Skip to main content
sharethis

สถาบันวิศวกรรมเครื่องจักรกลของอังกฤษเผยรายงาน ปีหนึ่งมีการผลิตอาหาร 4 พันล้านตัน แต่จะถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าเกือบครึ่งหนึ่ง คือราว 1.2 ถึง 2 พันล้านตัน ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำ ผืนดิน และพลังงานอย่างเปล่าประโยชน์

10 ม.ค. 2013 - สถาบันวิศวกรรมเครื่องจักรกลของอังกฤษเปิดเผยรายงานว่า ในแต่ละปีจะมีอาหารกว่าครึ่งหนึ่งของโลกคือราว 2 พันล้านตัน ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยสาเหตุจากระบบการขนส่งและระบบการจัดเก็บที่ไม่มีประสิทธิภาพ, การกำหนดวันหมดอายุที่เข้มงวดเกินควร รวมถึงความช่างเลือกของผู้บริโภค

รายงานชื่อ Global Food; Waste Not, Want Not เปิดเผยว่าทุกประเทศทั่วโลกผลิตอาหารได้ราว 4 พันล้านตันต่อปี แต่จะมีอาหารราวร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50  คือราว 1.2 ถึง 2 พันล้านตัน ถูกทิ้งเปล่าโดยไม่ได้ถูกบริโภค

รายงานผลสำรวจระบุอีกว่าในประเทศอังกฤษมีพืชผักรายร้อยละ 30 ที่ไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยวเนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกของมันไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งในประเทศสหรัฐฯ และในทวีปยุโรปยังมีอาหารครึ่งหนึ่งที่ถูกซื้อแล้วทิ้ง

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการใช้น้ำ โดยรายงานกล่าวว่ามีน้ำราว 550 พันล้านลูกบาศก์เมตร ถูกใช้ไปในการเพาะปลูกพืชที่ไม่เคยไปถึงมือผู้บริโภค และการผลิตเนื้อหนึ่ง กก. ต้องใช้น้ำมากกว่าการผลิตพืชผักในน้ำหนักเดียวกันถึง 20-50 เท่า

สถาบันวิศวกรรมเครื่องกลของอังกฤษประเมินว่าภายในปี 2050 ความต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอาหารอาจพุ่งขึ้นสูงถึง 10-13 ล้านล้าน ลบ.ม. ต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่มนุษย์ใช้กันอยู่ในตอนนี้ถึง 3.5 เท่า เป็นสัญญาณเตือนเรื่องภาวะการขาดแคลนน้ำ

ดร. ทิม ฟอกซ์ ผู้อำนวยการแผนกพลังงานและสิ่งแวดล้อมของสถาบันฯ กล่าวว่า "จำนวนอาหารทั่วโลกที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่ามีเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาหารถูกทิ้งนี้อาจนำมาเลี้ยงประชากรโลกและคนที่อดอยากในโลกได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรผืนดิน, ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรพลังงาน อย่างเปล่าประโยชน์ ในกระบวนการผลิต แปรรูป และจำหน่ายอาหารที่ถูกทิ้งเปล่าเหล่านี้"

"สาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้มีตั้งแต่จากระบบวิศวกรรมและเกษตรกรรมที่ไม่ดีพอ การขนส่งที่ไม่เหมาะสม และระบบการจัดเก็บที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเรียกร้องอาหารที่ดูสมบูรณ์แบบในเชิงรูปลักษณ์ และสนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อมากเกินความจำเป็นด้วยข้อเสนอซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง" ทิม ฟอกซ์กล่าว

องค์การสหประชาชาติประเมินว่าภายในปี 2075 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 พักล้านคน ซึ่งทำให้มีความต้องการอาหารให้กับมนุษย์มากขึ้น 3 พันล้านคน นอกจากนี้ปัญหาเรื่องโลกร้อนและความนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้ปัญหานี้ตังเครียด เนื่องจากเนื้อสัตว์ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมากกว่าอาหารหลักจำพวกพื้นเช่นข้าวหรือมันฝรั่งถึง 10 เท่า

ทิม ฟอกซ์ กล่าวอีกว่าปัญหาเรื่องความต้องการอาหารที่มากขึ้นของมนุษย์ ทำให้วิศวกรมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการสูญเสียและทิ้งเปล่าอาหาร โดยการพัฒนาการผลิต การขนส่ง และการกักเก็บอาหารให้ดีขึ้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากการทำงานร่วมกันของรัฐบาล องค์กรพัฒนา และองค์กรอย่างสหประชาชาติ ในการเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการทิ้งอาหารโดยเปล่าประโยชน์ในหมู่ประชาชน และสนับสนุนให้ชาวนา ผู้ผลิต ซูเปอร์มาร์เก็ต และผู้บริโภค งดเว้นการกระทำที่จะทำให้เกิดการสูญเปล่า


เรียบเรียงจาก

Half of the world food 'is just thrown away', Independent, 10-01-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net