Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ก้าวขึ้นปีใหม่เป็นช่วงเวลาเพื่อเตรียมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเวลาดีที่จะกลับมานั่งทบทวนกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาในปีที่แล้ว เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีที่ World Economic Forum (WEF) จะสแกนภาพอนาคตความเสี่ยงของโลกและรายงานประจำปีชื่อว่า « Global Risks »[1] โดยในปี 2013ซึ่งเป็น 8th edition ทาง WEF ได้สำรวจและฉายภาพความเสี่ยงทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี

WEF ได้เรียงลำดับ 5 ประเด็นความเสี่ยงของโลกที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นสูง (likelihood) ได้แก่ ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาเรื้อรังของการคลังไม่สมดุลย์ การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก็าซเรือนกระจก วิกฤติการจัดหาทรัพยากรน้ำ การจัดการที่ผิดพลาดต่อเรื่องประชากรสูงวัย

และ 5 ประเด็นความเสี่ยงของโลกที่ส่งผลกระทบอย่างมาก (impact) ได้แก่ ความล้มเหลวของระบบการเงินหลัก วิกฤติการจัดหาทรัพยากรน้ำ ปัญหาเรื้อรังของการคลังไม่สมดุลย์ วิกฤติการขาดแคลนอาหาร และการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูง

เมื่อนำปัญหาความเสี่ยงหลายๆประเด็นมารวมกันและเชื่อมโยงแล้ว WEF ได้เสนอเคสปัญหาความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการคือ 

ความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและบททดสอบทางเศรษฐกิจ (Testing Economic and Environmental Resiliance)

ความกดดันของสภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการคลัง นโยบายรัดเข็มขัด ส่งผลกระทบต่อผู้นำในการมองภาพอนาคต นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันของสภาพแวดล้อมธรรมชาติร่วมด้วย เช่นปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และปัญหาวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ไฟป่าของระบบดิจิตอลในโลกการติดต่อสื่อสารเข้มข้น (Digital Wildfire in a Hyperconnected World)
โซเชียลมีเดียช่วยให้เกิดการแพร่ขจายข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดนี้ยังรวมถึงการแพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์ การแพร่ข้อมูลผิดๆ การแพร่ปทัสฐานซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิดของผู้บริโภค โดยไม่มีมาตรการมากำกับ

อันตรายของความอหังการ์ต่อเรื่องสุขภาพของมนุษยชาติ (Dangers of Hubris on Human Health)
การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างรวดเร็วช่วยมนุษย์ในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการแพทย์ในอดีตที่มีประสิทธิภาพอย่างยาปฏิชีวนะก็ถูกท้าทายจากการดื้อยาหรือวิวัฒนาการของเชื้อโรค ซึ่งการพัฒนาของเชื้อโรคมีความรวดเร็วกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ และเกิดโรคระบาดอุบัติใหม่ขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้จึงต้องกลับมาทบทวนกระบวนการป้องกันโรคควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษา ตลอดจนการสร้างความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล


ความเสี่ยงโลกกับผลกระทบต่ออาเซียน

จากที่ WEF สรุปถึงความเสี่ยงหลักของโลกได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารของโลกดิจิตัล และปัญหาเรื่องสุขภาพและการพัฒนาองเชื้อโรค ในส่วนนี้จะวิเคราะห์ถึงผลกระทบของความเสี่ยงโลกต่ออาเซียน

ถึงแม้กลุ่มประเทศอาเซียนต่างไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออเมริกา และด้วยการดำเนินนโยบายแบบสมดุลติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ทำให้ปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการคลัง หรือวิกฤติทางการเงินเกิดได้ยากในภูมิภาคอาเซียนในขณะนี้ นอกจากนี้อานิสงส์ของวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกาส่งผลให้เกิดลมเปลี่ยนทิศ เงินตราต่างประเทศโยกย้ายเข้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ตลาดขนาดมหึมาของจีนและอินเดีย แต่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกก็ส่งผลเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจอาเซียนเช่นกัน โดยประเทศคู่ค้าอาเซียนที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างมีกำลังซื้อลดลง ย่อมส่งผลเชิงลบกับเศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกเป็นหลักอย่างอาเซียน และทำให้เซียนต้องเพิ่มความเข้มข้นในการหาตลาดใหม่ได้แก่ ตลาดในจีนและตลาดระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเองที่มีการแข่งขันสูง และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ก็เป็นปัญหาเรื้อรังของสมาชิกอาเซียน

ส่วนทางด้านสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็เป็นความเสี่ยงต่ออาเซียนเช่นกัน เมืองใหญ่ๆในอาเซียนต่างประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา เช่น กรุงเทพฯ และมะนิลา นอกจากนี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น ลาว เวียดนาม เขมร และกลุ่มประเทศระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม เช่น ไทย ก็ส่งผลให้เกิดการปล่อยกาซเรือนกระจกมากขึ้น ทั้งมาจากภาคอุตสาหกรรม หรือมาจากการบริโภคของภาคครัวเรือน

ปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารในโลกดิจิตัลเป็นปัญหาสากลของโลกรวมถึงอาเซียน ซึ่งมีการแพร่หลายในการใช้โซเชียลมีเดียสูง และไม่มีมาตรการการจัดการที่ออกมาชัดเจน การแพร่ขยายของโซเชียลมีเดียยังเพิ่มพื้นที่ใหม่ให้กับประชาชน และเกิดกิจกรรมต่างๆราวกับโลกเสมือนจริง รวมถึงอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและแพร่กระจายในโลกอินเตอร์เนต การแพร่ขยายข้อมูล ข่าวลือ เป็นต้น นอกจากนี้อาเซียนยังมีความแตกต่างเรื่องการเข้าถึงอินเตอร์เนตระหว่างประเทศที่รายได้สูงกับรายได้ต่ำ หรือระหว่างคนเมืองกับคนชนบท

ปัญหาด้านสุขภาพ และการระบาดของโรคชนิดใหม่และสุขภาพ การกระจายความรู้สาธารณสุขไปสู่ประชาชนยังอยู่ในวงจำกัด พฤติกรรมการบริโภคยาปฏิชีวนะส่งผลให้เกิดการดื้อยา เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ต่างๆไม่ว่าไข้หวัดนก หรือซารส์ ส่งผลให้ต้องมีการทบทวนระบบประกันสุขภาพของแต่ละประเทศ และมีความพยายามในการขยายการคลอบคลุมประกันสุขภาพของรัฐให้กับประชาชนทุกคน และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามความสำเร็จดังกล่าวต้องอาศัยการใช้จ่ายจากภาครัฐซึ่งมาจากภาษีประชาชน โดยถ้าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลเกิดการถดถอยในเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว รัฐบาลก็ขาดงบประมาณในการบริหารประเทศ และสิ่งแรกๆที่รัฐบาลจะตัดค่าใช้จ่ายคือสวัสดิการประชาชนซึ่งรวมถึงการรักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน



[1] http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net