Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย ทำการวิจัยกลุ่มประชากรที่เกิดช่วงก่อน-หลัง นโยบายลูกคนเดียวในจีน พบหลายลักษณะต่างกันทั้งเรื่องการเผชิญความเสี่ยง ความเชื่อใจ และทัศนคติต่อการแข่งขัน

เว็บไซต์วิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิจัยชี้ว่าเด็กที่เติบโตภายใต้นโยบายลูกคนเดียวของจีนทำให้เด็กโตมาเป็นคนที่เชื่อใจได้น้อยลง, หลีกเลี่ยงการเผชิญความเสี่ยง และมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าคนที่เกิดก่อนนโยบายลูกคนเดียว

ผลการวิจัยเป็นไปตามภาพรวมที่สื่อจีนกล่าวถึงเด็กในยุคนโยบายลูกคนเดียวว่ามีลักษณะแบบ "จักรพรรดิ์ตัวน้อย" ที่โตขึ้นมาในสภาพที่ถูกประคบประหงมและไม่ได้รับการขัดเกลาทางสังคม ซึ่งนักวิจัยบอกว่าการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพนี้อาจส่งผลต่อโลกในแง่ที่ทำให้เกิดคนรุ่นที่ไม่กล้าเผชิญความเสี่ยง อันจะทำให้เกิดภาวะล้าหลังทางนวัตกรรม

จากภาวะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้จีนนำนโยบายลูกคนเดียวมาใช้ในปี 1979 โดยมีข้อยกเว้นให้กับคนในชนบท คนในครอบครัวของชนกลุ่มน้อย ลูกแฝด หรือครอบครัวที่มีลูกคนแรกเป็นผู้ทุพลภาพร้ายแรง โดยครอบครัวที่ถูกจำกัดหากมีลูกเพิ่มจะต้องเสียค่าปรับสูงมาก

ลิซา คาเมรอน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาชประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า มีแต่คนพูดถึงผลกระทบต่อเด็กที่เกิดเป็นลูกคนเดียว แต่ยังไม่มีใครศึกษาจริงจัง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเขาจะทำการวิจัยในเรื่องนี้

ลิซา และคณะทำการทดลองโดยการใช้เกมเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่ใช้วัดพฤติกรรมด้านต่างๆ ในโลกจริง เช่น การเห็นแก่ผู้อื่น, ความเชื่อใจผู้อื่น, ความน่าเชื่อถือในตนเอง, การแข่งขัน และทัศนคติต่อความเสี่ยง โดยวัดจากกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่เกิดก่อนนโยบายลูกคนเดียว และเกิดทีหลังนโยบายลูกคนเดียวถูกประกาศใช้

กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชน 421 ในจีนที่เกิดระหว่าง 1975-1978 ก่อนนโยบายลูกคนเดียว และที่เกิดระหว่าง 1980-1983 หลังนโยบายมีการบังคับใช้แล้ว โดยทีมวิจัยสรรหากลุ่มด้วยอย่างด้วยหลายวิธีการทั้งการโพสท์ในเว็บไซต์และการแปะประกาศตามมุมถนน เพื่อให้ได้ประชากรแบบสุ่มมากทึ่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการกำหนดช่องว่างอายุที่ไม่มากนักเพื่อเป็นการควบคุมตัวแปรรวมทั้งในกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มยังมีปริมาณประชากรชาย-หญิง เท่ากันอีกด้วย

โดยในกลุ่มที่เกิดก่อนนโยบายลูกคนเดียวเป็นคนที่เกิดมาเป็นลูกคนเดียวร้อยละ 27 ขณะที่กลุ่มหลังใช้นโยบายลูกคนเดียว เป็นคนที่เกิดเป็นลูกคนเดียวร้อยละ 91


วิธีการทดสอบ

ทีมของลิซา ทำการทดลองโดยการให้กลุ่มตัวอย่างเล่นเกมทางเศรษฐศาสตร์ที่สะท้อนพฤติกรรมและบุคลิกลักษณะของผู้เล่น เช่นในการวัดทัศนคติต่อความเสี่ยง ผู้เข้าร่วมจะได้รับเงิน 100 หยวน (ราว 480-500 บาท) และสามารถลงทุนโดยมีความเสี่ยง 50-50 ระหว่างการได้รับเงินเพิ่มสามเท่ากับไม่ได้รับอะไรกลับมาเลย ซึ่งคนที่ไม่ชอบเสี่ยงจะเลือกทางที่ปลอดภัยคือการเก็บเงิน 100 หยวนไว้โดยที่ไม่เสี่ยง ส่วนคนที่ยอมเสี่ยงจะลองลงทุนเพื่อให้มีโอกาสได้ 300 หยวน

ในการวัดด้านการนิยมแข่งขัน กลุ่มตัวอย่างจะได้เล่นเกมบวกเลขสองหลัก พวกเขาต้องเลือกว่า จะเล่นคนเดียวโดยได้รับเงินรางวัลหากทำได้ถูกต้องตามเวลา หรือเลือกว่าจะจับคู่แข่งกับคนอื่นซึ่งจะได้เงินรางวัลมากขึ้นหากสามารถเอาชนะได้ โดยที่กลุ่มนิยมการแข่งขันจะเลือกอย่างหลัง

หลังจากการทดสอบด้วยเกมแล้ว กลุ่มตัวอย่างจะต้องทำแบบทดสอบเพื่อวัดบุคลิกภาพบางด้านและมุมมองต่อชีวิต


ผลวิจัยเผย คนรุ่นนโยบายลูกคนเดียว ชอบแข่งขันน้อยกว่า ชอบเสี่ยงน้อยกว่า

ผลการทดสอบเปิดเผยว่าคนที่เกิดภายใต้นโยบายลูกคนเดียวมีความไว้วางใจและน่าเชื่อถือน้อยกว่า จากการที่พวกเขาโกงในเกมทดสอบความเชื่อใจในตัวคนอื่น ขณะเดียวกันกลุ่มคนในยุคหลังนโยบายลูกคนเดียวก็มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและไม่ชอบการแข่งขัน จากการที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58  เลือกเสี่ยงในการลงทุนด้วยเงิน 100 หยวน ขณะที่กลุ่มคนยุคก่อนนโยบายลูกคนเดียวเลือกเสี่ยงร้อยละ 66.4

ในแง่ของการแข่งขัน กลุ่มคนยุคหลังนโยบายลูกคนเดียวเลือกแข่งขันกับคนอื่นในเกมบวกเลขร้อยละ 44.2 ขณะที่กลุ่มคนยุคก่อนนโยบายลูกคนเดียวเลือกแข่งขันกับคนอื่นร้อยละ 51.8

ขณะที่ในแง่การเห็นแก่ผู้อื่นนั้น ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างไม่แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1979 มีท่าทีมองโลกในแง่ร้ายมากกว่ากลุ่มคนที่เกิดก่อน พวกเขายังมีความรอบคอบต่ำกว่าและมีอาการประสาทเสียซึ่งเป็นบุคลิกที่หมายรวมถึงการวิตกกังวลมากกว่าด้วย

ลิซา คาเมรอน กล่าวว่าสิ่งที่ค้นพบมีหลายด้านตรงกับภาพเหมารวมของสื่อ เช่นการที่ชาวจีนมีลูกคนเดียวอาจทำให้พวกเขาตามใจลูกมากขึ้น ทำให้พวกเขาชอบเสี่ยงหรือชอบแข่งขันน้อยกว่า ขณะที่การไม่เชื่อใจคนอื่นและความไม่น่าเชื่อถืออาจสะท้อนทักษะทางสังคมที่บกพร่องในตัวคนที่เติบโตมาโดยไม่ได้แบ่งปันหรือต่อรองอะไรกับพี่น้อง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่านโยบายลูกคนเดียวอาจทำให้ประชากรที่เป็นผู้ประกอบการน้อยลงจากการที่คนในยุคสมัยลูกคนเดียวมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ลิซา กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายโดยตรงแทนที่จะมาจากความต่างของยุคสมัย จากการที่เขาวิเคราะห์ผลซ้ำหลังลดช่องว่างระหว่างปีของกลุ่มตัวอย่างให้เหลือ 2 ปี ไม่ได้ให้ผลที่แตกต่างจากเดิม ซึ่ง จีน ทเวนกี ศาตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐซานดิเอโก ผู้เคยวิจัยเรื่องคนต่างยุคสมัยในสหรัฐฯ เห็นด้วยในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม จีน ทเวนกี เตือนว่าขนาดของกลุ่มที่ตัวอย่างที่นำมาศึกษาในครั้งนี้คือ 421 ยังไม่เพียงพอ และควรมีการศึกษาซ้ำโดยใช้ขนาดประชากรที่ใหญ่กว่านี้

เรียบเรียงจาก

China's One-Child Policy Creates 'Little Emperors', Livescience, 10-01-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net