Skip to main content
sharethis

มูลนิธิกระจกเงา  รายงานสภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในรอบปี 2555 ระบุรัฐยังขาดความรู้และไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ชี้ 2556 ปัญหาและรูปแบบการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานจะซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น

สภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในรอบปี 2555 นั้น ยังคงเป็นปัญหาที่น่าหวาดวิตก เนื่องจากยังสามารถพบเห็นเด็กขอทานได้เป็นจำนวนมากแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งจากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุกรณีพบเห็นการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงานั้น มีสถิติการรับแจ้งเบาะแสเกือบ 200 ราย โดยพื้นที่ที่พลเมืองดีแจ้งมานั้นยังคงเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไทย อาทิเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ชลบุรี, ระยอง, เชียงใหม่, ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดปรากฎการณ์การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสามารถจำแนกออกมาเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

 

1. ปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน

สำหรับปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น พบว่ากลุ่มเด็กที่ถูกนำมาขอทานมากที่สุดยังคงเด็กที่มาจากประเทศกัมพูชา โดยเส้นทางที่นายหน้าค้ามนุษย์มักใช้ลักลอบนำเด็กเข้ามานั้น ยังคงเป็นด่านชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วเช่นเดิม ซึ่งจากการลงพื้นที่ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าบริเวณด่านชายแดนดังกล่าวสามารถลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยได้ง่าย โดยใช้การเดินเท้าและขึ้นพาหนะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ , รถประจำทางหรือแม้กระทั่งรถตู้ เพื่อเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งโดยมากชาวกัมพูชาที่จะเข้ามาทำการขอทานนั้น มักจะเสียค่าใช้จ่ายให้กับนายหน้าประมาณ 1,500 – 3,000 บาท แทนการทำพาสปอร์ตที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า จึงทำให้หลายครั้งที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือกลุ่มขอทานไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงพบมักปรากฏข้อมูลว่า “ไม่มีเอกสารแสดงตัวและเป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”    

ในช่วงต้นปี 2555 นั้น ได้เกิดข่าวที่สร้างความครึกโครมให้กับสังคม ภายหลังจากที่มีการนำเสนอประเด็น

นายหน้าค้ามนุษย์ตัดลิ้นไก่เด็กให้พิการก่อนที่จะบังคับขอทานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีการเล่าถึงพฤติกรรมที่เหี้ยมโหดของนายหน้าค้ามนุษย์ที่ใช้มีดกรีดที่ลำคอเด็ก ก่อนจะใช้เหล็กแหลมเสียบแทงเข้าที่ลำคอเพื่อตัดลิ้นไก่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วาทะกรรม “ตัดแขน – ขาเด็กหรือทำร้ายร่างกายเด็กจนพิการก่อนพามาขอทาน” ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการตรวจร่างกายเด็กโดยละเอียดจากแพทย์ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงในท้ายที่สุดว่าเด็กมิได้ถูกทำร้ายร่างกายจนพิการแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเด็กเคยติดเชื้อที่กล่องเสียงจนต้องทำการผ่าตัดและมีความพิการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นข้อบกพร่องที่ภาครัฐใช้วิธีการสัมภาษณ์เด็กเพียงประการเดียว มิใช้วิธีทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือมากยิ่งกว่าเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏชัด ก่อนที่จะให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน จนทำให้เกิดความตื่นตระหนักต่อสังคมโดยใช่เหตุ

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข่าวขอทานแกล้งพิการตาบอดที่อำเภอแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งแม้มิใช่ปัญหาการนำเด็กมาขอทานโดยตรง แต่ก็ถือเป็นกรณีอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อมีสามี – ภรรยา คู่หนึ่งหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยสามีจะทำทีเป็นขอทานตาบอดและฝ่ายภรรยาจะทำหน้าที่พาไปขอทานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสามารถทำรายได้ถึงวันละ 3,500 – 4,000 บาท โดยทั้งคู่นำเงินที่ได้จากการขอทานไปใช้จ่ายในการเช่ารีสอร์ทหรูและเที่ยวสถานบันเทิงในช่วงกลางคืนเป็นประจำ จนถูกจับกุมในที่สุด อย่างไรก็ตามในคดีนี้ไม่มีเจ้าทุกข์ร้องเรียนจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาหลอกลวงกับทั้ง 2 คนได้

 

2. ปัญหาการนำเด็กมาขายดอกไม้

ปัญหาการนำเด็กมาขายดอกไม้นั้น มีความแตกต่างจากปัญหาเด็กขอทานเล็กน้อย กล่าวคือ เด็กที่เป็นเป้าหมายของนายหน้าค้ามนุษย์นั้นจะเป็นกลุ่มเด็กมุสลิมผิวดำ ชาวพม่า ที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยโดยการข้ามแม่น้ำเมยพร้อมกับครอบครัว ก่อนที่จะมาพักอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และระยะเวลาในการพบเด็กขายดอกไม้นั้นมักเป็นช่วงกลางคืนเป็นหลัก

เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ จึงทำให้ผู้ที่พักอาศัยในชุมชนเลือกที่จะประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย ซึ่งย่อมมิเพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์มักยื่นข้อเสนอขอเช่าเด็ก เพื่อให้มาทำการขายดอกไม้ตามร้านอาหารหรือสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหรือจังหวัดชลบุรี โดยจะมีการกำหนดค่าตอบแทนที่ครอบครัวจะได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งมีตั้งแต่ 1,500 – 2,000 บาท รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการเช่าเด็กไว้ด้วย แต่ท้ายที่สุดมักลงเอยที่นายหน้าค้ามนุษย์ไม่ส่งคืนเด็กกลับสู่ครอบครัวตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งไม่ยินยอมให้เด็กได้ติดต่อกับครอบครัว ซึ่งทุกครอบครัวที่ประสบกับสถานการณ์ในลักษณะนี้มักเลือกที่จะไม่แจ้งความเอาผิดหรือร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เนื่องจากทราบดีว่าตนเองลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมื่อจับกุมนายหน้าค้ามนุษย์ได้แล้ว นายหน้ามักแอบอ้างว่าเด็กที่มาขายดอกไม้นั้น เป็นบุตร – หลานของตนเอง ไม่ได้มีการบังคับให้เด็กมาขายดอกไม้แต่อย่างใด ซึ่งคาดว่ายังคงมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบเด็กขายดอกไม้อีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย

 

3. ปัญหาการนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาค

การนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาคนั้น ถือเป็นรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพิ่งปรากฏข้อเท็จจริงในช่วงประมาณเดือนธันวาคม 55 โดยเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ยังคงเป็นเด็กกัมพูชาเช่นเดียวกับปัญหาเด็กขอทาน จะแตกต่างก็เพียงแต่อายุของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้นจะอยู่ระหว่าง 6 – 15 ปี และเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้น ยังพบเพียงกลุ่มเด็กชายเท่านั้นไม่พบว่ามีเด็กหญิงแต่อย่างใด โดยนายหน้าจะใช้วิธีการซื้อ – ขายเด็กจากครอบครัวที่มีความยากจนในราคาประมาณ 3,000 บาท โดยอ้างว่าจะพาเด็กไปเรียนหนังสือที่ประเทศไทย จากนั้นนายหน้าค้ามนุษย์จะลักลอบนำเด็กเข้าสู่ประเทศไทยทางด่านชายแดนจังหวัดสุรินทร์หรือด่านชายแดนอรัญประเทศ โดยระหว่างทางนายหน้าจะซื้อชุดนักเรียนให้กับเด็ก เพื่อทำให้เด็กหลงเชื่อว่านายหน้าจะพาไปเข้าเรียนในสถานศึกษาจริง แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กจะถูกบังคับให้สวมเสื้อนักเรียนและถือกล่องรับบริจาค ซึ่งเขียนข้อความเรียกร้องความน่าสงสารต่างๆ เป็นภาษาไทย อาทิเช่น “ขอรับบริจาคเพื่อเป็นทุนการศึกษา” ,  “ผมเอาไปรักษาตัวครับ ขอบคุณครับ” หรือ “ผมเป็นเด็กกำพร้า ผมขอบริจาคครับ ขอบคุณ” เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงานั้น คาดว่าการที่นายหน้าเปลี่ยนรูปแบบจากการนำเด็กมาขอทานเป็นการถือกล่องรับบริจาคนั้น อาจเป็นไปได้ว่าการนำเด็กมาขอทานมีรายได้ที่น้อยกว่าเดิม เนื่องจากคนในสังคมเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการนำเด็กมาขอทานมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้นายหน้าจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียกร้องความน่าสงสารของเด็กให้แตกต่างจากเดิม ซึ่งการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบการถือกล่องรับบริจาคนั้น สามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่าการนำเด็กมาขอทานเป็นอย่างมาก โดยเด็กถือกล่องจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 – 1,500 บาทเลยทีเดียว ถือเป็นการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจับตามองและคาดว่าในรอบปี 2556 จะมีกลุ่มขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ที่นำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

 

4. การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ

นอกจากการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ใน 3 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ยังพบกรณีการบังคับเด็กให้ทำการลักทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี ซึ่งนายหน้าจะให้เด็กประมาณ 4 – 5 คน ทำทีเป็นเข้าไปขอทานจากนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าโรงแรมในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งมักเป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวอยู่ในอาการเมามายจากการเที่ยวในสถานบันเทิงมาตลอดทั้งคืน เมื่อนักท่องเที่ยวเผลอเด็กก็จะทำการล้วงกระเป๋านักท่องเที่ยว ก่อนที่จะนำทรัพย์สินที่ได้มานั้นส่งต่อให้กับนายหน้าที่ทำการควบคุมเด็กต่อไป

อีกทั้งยังพบการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านมาแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะเด็กเป่าแคน ซึ่งรูปพรรณ สัณฐาน รวมถึงพฤติกรรมของเด็กที่มักแต่งกายด้วยชุดนักเรียนนั้น ทำให้ละม้ายคล้ายเด็กเป่าแคนจากประเทศไทยจนแยกแยะแทบมิได้ ซึ่งรูปแบบทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกวิธีการที่แยบคายของนายหน้าค้ามนุษย์ในการใช้เด็กเป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง

รูปแบบต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำการรวบรวมไว้ตลอดปี 2555 ซึ่งน่าหวาดวิตกว่าในอนาคตจะมีรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบใดๆ อีกบ้าง

จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้  จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เช่นเดิม ซึ่งถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว เนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังนั่นเอง

ภายหลังการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จากสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มมีการออกนโยบายในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานออกมาในที่สุด โดยเน้นไปที่การปราบปรามเด็กขอทานตามข้างถนนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐหลายหน่วยงานยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเด็กขอทาน รวมถึงขาดทักษะในการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์อีกด้วย ทำให้เมื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กออกจากข้างถนนได้แล้ว ก็มิรู้ว่าควรจะดำเนินการสอบปากคำเด็กหรือส่งต่อเด็กไปคุ้มครองสวัสดิภาพที่ใด ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวเด็กเอง เพราะหากเด็กตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยความสมัครใจของครอบครัวเด็กเองแล้ว ย่อมทำให้เด็กต้องกลับสู่การเป็นเด็กขอทานหรือถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์อีกหลายต่อหลายครั้งและวนเวียนเป็นวัฎจักรที่ไม่มีวันจบสิ้นในที่สุด

อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมานี้ โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่านายหน้าค้ามนุษย์หลายรายเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายมากขึ้น จึงเกิดเหตุการณ์นายหน้าค้ามนุษย์ปฏิเสธที่จะลงนามในเอกสารคำรับสารภาพหลายครั้ง แม้ว่าจะมีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้ได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีการกระทำความผิดครบองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม ดังนั้นการดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์ในทุกรูปแบบนั้น ผู้ที่ปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้แน่นหนาและรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินคดีกับนายหน้าค้ามนุษย์สามารถกระทำได้อย่างราบรื่น

 เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างๆ ในรอบปี 2555 แล้ว โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่าในปี 2556 จะมีรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในวิธีการที่หลากหลาย และนายหน้าค้ามนุษย์อาจมีการพลิกแพลงการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ อีกก็เป็นได้ ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เท่าทันกลุ่มขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ รวมถึงยังไม่มีมาตรการณ์ที่จะป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นระบบแล้ว ปัญหาการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ตลอดปี 2556 อาจมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากกว่าเดิมอีกก็เป็นได้..........

 

 

โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน

มูลนิธิกระจกเงา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net