มาเรีย คลารา Inang Pilipinas: Subaltern และ เรื่องราวเบื้องหลังชุดสตรีประจำชาติฟิลิปปินส์ที่โลกลืม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้มองว่าการวางผู้หญิงไว้บนแท่นบูชาแห่งความรักและความอมตะเป็นดาบสองคม นำพามาซึ่งการริดและรีดเอาอณูชีวิตผู้หญิงจริงๆ ออกไป เหลือเพียงความคิดคุณค่าสตรีฟิลิปปินส์ตัวอย่าง ผู้หญิงกลายเป็นหุ่นเชิดไร้ชีวิต และเรื่องราวของเธอถูกกลืนกินไปในเรื่องราวของการสร้างชาติที่ผู้ชายมักเป็นผู้ออกโรงสร้างและรื้อถอนแท่นบัลลังก์แห่งอำนาจสังคมการเมือง

(เลโอนอร์ ริเวรา ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c9/Leonor_Rivera.jpg)

เมื่อปี ค.ศ. 1880 เด็กหญิงนาม เลโอนอร์ ริเวรา (เกิดปี ค.ศ. 1867) ซึ่งขณะนั้นอายุ 13 ปี ได้พบชายหนุ่มผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องอายุ 19 ปี ชายหนุ่มคนนี้หน้าตาดี พูดจาฉลาดเฉลียว และมีอนาคตไกล เพราะสองปีต่อมาหลังจากที่ทั้งคู่พบกันครั้งแรก ชายหนุ่มผู้นี้จะได้เดินทางไปเรียนวิชาการแพทย์ที่ยุโรป อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ความฉลาดปราดเปรื่องของเขาก็จะเป็นที่เลื่องลือ ด้วยเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญาและปลุกจิตสำนึกขบวนการเรียกร้องเอกราชของฟิลิปปินส์จากสเปนด้วยปลายปากกา เด็กหญิงวัย 13 คงจะพอเห็นแววความไม่ธรรมดาของเขา แต่คงนึกไม่ถึงหรอกว่าหนุ่มวัย 19 ผู้นี้ในวันข้างหน้าจะกลายเป็นนักเขียนและวีรบุรุษกู้ชาติคนสำคัญ เป็นเสมือนตัวแทนความเป็นชาตินิยมฟิลิปปินส์  

ชายหนุ่มหวานใจวัยเด็กของเลโอนอร์มีนามว่า โฮเซ ริซัล (เกิดปี ค.ศ. 1861 ตาย ปี ค.ศ. 1896) ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกผ่านนวนิยายสองเล่มที่วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิอาณานิคม เปิดโปงความฟอนเฟะของศาสนจักร และเสียดสีสเปนซึ่งเจ้าอาณานิคม อันได้แก่ Noli me Tangere (เขียนเสร็จและตีพิมพ์ระหว่างปี ค.ศ.  1886 ถึง ค.ศ. 1887)  และ El filibusterismo ซึ่งเป็นภาคต่อ (ตีพิมพ์ปีค.ศ. 1891) ทั้งสองเล่มนี้เขียนเป็นภาษาสเปน

 

(โฮเซ ริซัล ภาพจาก http://www.latinamericanstudies.org/rizal/rizal.gif)

เลโอนอร์และโฮเซรักใคร่ชอบพอกันและเขียนจดหมายหากันสม่ำเสมอ เป็น long distance relationship ที่หวานบาดใจก่อนยุคที่มี Skype และ facebook แหล่งข่าวแจ้งว่าทั้งคู่ได้ตกลงหมั้นกันเอง และแน่นอน เพราะพ่อของทั้งคู่เป็นญาติสนิท ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ย่อมเป็นหนามทิ่มแทงหัวใจพ่อแม่ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เมื่อโฮเซ นายแพทย์นักเรียนนอกวัย 26 ปี เดินทางกลับบ้านเมื่อปี ค.ศ. 1887 และหมายมั่นจะแต่งงานกับเลโอนอร์ ทั้งคู่กลับถูกทางครอบครัวกีดกัน พ่อของโฮเซถึงขั้นสั่งห้ามไม่ให้ไปพบหญิงสาวที่เขารัก ด้วยในขณะนั้น โฮเซได้รับตีตราหมายหัวจากทางการเจ้าอาณานิคมสเปนว่าเป็น Filibustero หรือ พวกหัวรุนแรง เพราะถ้อยคำเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ใน Noli me Tangere พ่อของโฮเซกลัวว่าหากโฮเซไปมาหาสู่ครอบครัวของเลโอนอร์บ่อยๆ ก็อาจพลอยทำให้ครอบครัวของญาติตกอยู่ในอันตรายได้ หลังจากนั้นไม่นาน โฮเซมีเหตุต้องเดินทางออกนอกประเทศบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่งตามประสาปัญญาชนอนาคตไกล เขาเขียนจดหมายหาเลโอนอร์เป็นประจำตามปกติ แต่ก็ไม่ได้รับจดหมายตอบจากเธออีกเลย  มาล่วงรู้ภายหลังว่าแม่ของเลโอนอร์ได้จัดการคลุมถุงชนให้ลูกสาวแต่งงานกับเฮนรี ชาร์ลส์ คิปปิง ซึ่งเป็นวิศวกรรถไฟชาวอังกฤษ หัวใจของโฮเซแตกสลาย แต่เขาก็คงปลอบใจตัวเองเมื่อได้คิดว่าเขาได้โอบกอดและเก็บรายละเอียดทุกอณูของความเป็นเลโอนอร์ไว้ในหนังสือ Noli me Tangere ผ่านการรังสรรค์ตัวละครที่ชื่อว่า มาเรีย คลารา ซี่งโฮเซเองขนานนามว่าเป็น Inang Pilipinas (อินัง ปิลิปินัส) ซึ่งแปลว่า มารดาแห่งฟิลิปปินส์

เรามาทำความรู้จักกับตัวละครที่ชื่อมาเรีย คลารา เดอ ลอส ซานโตส ซึ่งเป็น เลโอนอร์ ริเวราภาคที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์และผ่านศัลยกรรมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีให้คงคุณค่าสวยอมตะ ใน Noli me Tangere ผ่านข้อความต่อไปนี้กัน

Maria Clara had not the small eyes of her father; like her mother, she had eyes large, black, long-lashed, merry and smiling when she was playing but sad, deep, and pensive in moments of repose. As a child her hair was curly and almost blond, her straight nose was neither too pointed nor too flat, while her mouth with the merry dimples at the corners recalled the small and pleasing one of her mother, her skin had the fineness of an onion-cover and was white as cotton, according to her perplexed relatives, who found the traces of Capitan Tiago’s paternity in her small and shapely ears.

ดวงตาของมาเรีย คลาราไม่เล็กเช่นดวงตาบิดา หากเช่นมารดา มาเรีย คลารานั้นมีนัยน์ตาโต สีดำขลับ ขนตางอน เป็นดวงตาที่ร่าเริงและยิ้มแย้มยามเล่นสนุก แต่เป็นดวงตาที่เศร้าและตกอยู่ในห้วงลึกแห่งภวังค์ยามสำรวม เมื่อครั้งเป็นเด็ก ผมของมาเรีย คลาราหยิกเป็นลอน สีผมค่อนไปทางสีบลอนด์ จมูกเป็นสันไม่โด่งหรือแหลมจนเกินไป ส่วนปากที่ขนาบไปด้วยลักยิ้มดูร่าเริงทำให้นึกถึงปากเล็กๆ น่าชมของมารดา ผิวของมาเรีย คลาราเรียบลื่นดุจพื้นผิวเปลือกหัวหอม และขาวดุจสำลี ซึ่งล้วนเป็นที่น่าฉงนใจในหมู่มวลญาติผู้มองเห็นเค้าและร่องรอยของกัปตันตีอาโกผู้เป็นบิดาที่ใบหูเล็กๆ ได้รูปของเธอ

The idol of all, Maria Clara grew up amidst smiles and love. The very friars showered her with attentions when she appeared in the processions dressed in white, her abundant hair interwoven with tuberoses and sampaguitas, with two diminutive wings of silver and gold fastened on the back of her gown, and carrying in her hands a pair of white doves tied with blue ribbons.

ดั่งเทวีในดวงใจของทุกคน มาเรีย คลาราเติบโตท่ามกลางรอยยิ้มและความรัก บรรดาบาทหลวงต่างใส่ใจและเอาใจ เมื่อเธอปรากฏตัวร่วมเดินขบวนแห่ทางศาสนาในชุดสีขาว ผมยาวดกงามถักเป็นเปียแซมด้วยดอกซ่อนกลิ่นและดอกมะลิ เสื้อมีติดปีกสีเงินและสีทองเล็กๆ มือสองข้างประคองนกพิราบขาวหนึ่งคู่ที่ขาผูกติดกันด้วยริบบิ้นสีฟ้า

 

(ภาพตัวละครมาเรีย คลาราซึ่งจินตนาการจากงานวรรณกรรมของโฮเซ ริซัล ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/1f/Crayon_sketch_of_Leonor_Rivera_by_Rizal.jpg/200px-Crayon_sketch_of_Leonor_Rivera_by_Rizal.jpg)

In southern countries the girl of thirteen or fourteen years changes into a woman as the bud of the night becomes a flower in the morning. At this period of change, so full of mystery and romance, Maria Clara was placed, by the advice of the curate of Binondo, in the nunnery of St. Catherine in order to receive strict religious training from the Sisters. With tears she took leave of Padre Damaso and of the only lad who had been a friend of her childhood, Crisostomo Ibarra, who himself shortly afterward went away to Europe. There in that convent, which communicates with the world through double bars, even under the watchful eyes of the nuns, she spent seven years.

ณ ชนบททางใต้ เด็กผู้หญิงที่อายุประมาณสิบสามสิบสี่มักแปลงร่างกลายเป็นหญิงสาววัยสะพรั่งดุจดอกไม้ตูมแห่งรัตติกาลเริ่มแย้มบานมาในช่วงรุ่งอรุณ ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความลึกลับและความโรแมนติกเช่นนี้ มาเรีย คลาราถูกส่งไปอยู่สำนักชีเซนต์แคธริน ตามคำแนะนำของบินอนโด บาทหลวงผู้สอนศาสนา เพื่อที่เธอจะได้ศึกษาวิชาคำสอนจากบรรดาแม่ชีอย่างเคร่งครัดเข้มงวด มาเรีย คลาราน้ำตานองเมื่อไปกล่าวลาคุณพ่อดามาโซและหนุ่มน้อยที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เล็ก นั่นคือ คริซอสโตโม อิบาร์รา ผู้ไม่ช้าไม่นานก็ถูกส่งตัวไปยังยุโรป มาเรีย คลารา อาศัยในอารามซึ่งติดต่อสื่อสารกับทางโลกผ่านซี่กรงขัง ภายใต้การควบคุมดูแลของบรรดาแม่ชี เป็นเวลานานร่วมเจ็ดปี 

(ที่มาของบทแปลภาษาอังกฤษ:  http://www.gutenberg.org/files/6737/6737-h/6737-h.htm บทแปลภาษาไทย โดย วริตตา ศรีรัตนา)

 

ชีวิตของโฮเซ ริซัล กลายมาเป็นตำนานเล่าขาน มีหนังสือเขียนบรรยายชีวประวัติผ่านเลนส์ชาตินิยมนับไม่ถ้วน แต่ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวชีวิตของเลโอนอร์ ผู้หญิงคนสำคัญในชีวิตของโฮเซ ผู้หญิงที่โฮเซรังสรรค์แท่นแห่งความอมตะให้ยืนไปชั่วกัลปาวสานในงานวรรณกรรมของตน นอกเหนือไปจากข้อที่ว่าเธอเป็นหญิงกุลสตรี ซื่อตรงต่อชายคนรัก ไม่เถียงพ่อแม่ ไม่ออกความเห็นต่อต้านสังคม เพรียบพร้อมสมเป็นแบบอย่างสตรีฟิลิปปินส์ผู้ให้ความรักและการสนับสนุนชายชาตรีที่ต้องการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง มีสถานะเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งเท่านั้น ในบทบรรยายเราจะเห็นว่าเลโอนอร์ถูกแปรสภาพเป็นมาเรีย คลารา สตรีผู้คงคุณค่าความเป็นฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายถึงการเป็นคาธอลิคที่เคร่งศาสนา มีรูปร่างลักษณะเป็น “เมสติซา” (Mestiza) คือมีเชื้อยุโรป จมูกต้องโด่ง ตาต้องโต ผิวต้องขาว ผมต้องยาวหยิก สีผมค่อนไปทางน้ำตาลหรือบลอนด์ ทั้งหมดนี้ได้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานความงามของสตรีฟิลิปปินส์มาตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ชื่อและคุณค่าของความเป็นมาเรีย คลารา นั้นได้ถูกรังสรรค์เป็นชุดประจำชาติ ชุดมาเรีย คลารานี้ออกแบบเพื่อมุ่งเน้นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความบอบบางน่าทะนุถนอม และความสำรวมเคร่งศาสนาของสตรีฟิลิปปินส์ ตามตำรากุลสตรีศรีฟิลิปปินส์ ผู้สวมชุดมาเรีย คลาราจะต้องพกและถือพัดเพื่อใช้ปัดป้องหลบซ่อนอารมณ์ความรู้สึก และเพื่อพัดวีกันเป็นลม (ในหนังสือจะเห็นว่ามาเรีย คลาราร่ำจะเป็นลมเป็นแล้งค่อนข้างบ่อยทีเดียว)

 

(ที่มา: http://en.wikipilipinas.org/images/b/bc/Mariaclara.jpg)

ผู้เขียนบทความนี้มองว่าการวางผู้หญิงไว้บนแท่นบูชาเยี่ยงนี้เป็นดาบสองคม เพราะแท่นแห่งความรักและความอมตะนำพามาซึ่งการริดและรีดเอาอณูชีวิตผู้หญิงจริงๆ ออกไป เหลือเพียงความคิดคุณค่าสตรีฟิลิปปินส์ตัวอย่าง ผู้หญิงกลายเป็นหุ่นเชิดไร้ชีวิต และเรื่องราวของเธอถูกกลืนกินไปในเรื่องราวของการสร้างชาติที่ผู้ชายมักเป็นผู้ออกโรงสร้างและรื้อถอนแท่นบัลลังก์แห่งอำนาจสังคมการเมือง ข้อที่ว่าผู้ชายเป็นผู้เขียน ชำระ และเรียบเรียงประวัติศาสตร์เสมอ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทั่วทุกประเทศในโลกเราจะเห็นว่าบุคลาธิษฐานของความเป็นชาติมักนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ของสตรีแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อินเดีย ความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมอินเดียนั้นนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ของเทวีที่มีนามว่า ภารตมาตา ชื่อนี้ก่อกำเนิดมาจากตัวละครในบทละครของ Kiran Chandra Bannerjee คำว่า ภารตมาตา นั้นใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราชในอินเดีย จนถึงทุกวันนี้

 

(ที่มา: http://i10.photobucket.com/albums/a137/ECdoesit/filipiniana2.jpg)

ในบทความสุดคลาสสิคของ Gayatri Chakravorty Spivak ที่ชื่อ “Can the Subaltern Speak?” (เวอร์ชันปรับปรุงเพิ่มเติม) Spivak กล่าวว่าเป็นความรับผิดชอบของนักวิชาการที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจว่าคนที่เข้าข่ายเป็น subaltern นี้มีใครบ้าง คำว่า subaltern นี้เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกนายทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพอังกฤษ ต่อมาอันโตนิโอ กรัมชี (เกิดปี ค.ศ. 1891 ตายปี ค.ศ. 1937) นักคิดแนวมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนซึ่งในเวลานั้นอยู่ระหว่างจองจำในคุกการเมือง ใช้คำนี้เขียนเรียกแทนคำว่า proletariat หรือชนชั้นล่างหรือชนชั้นใช้แรงงาน เพื่อเลี่ยงการถูกเซนเซอร์โดยเจ้าหน้าที่รัฐฟาชิสต์ใต้มุสโสลินี ต่อมาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980s บรรดานักวิชาการอินเดีย ที่เด่นคือ Dipesh Chakrabarty Partha Chatterjee Ranajit Guha และ Gayatri Chakravorty Spivak ได้ลุกขึ้นมาจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การชำระและสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อินเดียแบบมาร์กซิสต์อันมองว่าชนชั้นนำหรือปัญญาชนเท่านั้นที่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม มาร์กซ์เองก็มองว่าอินเดียก่อน British Raj ก่อนอังกฤษเข้ามาปกครองเป็นเจ้าอาณานิคม นั้นไม่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง:

“Indian society has no history at all, at least no known history. What we call its history, is but the history of the successive intruders who founded their empires on the passive basis of that unresisting and unchanging society. The question, therefore, is not whether the English had a right to conquer India, but whether we are to prefer India conquered by the Turk, by the Persian, by the Russian, to India conquered by the Briton”.

(ที่มา: http://www.marxists.org/archive/marx/works/1853/07/22.htm)

กลุ่ม subaltern studies ได้รื้อฟื้นคำและแนวคิด subaltern โดยมุ่งศึกษาบุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ ไม่ใช่ผู้กุมอำนาจทางภาษาและวาทกรรมทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ แต่กระนั้น สถานะ subaltern ไม่ได้เป็นสถานะอัตโนมัติของชนชั้นล่างและวรรณะล่าง เสมอไป Spivak เน้นว่านักวิชาการต้องพยายามอย่าใช้อำนาจหรืออย่าใช้ความได้เปรียบของการที่ตนอยู่ ภายใน ระบบภาษาปัญญาชนเพื่อนิยามแปะป้าย พูดแทน บุคคลชายขอบนิรนามหรือบุคคลที่มักถูกวาทกรรมภูมิปัญญาตะวันตกกลืนกิน ถูกคนทั่วไปปล้น รื้อ สร้าง หรือ แปะป้ายอัตลักษณ์ใหม่เพื่อเสริมอำนาจนำในสังคม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า subaltern คือพวกที่มักถูกเข้าใจผิด ถูกตีความ agency และเจตนาของตนแบบผิดๆ เป็นพวกที่จนมุมเพราะไม่สามารถออกมาแก้ต่างให้ตัวเอง หรือลุกขึ้นมาเรียบร้องสิทธิในระบบภาษาและสังคมที่มุ่งที่จะผลักให้ตนไปอยู่ชายขอบของชายขอบหรือแม้กระทั่งนอกชายขอบ หรือแม้กระทั่งในอาณาบริเวณที่ไม่มีชื่อเรียก ซึ่งแย่ยิ่งว่าอเวจี เพราะอย่างน้อยนรกก็มีชื่อเรียก สามารถนึกภาพเข้าใจได้ แน่นอน โปรเจคพุ่งชนทำนอง subalternist นี้มิวายอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและเป็นปฏิพากย์กับตัวเอง เพราะการพยายามทำความเข้าใจหรือพยายามนิยามคำว่า “subaltern” นี้สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำสิ่งที่พวกนักวิชาการอย่าง Dipesh Chakrabarty Partha Chatterjee Ranajit Guha และ Gayatri Chakravorty Spivak ต่อต้าน กล่าวคือการลุกขึ้นมา พูดแทน และเขียนประวัติศาสตร์ให้ subaltern กลายเป็นผู้ไร้เสียง ไร้เจตจำนง และไร้ร่องรอยสืบไป แน่นอน essentialisation หรือการนิยาม ให้เนื้อหนังมังสา ให้ค่าความหมายของ subaltern นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในทัศนะของ Spivak เพราะไม่อย่างนั้นเราจะสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาได้อย่างไร ในประเด็นนี้เธอย้ำว่ามันพอมีทางออก คือ นักวิชาการจะต้องตระหนักรู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ การแปะป้ายนิยาม subaltern ไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งที่ถาวรตายตัวได้ ผู้เขียนบทความขอยกความพยายามของ Spivak ที่จะนิยามผู้ที่เข้าข่ายว่าเป็น subaltern ดังต่อไปนี้  

 

(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://gcpoliticaltheory.wikispaces.com/file/view/Can+the+Subaltern+Speak.pdf)

ข้อหนึ่ง เพียงแค่บุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวเป็นพวก postcolonial อยู่ในวิถีระบบอาณานิคมหรือผลพวงของระบบอาณานิคม ไม่ได้ทำให้คนพวกนี้มีสถานภาพเป็น subaltern โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โฮเซ ริซัลเอง ซึ่งมีผู้ยกย่องเชิดชู มองได้ว่าเป็น postcolonial subject คนแรกในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมนั้น ก็เป็นผู้ที่อยู่ในสถานะตกอยู่ใต้อาณัติปกครองของสเปน แต่สถานภาพของเขาช่างห่างไกลจากการเป็น subaltern หรือบุคคลชายขอบนิรนามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเลโอนอร์ เรายังสามารถได้ยินเสียงของโฮเซก้องกังวานในเรื่องราวประวัติศาสตร์กู้เอกราชและสร้างชาติของฟิลิปปินส์ (และแม้ โฮเซ มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็น Malay writer เทียบกับเลโอนอร์แล้ว การรื้อถอนและสร้างอัตลักษณ์ของโฮเซนั้นยังถือว่าไม่รุนแรงในเชิง epistemic violence หรือความรุนแรงทางการสร้างองค์ความรู้ในมุมมองของ Foucault อนึ่ง ผู้เขียนบทความไปศึกษาล่วงรู้มาว่าเหตุที่มีผู้จัดโฮเซว่าเป็น Malay ก็เพราะคนฟิลิปปินส์ทั้งในอดีตและปัจจุบันใช้คำว่า Malay ในการเรียกชนพื้นเมืองบนเกาะจนถึงผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะบอเนียว คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะซูลาเวซีและหมู่เกาะโมลุกกะ ทั้งนี้เป็นการเรียกแบบเหมารวมตามสเปนซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเรียกผู้คนบนเกาะฟิลิปปินส์ รวมทั้งพื้นที่ที่กล่าวมาแล้วว่า Indio เรื่องอัตลักษณ์มาเลย์กับโฮเซ ริซัลนี้น่าสนใจ และสามารถเป็นหัวข้อบทความยาวๆ ได้อีกหนึ่งบทความ จึงขอละไว้แต่เพียงเท่านี้ และเปิดทางให้มาเรีย คลาราออกมาส่งเสียงบ้าง)

ข้อสอง การที่นักวิชาการ romanticise หรือนำบุคคลหรือกลุ่มพวก subaltern ขึ้นหิ้งบูชา ชำระภาพลักษณ์จนกลุ่มคนพวกนี้งดงามราวนักบุญบริสุทธิ์ผุดผ่อง (อันสะท้อนในความพยายามของโฮเซ ริซัล ที่จะยกเลโอนอร์ ริเวรา ไว้บนแท่น ผ่านการสร้างตัวละครสตรีประจำชาติอย่างมาเรีย คลารา) เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะมันไม่ได้ทำให้เข้าใจ subaltern มากกว่าเดิม การรื้อฟื้นเรื่องราวของคนเหล่านี้แล้วนำไปใส่ในกล่องแก้วรักษาในพิพิธภัณฑ์แห่งความรู้สึกผิดทางชนชั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับการ พูดแทน subaltern ไม่ได้ต่างอะไรกับการปิดปากไม่ให้ subaltern พวกนี้มีสุ้มมีเสียงเล่าเรื่องของตนเอง

คลิปด้านล่างนี้ มิเป็นเพียงตัวอย่างของการชำระประวัติศาสตร์อย่างเลือกจำเลือกลืม มิเป็นเพียงตัวอย่างของการกู้เสียง subaltern และนำ subaltern  ขึ้นหิ้งบูชา แต่ยังเป็นตัวอย่างแนวคิดชายเป็นใหญ่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์และขบวนการชาตินิยมที่ดีอีกด้วย คลิป “Lupang Hinirang” (ลูปัง ฮินิรัง – แปลว่า “The Chosen Land” หรือ ดินแดนที่ได้รับเลือก/ดินแดนแห่งความหวัง) ซึงเป็นชื่อเพลงชาติฟิลิปปินส์นี้ จัดทำโดย GMA Network ซึ่งเป็นเครือข่ายโทรทัศน์รายใหญ่ของฟิลิปปินส์ และเริ่มถ่ายทดเผยแพร่เมื่อประมาณสามปีที่แล้ว:

 

http://www.youtube.com/watch?v=vdNOmKphK-M

จากเหตุการณ์ Tagumpay sa Mactan (ตะกุมปาย ซา มัคตัน) หรือ ชัยชนะที่มัคตัน เมื่อปี ค.ศ. 1521 อันเป็นเหตุการณ์ที่ ดาตู ลาปู-ลาปู (เกิดปี ค.ศ. 1491 ตายปี ค.ศ. 1542) เจ้าครองเกาะมัคตันและนักรบของเขาสู้รบมีชัยเหนือกองทหารของนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (เกิดปี ค.ศ. 1480 ตายปี ค.ศ. 1521) ซึ่งเดินเรือในนามของกษัตริย์สเปน ถึงหน้าประวัติศาสตร์จารึกของ Kabayanihan ni Jose Rizal (ค.ศ. 1896) (กาบายานิฮัน นิ โฮเซ ริซัล) หรือ วีรกรรมของโฮเซ ริซัล จนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สุดท้ายในคลิปคือ Rebolusyong EDSA (ปีค.ศ. 1986) หรือการปฏิวัติที่ Epifanio de los Santos Avenue (EDSA) เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส หลังเหตุการณ์การสังหารรัฐบุรุษ เบนิกโน “นีนอย” อาคีโน จูเนียร์ (เกิด ปีค.ศ. 1932 ตาย ปี ค.ศ. 1983) ผู้เป็นสามีของโคราซอน อาคีโน และบิดาของนอยนอย อาคีโน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่นำเสนอในคลิปเพลงชาติเป็นกิจกรรมและกิจการของผู้ชายแทบทั้งสิ้น หากไม่นับซิสเตอร์นัยน์ตาเศร้าในเหตุการณ์ EDSA  และสตรีในชุดมาเรีย คลาราที่นั่งเย็บธงฟิลิปปินส์ในภาพเหตุการณ์  Paglikha ng Watawat ng Pilipinas (ปักลีคา นัก วาตาวัต นัก ปิลิปีนัส) หรือการรังสรรค์ธงชาติฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1898 โดยมาร์เซลลา อาร์กอนซิลโล (เกิดปี ค.ศ. 1860  ตายปี ค.ศ. 1946) ด้วยความช่วยเหลือลูกสาวคือลอเรนซา และความช่วยเหลือของเดลฟีนา เฮร์โบซา เด นาตีวีดาด ซึ่งเป็นหลานสาวของโฮเซ ริซัลเอง เราจะเห็นว่าผู้หญิงเป็นตัวประกอบ หรือไม่ก็เป็นฉากหลัง หรือไม่ก็อันตรธานสลายตัวไปในพื้นผิวฉากหลังของการนำเสนอและรื้อฟื้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

 

(ชุดมาเรีย คลาราแบบประยุกต์ ซึ่งอิเมลดา มาร์กอส เป็นผู้นำเทรนด์ ที่มา: http://www.funkypanda.com/dictators/imelda1.jpg)

เมื่อ ค.ศ.1893 เลโอนอร์ ริเวราเสียชีวิตหลังให้กำเนิดลูกคนที่สองกับสามีชาวอังกฤษ สิริรวมอายุได้ 26 ปี

คนฟิลิปปินส์รุ่นใหม่มักคุ้นชื่อเธอ แต่ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าข้อที่ว่าเธอเป็น “แฟน” หรือ “กิ๊กเก่า” สมัยเด็กของวีรบุรุษโฮเซ ริซัล ผู้ยิ่งใหญ่

แต่ใครกันคือมาเรีย คลารา หรือ อินัง ปิลิปีนัส มารดาแห่งฟิลิปปินส์ ตัวจริง

เกิดอะไรขึ้นกับเลโอนอร์ ริเวรา ผู้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์อำนาจ

หรือเธอจะไม่สำคัญจริงๆ

หรือเธอจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกปล้นอัตลักษณ์ ของผู้หญิงที่ตกอยู่ใต้อาณัติอำนาจ “อาณานิคม” ของคุณค่าชายเป็นใหญ่ หญิงที่ไร้นาม ไร้หน้า ไร้เรื่องราวตกทอด… เมื่อการเมืองและขบวนการชาตินิยมที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศอาณานิคมอย่างฟิลิปปินส์นั้น—เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก—มิเพียงตั้งอยู่บนฐานของความไม่เสมอภาคทางเพศ หากยังส่งเสริมระบบอำนาจที่กดขี่บุคคลชายขอบนิรนาม ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ที่ล้วนหายตัวไปโดยไม่ทิ้งแม้กระทั่งรอยเท้าบนผืนทรายแห่งประวัติศาสตร์หรืออณูอากาศบนฉากหลังของการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่โลกเลือกจำหรือเลือกลืม

เราคงต้องไปตามหาเลโอนอร์ภาคอวตาร ในดวงหน้าของแรงงานสตรีฟิลิปปินส์อพยพ เช่น คนใช้ พี่เลี้ยงเด็ก ที่ส่งเงินส่งข้าวของเครื่องใช้กลับบ้านกระมัง เราต้องไปหาร่องรอยของเลโอนอร์ในหมู่แรงงานฟิลิปปินส์ทั้งผู้ที่ยากจนหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จสร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยอยู่เมืองนอก ส่งเงินให้ญาติที่รออยู่เป็นนิจจนสุขสบายไม่แพ้กัน และยังไม่วายส่งข้าวของเครื่องใช้กลับบ้านเป็นพิธี มูลค่าและเม็ดเงินในแต่ละปีนั้นจำนวนมหาศาล

 

(คนใช้ชาวฟิลิปปินส์กลุ่มหนี่งที่ประเทศกาตาร์ ที่มา: http://www.texaninthephilippines.com/filipino-maids-to-get-model-job-contract/)

[ผู้เขียนบทความขอเรียกว่าวัฒนธรรมการส่งเงินส่งของกลับบ้าน (ทั้งที่ทางบ้านขาดแคลนหรือไม่ขาดแคลนจริงๆ) ว่าวัฒนธรรม Balikbayan box (บาลิกบายันบักซ์) หรือวัฒนธรรมส่งกล่องของขวัญจากชาวฟิลิปปินส์ข้ามชาติ คำว่า box ภาษาอังกฤษที่อ่านแบบสำเนียงฟิลิปปินส์เป็น “บักซ์”นี้ แปลว่า กล่อง ส่วนคำภาษาตากาลอก Balikbayan เป็นคำประสมของคำว่า balik ที่แปลว่า “กลับ” และ bayan ซึ่งแปลว่า “บ้านเกิด” วัฒนธรรมนี้ก่อให้เกิดธุรกิจส่งของข้ามน้ำข้ามทะเลไปฟิลิปปินส์ ก่อให้เกิดบริษัทจัดการ shipของส่งของ Balikbayan box กลับประเทศมากมายจริงจัง]

 

(ที่มา: http://www.dimensionsinfo.com/wp-content/uploads/2011/05/Balikbayan-Box-Size.jpg)

 

(As a side note: คลิปมิวสิควิดีโอด้านล่างเป็นการล้อเลียนข้อความจริงที่ว่า spam หรือเนื้อหมูแฮมกระป๋อง อันเป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ยุค GI เข้ามาในฟิลิปปินส์นั้น เป็นหนึ่งในของฝากบาลิกบายันยอดฮิต เสมือนสิ่งแทนความโหยหาคิดถึงบ้านของชาวฟิลิปปินส์โพ้นทะเล คลิปนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนาธรรมบาลิกบายันบักซ์นั้นยังคงอยู่ดี และจะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฟิลิปปินส์ในโลกสมัยใหม่เรื่อยไป: http://www.youtube.com/watch?v=NC6AryKPQfk)

อยากจะรู้นักว่าเลโอนอร์จะว่าอย่างไร เมื่อเห็นประเทศ ลูก ของเธอขับเคลื่อนไปด้วยอำนาจของสตรีแรงงานอพยพฟิลิปปินส์ ลูกสาวของเธอ ผู้เป็นเจ้าแม่แห่ง Balikbayan box เป็นเทวีแห่งความหวัง เป็นเหยื่อของการกดขี่กระทำชำเราทางกายและใจ เป็นมรณสักขีและมารดาอุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจและผู้สร้างเสริมทุนทางสังคมของประเทศโดยแท้จริง—มาเรีย คลารา คงจะหยิบพัดมากางบังรอยน้ำตาแห่งความเศร้าใจและบังรอยยิ้มกระหยิ่มใจ เมื่อเห็น บรรดาอินัง ปิลิปีนัส ของศตวรรษที่ 21 ที่แม้ไม่ได้สวมชุดมาเรีย คลารา แต่ก็ยังทำความสะอาดและดูแลบ้านของ “เจ้าอาณานิคม” แห่งทุนนิยมและสวดมนต์ยึดมั่นในศาสนาแห่งแรงงานข้ามชาติอย่างภักดีไม่เสื่อมคลาย

 

(ที่มา: http://farm8.staticflickr.com/7039/6953212197_46e46c1caf_z.jpg)

 

จากบทความเดิมชื่อ :มาเรีย คลารา:  Inang Pilipinas (มารดาแห่งฟิลิปปินส์) Subaltern บุคคลชายขอบนิรนาม หุ่นเชิดคุณค่าความงามสตรี เรื่องราวเบื้องหลังขบวนการชาตินิยมและชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ ที่โลกเลือกลืม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท