Skip to main content
sharethis

สมัชชาปฏิรูปเผยงานวิจัยแนวทางปฏิรูป ป.ป.ช. เผยยังมีงานพอกอื้อ-ค้างตรวจทรัพย์สินนักการเมืองอีก 3.5 หมื่นราย บริหารงานแบบราชการทั้งที่เป็นองค์กรอิสระ แนะสางงานเก่าให้จบใน 5 ปี และรีแบรนด์ลดอายุกรมการ ป.ป.ช. จาก 9 ปี เหลือ 5-6 ปีให้รุ่นใหม่เข้ามาทำงาน

 

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่า ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัชชาปฏิรูป (สปร.) แถลงข่าวเชิงสัมมนาการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางปฏิรูป แนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่คณะทำงานการปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น สปร.ศึกษาวิจัย โดยเป็นการเสนอเรื่อง “ต้องปฏิรูป ป.ป.ช.-ต้องใส่ใจ ป.ป.จ.” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศ

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวว่าที่ศึกษาไม่ใช่เพราะ ป.ป.ช.ไม่มีประสิทธิภาพ แต่เพราะ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานที่ได้รับการคาดหวังจากประชาชน มีผลงานในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ช่วยประชาชนได้มากขึ้น

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าปัญหาของ ป.ป.ช.มีอยู่ 4 ประเด็นใหญ่ด้วยกันคือ  1.คดีคอร์รัปชั่นที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช.มีมาก ไม่ต่างอะไรกับดินพอกหางหมู โดยมีคดีที่เพิ่มขึ้น นับตั้งตั้งแต่ปี 46 ที่มีคดีรับผิดชอบจำนวน 4,975 คดี ปี 50 จำนวน 11,578 ปี 51 มีจำนวน 5,650 คดี (แบ่งให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ป.ป.ท. 5,900 คดี) ปี 52 จำนวน 6,400 คดี ปี 55 จำนวน 7,121 คดี ซึ่งคำนวณแล้วพบว่ามีคดีเฉลี่ยสะสม 294 คดีต่อปี

นอกจากนี้ยังมีภาระในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก โดยขณะนี้พบว่ามีการตรวจสอบไปแล้ว 35,334 บัญชี อยู่ระหว่างตรวจ 35,757 บัญชี ทั้งนี้หากไม่มีแนวทางการจัดการใหม่อย่างไรคงไม่ชนะ และยังอาจกลายเป็นวิกฤติศรัทธาในตัว ป.ป.ช. รวมไปถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ส่วนคดีที่ ป.ป.ท. รับไปทำนั้น พบว่า ป.ป.ท. อ้างว่าบุคลากรที่ไม่เพียงพอ จึงต้องไปเพิ่มกำลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอาจถูกตั้งคำถามว่ามีการแทรกแซงในการทำคดีได้ง่ายหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปในส่วนนี้

2.ปัญหาวัฒนธรรมการทำงานแบบราชการในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะกรรมการส่วนใหญ่ที่เป็นอดีตผู้บริหารหน่วยราชการหลังเกษียณ มักชอบรวมศูนย์อำนาจและล้วงลูกฝ่ายปฏิบัติ มีระเบียบปฏิบัติที่มาจากราชการปกติ เจ้าหน้าที่ทั้งหมดโยกย้ายถ่ายโอนมาจากส่วนราชการอื่นๆ รวมไปถึงหากในกรณีที่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) แล้ว มีทั้งโอกาสและสุ่มเสี่ยงเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นได้มาก

3.ปัญหาข้อจำกัดในส่วนการนำขององค์กรอิสระ กล่าวคือกรรมการ ป.ป.ช.นั้นมาจากหลากหลาย มีอิสระ ศักดิ์ศรีเสมอกัน จึงสร้างการนำรวมหมู่ได้ยาก การไม่กำหนดสัดส่วนกรรมการให้มีด้านวิชาชีพและด้านประชาสังคมเป็นองค์ประกอบทำให้มีแต่อดีตผู้บริหารราชการหลังเกษียณ นอกจากนี้เลขาธิการในปัจจุบันยังไม่แสดงศักยภาพบริหารองค์กรได้มากนักเพราะถูกวิธีการทำงานของกรรมการครอบเกินไป และส่วนหนึ่งมาจากการคัดเลือกที่ไม่มีการเปิดกว้างจึงไม่มีเลือดใหม่จากภายนอกมาผสมผสาน  4. ปัญหาด้านความเสี่ยงและโอกาส ป.ป.ช.จังหวัด ที่ต้องระมัดระวัง เพราะกระบวนการและวิธีการสรรหากกรรมการ ป.ป.จ.จำนวน 3-5 คน ในจังหวัดไม่อาจป้องกันการบล็อกโหวตได้ เนื่องด้วยค่าตอบแทนรายเดือนและสวัสดิการสูง สู้ระบบจัดตั้งของนักการเมืองไม่ไหว

โดย นพ.พลเดช เสนอให้ ป.ป.ช.ปฏิรูปปัญหาที่เกิดขึ้น 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการกับคดีที่คั่งค้าง จากการกำหนดแผนบริหารจัดการเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้ภายใน 5 ปี และคดีที่อยู่ในการดำเนินการของ ป.ป.ช.แยกเป็นคดีทั่วไปกับคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกลุ่มแรกให้ทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนักวิชาชีพด้านสอบสวนดูแล กลุ่มหลังให้อนุกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาร่วมดูแลโดยใช้กระบวนการไต่สวนแบบเปิดเผยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นเพื่อสร้างความโปร่งใส ขณะที่คดีในส่วน ป.ป.ท.รับผิดชอบนั้น ต้องตั้งกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 3-5ปี และรายงานความคืบหน้าและอุปสรรคให้ ป.ป.ช.ทราบ

2.ปฏิรูปวิถีวัฒนธรรมในองค์กร โดยต้องรีแเบรนด์องค์กรให้มีภาพลักษณ์เฉียบขาด เข้มแข็ง

3.ปฏิรูปโครงสร้างส่วนการนำใน ป.ป.ช.โดยต้องกล้าพอที่จะทำให้ระเบียบวิธีการสรรหา ได้ผู้บริหารที่เป็นนักกลยุทธ์และนักบริหารมืออาชีพจากวงการต่างๆ ร่วมงาน  นอกจากนี้ในระยะยาวควรปรับโครงสร้างองค์กร เช่น เปิดโอกาสให้มีการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. จากสัดส่วนจากภาควิชาการ ภาคสังคมเข้ามาเสริมใน  9 คนเดิมที่ดำรงตำแหน่ง และลดวาระดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี เหลือเพียง 5-6 ปี สมัยเดียว

และ 4.ในส่วนของ ป.ป.จ.จังหวัดนั้น ต้องเริ่มจากการสรรหา ป.ป.จ.โดยทำให้กระบวนการสรรหาเป็นสาธารณะและครึกโครมที่สุดเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ รวมไปถึงต้องผนึกกำลังภาคีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการปราบปรามการคอร์รัปชั่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net