Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เกริ่นนำ
เพลงหมิ่นศาสนาในประเทศไทย โดยทั่วไปรับเข้ามาจากต่างประเทศนานแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากอยู่ใต้ดินเป็นหลัก  (Underground) ส่วนใหญ่เพลงหมิ่นศาสนาเหล่านั้น มักโจมตี “ความเชื่อของศาสนจักร” (Doctrine) เป็นต้น การล้อเลียน เยาะเย้ย ถางถาง พระเยซู การตั้งคำถามเรื่องความเป็นพรหมจรรย์ของพระมารดา และที่สุด เพลงหมิ่นศาสนาเหล่านั้นจะมีศิลปะที่ดูหมิ่นศาสนาเป็นของคู่กันด้วย เช่น เสื้อยืดลายกางเขนกลับหัว หรือ สร้อยคอรูปใบหน้าปีศาจ ปัญหาคือ ศาสนิกให้อภัยผู้ผลิตเพลงหมิ่นศาสนาได้หรือไม่? ถ้าไม่เพราะอะไร?

เนื้อหา
ตัวอย่างที่ชัดมากขอยกจาก บรรดาประเทศมุสลิมซึ่งบังคับใช้กฎหมายศาสนาซึ่งจะอภัยให้ไม่ได้ ถ้าเพลงหมิ่นศาสนาถูกเผยแพร่ในรัฐอิสลาม แน่นอน ที่สุดบทลงโทษตามกฎหมายศาสนาได้สะท้อนกลิ่นอายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของศาสนาอับราฮัม (ยูดาย คริสต์ อิสลาม) และน่าตกใจกว่านั้น คือ บทลงโทษดังกล่าวยังบังคับใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น “การเอาหินขว้างคนบาปให้ตาย”  แน่นอน พี่น้องร่วมโลกของเราถูกความไร้มนุษยธรรมนี้กดขี่อยู่ ที่สำคัญ รัฐศาสนามักปิดกั้นเสรีภาพในการสื่อสารด้วย เช่น คุณจะไม่สามารถบันทึกภาพหรือเสียงของการทารุณกรรมมนุษย์ในประเทศนั้นๆได้ ฉะนั้น เราจะไม่มีหลักฐานอะไร และยากมากที่องค์กรใดจะเข้าไปแทรกแซง (Sanction) ได้เนื่องจากเป็นความมั่นคงของรัฐ ไม่ว่าประชาชนจะถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพเพียงใดก็ตาม

แต่ประชากรส่วนใหญ่ในโลกเป็นพลเมืองของประเทศที่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายศาสนา ซึ่งทำให้ความเป็นพลเมืองถูกคุ้มครองเสรีภาพในการดำเนินชีวิตด้วยกลไกรัฐ (แม้จะไม่ค่อยเท่าเทียมนัก) และไม่ว่ารัฐจะบกพร่องต่อการบริหารราชการแผ่นดินมากหรือน้อยเพียงใด ประชาคมโลกไม่อาจยอมรับได้ต่อ “การฆ่าอย่างไร้มนุษยธรรม” หรือแม้กระทั่งการประหารชีวิตนักโทษที่กระทำความผิดจริงก็ตาม ควรรู้ว่า หลายประเทศในโลกพากันลงมติยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีไปแล้ว แน่นอนบางประเทศไม่

สำหรับประเทศไทยซึ่งมีโทษประหารชีวิตและการฆ่าอย่างไร้มนุษยธรรมที่กระทำในนามรัฐ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชากรของบางส่วนของประเทศนี้ยังเห็นดีเห็นงามกับการเอาชีวิตผู้อื่นด้วยซ้ำไป เราพบวาทกรรมและการผลิตซ้ำวาทกรรมมากมายที่ประกอบสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ของรัฐ  หลายครั้ง ผู้ที่เห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนโกหกตัวเองและผู้อื่นว่า นี่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง นี่เป็นการจัดระเบียบและคืนความสงบสุขแก่สังคม?

เพลงหมิ่นศาสนาบนดินเป็นการแสดงออกในที่สาธารณะที่ถูกตีความว่าเป็นการละเมิดต่อความถูกต้อง เป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการทำลายระเบียบของสังคม และทำให้น่าหวาดกลัวว่าจะทำให้เกิดความไม่สงบสุข? ทำให้มีคำถามว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเพลงหมิ่นศาสนานั้นๆ?  หรืออะไรที่เป็นเหตุให้นักดนตรีสนใจสร้างสรรค์เพลงหมิ่นศาสนา? ถึงจะยังไม่รู้คำตอบแน่ชัด แต่ปัจจัยข้อหนึ่ง คือ “การกดขี่และความเหลื่อมล้ำ” อาจกล่าวได้ว่า เพลงหมิ่นศาสนาเป็นแรงปฏิกิริยา (Reaction) ที่ปลดปล่อยออกมาภายหลังปฏิกิริยา (action) กดขี่ของอำนาจ
 

ต้องยอมรับความจริงว่า เพลงหมิ่นศาสนามีแรงจูงใจ (motivation) ไม่มากก็น้อยจากการถูกกดขี่และปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งนั่นเป็นภาวะบีบคั้นที่ทำให้ไม่สามารถแสดงออกในทางอื่นได้ และทางออกก็เหลืออยู่ไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นคือ ดนตรี กลายเป็นเหมือนกฎไปแล้วว่า ถ้าขึ้นมาบนดินคุณต้องอำพรางการเรียกร้องเสรีภาพในรูปแบบสัญลักษณ์เพื่อจะได้ไม่เจ็บตัว แต่ถ้าคุณอยู่ใต้ดินคุณจะมีอิสระและเสรีภาพในการสื่อสารหรือสร้างสรรค์อะไรได้มากกว่า?
                เพราะการ “หมิ่นอำนาจ” เป็นอะไรที่ “ผู้รักษาอำนาจ” ไม่อาจยอมได้ เพราะการหมิ่นจะไปกระตุ้นในทางจิตวิทยาให้ผู้รักษาอำนาจเกิดโทสะว่า นี่เป็นการกระทำที่ก้าวร้าวบังอาจ เป็นการยั่วยุท้าทายอำนาจ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้กฎระเบียบทุกข้อเพื่อจำกัดพฤติกรรมหมิ่นนี้ให้สิ้นซาก ซึ่งวิธีบังคับใช้กฎระเบียบก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายสูงสุดของรัฐ ถ้ากฎหมายสูงสุดยอมรับการเอาหินขว้างคนบาปให้ตาย แน่นอนที่สุด ไม่จำเป็นต้องรีรอที่จะปลุกระดมมวลชนให้เห็นด้วยกับการลงโทษดังกล่าว และสำหรับประเทศไทย แม้ว่าโดยเจตนารมณ์และตัวบทกฎหมายจะยอมอ่อนน้อมต่อหลักเสรีภาพสากลเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่าลืมว่า ครั้งหนึ่งมีคำแนะนำในนามศาสนาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป?”
            
ฉะนั้น ถ้าคุณมีอำนาจหรือรู้จักกับผู้รักษาอำนาจ และใครก็ตามที่หมิ่นอำนาจคุณจะถูกกำจัดด้วยวิธีการต่างๆ และวิธีการที่นิยมกันมากในปัจจุบัน คือ “โยนหินถามทาง” เนื่องจาก บรรดาผู้รักษาอำนาจยุคใหม่มีความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของอำนาจด้วย เห็นได้ชัดเจนจากการทำเป็นทีเล่นทีจริงกับการบังคับใช้อำนาจ (ดูปฏิกิริยามวลชน) เป็นที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย เช่น ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องมากเกินไปก็อาจเลิกทำเสีย แต่ถ้าหาใครสักคนที่สามารถชักจูงเกลี้ยกล่อมประชาชนได้สำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องรีรออะไรอีกต่อไป ไม่จำเป็นต้องสนใจ “เสรีภาพของความเป็นมนุษย์” ด้วย ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
                ขอให้สังเกตว่า ที่อภิปรายมาทั้งหมด เพลงหมิ่นศาสนา แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือแก่นคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด หากแต่เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ”(Authority) ซึ่งพัวพันอย่างแยกไม่ออกกับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง เป็น “อำนาจ” (Authority) ที่ชักจูงและเกลี้ยกล่อมให้ ผู้อยู่ใต้อำนาจให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่ก้าวร้าวเพื่อปกป้องสถาบันอันเป็นที่รัก เป็น “อำนาจ” (Authority) ที่แสดงตนอย่างแข็งแกร่งราวกับจะลบภาพลักษณ์ของความเมตตาซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนในศาสนา เป็น “อำนาจที่กระทำทุกอย่างในนามของความดี”

สรุป
            “เพลงหมิ่นศาสนาจึงได้รับการอภัยไม่ได้ในแง่ของการหมิ่นอำนาจ”
 เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ ภาพลักษณ์ ผลประโยชน์ในการชวนเชื่อ เท่านั้น ซึ่งการหมิ่นเช่นนี้จำเป็นต้องถูกดำเนินคดีในทางกฎหมายถ้าเป็นไปได้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ซึ่งผู้รักษาอำนาจเองแยกแยะการฟ้องร้องออกจากพื้นฐานคำสอนทางศาสนาอยู่แล้ว กล่าวโดยง่ายว่า เพลงหมิ่นศาสนาเหมือนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แบบหนึ่ง เพราะ ไม่ใช่ใครๆจะตีความหรือตั้งคำถามอะไรกับศาสนาก็ได้ ถ้าไม่ใช่ผู้รักษาอำนาจ ? ทั้งที่ในคำสอนของศาสนา เป็นต้น ศาสนาคริสต์ระบุไว้ว่า
"------------ ความพินาศจะเกิดแก่เจ้า คนเคร่งศาสนาหน้าซื่อใจคด  เจ้าเที่ยวสั่งสอนคนให้เข้ารีตแล้วเสี้ยมสอนให้เขาผู้นั้นชั่วร้ายกว่าเจ้าเสียอีก  ความพินาศจะเกิดแก่เจ้า คนเคร่งศาสนาหน้าซื่อใจคด  เจ้าละเลยความยุติธรรม ความเมตตากรุณา และความซื่อสัตย์  ความพินาศจะเกิดแก่เจ้า คนเคร่งศาสนาหน้าซื่อใจคด  เจ้าฆ่าบรรดานักคิดซึ่งพระเจ้าทรงส่งไปหาเจ้ามากมาย เราพระเยซู ไม่ขอมีส่วนร่วมในการฆ่านั้น ------------ " (เทียบ มัทธิว 23:13-39)

ควรรู้ พระเยซูตายเพราะหมิ่นอำนาจคนเคร่งศาสนาพวกนี้เช่นกัน !


อธิบายภาพ: ปกอัลบั้ม Anti-christ ในปี 1996 ของวง Gorgoroth วงดนตรีแนว Black metal สัญชาตินอรฺเวย ถิ่นกำเนิดของเพลงหมิ่นศาสนา แต่ศาสนจักรกลับนิ่งเฉยที่จะแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาสนาแห่งรัก!! | ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net