Skip to main content
sharethis


สืบเนื่องจากกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ประกาศยุติการออกอากาศละครโทรทัศน์ "เหนือเมฆ 2 ตอน มือปราบจอมขมังเวทย์" ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้แสดงความไม่พอใจและตั้งคำถามต่อความไม่ชัดเจนในการยุติการออกอากาศดังกล่าวจำนวนมาก

วันนี้ (8 ม.ค.56) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาฯ หัวข้อ “บอกความจริงเรื่อง ‘เหนือเมฆ 2’: สงสารช่อง 3 หรือประชาชนดี’” ที่อาคารมงกุฎสมมุติเทววงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมเสวนากว่าร้อยคน โดยตามกำหนดการ มีชื่อของ สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับละครเรื่องเหนือเมฆ 2 เป็นวิทยากรด้วย แต่เมื่อถึงเวลาเริ่มงาน ปรากฏว่าทั้งสองไม่ได้เดินทางมา

 

 

 

สุภิญญาไม่เห็นด้วยอ้างมาตรา 37 พร่ำเพรื่อ
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) กล่าวว่า ช่อง 3 เองเคยถูกวิจารณ์ละครเรื่องอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่เคยถอดมาก่อน เพราะอาจกระทบต่อโฆษณา ขณะที่กรณีละครเหนือเมฆ กลับมีการถอด แสดงว่าอำนาจธุรกิจทุนอาจแพ้ต่ออำนาจที่มองไม่เห็น หรือกลับกัน อาจต้องแบนเพราะอนาคตช่องอาจผูกพันกับสัญญาสัมปทาน ซึ่งไม่ใช่อำนาจของ กสทช. แต่ขึ้นกับฝ่ายการเมือง จึงกลัวจะถูกสร้างเป็นเงื่อนไข ทั้งนี้ ส่วนตัวสงสัยว่าอาจมีอำนาจที่มองไม่เห็น แต่เมื่อไม่มีหลักฐานก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก 

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา มองว่า กสทช.ควรเรียกช่อง 3 มาชี้แจง และหากบอกว่าแบนเพราะเนื้อหาขัดมาตรา 37 ก็ควรส่งเทปละครมาให้ กสทช.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยดู หาก กสทช.บอกว่าไม่ขัดก็จะสามารถออกอากาศได้ แต่จะนำมาออกอากาศหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารช่อง 3 ทั้งนี้ ล่าสุด วันนี้ทราบว่าช่อง 3 ได้ส่งหนังสือชี้แจงมาที่สำนักงานแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังอยากให้ช่อง 3 มาชี้แจงด้วยตัวเองมากกว่า

สุภิญญาระบุว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการอ้างมาตรา 37 พร่ำเพรื่อ เพราะมาตรานี้ถ้าไม่ทำให้ชัดเจน จะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวมากขึ้น ส่วนตัวค้านร่างนี้ตั้งแต่ยังเป็นเอ็นจีโอ และตั้งแต่รับตำแหน่ง กสทช.มา ก็ระวังในการใช้มาตรา 37 ในการแบนโดยไม่มีเหตุผล ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยใช้มาตรานี้แบน เพราะมองว่าการแบนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน


อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ถามใจคนดู ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ทุกกรณีหรือไม่
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า มาตรา 37 ที่มีการพูดถึงกันนั้นอยู่ใน พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียงฯ มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 45 หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อ โดยการได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพของสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 นี้เป็นเรื่องที่วงการสื่อภูมิใจ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรย้อนหลังไปในอดีตอีก

อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย เสนอว่า ดังนั้นวันนี้ขอให้ยกประเด็นว่า เป็นโทรทัศน์ช่องอะไร คนสั่งการเป็นใคร อยู่ที่ไหน ไว้ก่อน แล้วถามตัวเองว่ารับได้หรือไม่ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เพราะสิ่งที่เรากำลังพบจากละครเรื่องนี้ คือสังคมไทยกำลังถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญเปิดไว้ให้กับประชาชนและสื่อเป็นอย่างมาก

ต่อมาตรา 37 ที่กำลังเป็นปัญหา สุวรรณากล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตอนที่เขียน คิดกันอยู่นาน เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเหมือนดาบสองคม แต่จะไม่มีก็ไม่ได้ เพราะความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องสำคัญ ศีลธรรมเป็นเรื่องจำเป็น เรื่องลามกอนาจารเป็นเรื่องที่สื่อต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ามาตรานี้ไม่ได้นำมาใช้กันง่ายๆ

กรณีที่มีผู้แสดงความเห็นว่า ละครอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนตัวได้กลับไปดูละครเรื่องนี้ตั้งแต่ตอน 1-8 ก็ไม่พบว่าจะมีเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ยังมีความมั่นคงอีกหลายด้าน เช่น ความมั่นคงของรัฐ นักการเมืองหรือข้าราชการ จึงเป็นเรื่องน่าคิดและต้องติดตามต่อไป

สุวรรณา กล่าวว่า ฝากถึงฝ่ายการเมืองว่าถ้าแทรกแซงสื่อ จะไม่รอด เพราะมาตรา 46 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ บอกไว้ว่าอาจถูกปลดจากตำแหน่งได้ เราหลุดพ้นภาวะการปิดกั้นสื่อแบบนั้นมานานแล้ว ทั้งนี้ ตั้งคำถามด้วยว่า ในกรณีที่สื่อปิดกั้นตัวเอง ทำให้ประชาชนเสียหาย ต้องเพิ่มบทลงโทษแก่สื่อหรือไม่


อาจารย์นิเทศ ชี้สื่อยังเซ็นเซอร์ตัวเอง แล้วใครจะกล้าเปิดประเด็นต่อสังคม
สุภาพร โพธ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากยุคที่มี กบว.มาคอยควบคุม ปัจจุบันก้าวหน้ามาสู่ยุคที่ให้สื่อดูแลตัวเอง รับผิดชอบต่อสังคม กำกับดูแลสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ
และมีพันธกิจช่วยสร้างสรรค์สังคม รวมถึงต่อมามีการจัดเรทติ้ง โดยเอาวุฒิภาวะของผู้รับสื่อที่ดูจากวัยวุฒิเป็นตัวตั้ง ภายใต้ความเชื่อว่ามนุษย์มีวิจารณญาณของตนเองได้ ต่างจากฐานที่เชื่อว่าต้องมีมนุษย์ที่มีวิจารณญาณยอดเยี่ยมหนึ่งกลุ่มตัดสินใจ เพราะเชื่อว่า ถ้าเปิดให้มีความหลากหลาย ประชาชนก็จะเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้น ประเด็นที่คิดว่าล่อแหลม จะจัดเรทในช่วงหลังสองทุ่มครึ่งเป็นต้นไป กรณีละครเหนือเมฆ ภาคแรก หยิบประเด็นคอร์รัปชั่น พูดถึงระบบสืบสวนสอบสวน ต่อมา เหนือเมฆ 2 ก็พูดไปไกลกว่านั้น

"เสรีภาพในการตีความละครคือเสรีภาพของผู้ชม ผู้ชมมีเสรีภาพที่จะดูแล้วคิดว่ามันไปเฉี่ยวเรื่องอะไร" สุภาพรกล่าวและว่า แต่เสรีภาพนี้กลับถูกจำกัด เมื่อช่อง 3 ระบุว่าละครนี้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

สุภาพร แสดงความเห็นว่า การอ้างว่าเนื้อหาผิดมาตรา 37 นั้นอันตราย ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้กว้าง เพื่อให้มีพื้นที่มากขึ้น แต่สื่อกลับเซ็นเซอร์ตัวเอง ถามว่าถ้าคนทำงานสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง แล้วสื่อจะกล้าตั้งประเด็นทางสังคม เพื่อสื่อสาร เปิดหูเปิดตาประชาชนได้อย่างไร

สุภาพร กล่าวว่า ในการเลือกประเด็นนำเสนอต่างๆ หลายคนอาจเชื่อว่าละครมีพลัง จึงคิดว่าเนื้อหาเป็นเรื่องอ่อนไหว ทั้งที่คนดูอาจไม่ได้ตีความเหมือนกัน และต่างมีจุดประสงค์ในการรับชมคนละแบบ จึงน่าแปลกใจว่าอะไรที่ทำให้คนเซ็นเซอร์กลัวแม้แต่เซ็นเซอร์ตัวเอง

สุภาพร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะเป็นละครเหนือเมฆ แต่เพราะเป็นละครที่มีคนพยายามสร้างสรรค์และมีคนดูอยู่ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจมาบอกว่าอย่าดู ทั้งที่เรารู้ว่าละครทำจนเสร็จแล้ว ถ้าความรื่นรมณ์ยังถูกห้ามได้ขนาดนี้ จะไปเอาเรื่องจริงและข้อเท็จจริงมาจากไหน


คนละครกังขา 'เหนือเมฆ 2' บันทึกเสร็จก่อนล่วงหน้า ทำไมช่องไม่แนะให้แก้แทนตัดจบ
เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์ คณบดีคณะศิลปกรรมการผลิตสื่อ สถาบันกันตนา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าแต่ละที่ มีกระบวนการเซ็นเซอร์เป็นอย่างไร แต่เท่าที่ทราบ เมื่อจะมีโปรเจครายการว่าจะได้บรรจุในผังหรือไม่ จะต้องมีการเสนอ proposal เรื่องย่อ หรือเทปตัวอย่าง ทยอยส่งแต่ละตอนไปให้สถานีพิจารณา ที่รับรู้มามีบ้างที่สถานีส่งกลับให้แก้บางจุดล่วงหน้า สำหรับกรณีละครเหนือเมฆ 2 นั้น จึงรู้สึกประหลาดใจ เพราะทราบมาว่า ผู้จัดทำเทปเสร็จก่อนล่วงหน้าแล้ว แปลว่าคณะที่พิจารณาของช่องก็น่าจะมีเวลาบอกผู้จัดแล้วว่าตรงไหนไม่ดีเพื่อแก้ไข ไม่น่าป็นแบบกระทันหันเช่นนี้

เกริกเกียรติ กล่าวว่า เชื่อว่าคนดูมีความสามรถในการวิเคราะห์แยกแยะอะไรจริงไม่จริง ไม่ใช่นั่งดูแล้วเชื่อกันหมด ส่วนตัวไม่ได้มองว่าจะเหมือนละครปลุกระดมแบบสมัยหนึ่งในฝรั่งเศส แต่เป็นการเสนอเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันธรรมดา ก็ไม่รู้ทำไมสะดุ้งกันง่าย ทั้งนี้ แทนที่จะสะดุ้งหรือสันหลังสวะ ละครทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนที่ดีให้กับสังคมและคนที่มีบทบาทในสังคม ถ้าละครนี้มีพล็อตอย่างนี้กลับมองว่ามีแต่ได้กับได้

ในช่วงเปิดให้แสดงความเห็น มีผู้ร่วมเสวนา มองว่า รัฐบาลควรออกมาชี้แจง มีบางส่วนที่มองว่ารัฐบาลเซ็นเซอร์เรื่องนี้ เพื่อกลบกระแสการเคลื่อนไหวกรณีปราสาทพระวิหาร บ้างชี้ว่า ปัจจุบันในโลกออนไลน์ ต่างฝ่ายต่างปักใจเชื่อและเผยแพร่ข้อมูลโดยยังไม่มีหลักฐาน

โดยตอนหนึ่ง ขณะที่มีนักศึกษาแสดงความเห็นว่า สิ่งที่ต้องเรียกร้องเบื้องต้นคือข้อเท็จจริง เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับรัฐบาลก็ได้ ก็มีหลายคนตะโกนแสดงความไม่พอใจ รวมถึงลุกขึ้นมาหานักศึกษาคนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าต้องการลุกมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม สุดท้ายสถานการณ์จบลงด้วยความเรียบร้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net