Skip to main content
sharethis

 

กระแสการแบนละครเหนือเมฆนั้น ช่วยปลุกให้ดิฉันอยากจะสารภาพอะไรบางอย่าง.....

 

ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้ตัดสินใจ “ไม่นำเสนอ” เรื่องสำคัญที่สังคมไทยน่าจะได้อ่าน 2 เรื่อง ทั้งสองเรื่องเป็นข่าวและบทความจากสื่อต่างประเทศ เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเอเชีย ที่พาดพิงสถาบันหลักของไทย

แม้จะอยากนำเสนอเพียงใด ก็ไม่สามารถนำเสนอได้ด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งหลายท่านอาจจะพอคาดเดาได้ จึงต้องขออภัยอย่างยิ่งในข้อจำกัดเหล่านี้มา ณ โอกาสนี้...........

 

หากดิฉันปรารถนาจะเสพดรามาจากสังคมนี้ ก็ควรจะปล่อยข้อความข้างต้นไว้สัก 2-3 วัน ก่อน เพื่อจะรออ่าน “ทัศนะอันหลากหลาย” ทั้งที่มีคุณภาพ มีหลักการ มีอารมณ์ความรู้สึก และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย

พอเบื่อแล้ว ดิฉันจะค่อยๆ เฉลยถึงเหตุแห่งการ “ไม่นำเสนอ” ว่า เรื่องแรกนั้น ดิฉันไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะติดประเด็นค่าลิขสิทธิ์

เรื่องที่สอง ไม่ใช่ประเด็นลิขสิทธิ์ และมีผู้เสนอตัวแปลให้แล้ว แต่หลังจากอ่านกันแล้วก็มีความเห็นว่า คงจะหนีไม่พ้นกฎหมายอาญามาตรา 112 แบบที่ใช้ตีความกันอยู่ในปัจจุบันเป็นแน่ จึงตัดสินใจ “แบน” ตัวเองซะ

อาการล้อฟรีเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณไม่รอคำชี้แจงจากทั้งสองกรณี และในกรณีหลังที่เป็นเรื่องการ “เซ็นเซอร์” ตัวเอง อาจจะเป็นเรื่องที่ “เข้าใจกันได้” ในสังคมนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ละเลยไปไม่ได้คือ การ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” นั้นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน และด้วยเหตุผลที่หลากหลายมาก กรณีตัวอย่างที่ยกไป อาจจะเป็นเรื่องกลัวคุกตะราง แต่ยังมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในกรณีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เกรงใจแหล่งข่าว เพื่อนๆ กัน ขอกันมา หรืออาจจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจไม่อยากถูกกระทบ หรือแม้แต่ทัศนคติที่เชื่อว่าเรื่องนั้นๆ ควรถูกเซ็นเซอร์

ผู้บริโภคควรหันกลับมาตั้งคำถามและเรียกร้องเอากับสื่อที่เลือกเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรียกร้องเอาจากรัฐในฐานะที่เป็นประชาชนเพียงเท่านั้น

ดิฉันพบการยกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ แม้ข้อเท็จจริงไม่เป็นที่ยุติ แต่กรณีการแบนละครเหนือเมฆนั้นเป็นเรื่องที่รัฐต้องรับผิดชอบด้วย โดยเปรียบเทียบกับกรณีการแบน URL ประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นิติราษฎร์ กรณีการแบน URL ของนิติราษฎร์นั้นชัดเจนว่า ข้อความปรากฏการห้ามเผยแพร่โดยกระทรวงไอซีที บาง ISP ปรากฏข้อความอ้างคำสั่งศาล นี่เป็นเรื่องที่รัฐเกี่ยวข้องชัดเจน

ดิฉันคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่จะชี้ให้เห็นว่า ผู้เสพสื่อไม่ได้เป็นเพียงประชาชนที่พึงได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้บริโภคที่ควรเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภคจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พูดง่ายๆ คือ หากประชาชนคนใดอยากจะปกป้องสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของตน ก็มีสองช่องทางให้เลือก คือ ฟ้องร้อง ISP ต่อศาลแพ่ง และร้องต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยคำสั่งของกระทรวงไอซีทีว่าขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากพลังแห่งละครอันเป็นอำนาจอย่างละมุนละม่อมที่ว่ากันว่ามีผลต่อการก่อรูปจิตสำนึกมีจริง ผู้เสพสื่อในฐานะผู้บริโภค ควรหันมาเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากบริษัทสื่อต่างๆ บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเรียกร้องข้อเท็จจริงต่อกรณีการเสนอหรือไม่เสนอเรื่องที่กำลังเป็นข่าวอยู่ตอนนี้ นี่ควรเป็นอันดับแรกที่ผู้เสพสื่อจะทำเพื่อรักษาสิทธิในการบริโภคของตัวเองไว้

ดิฉันเสนอแบบนี้ ในกรณีที่ผู้สื่อข่าวเอง ยังไม่ได้ใช้ความพยายามให้มากกว่านี้ในการเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ว่าการแบนละครเรื่องนี้มันเกิดจากอะไร และนักการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น มาเกี่ยวข้องในรูปแบบไหน

อาจจะดูด้านชาไปสักนิด หากดิฉันจะเสนอว่า ตราบเท่าที่คุณไม่รู้ว่ามีการสั่งการหรือไม่ จำเลยที่ 1 ของการเซ็นเซอร์ละครหลังข่าวครั้งนี้ ควรเป็นสถานีโทรทัศน์ เพราะหากข้อเท็จจริงปราฏเป็นเพียงการร้องขอ หรือพูดคุยแสดงความไม่พอใจแล้ว การตัดสินใจนำเสนอหรือไม่นำเสนอ ยังเป็นอิสระขององค์กรสื่อนั้นๆ หาไม่เช่นนั้น เราก็จะเคยชินกับการที่องค์กรสื่อเลือกจะกลืนเลือดตัวเอง แม้ในเงื่อนไขที่ไม่หนักหนาอะไร แล้วโยนความผิดให้ฝ่ายการเมืองไป ทั้งๆ ยังไม่ได้พยายามจะท้าทายการร้องขอนั้นเลย มิพักต้องกล่าวถึงว่า การร้องขอ การเจรจากัน เป็นเรื่องเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ สำหรับองค์กรสื่อ ฉะนั้นแล้ว การร้องขอครั้งใดที่สื่อเลือกจะปฏิบัติตาม เป็นเรื่องดุลพินิจขององค์กรสื่อนั้นๆ และต้องรับผิดชอบต่อการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ด้วย ไม่ใช่จะเล่นบทหงอ ถูกรังแก อยู่ร่ำไป และพร้อมๆ ไปกับการเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ผู้บริโภคก็ควรเรียกร้องความกล้าหาญของสื่อด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net