Skip to main content
sharethis

การหายตัวของนักพัฒนาอาวุโสคนสำคัญของลาว ยังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยนักสิทธิย้ำ 'อาเซียน' ต้องให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมากกว่ามุ่งทำการค้าเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ประชาสังคมนานาชาติดำเนินการเรียกร้องรัฐบาลลาวอย่างต่อเนื่อง

 

9 ม.ค. 55 - ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน มีการจัดงานเสวนาเรื่อง "กรณีสมบัติ สมพอน ส่งสัญญาณอะไรกับประชาคมอาเซียน" โดยศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ โดยมีวิทยากรจากองค์กรพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการหายตัวของนายสมบัติ สมพอน นักพัฒนาเอกชนด้านสิทธิชุมชนอาวุโส และเจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ซึ่งหายตัวไปเมื่อเย็นวันที่ 15 ธ.ค. 54 ในกรุงเวียงจันทร์ ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน
 
นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศอาเซียนเพิ่งได้รับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนเมื่อเร็วๆ นี้ ประกอบกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้ตั้งมาเป็นเวลากว่าสามปี ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่การหายตัวของนายสมบัติ ก็ควรที่จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับอาเซียนมากพอๆ กับรัฐบาลลาวเอง
 
ทั้งนี้ หลังจากการหายตัวของนายสมบัติเมื่อเย็นวันที่ 15 ธ.ค. 54 องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศ ได้แสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว โดยออกจดหมายเปิดผนึกและแถลงการณ์ให้รัฐบาลสอบสวนหาความจริงและเปิดเผยต่อกรณีการหายตัวของนายสมบัติ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 55 รัฐบาลลาวได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การหายตัวของนายสมบัติ น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวหรือปัญหาทางธุรกิจ และระบุว่า รัฐบาลลาวกำลังสอบสวนกรณีดังกล่าวอยู่ตามกฎหมาย
 
 
นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร และประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานเรื่องการถูกบังคับคนให้สูญหาย กล่าวว่า กรณีการหายตัวไปของนายสมบัติ และนายสมชาย มีจุดที่คล้ายกันคือเป็นการทำให้หายตัวไปโดยมีส่วนรู้เห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานต่างๆ ในคดีของทนายสมชายที่บ่งชี้การเอาผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หลักฐานเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีได้
 
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายเมื่อปีที่แล้ว และจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อังคณากล่าวว่า คดีของทนายสมชายและคดีการอุ้มหายอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ ในแง่ของการค้นหาความจริงและยุติธรรมเลยแม้แต่น้อย 
 
อนึ่ง ประเทศลาว ก็ได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายไปเมื่อ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา และระบุว่า จะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ตนเองเป็นภาคีอย่างเคร่งครัดในแถลงการณ์เมื่อเร็วๆ นี้
 
การหายตัวของนายสมบัติ ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับความคิดด้านแนวทางการพัฒนาประเทศลาวที่ขัดแย้งกัน โดยนายสมบัติ ได้ก่อตั้งศูนย์อบรมฮ่วมพัฒนาในปี 2539 เพื่อสนับสนุนการเกษตร การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน การทำวิสาหกิจขนาดย่อย และการสร้างความเป็นผู้นำในกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ ได้มีจุดยืนไปในทางคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลลาว เช่น การสร้างเขื่อนไซยะบุรี หรือการสร้างโรงไฟฟ้า
 
 
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การที่นายสมบัติสามารถจัดการประชุมภาคประชาชนคู่ขนานกับการประชุมเอเชีย-ยุโรป เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการส่งผลกระทบที่ชัดเจน ต่อแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างไปจากนโยบายของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลลาวเริ่มเกิดความกังวลใจ
 
"การจัดประชุมครั้งที่ผ่านมา เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญที่สุดในลาว ผมไม่คิดว่าก่อนหน้านี้จะมีการประชุมแบบนี้มาก่อน รัฐบาลจึงตกใจว่ารัฐบาลจะรับมือกับแนวทางการพัฒนาที่ขัดแย้งแบบบนี้ได้อย่างไร" วิฑูรย์กล่าว
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถีระบุว่า ประเทศลาวเป็นประเทศอันดับ 2 ที่ให้สัมปทานพื้นที่การเกษตรแก่ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 41 ของพื้นที่การเกษตรในประเทศทั้งหมด รองมาจากประเทศไลบีเรียในแอฟริกา ที่ให้สัมปทานแก่ต่างชาติร้อยละ 61 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด และอันดับ 3 คือประเทศปารากวัย และอุรุกวัย ที่มีสัดส่วนร้อยละ 26 และ 25 ตามลำดับ
 
นายจอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง คณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลลาวมีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว โดยต้องมีผู้นำพรรคระดับสูงให้ความเห็นชอบ
 
จอนกล่าวว่า ในขณะนี้ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซจำนวน 52 คน ตั้งแต่ผู้ได้รับรางวัลปี 2508 ได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลลาว เรียกร้องให้เปิดเผยความจริงในกรณีนี้ นอกจากนี้ เขาได้เล่าถึงตอนไปพบกับนายสมบัติ สมพอนที่ประเทศลาวว่า
 
"เมื่อได้ไปเยือนการประชุมของผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซในลาว สมบัติเป็นคนสุดท้ายที่คาดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น เพราะเขาไม่มีลักษณะต่อต้านรัฐบาลหรือเป็นอันตรายต่อรัฐ ผมจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากที่เรื่องนี้เกิดขึ้น และสามารถไม่ปฏิเสธได้ว่ารัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้" จอนกล่าว
 
อนึ่ง การหายตัวของนายสมบัติ สมพอน ได้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชน Helvetas ของสวิสเซอร์แลนด์ ถูกเนรเทศออกจากประเทศลาวไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อความของเธอที่ส่งหาแหล่งทุนต่างประเทศสู่สาธารณะ ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลลาวว่าไม่เป็นประชาธิปไตย 
 
การรณรงค์ของภาคประชาชนต่อกรณีการหายตัวของนายสมบัต สมพอน (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net