เด็ก 11 ขวบสร้างเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเอง หลังถูกห้ามใช้เฟซบุ๊ก

 

แซคารี มาร์กส์ เด็กอายุ 11 ปีที่ปลอมอายุเข้าเล่นเฟซบุ๊กจนถูกพ่อสั่งห้ามเมื่อเห็นว่าใช้คำหยาบ หันมาสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเองในชื่อ Grom Social ที่มีระบบป้องกันความปลอดภัยให้แก่เด็กที่เข้าใช้

2 ม.ค. 2013 เว็บไซต์ TechNewsDaily รายงานเกี่ยวกับเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ถูกสร้างโดยเด็กอายุ 11 ปี หลังจากที่เขาถูกพ่อห้ามไม่ให้ใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก

"ถ้าเข้าร่วมไม่ได้ ก็สร้างขึ้นมาเองเลย" เป็นความคิดของเด็กชายอายุ 11 ชื่อ แซคารี มาร์กส์ หลังจากที่เขาถูกพ่อแม่ห้ามใช้เฟซบุ๊กและถูกยกเลิกบัญชีผู้ใช้ แทนที่เขาจะร้องงอแงหรือกระแทกประตูปึงปัง เขากลับหันไปสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเองที่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับเด็กโดยเฉพาะในชื่อ Grom Social

ก่อนหน้านี้แซคารีเคยมีบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองเป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์ จริงๆ แล้วเขาต้องอายุมากกว่านี้ 2 ปี ถึงจะเข้าเกณฑ์ที่เฟซบุ๊กกำหนดไว้เกี่ยวกับอายุผู้เข้าใช้คือ 13 ปีขึ้นไป แต่เขาก็โกหกเกี่ยวกับอายุของตนเองทำให้เข้าไปใช้ได้ จนกระทั่งพ่อแม่เขามาเจอเข้าว่าลูกกำลังทำอะไรเสี่ยงๆ ในโลกออนไลน์จึงถูกดึงสั่งห้าม

แซคารี เล่าในหน้าเพจของเว็บ Grom Social ว่า เขาใช้เวลาในคอมพิวเตอร์ไปกับการแชตกับเพื่อน จนกระทั่งครั้งหนึ่งเขาทำผิดพลาด มีเพื่อนผู้ใหญ่คนหนึ่งใช้คำหยาบคายและโพสต์อะไรที่ไม่เหมาะสมทำให้เขาด่าหยาบคายตอบกลับไป อีกทั้งยังไปขอเป็นเพื่อนกับผู้ใหญ่ที่เขาไม่รู้จัก วันต่อมาพ่อของเขารู้เข้าก็โกรธเขามาก ทำให้เขาต้องยกเลิกบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง

เมื่อเขาเข้าไปดูเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับเด็กหลายเว็บเขาก็ไม่รู้สึกสนใจในเว็บใดเลยเพราะคิดว่ามันดูเด็กเกินไป เขาจึงตัดสินใจสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับกลุ่มคนที่เรียกว่า "Groms" ที่เป็นคำแสลงหมายถึงเด็กที่เล่นกระดานโต้คลื่น ซึ่งสำหรับแซคารีแล้วเขาตั้งใจให้หมายถึง "เด็กที่มีอะไรเกินวัย"

เนื่องจากต้องการให้สมาชิกเด็กๆ ในเว็บปลอดภัย จึงมีเพียงพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากพ่อแม่แล้วเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วม Grom Social ได้ ส่วนพ่อแม่ของสมาชิกเด็กๆ ก็สามารถติดตามพฤติกรรมของลูกได้ผ่านอีเมล ตัวเว็บไซต์ยังมีระบบกรองการใช้ภาษาเพื่อป้องกันไม่ให้มีเด็กที่ยังไม่รู้ความไปเห็นคำสบถหยาบคายเข้า

นอกจากนี้แล้ว Grom Social ยังได้กล่าวแสดงความไม่พอใจกฏหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็กในโลกอินเทอร์เน็ต (Children's Online Privacy Protection Act  หรือ COPPA) ที่มุ่งเฝ้าระวังความปลอดภัยของเด็ก โดยบางคนวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้ไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้จริงและเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กตามบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 1 แห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ (บทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็น)

ภายใต้กฏหมาย COPPA โปรแกรมแอปพลิเคชั่น และโปรแกรมเสริมพ่วง (Plug-ins) ต่างๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บข้อมูลจากเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปีโดยที่ไม่มีพ่อแม่ยินยอม แต่เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กในกระแสเช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ทัมเบลอร์ และโฟร์สแควร์ ต่างไม่อยากแบกรับภาระการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว จึงแบนไม่ให้มีสมาชิกที่อายุต่ำกว่า 13 ปี

จนถึงตอนนี้ Grom Social มีสมาชิก 7,000 คน และเปิดให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปีที่อาศัยในสหรัฐฯ และแคนาดาเข้าร่วมได้

 

เรียบเรียงจาก

Kicked Off Facebook, Kid Creates Own Social Network, TechNewsDaily, 02-01-2013
เว็บไซต์ Grom Social
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท