TDRI: คนไทยเอาข้าวที่ไหนมากิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก
นับตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยเริ่มดำเนินการจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 จนถึง 30 กันยายน 2555 รัฐบาลได้รับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการจำนำนาปี 2554/55 และนาปรังปี 2555 รวมทั้งสิ้น 21.475 ล้านตันข้าวเปลือก (คิดเป็นข้าวสารทั้งสิ้น 13.3 ล้านตัน) พูดง่ายๆ ก็มีข้าวเปลือกเข้าโครงการจำนำรวม 61.6% ของผลผลิตข้าวในปี 2554-55 ถ้าคิดเฉพาะการจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ก็พูดได้ว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการนำข้าวเปลือกทุกเม็ดเข้าสู่โครงการจำนำตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้

ผลที่ตามมาคือ ราคาข้าวเปลือกในประเทศถีบตัวขึ้นสูงกว่าสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ไม่มีการจำนำ (ดูรูปที่ 1-ก) แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ ราคาข้าวสารขายปลีกในประเทศกลับมีราคาถูก ทั้งๆ ที่ข้าวสารส่วนใหญ่นอนสงบนิ่งอยู่ในโกดังกลางของรัฐบาล ขณะที่คนไทยต้องกินข้าวทุกวันปีละไม่ต่ำกว่า 10.4 – 10.7 ล้านตัน (ข้อมูลการบริโภคและการใช้ทำพันธุ์ข้าวจากการสำรวจรายได้รายจ่ายครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา) รูปที่ 1-ข แสดงว่าราคาขายปลีกข้าวสารในช่วงเดือนตุลาคม 2555 เฉลี่ยเพียง กก.ละ 22.19 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาข้าวสารในช่วงเดือน ตุลาคม 2553-กรกฎาคม 2554 (เฉลี่ย 22.17 บาท/กก.)  ซึ่งเป็นยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ไม่มีการแทรกแซงราคาตลาด

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้ราคาข้าวสารถูก การตรึงราคาข้าวสารนี้จะต้องเกิดจากนโยบายระดับสูงของพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีการประกาศต่อสาธารณะ เพราะรัฐบาลรู้ดีว่าการจำนำจะทำให้ราคาข้าวสารในประเทศแพงขึ้นอย่างแน่นอน หากปล่อยให้ข้าวมีราคาแพง รัฐบาลจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง
 

กลไกของรัฐในการจำนำข้าวและระบายข้าว
หลังจากรับซื้อข้าวเปลือกมาจากชาวนาแล้ว รัฐก็จะสั่งให้โรงสีในโครงการจำนวนประมาณ 1000 แห่ง สีแปรสภาพเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน รัฐบาลจ่ายค่าจ้างสีแปรสภาพแก่โรงสีตันละ 500 บาท ค่ากระสอบและค่าขนส่งในรูปข้าวสารแทนการจ่ายเป็นเงินสด ยิ่งกว่านั้นรัฐยังกำหนดอัตราส่งมอบตันข้าวที่ต่ำกว่าอัตราปรกติของโรงสีที่มีประสิทธิภาพ เช่น ในการสีแปรสภาพข้าว 5% รัฐบาลกำหนดให้โรงสีส่งมอบต้นข้าวเพียง 450 กิโลกรัมแทนที่ต้องส่งมอบต้นข้าวสารเข้าโกดัง 500 กิโลกรัม ผลคือ ทำให้โรงสีในโครงการจำนำมีข้าวสารส่วนเกินอยู่ในมือประมาณ 40 กิโลกรัมต่อการรับจำนำข้าวเปลือกทุกๆ  1 ตัน ถ้ารวมจำนวนข้าวสารของโรงสีทั้งหมดจะตก 0.67 ล้านตัน ใน 10 เดือนแรกของปี 2556 โรงสีสามารถนำข้าวสารนี้ไปขายในตลาดได้

ผลกระทบที่ชัดเจนจากการจำนำ คือ ปริมาณการส่งออกข้าวของภาคเอกชนลดลงเหลือเพียง 5.77 ล้านตันในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2555 เทียบกับ 9.63 ล้านตันของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 เพราะราคาข้าวส่งออกของไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก

หลังจากถูกสื่อมวลชนกดดันเรื่องการระบายข้าวแบบ G-to-G อย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2555 กระทรวงพาณิชย์จึงออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับปริมาณการระบายข้าวในสต๊อคของรัฐบาล 5 วิธี ดังนี้
(1) การทำข้อตกลง ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (หรือ จีทูจี) ระหว่าง 1 มกราคม-18 ตุลาคม 2555 เป็นจำนวน 7.328 ล้านตัน ประเทศผู้ซื้อได้ จีน อินโดนีเซีย และโกตติวัวร์ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายกรัฐมนตรียืนยันว่าระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2555 รัฐได้จำหน่ายข้าวแบบจี-ทู-จี ไปแล้ว 1.46 ล้านตัน  และคาดว่าจะส่งมอบอีก 0.3 ล้านตันภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555
(2) เปิดประมูลเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อส่งออกหรือจำหน่ายในประเทศ 0.32 ล้านตัน
(3) ขายให้องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ 0.083 ล้านตัน
(4) ซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายด้วยวิธีนี้เลย และ
(5) บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากตัวเลขที่รัฐแถลงเป็นจริง ก็แสดงว่ารัฐได้จำหน่ายข้าวทั้งในประเทศและนอกประเทศรวมทั้งสิ้น 1.863 ล้านตัน ในระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2555 ยอดขายข้าวนี้ใกล้เคียงกับเม็ดเงิน 30,000 ล้านบาท [1] ที่กระทรวงส่งมอบให้กระทรวงการคลัง เมื่อตุลาคม 2555

การตรวจสอบข้อมูลการระบายข้าวของรัฐบาลประสบปัญหาความยากลำบาก ทั้งๆ ที่ข้าวทั้งหมดที่อยู่ในมือรัฐบาลเป็นข้าวของประชาชน เพราะใช้เงินภาษีของประชาชน แต่รัฐกลับปิดบังข้อมูลสต๊อคข้าว ข้อมูลสัญญาการซื้อขายกับต่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยถึงวิธีการขายให้องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยอ้าง “ความลับทางการค้า” จากการสอบถามอนุกรรมการระบายข้าวบางท่าน ก็ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการได้มีการประชุมเรื่องการขออนุมัติซื้อขายข้าวของรัฐบาล ทราบเพียงแต่ว่าบริษัทเอกชนสามารถทำเรื่องขออนุมัติซื้อข้าวจากรัฐได้ แต่ดูเหมือนคณะอนุกรรมการจะไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการพิจารณาคำขอซื้อข้าวจากภาคเอกชนเลย กระบวนการทำงานในการจำนำข้าวทุกขั้นตอนถูกผูกขาดตัดตอนโดยกระทรวงพาณิชย์เพียงฝ่ายเดียว ประธานอนุกรรมการทุกชุด (ยกเว้นอนุกรรมการระดับจังหวัด) มีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ข้อมูลการระบายข้าวที่โปร่งใสที่สุด คือ การประมูลข้าวรวม 5 ครั้ง (แต่เอกชนสามารถประมูลได้เพียง 3 ครั้ง) รวมเป็นข้าวจำนวน 0.3209 ล้านตัน (ดูรายละเอียดในตารางที่ 1)

การระบายข้าววิธีที่สองคือ การขายข้าวให้องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะจำนวน 0.83 ล้านตัน ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวและตรวจสอบได้ ปรากฏว่าในปี 2554 รัฐขายข้าวทั้งสิ้น 3 ครั้ง เป็นจำนวน 0.13 ล้านตัน เท่านั้น และปี 2555 มีการขายข้าวให้กรมราชทัณฑ์ 2 หมื่นตัน (ดูตารางที่ 1)
การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นข้อมูลที่ลึกลับที่สุด เพราะนอกจากกระทรวงพาณิชย์จะยืนยันว่าเป็นการทำสัญญาแบบจีทูจีแล้ว กระทรวงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอื่นใดยกเว้นจำนวนการขายให้ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย โกตติวัวร์ (แต่หนังสือพิมพ์รายงานว่าจะมีการขายจีทูจีแก่ กินี และบังกลาเทศ) คำอภิปรายไม่ไว้วางใจของส.ส.วรงค์ เดชกิจวิกรม แสดงให้เห็นชัดเจนว่าหากมีการค้าแบบจีทูจีจริง ก็เป็นการที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้แก่บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติเพื่อขายต่อให้แก่รัฐบาลต่างชาติอีกทอดหนึ่ง (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กรมการค้าต่างประเทศเคยถือปฏิบัติมานานในกรณีที่ต้องมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่หน่วยงานผู้ซื้อของต่างประเทศ) แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามีข้าวบางส่วนที่จะขายให้รัฐบาลต่างประเทศ แต่ผู้ซื้อไม่ยอมรับซื้อทั้งหมดตามสัญญา เพราะมีปัญหาคุณภาพข้าว  ทำให้บริษัทเอกชนที่ซื้อข้าวจากกระทรวงฯ นำข้าวดังกล่าวมาระบายในประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญในวงการส่งออกข้าวไทยต่างยืนยันว่าไม่พบหลักฐานใดๆ  ว่ารัฐมีการส่งออกข้าวแบบจีทูจีเลยในระหว่างปี 2555 สถิติการส่งออกข้าวไทยของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่พบการส่งออกข้าวจีทูจีครั้งสุดท้ายเป็นช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 รัฐบาลส่งออกข้าวรวม 2.68 แสนตัน เป็นการส่งออกไปยังบังกลาเทศ 2.18 แสนตัน และอินโดนีเซีย 0.5 แสนตัน ระหว่างเดือนกันยายน 2554 ถึง ตุลาคม 2555 ไม่ปรากฏว่ามีรายการส่งออกข้าวแบบจีทูจีเลย นอกจากนั้นผู้ส่งออกยังรายงานว่าหากรัฐมีการขายข้าวแบบจีทูจีเป็นจำนวนมากจริง จะต้องมีเรือเข้ามารับข้าวจากท่าเรือ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยเห็นเรือรับข้าวเลย

คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องให้ข่าวที่เป็นเท็จว่ารัฐบาลไทยสามารถขายข้าวแบบจีทูจีได้ 7.328 ล้านตัน (แต่ในภายหลัง เอกสาร “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” กลับยอมรับว่าระหว่างมกราคม – กันยายน 2555 รัฐบาลขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 1.46 ล้านตัน)

อย่างไรก็ตาม หากเรายอมรับว่ารัฐบาลไทยขายข้าวให้รัฐบาลต่างชาติทางอ้อมผ่านบริษัทเอกชน เราก็สามารถตรวจสอบข้อมูลการส่งออกข้าวของรัฐจากส่วนต่างระหว่างปริมาณการส่งออกข้าวของภาคเอกชนที่รายงานโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กับปริมาณการส่งออกข้าวของกรมศุลกากรที่เป็นตัวเลขทางราชการที่ต้อง “ถูกต้อง” เพราะใช้เป็นฐานสถิติการส่งออกนำเข้าของประเทศ ผลการตรวจสอบการส่งออกข้าวของรัฐบาลไทยพบว่าในช่วงเดือนกันยายน 2554-ตุลาคม 2555 ไทยมีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศ 3 ประเทศ เพียง 1.03-1.19 ล้านตัน ตัวเลขนี้รวมการส่งออกของภาคเอกชน (เพราะปริมาณส่งออกไปยังอินโดนีเซียและโกตติวัวร์มีมากกว่าที่รัฐบาลประกาศ) ขณะที่รัฐบาลประกาศว่าขายข้าวจีทูจีไปแล้ว 1.46 ล้านตัน ข้อเท็จจริงคือ มีข่าวชัดเจนว่ารัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธไม่ซื้อข้าวครบ 3 แสนตันตามสัญญา เพราะปัญหาคุณภาพข้าว และหากสมมติว่าโกตติวัวร์ซื้อข้าวครบตามสัญญาจำนวน 2.9 แสนตัน และจีนซื้อข้าวผ่านบริษัทนายหน้าของไทย 1.9 แสนตัน รัฐบาลไทยก็ขายข้าวส่งออกได้เพียง 7.2 แสนตันไม่ใช่ 1.46 ล้านตันตามที่ปรากฏในเอกสาร “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ข้อสรุป คือ ข้าวส่วนต่าง จำนวน 0.74 ล้านตัน (1.46 – 0.72) น่าจะเป็นข้าวที่บริษัทเอกชนที่ไม่สามารถขายให้รัฐบาลต่างประเทศนำมาขายต่อภายในประเทศ

โดยสรุปตลอดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เกิน 1.1-1.844 ล้านตันจากข้าวสารที่อยู่ในโกดังทั้งหมด 13.3 ล้านตัน

กลไกตลาดของบริษัทเอกชนที่ค้าขายกับรัฐ
ตัวเลขปริมาณการระบายข้าวของรัฐข้างต้นสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของกลไกรัฐในการขายข้าว หากรัฐระบายข้าวสู่ตลาดในประเทศได้เพียง 0.384 ล้านตัน (ตามตารางที่ 1) ป่านนี้ราคาขายปลีกข้าวสารในประเทศจะพุ่งขึ้นสูงลิบ สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้คนยากจนไปแล้ว แต่ดังที่กล่าวตอนต้นแล้วว่าราคาข้าวสารขายปลีกในประเทศกลับอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลเก่งกาจมาจากไหน คำตอบ คือ รัฐอาศัยกลไกตลาดของบริษัทเอกชนบางแห่งเป็นเครื่องมือแทนกลไกของรัฐ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่าถ้าจะให้มีข้าวสารราคาถูกได้ รัฐก็จะต้องปล่อยข้าวสารออกจากโกดังกลางของรัฐเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าปริมาณการบริโภคของคนไทยในแต่ละเดือน แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนไทยก็ยังมีการส่งออกข้าวเป็นจำนวนพอสมควร ดังนั้น ในท้องตลาดจะต้องมีใครก็ตามที่มี “อำนาจเหนือรัฐบาล” สามารถออกคำสั่งให้มีการระบายข้าวสารออกจากโกดังกลางรัฐบาลทุกๆ วัน ทุกๆ เดือนในจำนวนที่ทำให้ร้านค้าข้าวสารทั่วประเทศและผู้ขายข้าวถุงมีข้าวขายบนหิ้งในราคาเดิมอยู่ตลอดเวลา คำถามคือ ตลอด 10 เดือนแรกของปี 2555 เราจะต้องระบายข้าวสารสู่ตลาดค้าปลีกในประเทศเป็นจำนวนเท่าไร

คำตอบอยู่ในตารางที่ 1 หลักการคำนวณง่ายๆ  คือ
(1) เราคำนวณหาปริมาณการบริโภคข้าวสาร รวมทั้งปริมาณข้าวเปลือกที่ชาวนาต้องเก็บไว้ทำพันธุ์ตลอดปี เฉพาะ 10 เดือนแรกของปี 2555 คนไทยต้องมีข้าวบริโภคและใช้ทำพันธุ์เป็นจำนวน 8.7-9.1 ล้านตัน
(2) ในช่วง 10 เดือนแรก ไทยส่งออกทั้งหมด (ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ) รวม 5.77 ล้านตัน สองรายการนี้รวมกันเท่ากับ 14.4 - 14.8 ล้านตัน

แต่ผลผลิตข้าวที่เหลืออยู่ในท้องตลาดมีน้อยมาก เพราะผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ถูกขายให้โครงการจำนำ ในเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม 2555 มีผลผลิตข้าวนาปีฤดู 2554/55 และผลผลิตนาปรังปี 2555 รวม 22.33 ล้านตันข้าวสาร ชาวนาขายข้าวให้โครงการจำนำ 10.55 ล้านตัน รัฐบาลจำหน่ายข้าวสู่ตลาดในประเทศเป็นจำนวน 0.384 ล้านตัน นอกจากนี้โรงสีในโครงการจำนำจะมีข้าวสารที่ได้รับเป็นค่าจ้างและผลกำไรจากการรับจ้างรัฐบาลประมาณ 0.676 ล้านตัน โดยรวมแล้วตลาดในประเทศจะมีข้าวสารเพียง 12.84 ล้านตัน ขณะที่คนไทยต้องบริโภคข้าวและต้องมีข้าวส่งออกรวม 14.4 -14.8 ล้านตัน

ดังนั้นใน 10 เดือนแรกของปี 2555 รัฐบาลจะต้องระบายข้าวสารออกจากคลังรัฐบาลอีกอย่างน้อย 1.6-1.99 ล้านตัน จึงจะทำให้ราคาข้าวสารมีราคาเท่าเดิมได้ กระทรวงพาณิชย์ไม่เคยประกาศเป็นนโยบายต่อสาธารณะเลยว่ามีนโยบายการระบายข้าวจำนวนดังกล่าวอย่างไร

แต่ในวงการพ่อค้าข้าว เป็นที่รู้กันว่าพ่อค้าที่ต้องการหาซื้อข้าวเพื่อส่งออก หรือขายในประเทศสามารถติดต่อ “นายหน้าผู้ทรงอิทธิพล” บางราย ก็จะหาซื้อข้าวจากคลังรัฐบาลได้ โดยจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทดังกล่าว (ปัจจุบันมีบริษัทนายหน้าดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 3-4 รายตามคำอภิปรายของ ส.ส.วรงค์ เดชกิจวิกรม) นายหน้าจะติดต่อให้โรงสีในโครงการจำนำส่งมอบข้าวสารให้แก่ พ่อค้าส่งออก หรือ พ่อค้าข้าวในประเทศ ส่วนเรื่องการทำบัญชีข้าวในโกดังกลางของรัฐคงเป็นหน้าที่ของนายหน้า นอกจากคำยืนยันจากพ่อค้าบางรายแล้ว เพื่อนนักวิชาการท่านหนึ่งเคยส่งหลักฐานการที่โรงสีแห่งหนึ่งสามารถขอซื้อข้าวจากคลังรัฐบาล เพื่อนำข้าวสารไปขายในจังหวัดโดยจ่ายค่านายหน้าตันละ 500-3,000 บาทขึ้นกับชนิดข้าว

เรื่องที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ ระหว่างมกราคม-ตุลาคม 2555 ไทยสามารถส่งออกข้าวนึ่งได้ถึง 1.789 ล้านตัน โดยข้อเท็จจริงแล้วไทยจะต้องไม่มีการส่งออกข้าวนึ่งหรือ ถ้ามีการส่งออกก็จะอยู่ในระดับน้อยมาก  เพราะชาวนาขายข้าวเปลือกส่วนใหญ่ให้โครงการจำนำ โดยเฉพาะในฤดูนาปรัง ข้าวเปลือกทุกเม็ดถูกขายให้รัฐบาลโครงการจำนำไม่มีหลักเกณฑ์การจ้างโรงสีให้ทำข้าวนึ่งเลย  ดังนั้นหลังจากมีการจำนำข้าว โรงสีข้าวนึ่งจะไม่สามารถหาซื้อข้าวเปลือกมา “นึ่ง” ก่อนที่จะสีแปรสภาพเพื่อส่งออกได้ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าไทยมีการการส่งออกข้าวนึ่งจำนวน 1.789 ล้านตัน ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2555 ตัวเลขส่งออกข้าวนึ่งจึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่าผู้ส่งออกข้าวนึ่ง สามารถพึ่งพา “กลไกตลาด” ของบริษัทนายหน้าผู้ทรงอิทธิพลหาซื้อข้าวเปลือกจากโครงการจำนำได้

เหตุผลที่กลไกตลาดทำงานได้ดีในกรณีของข้าวนึ่ง (แต่ใช้การไม่ได้ในกรณีของการส่งออกข้าวขาว) เพราะการส่งออกข้าวนึ่งได้ราคาสูงกว่าการส่งออกข้าวขาวตันละ 30-50 เหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนต่างราคานี้ทำให้เกิด “ตลาดการค้าข้าวเปลือกในโครงการจำนำ” เพราะผู้ส่งออกข้าวนึ่งยินดีแบ่งผลกำไรบางส่วนให้แก่นายหน้าที่สามารถวิ่งเต้นให้โรงสีในโครงการจำนำ ส่งข้าวเปลือกให้แก่โรงสีข้าวนึ่ง  แต่ระเบียบการจำนำของรัฐไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์การว่าจ้างทำข้าวนึ่ง ถ้าเช่นนั้น “ผู้มีอำนาจ” คนใดเล่าที่สามารถสั่งให้โรงสีขนข้าวเปลือกจากโครงการจำนำไปยังโรงสีข้าวนึ่งของผู้ส่งออก ข้าวเปลือกที่ถูกโยกออกจากโครงการจำนำมาสู่โรงสีข้าวนึ่งมีจำนวน 3.6 ล้านตัน นี่ไม่ใช่การทุจริตแบบเล็กๆ น้อยๆ นะครับ

เมื่อมีการขนข้าวสารจากโกดังกลางของรัฐไปยังพ่อค้าข้าวสารขายส่ง (หรือขนข้าวเปลือกจากโรงสีในโครงการจำนำไปยังโรงสีข้าวนึ่งของผู้ส่งออก) บริษัทนายหน้าดังกล่าวจะจัดการโยกย้ายข้าวเก่าจากโกดังกลางของรัฐเข้ามาใส่โกดังกลางแทน หรือจะใช้เพียงวิธีเปลี่ยน “บัญชีข้าว” ในโกดังกลาง นี่เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบตรวจสอบ และแถลงข้อเท็จจริงต่อประชาชนว่าในโกดังกลางมีข้าวอยู่จริงๆ เป็นจำนวนเท่าไร สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ  คือ มีการเคลื่อนย้ายข้าวสารและข้าวเปลือกออกจากโครงการจำนำ ไม่ต่ำกว่า 3.4-3.8 ล้านตัน ไปให้พ่อค้าในประเทศและพ่อค้าส่งออก โดยอาศัยกลไกตลาดที่แอบอิงกับผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล นี่คือการโจรกรรมข้าวและเงินภาษีประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การจำนำข้าว

แต่ที่สำคัญพอๆ กัน คือ เงินค่าขายข้าวอยู่ที่ไหน หากใช้ตัวเลขปริมาณการบริโภคและการส่งออกข้าวในตารางที่ 1 ข้างต้น ก็แปลว่ารัฐได้อาศัยกลไกตลาดของบริษัทเอกชนโยกย้ายข้าวออกมาขายในตลาดเพิ่มเติมจากจำนวนที่แจ้งแก่ประชาชนเป็นจำนวน 3.4 – 3.8 ล้านตัน คิดเป็นเงินอีก 56,100-62,700 ล้านบาท (3.4 x 16,500 บาท ถึง 3.8 x 16,500 บาทต่อตัน)

ในเดือนตุลาคม 2555 รัฐบาลส่งเงินค่าขายข้าวคืนกระทรวงการคลังเพียง 3 หมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้สอดคล้องกับยอดขายข้าวของรัฐ (1.863 ล้านตัน) ตามที่ระบุในเอกสาร “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” เงินที่เหลืออีก 56,000 – 62,000 ล้านบาทอยู่ที่ไหนครับ

คำถามต่อมา คือ การให้บริษัทนายหน้าเป็นตัวแทนในการจำหน่ายข้าว บริษัทเอกชนได้ค่านายหน้าไปไม่ต่ำกว่า 7,600 – 11,000 ล้านบาท (ตันละ 2,000 – 3,000 บาท x 3.8 ล้านตัน) บริษัทเหล่านี้เสียภาษีเงินได้หรือไม่ และเงินนายหน้านี้ตกในมือผู้มีอำนาจคนใด

คำถามสุดท้าย คือ รัฐบาลขาดทุนเท่าไรครับ  อย่าบอกว่าการขายข้าวแบบนี้ รัฐบาลไม่สามารถประกาศราคาขายได้นะครับ เพราะนี่เป็นการขายข้าวในประเทศครับ หรือถ้าเป็นการส่งออก ก็เป็นการขายข้าวให้บริษัทเอกชนไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง ประชาชนเป็นเจ้าของข้าวนะครับ

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปิดบังข้อมูลเหล่านี้ โปรดระวังข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบนะครับ

 
 
คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ขึ้น
ที่มา : (1) กระทรวงเกษตรฯ (2) กระทรวงพาณิชย์โครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 ถึง 2555 (3) ธกส. สถิติการจ่ายเงินรับจำนำ (4) สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยการส่งออกข้าว (5) กรมศุลกากรสถิติการส่งออก (6) USDA, Rice Balance Sheet 11 December 2012 (7) สำนักงานสถิติแห่งชาติ การสำรวจรายได้รายจ่ายครัวเรือนปี 2554  (8) ข่าวจากหนังสือพิมพ์เรื่องการขายข้าวของรัฐบาลไทย (9) คำอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ ส.ส.วรงค์ เดชกิจวิกรม 26 พฤศจิกายน 2555

 

หมายเหตุ :
1) การขายข้าวในประเทศของรัฐบาล ปี 2554 จำนวน 0.13 ล้านตัน ประกอบด้วย

(1) การขายข้าวช่วยน้ำท่วมรอบ 1 แก่นครสวรรค์ค้าข้าว 3 หมื่นตัน
(2) การขายข้าวช่วยน้ำท่วม รอบ 2 แก่บริษัทเจียเม้งทำข้าวธงฟ้า 1 แสนตัน
2) รัฐบาลประมูลข้าวปี 2555 จำนวน 0.3009 ล้านตัน ประกอบด้วย
(1) ปลายข้าว 3.43 หมื่นตัน
(2) 3 ก.ย. จำนวน 2.29 แสนตัน
(3) 5 ต.ค. จำนวน 5.76 หมื่นตัน (รวม 0.32 ล้านตัน แต่เอกชนรับมอบเพียง 0.3009 หมื่นตัน)
3) รัฐบาลขายข้าวให้องค์กรและหน่วยงานใน-นอกประเทศ 0.83 ล้านตัน ไม่มีรายละเอียดการจำหน่าย ยกเว้นการขายข้าวให้กรมราชทัณฑ์ 2 หมื่นตัน
4) รัฐบาลแจ้งว่าขายข้าว G-to-G แล้ว 1.46 ล้านตัน (จากรายการนายกรัฐมนตรี พบประชาชน ต้นเดือนตุลาคม 2555) และภายในสิ้น ธ.ค. 2555 จะขายได้อีก 0.3 ล้านตัน รวม 1.76 ล้านตัน (รู้สึก รู้จริง จำนำข้าว)
5) ข้าวในมือโรงสีที่เข้าโครงการจำนำ คำนวณจากข้อสมมติว่ารัฐบาลกำหนดอัตราการสีแปรสภาพที่ต่ำกว่าอัตราสีแปรสภาพจริง รวมทั้งกำไรของโรงสีจาการตัดน้ำหนักและความชื้น ทำให้โรงสีมีข้าวสารส่วนเกินเหลือ 40 กิโลกรัมต่อข้าวเปลือกที่รับจำนำ 1 ตัน เนื่องจากปี 2555 (ม.ค.-ก.ย.) มีข้าวเปลือกในโครงการจำนำ 21.475 ล้านตัน โรงสีจึงมีข้าวสารที่สามารถจำหน่ายในห้องตลาดได้ 6.76 แสนตันในปี 2555

 


คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ขึ้น
รูปที่ 1 ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก

ที่มา: ราคาข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมาคมโรงสีข้าวไทย และ สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์.

 

[1] กระทรวงพาณิชย์คืนเงินค่าขายข้าวแก่กระทรวงการคลัง 4.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินค่าจำหน่ายข้าวจากโครงการจำนำข้าวก่อนปี 2554 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเป็นรายได้จากการจำหน่ายข้าวในโครงการจำนำปี 2554-2555 (หรือ 1.863 ล้านตัน x 16,500 บาทต่อตัน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท