ออสเตรเลีย จี้ 'ทวิตเตอร์' ลงนามข้อตกลงจัดการโซเชียลมีเดีย

เฟซบุ๊ก กูเกิล ยาฮู และไมโครซอฟท์ ร่วมลงนามในข้อตกลงเรื่องการร่วมจัดการการร้องเรียนเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์ก กับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อสกัดกั้นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ด้านทวิตเตอร์ยังไม่ลงนาม

(16 ม.ค.56) จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เรียกร้องให้ทวิตเตอร์ลงนามในข้อตกลงเรื่องการร่วมจัดการการร้องเรียนเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กกับรัฐบาลออสเตรเลีย พร้อมโทษด้วยว่าความเสียหายจำนวนมากที่เกิดขึ้น มาจากความเกรียนของผู้ที่โพสต์ความเห็นยั่วโมโหกันในทวิตเตอร์

กิลลาร์ดระบุว่า เฟซบุ๊ก กูเกิลในส่วนของยูทูบ ยาฮู และไมโครซอฟท์ ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงนี้ประกอบด้วยหลักการ 12 ข้อ อาทิ บริษัทที่ร่วมลงนามจะต้องแต่งตั้งบุคคลเพื่อประสานงานกับรัฐบาล โดยมีการประชุมกันทุก 6 เดือน เพื่อหารือถึง "ประเด็นอุบัติใหม่" (Emerging Issues) และแนวโน้ม ลบเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเด็ก สร้างแนวปฏิบัติการใช้ที่ยอมรับได้ ให้การศึกษาแก่ผู้ใช้ว่าอะไรคือพฤติกรรมออนไลน์ที่ยอมรับได้และไม่ได้ มีกระบวนการในการจัดการเรื่องร้องเรียน นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้มีหน้าที่จัดการเรื่องร้องเรียนเมื่อเกิดการละเมิดนโยบายใน "ทันที" ด้วย

โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากรายงานของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในไซเบอร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2554

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่าไม่ตอบสนองต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาล และสาธารณะ แม้ว่าก่อนหน้านี้พวกเขาจะแสดงถึงการปรับปรุงตัวด้วยการเข้าร่วมการประชุมเรื่องความปลอดภัยในไซเบอร์ที่กรุงแคนเบอราก็ตาม

นายกฯ ออสเตรเลียบอกว่า ความเสียหายจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากบรรดาเกรียนทั้งหลายล้วนอยู่ในทวิตเตอร์ ดังนั้นจึงอยากให้ทวิตเตอร์เอาอย่างบริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่ๆ เจ้าอื่น โดยยอมปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

พฤติกรรมการเกรียนที่เป็นข่าวพาดหัวเมื่อปีที่ผ่านมา อาทิ กรณีเซเล็บอย่างชาร์ลอต ดอว์สัน ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลหลังถูกถล่มทางทวิตเตอร์ หรือนักรักบี้อย่างร็อบบี ฟาราห์ แจ้งความกับตำรวจ หลังมีคนทวีตวิจารณ์แม่ของเขาที่เพิ่งเสียชีวิต

กิลลาร์ดบอกว่า นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสดงความเห็น "แหลมคมและหนักขึ้น" ภายใต้เสื้อคลุมของความเป็นนิรนาม และนี่เป็นสาเหตุของปัญหาจำนวนมาก เมื่อผู้คนรู้สึกกดดันจากการถูกกลั่นแกล้งในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

อนึ่ง มีรายงานว่า ทวิตเตอร์นั้นยังไม่มีสำนักงานในออสเตรเลีย และอยู่ระหว่างความพยายามที่จะตั้งสำนักงานในซิดนีย์

ส่วนกูเกิลนั้น กิลลาร์ดบอกว่า ข้อตกลงนี้ยอมรับโดยยูทูบ แต่กูเกิลพลัส ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลยังไม่ได้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว

ขณะที่พรรคกรีนแสดงความกังวลว่า รัฐบาลอาจกำลังเล่นบทเผด็จการ (big brother) โดยสกอตต์ ลุดเลม โฆษกพรรคกรีนบอกว่า พรรคฯ สนับสนุนความพยายามที่จะทำให้เงื่อนไขการใช้บริการง่ายและชัดเจนขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ได้ แต่ก็กังวลว่ารัฐบาลดูเหมือนจะตั้งใจควบคุมช่องทางที่ผู้คนจะสื่อสารระหว่างกัน นอกจากนี้ ออสเตรเลียเองก็มีกฎหมายที่จะจัดการกับการคุกคาม การทำให้เสียชื่อเสียงและการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กิลลาร์ดบอกว่า เธอตกใจกับงานวิจัยชิ้นใหม่ที่บอกว่า 6% ของวัยรุ่นออกไปพบกับคนแปลกหน้าในชีวิตจริง หลังจากได้ติดต่อกันทางออนไลน์

นอกจากนี้ ผลสำรวจวัยรุ่น 500 คนโดยบริษัทแมคอาฟี ระบุว่า วัยรุ่น 20% ตั้งใจเข้าไปดูภาพนู้ดหรือภาพลามกออนไลน์

แอนดรูว์ ลิตเติลพราวด์ ประธานแมคอาฟี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เด็กกว่า 2 ใน 3 ยอมรับว่าผู้ปกครองไม่รู้เลยว่าพวกเขาทำกิจกรรมอะไรบนอินเทอร์เน็ต

 

 

ที่มา:
http://www.theaustralian.com.au/media/gillard-urges-twitter-to-sign-up-to-social-media-guidelines/story-e6frg996-1226555036982
http://www.zdnet.com/au/facebook-google-to-cooperate-with-australia-on-trolls-twitter-urged-to-join-7000009858/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท