Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสูงสุดชี้ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุสลายม็อบค้านโรงแยกก๊าซจะนะ หลังสู้คดี 10 ปี ระบุเป็นการชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้ สตช.จ่ายค่าเสียหาย รวม 1 แสนบาท

 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ห้องพิจารณาที่ 2 ศาลปกครองจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ศาลปกครองจังหวัด ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีตำรวจสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือโรงแรมหรรษาเจบีในปัจจุบัน ทำให้มีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม ได้รับบาดเจ็บ รถยนต์เสียหาย คดีหมายเลขดำที่ อ.426/2549
 
คดีนี้นายเจ๊ะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องที่ 1 กับพวก รวม 30 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตรวจแห่งชาติ จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทยเพื่อเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องจากละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่บังคับใช้ขณะนั้น ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลา และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ในส่วนที่เรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเท่านั้น
 
ศาลปกครองสงขลา ซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าวไม่ชอบโดยกฎหมาย จึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายแก้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 – 24 เป็นคน คนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนจังหวัดสงขลาและกระทรวงมหาดไทย ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดร่วมกับตำรวจด้วย จึงไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ซึ่งต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งศาลจังหวัดสงขลาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้
 
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า การชุมนุมดังกล่าวชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 มกราคม 2545 โดยระบุว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
 
ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวชุมนุมกันเกิน 10 คน มีผู้สั่งการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการตระเตรียมอาวุธทั้งที่เป็นอาวุธ และมิใช่อาวุธโดยสภาพ ซึ่งสามารถตรวจยึดหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว กรรไกรปลายแหลม มีดสปาต้า และไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลม 175 อันนั้น ศาลพิจารณาเห็นว่า การชุมนุมโดยใช้สิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญย่อมกระทำโดยคนเดียวไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าแกนนำมีการสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมสั่งสมอาวุธ
 
ขณะเดียวกัน ศาลเห็นว่าหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว และมีดสปาต้านั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม โดยเป็นอาวุธที่ผู้คัดค้านเตรียมมาเป็นการส่วนตัว มิได้มีการสั่งการจากแกนนำแต่อย่างใด ส่วนไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมพบว่า ผู้ชุมนุมใช้เป็นเสาธง มิใช่อาวุธแต่เดิม แต่ได้ใช้เป็นอาวุธในเวลาต่อมาเมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุม สำหรับการทำร้ายตำรวจ และทรัพย์สินของทางราชการนั้น เกิดจากการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และทำร้ายผู้คัดค้านจนบาดเจ็บ
 
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยมิได้ดำเนินการตามหลักสากลคือ จากเบาไปหาหนักจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) จึงต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-24 รวมกันจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
 
 
นายสักการิยา หมะหวังเอียด หนึ่งในผู้ห้องคดี กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ชาวบ้านไม่ได้ติดใจว่าจะได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายเท่าใด แต่คดีทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของชาวบ้านดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง รวมทั้งเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ชาวบ้านคัดค้านมาตลอด คือโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย และการปกป้องสิทธิและทรัพยากรในพื้นที่ไม่ให้ถูกทำลายจากโครงการขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอ่านคำพิพากษา มีชาวบ้านมาร่วมฟังคำพิพากษากว่า 100 คน โดยชาวบ้านได้ถือป้ายที่มีภาพถ่ายของนายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมดังกล่าวรวม 5 นาย ได้แก่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พล.ต.ท.สัญฐาน ชยนนท์ พล.ต.ต.สุรชัย สืบสุข
 
 
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุสลายการชุมนุมดังกล่าวจนกระทั่งวันนี้ เป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอีก 4 คดี โดยเป็นคดีอาญาที่ชาวบ้านถูกฟ้องข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงานฯ 2 คดี ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ขณะนี้ทั้ง 2 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
 
ส่วนคดีที่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายยื่นฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อศาลแขวงสงขลา ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพื่อรอผลการพิจารณาคดีอาญา อีกคดีคือผู้ชุมนุมยื่นฟ้องอาญา พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ กับพวกรวม 38 คน ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานของศาลจังหวัดสงขลา
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net