวในบริบทของยุคมืดที่อาจเทียบเคียงกับประเทศไทยในปัจจุบัน ข้อเสนอของ นิธิ ที่ว่า มิติทางสังคมในญาณวิทยาแบบไทย นั่นก็คือความรู้หรือความจริงนั้นสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและการเมือง พูดกันตรงๆ ก็คือคนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงย่อมเข้าถึงความจริงหรือมีความรู้สูงตามไปด้วย” [8] ดูจะสอดคล้องกับประเด็นนี้ เพราะเป็นการชี้ว่าคำบอกเล่าที่รัฐเลือกสื่อสารกับประชาชนซ้ำๆในกระแสหลักจะบังคับว่า “วันนี้ คุณต้องมีคติอย่างไร?”
 

สรุป
           
ปัญหาจึงไม่อยู่ที่รายละเอียดของการเข้าถึงความจริง
เพราะ ชุดคำบอกเล่าทางศาสนาและปรัชญามีอยู่หลากหลายเสมอ (เมื่องั้นจะตกทอดมาถึงยุคนี้ได้อย่างไร?) และมีลักษณะเป็นพหุนิยมเชิงญาณวิทยา (Epistemological pluralism) อยู่แล้ว ตั้งแต่ยุคกรีกจนถึงยุคหลังสมัยใหม่รวมยุคมืดด้วย แต่ ปัญหา คือ จะมีแค่คำบอกเล่าบางชุด (For some) เท่านั้น ที่รัฐจะเลือกและสถาปนาขึ้นเป็นอำนาจ (Authority) และจะ “ถูกบังคับให้เชื่อคำบอกเล่าชุดเดียวที่ประกอบสร้างขึ้นมา นั่นทำให้ไม่เคยเกิดความเป็นพหุนิยมในสังคมเพราะจะไม่ได้รับอนุญาต และนอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตแล้วก็อาจจะถูกกดขี่ด้วยอำนาจที่ครอบงำประชาชนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือศาสนาก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญอะไรกับรัฐเลยก็ได้ และรัฐอาจจะบอกประชาชนซ้ำๆอย่างนั้นก็ได้สักสองสามร้อยปี  นั่นคือสิ่งที่ยุคมืดทำ และถ้าการผลิตซ้ำทำให้เราเชื่อไปแล้วว่าคำบอกเล่าที่รัฐกำหนดเหมาะสมแล้วและควรมีชุดเดียวจะทำอย่างไร?

ข้อมูลเพิ่มเติม   
[1],[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2548,กรกฎาคม). การปฏิวัติทางญาณวิทยา.มติชนรายสัปดาห์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 1300
[2] http://www.aquinasonline.com/thombiog.html
[3] http://www.iep.utm.edu/augustin/
[4] http://danrogayan.files.wordpress.com/2011/01/thomas-aquinas-and-augustines-philosophies.pdf
[5] http://plato.stanford.edu/entries/medieval-philosophy
[6] http://friedo.szm.com/mm.pdf
[7] ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุม...ศิลปะ” http://prachatai.com/journal/2013/01/44535
 


              

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net