Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ถ้ามองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ปี 2516 อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2517 หรือหลังการต่อสู้ของประชาชนปีพ.ศ.2535 และการได้มาของรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2540 ที่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นที่มาจากการทำรัฐประหาร  ดูคล้าย ๆ เป็นผลจากการต่อสู้ของประชาชนในปีพ.ศ.2516 และปีพ.ศ.2535 เป็นลำดับ  แต่ถ้าดูความจริง  รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปีพ.ศ.2517 และปีพ.ศ.2540 แม้จะก้าวหน้ากว่าฉบับของเผด็จการทหารก็ตาม  แต่กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับยังอยู่ในกลุ่มของเครือข่ายระบอบอำมาตย์  ในฐานะสายพลเรือนที่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง  รอบแรกนำโดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  รอบปีพ.ศ.2540 นำโดยคุณอานันต์  ปันยารชุน
 
เมื่อมาพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550  มีที่มาจากเผด็จการทหาร  แต่ผู้ร่างเป็นคณะอำมาตย์สายพลเรือนมือชั้นเซียนที่ระดมกันมาในฐานะสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคมช.  รวมมือชั้นเซียนของระบอบอำมาตย์ทางกฎหมายไว้หมดเต็มคณะ 
 
มือเซียนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับอภิมหาอำมาตยาธิปไตยไม่ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยล็อคไว้ที่มาตรา 165 ป้องกันการทำประชามติเพื่อไม่ให้มีผลลบล้างประชามติเดิมที่ได้รับรองรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้  ที่ตั้งใจสร้างความชอบธรรมไว้ให้กับรัฐธรรมนูญ 2550 ในกติกาที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก  เป็นเสียงข้างมากธรรมดาในครั้งนั้น  แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนล็อคไว้ในมาตรา 165 ทั้งเรื่องตัวเลขที่ต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ (แม้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะแบ่งเป็น 2 ขยักก็ตาม  ขยักแรกก็ต้องมาออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ขยักที่สองใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์  และถูกตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ได้แย้งกับมาตรา 165 ก่อนหน้านี้  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ฟ้องร้อง)
 
หมายความว่า  จงใจจะให้การทำประชามติใหม่เพื่อแก้ไขตามมาตรา 165 เป็นไปได้ยากมากในเรื่องตัวเลข  ยังวางหลุมระเบิดในแง่เนื้อหา  ห้ามทำประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคล  ซึ่งแน่นอนว่าจะถูกฟ้องแย้งแน่นอน  แม้นว่าผ่านด่านเรื่องตัวเลขมาแล้วก็ตาม  การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ทันที
 
นี่จึงมีความหมายทางการเมืองมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากระบวนการศาลรัฐธรรมนูญเข้ามารับช่วงต่อหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจยับยั้งการโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1, วาระ 2 ไปแล้ว  เหลือเวลา 15 วันจะลงมติก็เจอใบสั่งหยุดทันที  อันเนื่องมาจากมีการฟ้องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง  แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็แหกด่านอัยการสูงสุดมารับเรื่องฟ้องร้องโดยตรงอย่างรวดเร็ว  เพื่อทำการวินิจฉัย
 
กระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนบ่งบอกถึงการป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างสุดฤทธิ์  ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร  ผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่อยู่ใน
 
ระหว่างการประกันตัวก็ถูกถอนประกัน เช่น ก่อแก้ว  พิกุลทอง, ยศวริศ  ชูกล่อม  สำหรับจตุพร  พรหมพันธ์ ก็เกือบไป

ทั้ง ๆ ที่รัฐสภาและรัฐบาลได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการ  ก็ยังต้องหยุดชะงักดื้อ ๆ ไม่กล้าเดินหน้าต่อ  แม้จะวินิจฉัยว่าไม่ได้ล้มล้างการเมืองการปกครอง  แต่ก็ส่งคำเตือนแปลกประหลาดที่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ  มีแต่อ้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ  (เจตนารมณ์ของผู้ร่างบางส่วน!)  ซึ่งเมื่อผู้เขียนอ่านทั้งคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตน  ก็มึนว่าคำวินิจฉัยกลางไม่ได้มาจากคำวินิจฉัยรวม  แต่เป็นแง่คิดของตุลาการบางท่านเท่านั้น  เพราะ

การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่สอง  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติม  โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ได้อ้างอำนาจการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ  เป็นอำนาจของประชาชนที่เหนือรัฐธรรมนูญ  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้น (หมายถึงรัฐสภา) ใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญนั้น  กลับไปแก้รัฐธรรมนูญนั้น  เหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา 

นี่เป็นความเห็นในตอนต้น
 
ต่อมาได้อ้างการตรารัฐธรรมนูญ 2550  มีกระบวนการผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้  ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม  แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ  ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291  ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน  ว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  หรือรัฐสภาจะแก้เป็นรายมาตราก็เหมาะสม  จากนั้นไปอ้างในประเด็นที่สามว่า  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตรา
 
ในความเห็นที่กล่าวมาข้างบนนี้  มิได้อ้างบทบัญญัติใด  แต่อ้างเจตนารมณ์ มาตรา 291 ซึ่งมิได้มีอะไรนอกจากให้รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 1, วาระ 2 แล้วลงมติวาระ 3 หลัง 15 วันที่ผ่านวาระ 2  ที่สำคัญคำวินิจฉัยกลางนี้ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 ท่าน  กล่าวคือ  ผู้มีความเห็นให้ทำประชามติเสียก่อนตามความเห็นกลางมีนายเฉลิมพล  เอกอุรุ เพียงท่านเดียว  ส่วนนายนุรักษ์  มาประณีต อ้างมาตรา 68 วรรค 1 อ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่  เทียบกับอดีตไม่ได้  เพราะในอดีตยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีบทบัญญัติเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ  (ของคณะรัฐประหาร!)  ในส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68  จึงไม่ให้ทำการแก้ไขตามร่างแก้ไข  ตามมาตรา 291 คนที่สามคือ นายสุพจน์  ไข่มุกด์ ให้แก้ได้เป็นรายมาตรา ใช้สภาร่างไม่ได้  ส่วนนายจรูญ  อินทจาร ให้แก้ไขได้แต่ให้ทำประชามติทีหลัง  อีก 4 คนที่เหลือล้วนให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติทำได้และหรืออ้างว่าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบวินิจฉัยประเด็นนี้ได้แก่ ชัช  ชลวร, วสันต์  สร้อยพิสุทธิ์, บุญส่ง  กุลบุปผาและอุดมศักดิ์  นิติมนตรี

นี่จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องศึกษาว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำ  และมีกฎหมายบทบัญญัติใดรองรับ  หรือเป็นคำแนะนำลอย ๆ โดยอ้างเจตนารมณ์ (ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ?) ของรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อพิจารณามาตรา 291 ที่ใช้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการบ่งบอกใดว่าให้มีการทำประชามติเพื่อกลับไปถามประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด  กลับเป็นเรื่องเกินเลยกว่าบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ  น่าสงสัยว่าทำเกินกว่ารัฐธรรมนูญได้หรือไม่ (อาจถูกฟ้องร้องได้เช่นกัน)
 
และเมื่อพิจารณามาตรา 165 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยประชามติ  ก็กลับห้ามทำประชามติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ  (แปลว่าจะทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไหม?)
 
ดังนั้น  แผนล้ำลึกอำมาตย์ให้ทำประชามติเพื่อรับรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วออกมาหลอกประชาชนให้รับ ๆ ไปเพื่อจะได้เลือกตั้ง  หาไม่จะไปเอารัฐธรรมนูญฉบับใดก็ได้แล้วแต่คมช.เลือก  จึงเป็นความหลอกลวง  ฉ้อฉลทางการเมืองอย่างไร้ยางอาย  ไร้ศักดิ์ศรี  ขอให้รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติก่อนโดยวิธีการสกปรกอย่างไรก็ได้  ยิ่งกว่านั้น  ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็มาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงเอง  ทั้ง ๆ ที่มีเสียงเดียวและแนวร่วมอีก 2 คน  ก็ยังทำให้ความเห็นกลุ่มข้างน้อยมาเป็นความเห็นส่วนกลางได้ ? และจะถือเป็นคู่กรณีขัดแย้งมาตัดสินเองได้หรือไม่?
 
เมื่อเราจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้  จึงต้องตระหนักถึงการวางกับระเบิดเป็นทุ่งสังหารเต็มพื้นที่หมด  แถมมีสไนเปอร์เป็นชุด ๆ เป็นระยะ ๆ ผ่านด่านวาระที่ 1, ที่ 2 แล้ว  จึงมาพบด่านใหญ่ฉับพลันทันที  ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าหลักการที่ต้องยึดในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  1. ต้องยึดหลักถูกต้องตามหลักกฎหมายและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ  เพราะถ้าทำผิดก็เป็นระเบิดชุดใหญ่ทีเดียว  คือปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งในการทำตามอำนาจหน้าที่, ระบุไว้ให้เคร่งครัดเพื่อการต่อสู้ตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญในการนี้จึงควรปฏิบัติตาม มาตรา 291 และมาตรา 165 อย่างเคร่งครัด
     
  2. หลักการแบ่งแยกอำนาจตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญก็ต้องยึดมั่นในหลักการ  ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจอื่นตามรัฐธรรมนูญ  มิฉะนั้นจะขาดความชอบธรรมในการต่อสู้ในสังคมและตามตัวบทกฎหมาย  นั่นคือ ฝ่ายบริหารไม่ควรทำแทนฝ่ายนิติบัญญัติ  แม้จะเป็นคำแนะนำ (ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ)  นี่ไม่ใช่อำนาจฝ่ายบริหารในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291  ถ้าทำท่านอาจถูกฟ้องร้องได้เช่นกัน
การทำประชามติตามคำแนะนำเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็จริง  เพราะเขาให้ทำได้ 2 กรณีคือเพื่อเป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องสำคัญ  หรือเพื่อหาข้อยุติตามกฎหมายบัญญัติ  (และต้องไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อย่าลืม)
ลงท้ายทำประชามติแล้วก็ไม่ผูกพันกับฝ่ายนิติบัญญัติแต่ประการใด  แต่เพื่อให้รัฐบาลสบายใจ  ฝ่ายนิติบัญญัติสบายใจว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ (ที่เลื่อนลอย)  และอาจให้ผ่านหรือคว่ำในการลงมติวาระ 3 ก็ได้  ความจริงก็เพื่อให้คว่ำมากกว่า  นี่เป็นทัศนะของผู้เขียน  เพราะแม้จะผ่านตัวเลขผู้ออกเสียงได้  ก็จะพบกับด่านเนื้อหาว่าทำไม่ได้อยู่ดี  นี่ก็คือการถูกบังคับให้เล่นตามเกมส์อำมาตย์โดยแท้
 
ถ้าผ่านประชามติไปก็จะเจอความขัดแย้งต่อสู้รุนแรงจากกลุ่มอำมาตย์ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญอยู่ดี  ส.ส., ส.ว. ก็จะกลัวเหมือนเดิม  ไม่กล้าโหวตให้ผ่านวาระ 3 อีก
  1. หลักการได้หรือเสียหายกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในการทำประชามติแบบยุติ  ถ้าไม่ผ่าน  ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็หมดไปทันที  พวกเขาจะออกมาส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ว่าแก้ไม่ได้อีกแล้ว  เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญไม่ให้แก้ไข  ซ้ำยังผ่านการรับรองจากประชามติ 2 ครั้ง  เป็นอันว่าจบกันสำหรับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้ประเทศนี้เข้าสู่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยแท้จริง  เพราะถูกยึดติดกับรัฐธรรมนูญของระบอบอำมาตย์ไปชั่วนิรันดร
 
นี่ไม่ใช่เป็นอย่างที่นักการเมืองพูดกันว่า  ถ้าประชามติไม่ผ่านก็แก้เป็นรายมาตรา  เพราะชาติหน้าตอนบ่ายคุณก็แก้ไขอะไรแทบไม่ได้  เขาจะยอมให้คุณแก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาอนุญาตเท่านั้น  จบกันประเทศไทย!!!  ประชาชนไทย!!!  แล้วอนาคตจะอยู่อย่างไร?  จะต้องสู้กันแบบไหนอีก?  ผู้เขียนมองเห็นมีแต่ความมืดและเสียงคร่ำครวญโหยหวนของประชาชนทั้งที่มีชีวิตและที่ตายไปแล้ว.......
 
เส้นทางของขบวนการประชาธิปไตยต้องยืนหยัดในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ถ้าทุกอย่างเดินไปได้ในระบบก็ต้องโหวตวาระสามในสภา  ไม่ว่าคุณจะทำสานเสวนาหรือทำประชามติแบบปรึกษาหารือหรือแบบยุติ  ก็ต้องโหวตวาระ 3  ซึ่งแน่นอนทำแบบไหนก็ถูกคัดค้านฟ้องร้องยุบพรรคหรือจัดการรัฐบาลอยู่ดี

แล้วถ้าแก้ไม่ได้  โหวตวาระสามไม่ผ่าน  ก็อาจพยายามใช้ร่างอื่นเช่น ร่างรัฐธรรมนูญ 40, ร่าง คปพร. หรือร่างของ นปช.ที่ค้างอยู่  มาโหวตใหม่  ซึ่งก็คงยากอีกแล้ว  ถ้าแก้ในระบบไม่ได้ประเทศไทยก็ถึงทางตันแน่นอน  กลายเป็นว่าการต่อสู้ในระบบไม่สัมฤทธิ์ผล  ผู้เขียนไม่อยากทำนายอนาคตประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net