อธิป จิตตฤกษ์: 12 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของคนไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รวม 12 ประเด็นที่คนไทยมักเข้าใจผิดทั้งในแง่หลักการสากล-กฎหมาย อาทิ การให้ ‘เครดิต’ เจ้าของงาน ถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์แล้วหรือไม่ การละเมิดลิขสิทธิ์ถือว่าเป็นการ ‘ขโมย’ จริงหรือ การปราบปรามทำให้การละเมิดน้อยลงจริงหรือเปล่า

ปีที่ผ่านมาประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ในโลกเป็นประเด็นที่ร้อนแรงมาก ในประเทศไทยแม้ว่าจะมีการตื่นตัวด้านลิขสิทธิ์บ้างจากประชาชนทั่วไป แต่การตื่นตัวนั้นกลับเป็นการตื่นตัวที่กลับหัวกลับหางกับต่างประเทศ นักเคลื่อนไหวด้านลิขสิทธิ์จากฝั่งประชาชนมองว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของรัฐนั้นขยายตัวเกินไปและมีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน นักทฤษฎีฝ่ายซ้ายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มออกมาตีความลิขสิทธิ์เป็นกลไกของทุนนิยมที่ใช้ในการขูดรีดแรงงานผู้คนในรูปแบบใหม่ผ่านกฏหมายของรัฐ ทางด้านฝั่งไทย การตื่นตัวด้านลิขสิทธิ์จากฟากประชาชนกลับเป็นการรณรงค์ให้ผู้คน “ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์” ซะเองและมองว่าผู้คนจำนวนมาก “ไม่มีสำนึกด้านลิขสิทธิ์” แน่นอนว่าการกล่าวอ้างเหล่านี้ก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการชั่งตวงวัดเชิงปริมาณใดๆ หากแต่เกิดจากการกวาดสายตามองปรากฏการณ์ต่างๆ สังคมไทยที่มีการ “ลอกเลียน” กันอย่างแพร่หลาย

การที่สังคมไทยมีปรากฏการณ์ที่กลับหัวกลับหางกับโลกตะวันตกนี้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอะไรสำหรับสังคมนี้ที่เต็มไปด้วยปรากฎการทางสังคมที่ “สามัญสำนึก” ในแบบตะวันตกนั้นยากจะเข้าใจมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีสิ่งที่ลักลั่นไม่น้อยในหมู่ผู้คนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องลิขสิทธิ์ ก็คือผู้คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจด้านลิขสิทธิ์เป็นอย่างดีเลย ความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของผู้ที่ใส่ใจในการ “ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์” ในไทยนั้นในหลายๆ ครั้งไม่ได้มีมากไปกว่าผู้นิยมการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ด้วยซ้ำ แม้ว่าจะมีผู้ใส่ใจในการรณรงค์ให้ผู้คนปฏิบัติตาม “ลิขสิทธิ์” มากขึ้นในสังคมไทย แต่ความเข้าใจด้านลิขสิทธิ์กลับไม่ได้มากขึ้นไปตามกัน ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงอยากจะทำการแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ ที่ปรากฏทั่วไปในสังคมไทยผ่านบทความสั้นๆ ชิ้นนี้ ทั้งนี้บทความความนี้จะวางอยู่บนกฎหมายไทยเป็นหลัก โดยพิจารณา “หลักการสากล” ทั่วๆ ไปของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศประกอบในกรณีที่กฎหมายไทยไม่มีความชัดเจนเพียงพอ

 

สัญลักษณ์ลิขสิทธิ์

 

ความเข้าใจผิดที่ 1: ต้อง "จดลิขสิทธิ์" ถึงจะมีลิขสิทธิ์

ความเข้าใจผิดระดับคลาสสิคของคนไทยคือการต้องไป “จดลิขสิทธิ์” งานสร้างสรรค์ก่อน งานถึงจะมีลิขสิทธิ์คุ้มครอง ข้อเท็จจริงคือไม่ว่าจะเป็นไทยหรือที่ใดๆ ในโลก กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองงานที่มีลิขสิทธิ์ตั้งแต่เริ่มสร้างสรรค์มันออกมาเลยทันที ซึ่งการคุ้มครองแบบนี้ต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาชนิดอื่นๆ ที่มักต้องไป “จดทะเบียน” กับรัฐและต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองก่อนจะได้รับการคุ้มครอง เช่น สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า อย่างไรก็ดีการ “จดลิขสิทธิ์” ก็เป็นหลักประกันให้รัฐนั้นรับรู้ถึงการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และทำให้ในยามที่ต้องยืนยันกับรัฐว่าตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริง (เช่นในกรณีการฟ้องร้อง) จะสามารถยืนยันได้ง่ายกว่า

ความเข้าใจผิดที่ 2: ลิขสิทธิ์หมายถึงสิทธิในการผูกขาดการขายสินค้าที่โยงกับทรัพย์สินทางปัญญาทุกชนิด

ถ้าจะอธิบายให้สั้นแหละง่าย ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่คุ้มครองงานจำพวกการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น ดังนั้นลิขสิทธิ์จึงคุ้มครองแค่งานสร้างสรรค์จำพวก ข้อเขียน บทพระพันธ์ทางดนตรี งานบันทึกเสียง ภาพยนตร์ งานออกแบบ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เท่านั้น การละเมิดสิทธิในการผูกขาดการแสดงออกเหล่านี้เท่านั้นถึงจะเป็น “การละเมิดลิขสิทธิ์” การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาชนิดอื่นๆ ก็จะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาชนิดอื่นไป เช่น การผลิตยาโดยไม่มีใบอนุญาตก็เป็นการ “ละเมิดสิทธิบัตร” ที่คุ้มครองการผูกขาดกระบวนการผลิตยา การซื้อเสื้อปลอมที่มีโลโก้แบรนด์ดัง ก็เป็นการ “ละเมิดเครื่องหมายการค้า” ที่คุ้มครองการผูกขาดการใช้โลโกดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ การเป็น “ตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว” ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์นั้นไม่ใช่การ “ได้ลิขสิทธิ์” ในมุมมองของกฎหมาย ดังนั้นการบอกว่าตนได้ลิขสิทธิ์มันฝรั่งทอดกรอบมาขายในท้องตลาดไทยนั้นจึงไม่ถือว่าเป็น “ลิขสิทธิ์” ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายลิขสิทธิ์ (ข้อมูลจากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ผู้เขียนพบมาจริงๆ ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง)

ความเข้าใจผิดที่ 3: การแสดงออกทุกรูปแบบได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์

โดยทั่วไปกฎหมายเกณฑ์หนึ่งของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็คืองานที่คุ้มครองจะต้องมี “ความเป็นต้นฉบับ” (originality) เพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่ไม่มีความเป็นต้นฉบับเพียงพอ แม้ว่าจะเป็นงานสร้างสรรค์แขนงที่กฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุม แต่มันก็อาจไม่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ เช่น วลีสั้นๆ ที่พูดกันตามอินเทอร์เน็ตกันอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าตายแล้ว” “โหดสัส” “แถวนี้แม่งเถื่อนไม่แน่จริงมึงอยู่ไม่ได้” “นี่มันตัดต่อชัดๆ” “ขอ 3 คำ” ก็ไม่น่าจะถือว่ามีความเป็นต้นฉบับเพียงพอที่จะกฏหมายลิขสิทธิ์โดยทั่วไปจะคุ้มครอง อย่างไรก็ดี ข้อเขียนที่ไม่ได้ยาวไปกว่ากันนักแต่มีลักษณะของการเป็นบทกวีหรือกระทั่งคำคมก็อาจได้รับการคุ้มครองได้ ไม่ว่ามันจะได้รับการตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หรือถูกโพสต์ลงบนเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจ  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ครั้ง “ความเป็นต้นฉบับ” ก็เป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนนัก และงานชิ้นหนึ่งๆ จะมีความเป็นต้นฉบับพอหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในพื้นที่และเวลาหนึ่งๆ

ความเข้าใจผิดที่ 4: ใครเห็นการละเมิดลิขสิทธิ์จะไปแจ้งตำรวจให้จับก็ได้และตำรวจเห็นคนละเมิดลิขสิทธิ์ต้องจับ

พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของไทย มาตรา 66 ระบุว่าความผิดละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ นี่หมายความว่าความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดส่วนบุคคลซึ่งเจ้าทุกข์เท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินคดีได้ ไม่ใช่อาญาแผ่นดินที่ใครจะไปแจ้งตำรวจก็ได้ ดังนั้นถ้าไม่มีการเอาความจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการละเมิดลิขสิทธิ์แค่ไหนก็ไม่สามารถเอาความได้ และนี่หมายความถึงการที่ตำรวจอาจเดินผ่านแผงซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ทำอะไรและมันก็ไม่ผิดแปลกอะไรด้วย เพราะตราบที่ไม่มีเจ้าทุกข์ที่ได้รับการละเมิดจากแผงซีดีนั้นๆ ร้องเรียน ตำรวจก็ไม่มีสิทธิ์ใช้อำนาจรัฐปราบปราม อนึ่ง ความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ต่างจากการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่เป็นอาญาแผ่นดิน ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความว่าถ้าเราเจอแผงซีดีเถื่อน เราไม่มีสิทธิ์แจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเราเจอร้านเสื้อเถื่อนที่มีโลโกแบรนด์ดังแปะหราอยู่ เราสามารถแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีได้

ความเข้าใจผิดที่ 5: การนำงานลิขสิทธิ์ไปใช้แบบไม่แสวงกำไรไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

โดยทั่วไปการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในแบบที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์จะมีระบุอยู่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ทุกประเทศในฐานะของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งหลักการของข้อยกเว้นนี้มักจะเรียกกันว่า Fair Use หรือ การใช้ที่ชอบธรรม อย่างไรก็ดีโดยทั่วไปในกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ไม่มีระบุว่าการใช้งานลิขสิทธิ์แบบไม่แสวงกำไรจะเป็นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ กฎหมายไทยก็เช่นกัน ดังนั้นความเข้าใจว่าการใช้อย่างไม่แสวงกำไรเป็นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยปริยายจึงเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นการ “ทำเพื่อการค้า” หรือไม่ ถ้าตัวการกระทำเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ล้วนมีความผิด ทั้งนี้ในกรณีของไทยการ “ทำเพื่อการค้า” หรือไม่นั้นมีผลในแง่ความหนักของโทษที่การ “ทำเพื่อการค้า” มีโทษมากกว่า (ตามพรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของไทย มาตรา 69) สำหรับในกรณีของต่างประเทศ หลายๆ ประเทศมีการระบุในกฎหมายว่าการ “ทำเพื่อการค้า” มีความผิดทั้งในทางแพ่งและอาญา ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้เป็นไม่แสวงกำไรมีความผิดเพียงแค่ทางแพ่งเท่านั้น

ความเข้าใจผิดที่ 6: การนำงานลิขสิทธิ์มาดัดแปลงมากๆ จนไม่เหลือเค้าเดิมไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

การนำงานลิขสิทธิ์มาทำการ “ดัดแปลง” โดยไม่ได้รับอนุญาตใดๆ ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น (หากอยู่นอกข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์) ดังนั้นในทางเทคนิคแล้ว หากนำงานอันมีลิขสิทธิ์ใดๆ มาดัดแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว ถ้าต้องการให้ถูกกฎหมายก็ต้องกล่าวอ้างว่างานดังกล่าวเป็นงานชิ้นใหม่ หากกล่าวว่างานชิ้นดังกล่าวเป็นงานที่ทำการดัดแปลงจากงานของผู้อื่นเมื่อใดแล้วไม่ได้รับอนุญาตในการดัดแปลงดังกล่าวมาก่อน ก็น่าจะถือว่าเป็นการยอมรับว่าตนเองละเมิดลิขสิทธิ์ทันที อย่างไรก็ดีในแวดวงการทำงานสร้างสรรค์หลายๆ แวดวง การ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ด้วยการสร้างงานต่อยอดพร้อมเคารพผู้ที่ตนต่อยอดงานมาอย่างชัดเจนเช่นนี้ก็กระทำกันเป็นปกติ เป็นจารีตที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่ทำการดำเนินคดีใดๆ ทั้งๆ ที่จริงๆ เขามีสิทธิ์ตามกฏหมายที่จะกระทำได้ กรณีการไม่ดำเนินคดี “ละเมิดลิขสิทธิ์” นี้ที่โด่งดังที่สุดล่าสุดไม่นานมานี้ก็ได้แก่กรณีของมิวสิควีดีโอล้อเลียนเพลง Gangnam Style ที่ทำกันแพร่หลายไปทั่วโลก เจ้าของลิขสิทธิ์มิวสิควิดีโอเพลงนี้เลือกที่จะไม่ดำเนินคดีกับผู้ทำมิวสิควีดีโอล้อเลียนแทบจะทั้งหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ น่าจะสามารถดำเนินคดีได้แน่นอนสำหรับบางมิวสิควีดีโอ (แต่ก็ปรากฏการบล็อกมิวสิควิดีโอบางชิ้นที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่เห็นชอบเช่นกัน)

ความเข้าใจผิดที่ 7: การนำงานมาใช้โดย “ให้เครดิต” ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

ไม่น่าจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใดในโลกที่ว่าการ “ให้เครดิต” จะทำให้ผู้นำงานอันมีลิขสิทธิ์มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตรอดพ้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไปได้ ถ้าหลักการนี้มีอยู่จริง เว็บไซต์ที่ต่างๆ ก็คงไม่มีปัญหากับการที่มีลิงค์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่บนเว็บไซต์ เพราะงานเหล่านี้ก็มีชื่อเจ้าของผลงานหรือมี “เครดิต” ของเจ้าของชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกรณี หนัง เพลง หนังสือ หรือการ์ตูน กฎหมายลิขสิทธิ์โดยทั่วไปไม่มีการแยกแยะความผิดของการละเมิดลิขสิทธิ์แบบ “ให้เครดิต” กับ “ไม่ให้เครดิต” ออกจากกันด้วยซ้ำ โดยทั่วไปสิทธิการอ้างความเป็นเจ้าของคือสิทธิที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Moral Right หรือที่มีการแปลว่า สิทธิธรรม นี่เป็นสิทธิที่มักจะพ่วงอยู่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศต่างๆ ด้วยและมักมีโทษของการละเมิดที่ต่ำกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์มาก (ในไทยพบใน พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 18 ซึ่งเป็นความผิดทางแพ่งเท่านั้น) กล่าวโดยสรุปคือการนำงานอันมีลิขสิทธิ์มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ว่าจะให้เครดิตหรือไม่ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น เพียงแต่การไม่ให้เครดิตเป็นการละเมิดสิทธิธรรมเพิ่มไปอีกกระทงนั่นเอง

ความเข้าใจผิดที่ 8: หากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ระบุว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

ในบรรดาผู้รู้กฎหมายลิขสิทธิ์บ้างและเคยอ่านกฎหมายลิขสิทธิ์ สิ่งหนึ่งที่จะพบเห็นทั่วไปเมื่อเกิดคำถามว่ากิจกรรมหนึ่งๆ เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่คือการนั่งมองหาว่าในกฏหมายมีกำหนดชัดเจนหรือไม่ว่ากิจกรรมนั้นๆ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าไม่พบ ก็ถือว่ากิจกรรมนั้นไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ ความคิดว่ากิจกรรมหนึ่งๆ เป็นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะ “กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้” เป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างน้อยๆ ก็บนฐานการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในนานาประเทศ เพราะหากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว สิ่งที่เป็นจริงน่าจะตรงกันข้ามกันมากกว่า กล่าวคือ กิจกรรมที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์คือกิจกรรมที่กฎหมายระบุชัดเจนว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น บรรดากิจกรรมที่มีความคลุมเครือต่างๆ ศาลมักจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่มีกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจนจึงต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา (ซึ่งนี่รวมไปถึงกิจกรรมและธุรกิจออนไลน์จำนวนมากที่ไม่สามารถหลีกเลียงการ “ทำซ้ำ” อันเป็นธรรมชาติของโลกดิจิทัลไปได้) โดยทั่วไปการบัญญัติกฏหมายลิขสิทธิ์จะช่วยลดความเสี่ยงของทั้งประชาชนและผู้ประกอบการได้โดยการทำให้ข้อยกเว้นให้มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ให้บรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์อาศัยความคลุมเครือและต้นทุนการต่อสู้ทางกฏหมายที่สูงของจำเลยในการฟ้องเพื่อมุ่งเอาค่ายอมความได้ (การฟ้องร้องแบบนี้ในโลกตะวันตกเรียกว่า Copyright Trolling หรือที่ผู้เขียนเคยแปลว่า “เกรียนลิขสิทธิ์”)

ความเข้าใจผิดที่ 9: งานที่มีลิขสิทธิ์จะได้รับคุ้มครองลิขสิทธิ์ไปหมดทุกประเทศในโลก 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในขอบเขตรัฐชาติหนึ่งๆ ผูกพันกับกฎหมายรัฐชาตินั้นๆ และบรรดาอนุสัญญาที่รัฐชาตินั้นลงนามไปเท่านั้น รัฐชาติมีพันธะผูกพันในการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์จากประเทศที่ร่วมลงนามอนุสัญญาในกรอบของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของกฏหมายลิขสิทธิ์ของรัฐตนเองเท่านั้น ดังนั้นในทางเทคนิคแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาจึงไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ในไทย และในทางกลับกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของไทยก็ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ในประเทศเหล่านี้เช่นกัน เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาเบิร์น (Berne Convention) นี่หมายความว่าในทางเทคนิคไทยจึงละเมิดลิขสิทธิ์ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ (และในทางกลับกันประเทศเหล่านี้ก็ละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ของไทยไม่ได้) เพราะการคุ้มครองลิขสิทธ์ไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ หากงานที่ประเทศคู่สัญญาถือว่ามีลิขสิทธิ์แต่ในกรอบกฎหมายของบางประเทศถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์ก็ไม่ถือว่างานนั้นๆ มีลิขสิทธิ์เช่นกันในประเทศที่ไม่นับว่างานเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เช่น หนังโป๊สารพัดที่มีลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศที่มันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ก็ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ในไทยที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่น่าจะครอบคลุมถึงหนังโป๊ด้วยเพราะมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากงานสร้างสรรค์บางประเภทจะถือว่ามีลิขสิทธิ์ในประเทศหนึ่งแต่ไม่มีลิขสิทธิ์ในอีกประเทศหนึ่งแล้ว กิจกรรมแบบเดียวกันก็อาจเป็นกิจกรรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศหนึ่งก็อาจไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ในอีกประเทศหนึ่งได้เช่นกัน เช่นการ “โหลดเพลง” ของวงดนตรีอเมริกันในสหรัฐอเมริกาผ่านเครือข่ายแชร์ไฟล์นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอนภายใต้กฎหมายอเมริกา แต่การ “โหลดเพลง” วงดนตรีอเมริกันในแบบเดียวกันก็ไม่นับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศที่การแชร์ไฟล์เป็นสิ่งถูกกฏหมายเช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ [1]

สุดท้าย งานที่ยังอยู่ในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของประเทศคู่สัญญาก็อาจหมดลิขสิทธิ์ในประเทศอื่นที่อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์สั้นกว่าก็ได้ เช่น ลิขสิทธิ์ในอัลบั้มชุดแรกของ The Beatles จะยังไม่หมดในเร็วๆ นี้แน่ๆในอังกฤษ [2] แต่ในไทย ลิขสิทธิ์ส่วนงานบันทึกเสียงจะหมดในเดือนมีนาคม 2013 นี้ เพราะกฏหมายลิขสิทธิ์ไทยระบุให้งานบันทึกเสียงหมดลิขสิทธิ์หลังการเผยแพร่ครั้งแรก 50 ปี (ตามมาตรา 21 พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537) และอัลบั้มนี้ออกสู่สาธารณชนในเดือนมีนาคม 1963 [3]

ความเข้าใจผิดที่ 10: การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง

จากการวิจัยของทางสภาวิจัยสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council) ในงานวิจัยชิ้นใหญ่ที่ศึกษาประเทศโลกที่สามจำนวนมาก [4] พบว่าตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมาไม่มีข้อมูลใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนท้องถนนในระดับใดก็ตามจะทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงได้ไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ กระบวนการบุกจับหลักครั้งนำไปสู่การจับกุมคนหลักร้อยคนที่นำไปสู่การดำเนินคดีคนหลักสิบคนที่รัฐไม่ต้องการให้ติดคุกเพราะคุกเหมาะสำหรับคดีที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น นอกจากนี้การบุกปราบปรามในทางปฏิบัติก็มักจะเป็นไปอย่างสุ่มๆ ซึ่งมันเป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่แข่งของพ่อค้าของละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยกันไปซะอีก กิจกรรมทั้งหมดสร้างความสิ้นเปลืองกับทรัพยากรรัฐอย่างมหาศาลโดยไม่ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง อย่างไรก็ดีปัญหานี้ก็ปรากฏในประเทศโลกที่หนึ่งอย่างฝรั่งเศสเช่นกันเมื่อผลปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์อย่างหน่วยงาน HATOPI ก็ไม่สามารถลดการละเมิดลิขสิทธิ์ลงได้อย่างชัดเจนทั้งๆ ที่ใช้งบประมาณรัฐไปไป 12 ล้านยูโรต่อปี [5]

ความเข้าใจผิดที่ 11: ละเมิดลิขสิทธิ์คือการขโมย

ความเข้าใจว่าลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินปรากฏทั่วโลกในการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมักจะเปรียบเทียบการละเมิดลิขสิทธิ์คือขโมยของ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ชัดเจนในระบบกฎหมายทั่วโลกก็คือ ไม่มีที่ไหนที่ความผิดฐานลักขโมยจะรวมไปถึงการการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นในระดับโครงสร้างกฎหมาย การละเมิดลิขสิทธิ์จึงไม่ใช่เท่ากับการขโมยของ ทั้งนี้การที่สองกรณีนี้ไม่เทียบเท่ากันก็น่าจะเกิดจากการที่การละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ทำให้งานต้นฉบับหายไป เช่นการวาดภาพเลียนแบบงานศิลปะหนึ่งๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แน่ๆก็ไม่เท่ากับการขโมยตัวงานศิลปะนั้นๆ เป็นต้น

ความเข้าใจผิดที่ 12: ลิขสิทธิ์คือทรัพย์สินที่ไม่มีวันหมดอายุ

หลักฐานในทางกฎหมายที่ชัดเจนที่สุดในโครงสร้างลิขสิทธิ์ทั่วโลกว่าลิขสิทธิ์ไม่ใช่ทรัพย์สินคือลิขสิทธิ์จะมีวันหมดอายุเสมอ และลิขสิทธิ์ที่หมดอายุแล้วจะถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ” (Public Domain) ที่ใครๆ ก็สามารถนำมาใช้อย่างไรก็ได้โดยเสรี โครงสร้างกฎหมายแบบนี้ทำให้ลิขสิทธิ์มีลักษณะคล้าย “สัมปทาน” ของรัฐในการให้เอกชน “ผูกขาด” หาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเวลาที่กำหนดก่อนที่ทรัพย์สินดังกล่าวจะกลับมาเป็นของส่วนรวมมากกว่าทรัพย์สินเอกชนทั่วไปที่สิทธิการถือครองไม่มีวันหมดอายุ หลักการหมดอายุของลิขสิทธิ์นี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมดเกิดจากการสร้างต่อยอดจากงานอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น ทั้งสาธารณชนและผู้สร้างสรรค์งานล้วนได้ประโยชน์จากการใช้คลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะที่สั่งสมกันมาในอดีต (บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า Pool of Tradition หรือบ่อน้ำแห่งจารีตที่ใครจะเข้ามาใช้น้ำก็ได้) และในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีหน้าที่เพิ่มพูนทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะสำหรับผู้คนในอนาคต อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎี การไม่คุ้มครองลิขสิทธิ์เลยอาจทำให้ผู้สร้างสรรค์งานไม่มีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ ดังนั้นลิขสิทธิ์จึงมีเพื่อจูงใจให้ผู้สร้างสรรค์สร้างสรรค์งานออกมาผ่านการคุ้มครองการ “ผูกขาด” การแสดงประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในขณะเดียวกันการคุ้มครองนี้ก็มีเวลา “จำกัด” เพื่อให้การ “ผูกขาด” นี้สิ้นสุดลงและทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะที่ทุกคนสามารถนำมาใช้ได้อย่างเสรีนั้นเพิ่มพูนขึ้น

 

อ้างอิง

  1. ดู http://en.wikipedia.org/wiki/File_sharing_and_the_law และ https://torrentfreak.com/swiss-govt-downloading-movies-and-music-will-stay-legal-111202/ 
  2. ผู้เขียนยังไม่ได้เช็คตัวบทกฏหมายอังกฤษในส่วนของงานบันทึกเสียงแต่ฐานการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอังกฤษอยู่ที่ 70 ปีหลังการสร้างสรรค์เป็นอย่างต่ำ ซึ่งต่างจากไทยที่ระยะเวลาการหมดลิขสิทธิ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 50 ปี
  3. นี่เป็นการกล่าวสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ในตัวอย่างนี้เท่านั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในการเริ่มนับถอยหลังสู่การหมดลิขสิทธ์อีก แต่ผู้เขียนคิดว่าสามารถละไว้ได้ในตัวอย่างนี้
  4. ดู Joe Karaganis, “Rethinking Piracy” in Media Piracy in Emerging Economy, Edited by Joe Karaganis, (USA: Social Science Research Council, 2011) 1-73
  5. ดู http://torrentfreak.com/three-strikes-anti-piracy-budget-too-expensive-to-justify-says-minister-120603/ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท